top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Interview: เสียงของเฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และแนวคิดแบบ Intersectionality ในสังคมไทย





คนที่เรียกตัวเองว่า เฟมินิสต์ หน้าตาเป็นแบบไหน คิดอะไร ทำอะไร หลายคนอาจจะสงสัยและมีคำถาม

เฟมินิสต้าจึงเปิดหมวดหมู่ใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า "This is what a feminist looks like" หรือ "นี่คือสิ่งที่เฟมินิสต์เป็น" โดยเราจะพามาพูดคุยกับเฟมินิสต์จากหลากหลายพื้นที่และบริบทในการทำงาน


เริ่มด้วยการพูดคุยกับ " เจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์" เฟมินิสต์ที่นิยามตัวเองว่า เป็นลาว-อีสาน เลสเบี้ยนเฟมินิสต์ ว่าด้วยเสียงของเฟมินิสต์ การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และแนวคิดแบบ Intersectionality ในสังคมไทย




เจี๊ยบรู้จักกับแนวคิดเฟมินิสม์ตั้งแต่เมื่อไหร่?


ถ้าตอบสั้นๆก็คือปี 2553 ที่ไปอบรมที่บ้านพี่อวยพร (ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม ที่จังหวัดเชียงใหม่) แต่เราคิดว่าการตอบแบบนี้มีปัญหามาก จริงๆที่เราควรจะถามคือ ทำไมเราถึงไม่รู้จักแนวคิดเฟมินิสม์!? เพราะจริงๆเราคือเฟมินิสต์ตั้งแต่วันที่เรายืนขึ้นต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่อยู่ข้างหน้า แล้วรับรู้ได้ว่านี่คือความไม่เป็นธรรม คือเราอยู่ในสังคมที่เฟมินิสม์มันต้องถูกเขียนและถูกผูกขาดโดยแวดวงนักวิชาการ แล้วบอกว่ามันจะต้องเป็นทฤษฏี แล้วก็จะต้องได้รับการรับรอง และคนที่ไม่สามารถที่จะอ่านหนังสือ ไม่สามารถที่จะเข้าใจ หรือไม่เคยได้ยิน เพราะสังคมมันกีดกันเราไม่ให้ได้ยินเรื่องพวกนี้ ไม่ให้แพร่หลาย มันเลยทำให้เราไม่รู้จักแนวคิดเฟมินิสม์และไม่รู้ว่าตัวเองคือเฟมินิสต์ ทั้งๆที่เราเป็นเฟมินิสต์ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว


เราคิดว่าเฟมินิสม์สำหรับเราคือการปฏิบัติ ในชีวิตเราครั้งแรกเลยที่เรารู้ว่าเราเป็นเฟมินิสต์คือ เรารับรู้ว่ามันมีความไม่เท่ากันระหว่างเพศ ตอนนั้นเราอายุประมาณหกขวบ อยู่อนุบาล ไปวัดที่มีงานบุญใหญ่โตมาก แล้วที่นั่งมันจะเป็นสโลปสามชั้น แล้วชั้นที่สามมันก็จะเข้าไปหลบอยู่ในหลืบ เป็นที่ไว้ถ้วยไว้จาน ปรากฎว่าผู้หญิงที่ยังโสดกับเรา ถูกผลักให้ไปนั่งอยู่ตรงนั้น แล้วมองไม่เห็นแม้กระทั่งพระ แต่ว่ายกมือไหว้ แล้วพอไหว้เสร็จต้องเอาข้าวไปใส่บาตร ปรากฎว่าเพื่อนของเราอยู่ในห้องเรียนเดียวกันนั่งอยู่ที่ตักพระ เราก็เลยคิดว่า เฮ้ย แม่ง ทำไมมันเป็นแบบนี้ แล้วในขณะที่เราบรรจงกราบพระลงไป เอาข้าวใส่บาตร พระก็คงเอ็นดูหรือยังไงไม่รู้ เอาขนมให้เพื่อนเราที่นั่งอยู่บนตัก แล้วก็โยนขนมมาให้เราด้วย คือพระไม่แตะตัวผู้หญิงใช่มั้ย แล้วเราก็รู้สึกช็อค รู้สึกว่าทำไมเราถึงไม่เท่ากันขนาดนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็คือไม่อยากไปวัด รู้สึกไม่อยากเข้าใกล้พระ เพราะรู้ว่าพระรังเกียจผู้หญิงและก็รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมเลยสำหรับเรา ทั้งๆที่เราอายุเท่ากันกับเพื่อน สนใจศาสนาเหมือนกัน ทำไมเราไม่มีสิทธินั่งตรงนั้น ทำไมเราไม่มีสิทธิจะรู้สึกว่าได้ยิน ได้เห็น แล้วภาคภูมิใจ


แล้วพอสักเก้าขวบ แม่เลิกกับพ่อ ที่บ้านเหลือแต่ผู้หญิงเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็จะถูกข้างบ้านพูดว่า หาผัวให้แม่ แม่จะต้องมีผัว แม่เราต้องสู้กับวาทกรรมว่าการเป็นผู้หญิงจะอยู่คนเดียวไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่แม่เราทำให้เราเห็นก็คือ แม่ไม่เคยสะทกสะท้านกับคำพูดพวกนั้นและไม่ได้คิดว่าชีวิตนี้ต้องมีผัวอีกต่อไป เพราะว่าถ้ามันแย่ก็ไม่เอา แล้วมันมีผู้ชายที่อยู่ข้างบ้านเข้ามาคุกคามแม่ คือที่บ้านเลี้ยงควายตัวใหญ่มาก แล้วเค้าเอาควายเดินผ่านบ้านเรา ปรากฎว่าเค้าด่าแม่เราโดยที่ไม่มีสาเหตุ ไม่มีที่มาที่ไป ด่าแม่เราเสียหายมาก แล้วเราก็เห็นภาพแม่เราสู้ด้วยการด่ากลับ เถียงกลับ ไม่ยอม เราก็เลยเห็นว่าการเป็นผู้หญิงที่ไม่มีผัวเนี่ยมันต้องเผชิญกับอะไรขนาดนี้เลยหรอ นั่นคือตอนเก้าขวบ และยังไม่นับรวมกับตอนที่เรามีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืนโดยคนที่อยู่ในครอบครัว โดยคนใกล้ชิด แล้วเราก็รู้สึกว่าเราไม่สามารถบอกใครได้ เพราะไม่มีใครรับฟังเรา แต่เรารู้ว่ามันไม่ถูกต้อง แล้วเราก็บอกตัวเองว่า เราจะผ่านตรงนั้นไป มันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว บอกตัวเองว่าเราจะโอเค จะไม่อยู่ในสถานการณ์นั้นแล้ว แต่ตอนนั้นต้องอยู่รอดให้ได้ ต้องพยายามที่จะให้กำลังใจตัวเอง แต่เราไม่ได้ยอมจำนนนะ เรารู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ถูกต้อง แต่ว่าเราไม่มีใครหรือไม่มีเครื่องมืออะไร


เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้ว่าคนที่ต่อสู้เรื่องการกดขี่ทางเพศคือเฟมินิสต์ แต่เพราะเราไม่ได้อ่านหนังสือ แต่เพราะในโฆษณาไม่มีใครพูดถึง แต่เพราะการเรียนวิทยาศาสตร์ไม่เคยพูดถึงเรื่องเพศเรื่องเฟมินิสม์เลย เราก็เลยไม่รู้จัก จนกระทั่งวันนึงเรามาทำงาน เราถึงได้ไปผ่านการอบรม และเราถึงได้รู้จักคำว่า เฟมินิสม์ แต่มันต่างตรงที่ว่าเมื่อเราได้รู้จักเชิงทฤษฏีและได้เห็นคนที่เป็นเฟมินิสต์แล้ว สิ่งที่ต่างไปก็คือเรารู้สึกว่ามันเป็นการเมืองละ เราจะมีกลุ่ม เราจะมีพื้นที่ เราจะมีคนพูดภาษาเดียวกัน และเราจะมีการเคลื่อนไหวไปด้วยกัน ไม่ใช่เราคนเดียวแล้ว นี่คือความต่างหลังจากที่เราได้รู้ทฤษฏี เราได้เห็นเฟมินิสต์คนอื่นๆ





เราคงไม่ต้องถามแล้วว่า เรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์ หรือเปล่า


มันก็เป็นปัญหาเหมือนกับคนที่เข้าร่วมคอร์สเฟมินิสต์กับเรา คือพวกเค้าก็เป็นเฟมินิสต์น่ะ ถ้าอ่านจากใบสมัคร แต่แทบจะไม่มีใครเรียกตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์เลยเพราะว่าเข้าไม่ถึงสิ่งที่คนเขียนไว้แล้วกลัวว่าจะเข้าใจผิด แล้วก็มีความไม่เข้าใจจากสังคมที่มันสร้างภาพเหมารวมเยอะมาก และทำให้คนไม่ฟิตอินกับนิยามที่มันคับแคบจากการที่สังคมเหมารวมเหล่านั้นไง เราเลยคิดว่าปัญหาของการที่คนไม่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ก็คือ มันไม่แพร่หลาย มันไม่เป็นที่รู้จัก และมันถูกสร้างภาพเหมารวม และมันทำให้คนไม่รู้สึกสะดวกใจเพราะว่าไม่เข้าใจ ซึ่งเราคิดว่าถ้าสามารถสร้างความเข้าใจว่าเฟมินิสม์คืออะไร คือใครบ้าง แล้วจะเรียกตัวเองหรือไม่เรียกตัวเองก็ได้ เพราะท้ายที่สุดเฟมินิสม์มันคือแนวคิด มันคือสิ่งที่เราเชื่อ ถ้าไม่เชื่อก็ตาม แต่คนรู้ว่า อ๋อ คนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศคือเฟมินิสต์เนี่ย มันก็จะทำให้คนนิยามตัวเองได้ง่ายขึ้น และเราก็จะพบว่า คนชายขอบทั้งหมดแหละ ผู้หญิงทั้งหมดแหละ ที่รับรู้ว่าตัวเองถูกกดขี่ด้วยระบบชายเป็นใหญ่ก็จะเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ เพราะว่าเราคงไม่มีความสุขที่จะอยู่ในระบบนี้


ถ้าอย่างนั้นการที่คนในสังคมจำนวนนึงออกมาบอกว่าเฟมินิสต์ต้องเป็นยังไง มันส่งผลกับคนที่จริงๆแล้วก็เป็นเฟมินิสต์นั่นแหละ แต่ด้วยนิยามที่คับแคบก็เลยไม่ค่อยมีใครอยากบอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ เช่นว่า เฟมินิสต์หัวรุนแรง เฟมินิสต์เกลียดผู้ชาย เจี๊ยบมองเรื่องนี้ยังไง


เราคิดว่ามันมีส่วนที่คนเข้าใจผิด ด้วยความที่เฟมินิสม์มันไม่ถูกอธิบายแบบที่มันสะท้อนกับความเป็นจริงด้วย คือมันไปอธิบายแค่มุมเดียวว่า เฟมินิสต์โมโหโกรธเกรี้ยว แล้วไม่ได้พูดที่ไปที่มาเลยว่า ไม่โมโห ไม่โกรธได้ไง หรือ เฟมินิสต์เกลียดผู้ชาย คุณไม่รู้หรือว่าที่ไปที่มามันมาจากอะไร เราคิดว่าปัญหาของการที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเฟมินิสม์ก็คือการที่สังคมไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ ไม่มีการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและสะท้อนกับความเป็นจริงด้วย มันเลยกลายเป็นว่าเอาภาพเมื่อปี 1980 เอาเฟมินิสต์แบบยุคสมัยก่อนซึ่งมันผ่านมามีพัฒนาการมาอะไรมาเยอะแยะ แต่ภาพพัฒนาการทั้งหลายมันไม่ได้ถูกเอามาอธิบายร่วม แล้วก็ไม่เห็นความหลากหลาย ทุกวันนี้นึกถึงเฟมินิสต์ เรายังนึกถึงคนผิวขาวอยู่เลยใช่มั้ย นึกถึงเฟมินิสต์ในไทยน่ะ มีหน้ากี่คนขึ้นมาก็ยังเป็นชนชั้นกลางอยู่เลย เราก็เลยคิดว่าเฟมินิสต์มันไม่ Practical ในสังคมไทย เราคิดว่าปัญหามันไม่ใช่แค่คนกลัวจะถูกเหมารวม แต่ว่าปัญหาของมันก็คือคนเข้าใจผิดด้วย ก็เลยไม่กล้า ไม่สามารถและไม่อยากที่จะถูกเหมารวมแบบนั้น แต่ว่าถ้าเราสร้างความเข้าใจได้ เหมือนกับคอร์สเฟมินิสต์ของเราที่มีน้องๆมาเรียน ตอนนี้ทุกคนภูมิใจมากที่จะบอกว่าฉันเป็นเฟมินิสต์ ฉันรู้แล้วว่าเฟมินิสม์คืออะไร ฉันไม่กลัวที่จะนิยามว่าฉันจะสู้เรื่องเพศ ฉันจะสู้เรื่องประชาธิปไตย เราคิดว่าเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราให้ข้อมูลที่มากเพียงพอ แต่ตอนนี้เราไม่ได้มีข้อมูลที่เพียงพอ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่คนจะไม่อยากนิยามตัวเองและกลัว




แล้วงานที่ทำอยู่ตอนนี้ ที่ใช้ฐานคิดเฟมินิสม์ในการทำงาน มีอะไรบ้าง?


อันแรกเลยที่เราคิดว่าเราใช้ฐานคิดเฟมินิสม์ในการทำงาน คือเรื่องของการ ฟังประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่โดยระบบเพศ เราเริ่มจากฟังเด็กที่ไปโรงเรียน เราไปทำกิจกรรมกับน้องๆ ตอนเป็นนักศึกษาไปทำวิจัยเรื่องโรงเรียน เราแปลกใจมากที่พอมาถึง เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายจะแยกกันอัตโนมัติเลย ถ้าเป็นเรา ถ้าไม่ได้ถูกบอกให้นั่งแยก ประสบการณ์เราคือถ้าสนิทกับใครเราจะนั่งกับคนนั้น ซึ่งเพื่อนเราเป็นทรานส์หรือเพื่อนเราเป็นผู้ชายที่เราสนิทด้วยเราก็นั่งกับคนนั้น แต่จะไม่อัตโนมัติ แบบว่าคละกันในระดับชั้น แต่ไม่แยกเป็นผู้หญิงผู้ชาย คำถามก็คือว่า ทำไมแยกกัน เสร็จแล้วพอถามไป ได้ยินเสียงเด็กผู้ชายบ้าง แต่ไม่เคยได้ยินเสียงเด็กผู้หญิงเลย จนกระทั่งต้องเรียกว่า ขอฟังเสียงเด็กผู้หญิงหน่อย ตัวแทนก็ได้ ถึงค่อยๆมีคนยกมือขึ้น แล้วก็พูดแค่คนนึง มันเลยกลายเป็นคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น


ทีนี้เราก็พยายามไปคุยกับเด็กผู้หญิงว่า มาโรงเรียนได้ยังไง มาโรงเรียนแล้วมีปัญหาอะไร มาโรงเรียนแล้วรู้สึกยังไง พร้อมๆคู่ขนานไปกับเด็กผู้ชาย ทีนี้สิ่งที่มันต่างออกไปก็คือ เด็กทั้งสองกลุ่มน่ะ เข้าถึงการศึกษายากพอๆกัน แต่เด็กผู้ชายยังมีโอกาส เป็นไปได้ พ่อแม่สนับสนุน แต่เด็กผู้หญิงจะมีประสบการณ์ชีวิตที่แบบว่ายากมากกว่าที่จะมาถึงโรงเรียนนี้ได้ อย่างเช่น ตอนแรกพ่อแม่ก็จะไม่ให้เรียนแล้ว ครูประจำชั้นต้องเอารถมอเตอร์ไซไปรับที่บ้านเพราะเรียนเก่งมาก เก่งกว่าทุกคนในโรงเรียน เอาซ้อนรถลงมายี่สิบกิโล แล้วเค้าไม่เคยออกจากหมู่บ้าน ออกมาร้องไห้ มาถึงโรงเรียนร้องไห้ ในขณะที่เพื่อนผู้ชายในหมู่บ้านเดียวกันไม่มีประสบการณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นเราคิดว่า ณ ตอนนั้น เรายังไม่ได้เรียนรู้เรื่องเจนเดอร์และไม่เคยเรียนที่ไหนเลยเพราะระบบการศึกษามันไม่สอนเรา แล้วเราก็ยังไม่รู้จักเฟมินิสม์ด้วยซ้ำไป แต่เรารู้ว่าเสียงของผู้หญิงมันเบา ประสบการณ์ของผู้หญิงไม่เคยมีใครได้ยิน





เอาแค่เรื่องการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำมันน้อยมาก การถูกจดจำในโรงเรียน ผู้หญิงก็จะถูกเอาไว้ข้างหลัง คือตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าเราใช้แนวคิดแบบเฟมินิสม์ในการทำงาน คืออันที่หนึ่ง การฟังประสบการณ์ เรารู้ว่าประสบการณ์ผู้หญิงมันซับซ้อนและเราต้องใช้เวลานานมากกว่าเราจะได้ยินเสียง กว่าจะทำให้เค้ารู้สึกปลอดภัย หลังจากนั้นมันก็ขยับเป็นมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดเรื่องเพศ แล้วเราพบว่า เด็กผู้หญิงจำนวนมากมีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัวและไม่สามารถที่จะบอกใครได้ ถึงแม้บางคนพยายามจะบอกใครสักคน แต่ก็มักจะถูกผลักกลับมาว่าเข้าใจผิดหรือว่าไม่ให้ไปพูดที่ไหน เรื่องที่สอง จากการที่เราทำงานแบบเฟมินิสม์ ใช้แนวคิดแบบนี้ ก็คือการลงไปถึงประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศโดยทางตรง คือการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ ซึ่งพื้นที่แบบนี้ไม่สามารถทำได้ในขณะที่มีผู้ชาย เพราะฉะนั้นก็จะมีเด็กผู้หญิงที่หลังจากเราประชุมอะไรกันเสร็จแล้ว เราก็จะประกาศว่าใครอยากจะอยู่คุยต่อเชิญนะคะ ครูมีเวลาให้ คนนึงก็สี่สิบนาทีอย่างมากหรือเยอะกว่านั้นก็ได้ ก็จะมีเข้ามาทีละคน ทุกครั้งเลยที่เราจัดกิจกรรม แล้วเรื่องที่สามก็คือเราจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศยังไง


ณ ตอนนั้น เราทำโครงการให้ทุนการศึกษาเด็กและเยาวชน เราก็จะมีการให้ priority เพราะทุนมันมีจำกัด อันแรก เราจะให้เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็น LGBTIQ, เป็นผู้หญิงทุกคนที่ไม่มีสัญชาติ จากนั้นจึงเป็นเยาวชนผู้ชาย และต้องมั่นใจว่าจำนวนผู้หญิง ผู้ชาย และหลากหลายทางเพศต้องสะท้อนความเป็นธรรม คือเราจะให้ทุนเด็กและเยาวชน LGBTIQ และผู้หญิงมากกว่า นั่นคือถ้าทุนมีจำกัดนะ อีกตัวอย่างเช่น ถ้าคนสุดท้ายคือ LGBTIQ และหรือ/ผู้หญิง แล้วก็มีเด็กหรือเยาวชนผู้ชาย เราจะพิจารณาผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศก่อน ถ้าทุนมีมากพอเราให้เยาวชนทุกคนเลย ที่เขาสมัครและสะท้อนความจำเป็นและความต้องการ และมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาเล่าเรียน


แล้วเราก็ต้องการันตีว่า ก่อนที่เราจะจัดกิจกรรมต่างๆเราก็ต้องประกาศหลักการ เช่น ถ้ามีใครที่รู้สึกอ่อนไหวมากๆขึ้นมา กำลังพูดประสบการณ์และมีการร้องไห้ ขอให้ทุกคนอยู่กันยังไง ขอให้ทุกคนสนับสนุนกันยังไง ขอให้เก็บความลับ กลายเป็นหลักปฏิบัติว่านอกจากเราจะมีเรื่องจำนวนผู้หญิง แล้วเราก็ต้องมีกระบวนการที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะให้ผู้หญิงพูดแล้วสบายใจ แล้วเราก็ต้องฝึกผู้ชายให้ให้โอกาสผู้หญิงได้พูดด้วย เพราะเรารู้ว่าผู้ชายพูดเก่ง เพราะฉะนั้นไม่แปลกถ้าเราจะขออนุญาตเริ่มต้นด้วยผู้หญิงก่อนในการที่จะทำให้เค้ารู้สึกว่าค่อยๆมีพื้นที่ แล้วเดี๋ยวตอนท้ายผู้ชายคิดยังไงค่อยเป็นผู้ชาย เราจำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะว่าในสังคม ถ้าผู้ชายพูดก่อนผู้หญิงจะไม่พูด


เราเคยจัดกิจกรรมแล้วให้ใครพูดก่อนก็ได้ พอผู้ชายพูดปุ๊บ ผู้หญิงจะถอยหลัง หลังจากนั้นจะไม่มีเสียงของผู้หญิงออกมาเลย มันก็เลยกลายเป็นว่างานที่เราทำอยู่ คืองานเรื่องการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน การพยายามทำให้เกิดการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ทั้งในระบบ คือ เป็นอาจารย์พิเศษ เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียน ทำงานกับนักเรียน นักศึกษา และนอกระบบ คือ ตามไปถึงชุมชน ไปทำงานกับพ่อ แม่ กับชุมชน กับภาครัฐในระดับชุมชน เช่น อบต. และใช้มุมมองเรื่องเพศในการมองปัญหา และแก้ปัญหาโดยมีหลักปฏิบัติขององค์กรว่าเราจะให้จำนวนอย่างไร จะทำยังไงให้มีพื้นที่ปลอดภัย ว่าเราจะปฏิบัติยังไงเมื่อมีประเด็นเรื่องเจนเดอร์ หรือเรื่องความรุนแรงทางเพศออกมา




งานของเราก็จะขยับจากการมีพื้นที่ปลอดภัยแล้วไปสู่การขับเคลื่อนให้มีเฟมินิสต์รุ่นใหม่ที่ต่อสู้ผ่านประสบการณ์ตัวเองในเรื่องของความไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเราก็จะฝึกเยาวชนให้มีเครื่องมือแบบเฟมินิสม์ คือเด็กทุกคนในโครงการสร้างสรรค์จะได้เขียน ถ้ารับทุนหรือจะสมัครเข้าร่วมโครงการก็จะมีการเขียนประวัติ ซึ่งเราพยายามกระตุ้นให้เค้าเขียนว่าเราคิดว่าเรามีปัญหาอะไร ถ้าได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมนี้จะนำไปสู่อะไร แล้วเค้าอยากจะทำอะไรในอนาคต เพราะฉะนั้นเด็กก็จะพยายามนำเสนอว่าเค้ามาจากบริบทแบบไหนผ่านตัวเค้าเอง แล้วทำไมเค้าถึงอยากเรียน และถ้าเรียนจบแล้วจะกลับไปทำงานกับชุมชนหรือครอบครัวเค้าอย่างไร หลังจากเข้ามาอยู่ในกระบวนการแล้วเค้าก็จะมีการเขียนทุกครั้งว่าได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมบ้าง ถ้าเป็นกิจกรรมที่สองก็จะให้เขียนว่ากิจกรรมครั้งที่หนึ่งเนี่ย เค้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร รวมถึงถ้าเป็นคนที่รับทุน เราจะอบรมและให้วิธีคิดในการมอง อย่างเช่น มุมมองเรื่องเจนเดอร์ เรื่องสิทธิมนุษยชน ให้เครื่องมือเรื่อง Storytelling แล้วให้เด็กฝึกปฏิบัติทุกเดือน และมีพื้นที่ปลอดภัยในการฟังกันอย่างไม่ตัดสิน ทุกเดือนเราก็จะมาฟังเรื่องราวของกันและกันและพยายามสนับสนุนกันให้ออกจากปัญหา


ตอนนั้นเราก็จะพบว่าโครงสร้างของโรงเรียน เด็กในระบบการศึกษา เค้าเผชิญกับ อันที่หนึ่งคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากระบบการศึกษา เช่น การถูกบุลลี่บนฐานของการไม่มีสัญชาติ การเป็นชนเผ่า การเป็นผู้หญิงหรือการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราก็พบว่างานของเรามันเป็น Intersectionality คือเรามีเยาวชนที่เป็นชนเผ่า ไร้สัญชาติ และมีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าเราต้องทำความเข้าใจความซับซ้อนของการถูกเลือกปฏิบัติทั้งจากครูจากเพื่อนและจากครอบครัว และเราก็จะเห็นเด็กทั้งหมดถูกเลือกปฏิบัติบนฐานของความเป็นชนเผ่าเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจจะไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติบนฐานของความเป็นเพศซึ่งสังคมก็ให้อภิสิทธิ์ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และถ้าเป็นคนไม่มีสัญชาติ สิทธิทุกอย่างก็จะไม่ได้ถูกรองรับโดยรัฐ การเดินทางก็จะมาด้วยความกลัว การช่วยเหลืออะไรก็ตามจากโรงเรียนก็จะถูกตั้งคำถามว่าจริงๆแล้วเค้าไม่คู่ควรที่จะได้รับสวัสดิการใดๆ เพราะไม่ได้เสียภาษี เพราะไม่ได้เป็นคนไทย รวมถึงการที่เค้าก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเพราะว่ามันจะไม่เห็นอนาคตว่าจบออกมาแล้วจะได้ทำงานได้ยังไง เพราะการไม่มีสัญชาติก็หมายถึงการไม่มีโอกาสได้ทำงานด้วย




เพราะงั้นงานของเราจึงเป็นงานที่มัน Intersectionality มันก็ขยับไปจากงานอบรม การใช้เครื่องมือเฟมินิสต์ ไปสู่การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวแบบเฟมินิสต์ คือเราพบว่าเราไม่สามารถพูดเรื่องผู้หญิงเฉพาะกับวงผู้หญิงได้เพราะผู้หญิงของเราเป็นผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง เราก็เลยพยายามจะไปทำงานกับผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองด้วยและเริ่มเห็นปัญหาที่คล้ายกันและไม่เหมือนกัน เพราะผู้หญิงที่เราหมายถึงก็เป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นเราก็ขยับไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของ LGBTIQ ด้วย และเราก็พบว่า LGBTIQ ไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องชนเผ่าพื้นเมืองหรือเรื่องไร้สัญชาติ เราก็พยายามจะผลักไปสู่ประเด็นเรื่องสัญชาติเรื่องผู้อพยพ แต่ปรากฎว่าเราก็ถูกกันออกเพราะว่าในขบวนการเคลื่อนไหวแบบนั้นเนี่ยมองเห็นเฉพาะมุมแบบกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้เอาเรื่องสังคม เศรษฐกิจหรือการพัฒนาศักยภาพหรือแม้กระทั่งไม่มีมุมมองเรื่องเพศ


เราก็เลยพบว่าเราแย่แล้วล่ะ เพราะว่าเราทำทุกประเด็น ที่ว่ามานี้ ควรจะอยู่ในทุกกระบวนการเคลื่อนไหว แต่กลายเป็นว่าเมื่อเราพยายามเอางานที่ซับซ้อนของเราเข้าไปในแต่ละกลุ่มมันถูกผลักออกมาว่าเราทำเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องนั้น มันก็เลยทำให้เราเหมือนอยู่ตรงกลาง เราก็เลยพยายามดูว่าใครบ้างที่อยู่ตรงกลาง เราก็ไปเจอ Sex Worker เพราะ Sex worker จำนวนมากเป็นชนเผ่า หรือไม่มีสัญชาติ ก็จะมีประเด็นร่วมขึ้นมา หรือผู้พิการ ที่ถูกจำกัดสิทธิไม่สามารถเข้าถึงหลายอย่าง ก็มีบางส่วนที่คล้ายๆกับคนไร้สัญชาติที่ถูกจำกัดสิทธิไม่สามารถเข้าถึงบางสิ่งได้ และเราก็เริ่มจับมือกับเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เพราะมันเป็นปัญหาเรื่องพรมแดนด้วย เป็นปัญหาเรื่องกฎหมายที่ไม่รับรอง ไม่ปกป้องคุ้มครอง ก็จะเหมือนกับชนเผ่าที่เราทำงานด้วย เพราะฉะนั้นจากงานของเราบนหมู่บ้าน เราก็ยกระดับขึ้นมาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในระดับภาคเหนือที่มองเห็นความไม่เป็นธรรมทางเพศ มองเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกับผู้หญิงและสิทธิมนุษยชนที่มันอยู่ในกฎหมายหลายๆตัวที่ภาครัฐออกมาแล้วไม่ทำงานร่วมกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือไม่ออกกฎหมายหรือมีกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ กีดกัน ทำให้ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง เช่น มาตราที่ห้ามผู้หญิงทำแท้ง มาตราที่ทำให้คนเข้าถึงสัญชาติได้ยากขึ้น


มันจึงเป็นตัวอย่างว่าเราจำเป็นต้องรวมกันเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อผลักดันในระดับที่มากไปกว่านั้นคือทำให้ กฎหมายและสังคมไม่เลือกปฏิบัติต่อคนบนพื้นฐานอัตลักษณ์และความเป็นเพศ มันก็เลยเกิดขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นมา แล้วเราก็รู้ว่าข้อจำกัดในประเทศมันจะสามารถเปิดเผยออกมาและแก้ไขได้ด้วยการที่เราไปขับเคลื่อนในระดับนานาชาติ เราก็เลยสนใจที่จะไปขับเคลื่อนเรื่อง LGBTIQ ในระดับเอเชีย ระดับโลก หรือว่าเฟมินิสต์ในระดับเอเชียหรือระดับโลก รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย เพื่อที่จะผลักดันให้มีวาทกรรมหรือนโยบายในระดับโลกและมันก็จะออกมากดดันรัฐบาลให้ต้องตอบสนองต่อปัญหาหรือนโยบายเหล่านี้ ก็พยายามทำงานในทุกระดับ คือใช้กรอบเฟมินิสม์มาขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับโลกเพื่อที่จะสร้างความเท่าเทียมทั้งในแง่ของกฎหมายและในแง่ของสังคม





ได้ฟังการทำงานในทุกระดับแบบนี้แล้ว คนก็อาจจะคิดว่าดีจัง ทำอะไรเยอะมากเลย แล้วก็อาจจะเข้าใจว่าทำไมเจี๊ยบถึงเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์ แต่ว่าพอเราพูดถึงเฟมินิสต์รุ่นใหม่ที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์บนทวิตเตอร์ คนก็อาจจะบอกว่า พวกนี้พูดแต่บนออนไลน์ แต่ชีวิตจริงไม่ได้ทำอะไร หรือว่าไม่รู้เรื่องหลักการทฤษฏี เอาแต่เย้วๆว่าผู้ชายไม่ดียังไง เจี๊ยบมองเรื่องนี้ยังไง


คืออันที่หนึ่ง เราคิดว่าสังคมไทยหรือว่ากระทั่งในขบวนการเคลื่อนไหว เวลาเคลื่อนไหวแล้วมันนำไปสู่ข้อสรุปอย่างเดียวโดยไม่เอาบริบทไปด้วย คราวนี้เราก็ต้องมานั่งนึกถึงบริบทความจริงว่า คนรุ่นเราเนี่ย เข้ามาในช่วงที่มีคอมพิวเตอร์แต่ไม่มีอินเตอร์เน็ตฟรี โปรแกรมแชทก็ยังเป็นห้องๆ บอร์ดก็ยังเป็นบอร์ดแบบแห้งๆ คือเราเป็นคนยุคนั้น แล้วขบวนการเคลื่อนไหวของเรามันก็ไปแตะกับช่วงที่มีประชาธิปไตย เราสามารถร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญ การประท้วงในปี 53 คนก็มาจากทั่วประเทศ


ในยุคนั้นมันมีพื้นที่ทางสังคมในเชิงกายภาพค่อนข้างมาก แต่หลังจากที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและจำกัดสิทธิมากขึ้น การที่เอาตัวเองไปรวมกลุ่มกันมันหมายถึงความเสี่ยง เพราะงั้นเด็กในยุค หลังๆมา แม้จะออกมาต่อสู้กันบนท้องถนนเป็นระยะๆได้ แต่มันไม่ได้ถูกการันตีเรื่องความปลอดภัย ซึ่งแต่ก่อนการเคลื่อนไหวมันถูกจำกัดอยู่ในเรื่องประชาธิปไตยค่อนข้างเยอะ เรื่องอื่นๆยังเป็นไปได้บ้าง แต่หลังๆมาเราถูกจำกัดโดยรัฐ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในเชิงกายภาพที่เราเรียกร้องเด็กๆหรือเยาวชนรุ่นใหม่ให้เค้าไปเรียนรู้มันไม่มีใครทำให้เค้า เอ็นจีโอเองก็ถูกแย่งชิงพื้นที่ ถูกควบคุมทรัพยากร เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีเงิน อย่างเราทำงานอาสาสมัคร แรกๆเรารับอาสาสมัครปีแรกๆห้าสิบคนเข้ามาเรียนรู้กับเรา แต่หลังจากที่ทรัพยากรมันน้อยลง เรารับอาสาสมัครไม่ได้ ทีนี้เด็กก็จะถูกผลักดันให้ไปอยู่ในกล่องของเค้า ในระบบการศึกษาที่มันคับแคบและไม่ยึดโยงกับสังคม


เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมมันเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ออนไลน์ เค้าเริ่มไปมีความรู้ในพื้นที่ออนไลน์ เริ่มหาข้อมูลได้ แล้วเค้าก็เริ่มสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของเค้าเองบนพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งไปลดทอนว่ามันไม่มีผลในทางปฏิบัติไม่ได้ สำหรับเรา เราคิดว่ามันมีที่มาแล้วมันก็มีผลในแบบของพื้นที่นั้นๆที่อนุญาตให้ทำได้ แต่ว่ามันไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่ออนไลน์
เราจะเห็นว่า #metoo มูฟเม้นท์ คนขึ้นไปแฮชแท็กกัน จนนำไปสู่การออกกฎหมาย จนนำไปสู่การตระหนักว่ามันไม่มีความเป็นธรรมทางเพศในฮอลลีวูด มันไม่มีความเป็นธรรมกับผู้หญิงในอินเดีย หรือกระทั่งในไทยมันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะพอโพสต์ออนไลน์ปุ๊บมันถูกโจมตี มันถูกขู่ฆ่า

คือเราคิดว่ามันไม่จริงที่เราบอกว่ามันไม่มีผลในทางปฏิบัติ มันไม่จริงที่บอกว่ามันจำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ออนไลน์และไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันไม่จริง จริงๆมันพิสูจน์ได้ว่ามันนำไปสู่การพูดคุย มันนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและมันก็จะกลายเป็นการปกป้องคุ้มครองในเชิงกายภาพได้ด้วย อย่างเช่น พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ. คู่ชีวิต มันก็เกิดขึ้นจากการผลักดัน แต่แน่นอนว่าคนที่เค้าเข้าไม่ถึงข้อมูลเนี่ย เมื่อเค้าได้เห็นในออนไลน์ เมื่อเค้าได้อ่านข้อมูล เค้าก็เริ่มมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้เกิดสมรสเท่าเทียมแล้วก็ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต แล้วผลที่มันจะเกิดขึ้นก็คือ นอกจากเค้าได้ไปลงชื่อเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมแล้ว มันก็จะผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวว่าสมรสเท่าเทียมมันต้องมีนะในสังคมไทย และสุดท้ายจากพื้นที่ออนไลน์ที่คนเริ่มได้ข้อมูล เริ่มตระหนัก ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนกฎหมาย และการเปลี่ยนกฎหมายจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและยอมรับสิทธิของ LGBTIQ ในหลายมิติ รวมถึงการก่อตั้งครอบครัว เราเลยคิดว่า สรุปง่ายๆเลยว่ามันไม่จริงที่เราไปลดทอนการต่อสู้ของคนในทวิตเตอร์



แล้วคิดยังไงกับการที่คนออกมาต่อต้าน เฟมินิสต์ที่ใช้ทวิตเตอร์หรือ ที่เรียกกันว่า

เฟมทวิต ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ชายที่ไม่พอใจในการออกมาเคลื่อนไหวของเฟมทวิตและรวมถึงฝ่ายประชาธิปไตย นักคิดนักเขียนที่มองว่าเฟมทวิตไม่ใช่เฟมินิสต์ที่ถูกต้องหรือมองว่าการเคลื่อนไหวของของเฟมทวิตไม่โอเค


ก่อนที่จะมาถึงเรื่องนี้ เราคิดว่ามันมีเรื่องก่อนหน้า เรื่องก่อนหน้าก็คือ เฟมินิสต์เนี่ยต่อต้านการกดขี่ทางเพศ เพราะฉะนั้นไม่มากก็น้อย คนที่มีพริวิลเลจแล้วเริ่มตระหนักว่าตัวเองมีพริวิลเลจ แล้วอยากจะเก็บพริวิลเลจนั้นไว้ จะต้องทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เสียงของคนที่ถูกกดขี่ออกมาได้ เพราะฉะนั้นในสังคมภาพใหญ่เลยไม่มีพื้นที่สำหรับเฟมินิสต์ ในพื้นที่การเมืองก็แทบไม่มีพื้นที่ผู้หญิงและผู้ชายเป็นเฟมินิสต์มีมั้ย มันก็ไม่ค่อยมี ในพื้นที่นักวิชาการ ก็แทบจะมี Narrative ที่ใหญ่มากว่าจะต้องใช้เหตุผล ไม่มีอารมณ์ นักวิชาการผู้หญิงก็ตีพิมพ์งานยาก ไม่ได้รับการสนับสนุน ต้องพยายามกี่เท่า ต้องมีความเป็นผู้ชายมากเท่าไหร่ถึงจะไปแก่งแย่งพื้นที่เพื่อจะไปตีพิมพ์แล้วได้รับการ ‘อ่าน’ จากผู้คนแล้วถึงจะเข้าใจ แต่มันไม่มีทางไปถึงเรื่องเพศได้เพราะในวงวิชาการก็ถูกระบบชายเป็นใหญ่ครอบงำมากๆ


เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมาถึงการที่เฟมทวิตถูกต่อต้านเนี่ย เราพบว่าในสังคม ในทุกสถาบัน ต่อต้านคนที่ต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศซึ่งจำนวนมากเป็นผู้หญิงเพราะเราถูกกดขี่ ก็เลยกลายเป็นว่าเมื่อมีพื้นที่ออนไลน์ทั้งเฟซบุคและทวิตเตอร์ คนที่เป็นเฟมินิสต์เริ่มมีพื้นที่เป็นของตัวเอง เริ่มกลายเป็น Influencer และเริ่มหากันเจอ คือเฟมินิสต์เชียงใหม่มีกี่คน รวมทั้งประเทศอาจจะได้ยี่สิบสามสิบคน พอแยกสายกันแล้วก็อาจจะเหลือสายเล็กๆ แล้วเราหากันไม่เจอในเชิงกายภาพ เราถูกควบคุมด้วยงบประมาณ เราถูกควบคุมด้วยหลายอย่าง มันทำให้เราหากันไม่เจอ ทีนี้พื้นที่ออนไลน์มันทำให้เราหากันเจอง่ายขึ้น แค่เราใส่แฮชแท็กว่าเฟมทวิต เราก็จะเจอกัน พอเราเช็คว่ามีใครใช้แฮชแท็กนี้ เราก็จะรู้ว่าคนนี้เป็นเฟมใช่มั้ย งั้นเราเอาเข้ามาในเครือข่ายและเราดูว่าเพื่อนพูดอะไรจะได้ไปช่วยกัน


มันกลายเป็นว่าสิ่งที่เค้าทำ ก็คือการ Disturb หรือการก่อกวนการวมกลุ่มกันได้จากการเจอกันของเฟมินิสต์ ของการที่จะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวในทุกๆแพลตฟอร์มและในทุกๆสถาบัน เพราะฉะนั้นกระบวนการที่เค้าเข้าไปโจมตีเฟมินิสต์มันก็ใช้หลายยุทธศาสตร์ ถ้าในเชิงวิชาการ เค้าก็ใช้ผู้นำที่เป็นผู้ชายสร้างเงื่อนไขที่สนับสนุนผู้ชายมากกว่า ในสถาบันที่เป็นการเมืองก็พยายามบอกว่าเอาเรื่องเท่ากันก่อน เดี๋ยวเรื่องเพศก็มา เอาค่าแรงเท่ากันก่อนเดี๋ยวเรื่องอื่นๆจะตามมา ซึ่งเราก็พิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง ถ้าไม่เอาเรื่องเพศขึ้นมามันไม่มีทางที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงได้


ในระบบโรงเรียน ผู้บริหารผู้หญิงก็แทบไม่มีพื้นที่ในการที่จะมีสิทธิมีเสียงในการเปลี่ยนแปลงมาตรการของโรงเรียนให้มันปกป้องผู้หญิง เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ในแต่ละแพลทฟอร์ม ในแต่ละสถาบันมันก็จะแตกต่างกัน ทีนี้พอมันเป็นทวิตเตอร์เนี่ย วิธีการของเค้ามันก็ง่ายมาก อันที่หนึ่งก็คือว่าไปหาเรื่องเล่าเก่าๆซึ่งมันก็อยู่ในความคิดของคนอยู่แล้ว เอามาผลิตซ้ำ เอารูปเก่าๆมา เอาภาพเก่าๆมา แล้วก็ไปหยิบเอาเฟมินิสต์ที่มันเข้ากรอบที่เค้าคิดแล้วก็เอาขึ้นมาล่าแม่มด เพราะฉะนั้นนี่คือยุทธศาสตร์ของการทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในพื้นที่ออนไลน์


ถามว่าเราเท่าทันมั้ย เราคิดว่าเราเท่าทัน เราจึงเกิดการรีเคลมคำว่าเฟมทวิต เพราะจริงๆแล้วสิ่งที่บอกว่ามันไม่ดี เช่น ผู้หญิงขี้โมโห สำหรับเราน่ะ มันคือสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องโมโห เราต้องโกรธ และเราต้องมีความหวัง แต่ว่าคำอธิบายของเรามันต้องขยับไปอีกหน่อยนึงก็คือว่าเราต้องการการเปลี่ยนแปลง
เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันกลายเป็นเรื่องการต่อสู้และช่วงชิงพื้นที่ แล้วในพื้นที่นั้น ความเป็นเพศมันมีผลค่อนข้างน้อย หมายถึงเราไม่ได้เอาร่างกายเข้าไป แต่เราเอาภาษาเข้าไป เพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้ถูกกีดกันตั้งแต่แรก การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมันเท่ากัน ทั้งสองเพศทั้งสามเพศ ทุกคนเข้าไปอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นเราก็เอาตัวหนังสือขึ้นไปแข่งกัน

เราคิดว่ามันมีความหวาดกลัวว่าเราจะสามารถสร้าง Narrative ที่มันสะท้อนความเป็นจริงและมันจะเกิดขบวนการเคลื่อนไหวแล้วจะนำไปสู่ความเป็นธรรม เพราะงั้นเราก็ตอบกลับว่า คนที่ต่อต้านเฟมินิสต์เค้าไม่เห็นด้วยกับเฟมินิสต์เพราะอะไร เพราะเค้าอยากจะสถาปนาความไม่เป็นธรรมทางเพศนี้ไว้และเค้าก็ใช้ยุทธศาสตร์หลายอัน รวมถึงขู่ฆ่าก็มีด้วย ในหลายประเทศก็มีการฆ่าเฟมินิสต์ แม้ยังไม่เกิดในประเทศไทย


เพราะฉะนั้นเราก็ต้องถามกลับไปว่าเราอยากอยู่ในสังคมแบบนั้นใช่มั้ย ที่แบบว่าแม่ เมีย ลูกสาว หรือแม้กระทั่งตัวเองตอนเด็ก ถึงแม้จะเป็นผู้ชายที่เป็นคนรักต่างเพศก็อาจจะมีประสบการณ์การถูกข่มขืนก็ได้ เราอยากอยู่ในสังคมแบบนี้ใช่มั้ย ถ้าไม่ใช่ก็ต้องเอื้อให้ความคิดที่หลากหลายมันขึ้นมาในทวิตเตอร์ ในสังคม เพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นในขณะที่คุณเคลมว่าเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิบนที่ดิน เรื่องยุติเหมือง ในขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุนและมี Solidarity กับการเรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศด้วย และก็ต้องปฏิบัติด้วย กลับไปบ้านช่วยทำงานบ้านช่วยเหลือเมียด้วย ไม่ตีเมีย


เราคิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมโดยให้สังคมตระหนักว่า การถูกคุกคามโดยรัฐเมื่อเราต่อสู้เรื่องที่ดิน เมื่อเราต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม แน่นอนว่าเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ ล่วงละเมิดทางเพศก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าเราเรียกร้องให้สังคมมันดีขึ้น เราก็จำเป็นต้องเอื้อให้ขบวนการที่หลากหลายมันมาบรรจบกันและขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน

อันนี้เราพูดในฐานะคนที่จัดการการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ คราวนี้ถ้าคุณ และหรือกลุ่มคุณที่มีอำนาจ มีพริวิเลจ และมีอิทธิพลกับคนทั่วไปได้สร้าง Narrative ต่อเฟมินิสต์แบบผลิตซ้ำเป็นภาพเหมารวม ทำให้คนมีอคติต่อเฟมินิสต์ คุณอาจจะทำโดยไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว หรือจริงๆอาจจะตั้งใจก็ได้ นี่มันคือการกดขี่ผู้หญิงอย่างเป็นระบบนะคะ แล้วถ้าคุณอธิบายว่าการที่ผู้หญิงต้องการความเป็นธรรมคือการกดขี่ผู้ชาย มันก็ไม่ถูกต้อง


ส่วนเรื่องภาพเหมารวม เราคิดว่าจริงๆคือเฟมินิสต์โกรธน่ะใช่ เฟมินิสต์ใช้เหตุผลก็มีด้วยในขณะเดียวกัน แล้วเฟมินิสต์ที่สู้เรื่องสันติภาพก็มี คือมีหลากหลายมากๆ narrative ที่ว่ามีแบบเดียวมันไม่จริง และเราก็ไม่ควรรังเกียจสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนที่เค้าต่อสู้ลุกขึ้นมาต่อสู้ และเราควรที่จะเห็นว่าถ้ามันไม่ดี ในอนาคตเราก็ช่วยกันทำให้มันเป็นขบวนการที่ดีขึ้นก็ได้ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างภาพเหมารวมต่อเฟมินิสต์






เรื่องชนชั้นมีส่วนกับการออกมาเคลื่อนไหวของขบวนการเฟมินิสต์มั้ย อย่างเรื่อง สมรสเท่าเทียม บางคนก็อาจจะไม่ได้อิน หรือบางคนอาจจะบอกว่าเราไม่มีปัญหาอะไร


คือมันเป็นเรื่องของชนชั้นโดยเนื้อตัวเนื้อแท้ของมันเลยว่าเรากำลังต่อสู้กับระบบลำดับชั้น เราต่อสู้กับชนชั้นเพราะมันไม่มีความเป็นธรรมทางเพศ แล้วตอนนี้มันกำลังแบ่งชนชั้นอยู่ระหว่างหญิงชาย แล้วก็ยังมาแบ่งอีกว่าคนหลากหลายทางเพศ แล้วในคนหลากหลายทางเพศก็ยังมาแบ่งอีกว่าเป็นอะไรบ้าง เป็นเกย์ เป็นทรานส์ เป็นเลสเบี้ยน ใครอยู่ข้างหลังสุด คือเรากำลังต่อสู้กับระบบลำดับชั้น แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยรู้สึกคือเรามองเห็นแค่ระบบลำดับชั้นแค่มิติเรื่องเพศเท่านั้นถ้ามองถึงขบวนการเคลื่อนไหว ณ ตอนนี้ และแม้กระทั่งเรื่องเพศเราก็ไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันยังไง นี่คือปัญหาของการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเป็นธรรม


การที่เราไม่เอาประเด็นเรื่องอื่นๆเข้ามาเลย แล้วเราผลักดันไปแบบนั้นเนี่ยในแง่นึงคือมันไม่สามารถใช้ได้ อย่างเช่น สมมติว่า เอาการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าก่อน ถ้าการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าของคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ แล้วมีขั้นตอนว่าคุณจะต้องเปลี่ยนโดยการผ่าตัดแปลงเพศก่อน แล้วถึงจะเปลี่ยนคำนำหน้าได้ ก็แปลว่าคุณทิ้งทรานเจนเดอร์ที่เค้าไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์เพราะมันมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ถ้าเราไม่ฟังเสียงของเค้า แล้วเราเป็นชนชั้นกลาง เราผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว เราก็ผลักดันของเราไป แล้วเราก็ทิ้งคนข้างหลังไว้ แล้วพอเราหันกลับมาเห็นคนเหล่านั้น เราก็คิดว่า So What? นี่ไงได้แล้ว การเปลี่ยนคำนำหน้า ก็แค่พยายามอีกหน่อย เก็บเงินอีกสักสี่ห้าปีเดี๋ยวก็ได้แล้วก็ค่อยมาแปลงเพศ มาเปลี่ยนคำนำหน้า อันนี้คือตัวอย่างประเด็นเรื่องทรานส์


แต่คราวนี้ประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมเนี่ย ยกตัวอย่างเช่น ณ ตอนนี้ พ.ร.บ. คู่ชีวิตก็บอกว่าเดี๋ยวจะผ่านให้แล้วนะ ในช่วงแรกมันมีอยู่บางดราฟต์ที่ไม่มีเรื่องของลูก ก็มีคนบอกว่าเรื่องลูกไม่เป็นไร เค้าให้แค่นี้ก็เอา เราที่มีลูกและรับเลี้ยงดูลูกไม่ได้ ก็ร้องโวยวายว่า เฮ้ย ทำไมเราถึงไม่สามารถรับเลี้ยงดูลูกบุญธรรมได้ มันก็เกี่ยวกับชนชั้นอีก ว่าพ่อแม่เรา พ่อแม่ของลูกเราด้วย เค้าก็เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ในเรื่องของความเป็นธรรมทางเพศในกระแสหลัก เพราะฉะนั้นความคิดของเค้าก็คือ ถ้าลูกของเค้ามาอยู่กับเราจะลำบาก มันก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่สามารถรับเลี้ยงดูลูกได้ แล้วยิ่งมีตัวกฎหมาย พ.ร.บ. คู่ชีวิต แล้วมีมาตรานี้ LGBTIQ จำนวนมากที่ไม่ได้คิดว่าต้องมีลูก ไม่จำเป็นต้องรับลูกบุญธรรม คิดว่าไม่เป็นไร ก็ทิ้งพวกที่มีลูกไว้ก่อน แล้วในตัว พ.ร.บ. ทั้งคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม เราก็ทิ้ง Polyamory เอาไว้ด้วย เพราะเราคิดว่าสมรสมันต้องมีสองคน


เรามีขบวนการเคลื่อนไหวที่เรารู้ทั้งรู้ว่าเราทิ้งประเด็น แม้กระทั่งในประเด็นนั้นเองไว้ข้างหลัง แต่เรื่องที่เราไม่เอาไปพิจารณาด้วย คือเรื่องของเชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธุ์ ในขบวนการเคลื่อนไหว LGBTIQ ไม่เคยเอาไปด้วยเลย

เราไม่เคยขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้คนที่ไม่มีสัญชาติที่มีความหลากหลายทางเพศได้ลุกขึ้นมาบอกว่าปัญหาคืออะไรและนโยบายที่เรากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าคืออะไร เราไม่เคยมีพื้นที่แบบนั้นให้ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติไปข้างหน้าได้เลย ทั้งๆที่เราก็รู้อยู่แล้วว่า ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว ชาติพันธุ์ ภาษา คนจำนวนมากถูกกีดกันออกไป เพราะฉะนั้นสังคมก็จะรับฟังแค่ LGBTIQ ที่เป็นนักวิชาการ LGBTIQ ที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่เราทำงานน้อยมากกับ LGBTIQ ที่เป็นเยาวชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่ไม่มีสัญชาติ เพราะฉะนั้นนโยบายที่เราได้มันจึงใช้ไม่ได้กับชีวิตเค้า เพราะปัญหาของเค้ามันไม่ถูกรับฟังตั้งแต่แรก

เอาง่ายๆเรื่อง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เราเนี่ยมีลูก ถ้าไม่ฟังเรา กฎหมายก็ง่ายมาก ก็ผ่านเล้วกันเพราะตอนนี้เค้าจะให้แล้ว ไม่ต้องเอาลูกไปด้วย แต่พอเรามีอำนาจหน่อย เราบอกว่าไม่ได้นะ เค้าก็เงี่ยหูฟังเรา แล้วก็พยายามจะใส่มาตรานึงเข้ามาเพื่อให้รับเลี้ยงลูกได้ แต่ลองคิดดูว่าในสังคมไทย เราไม่เคยฟังเสียงแรงงานที่เป็น LGBTIQ ใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นสวัสดิการแบบแรงงานค่าแรงรายวันที่เราขับเคลื่อนไป เราก็ไม่รู้ว่าคนที่ทำงานประจำแบบนี้จะได้รับผลประโยชน์หรือเปล่า หรือว่าการมีเงื่อนไขที่ไม่เท่าเทียมกันแล้วไม่ได้ถูกอธิบายให้กับคนอื่นๆด้วยช่องว่างทางภาษามันนำไปสู่อะไรบ้าง ก็เลยคิดว่ามันจริงที่เรากำลังต่อสู้เรื่องชนชั้น แต่เรามีจุดอ่อนเพราะเรามองชนชั้นเป็นแค่ชั้นเดียวคือเรื่องเพศ เราไม่เอาเรื่องอื่นๆไปด้วย อย่างเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย มันโยงกับหลายเรื่องมากเลย กิจกรรมทุกอย่างจัดที่กรุงเทพ เงินทุกอย่างลงกรุงเทพ แต่ปัญหาอยู่ อีสาน เหนือ ใต้


ความเป็นธรรมอยู่ไหน ทรัพยากรอยู่ที่ไหน คนกรุงเทพยี่สิบคนได้เข้าร่วมประชุม เพราะว่าไม่ต้องเสียค่าโรงแรม ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง คนต่างจังหวัดเอาปัญหามาร้อยแปด แต่ภาคเหนือไปคนเดียว แล้วให้เวลาพูดหนึ่งนาที แล้วให้ฟังคนที่เป็นเกย์ที่กทม.พูดสิบคน คนละห้านาที สิบนาที เราก็พยายามเอาประเด็นไปด้วย แต่ก็ไม่มีพื้นที่ แล้วพอตอนกลับเค้าก็บอกว่าฟังเราไม่รู้เรื่อง แต่ฟังพวกนั้นรู้เรื่อง เพราะอะไร ก็เพราะคุณฟังคนเหล่านี้มาตลอด คุณให้พื้นที่คนเหล่านี้มาตลอด แต่คุณไม่เคยให้พื้นที่เรื่องชนเผ่าพื้นเมือง เรื่องแรงงานข้ามชาติ เรื่องผู้พิการ เราก็คิดว่ามันเป็นปัญหา


ทีนี้พอเรามองเห็นเรื่องชนชั้น ถ้ากลับไปที่สมรสเท่าเทียม มันก็มีเสียงที่บอกว่า ถ้ามันมีปัญหาหลายอย่างเช่น ไม่รวม Polyamory ไม่รวมคนไร้สัญชาติ แล้วทำไมเรายังผลักดันสมรสเท่าเทียม งั้นก็ไม่ต้องมีสิ แล้วเจี๊ยบคิดยังไง มันจำเป็นมั้ยที่ต้องผลักดันสมรสเท่าเทียมตอนนี้ กลับไปคุยกันให้จบก่อนมั้ย


คือมันก็อยู่ในสำนึกของเราเหมือนกันนะว่าแล้วเราต้องทำยังไง อันแรกเลยคือเรากำลังเคลมสมรสเท่าเทียมใช่มั้ย แต่เราก็มานั่งดูกฎหมายสมรสเดิมว่ามันไม่เท่าเทียมแม้กระทั่งกับผู้หญิง แล้วเราบอกว่า การที่รวม LGBTIQ เข้ามามันคือสมรสเท่าเทียม ใช่ แต่มันได้แง่เดียว คือแง่ที่ไม่เคยรวม LGBTIQ เข้ามา แต่มันมีช่องว่างอยู่ เช่น เงื่อนไขที่บอกว่าพ่อแม่สามารถที่จะให้ลูกแต่งงานได้ แล้วเราก็บอกว่าไม่แก้หรอกข้อนี้เพราะมันจะเป็นอุปสรรคหรือเราบอกว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่อง LGBTIQ แต่จริงๆแล้วคุณไม่เคยเปิดให้มีการดีเบทเรื่องนี้


แต่เราจะบอกว่ามันมีเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกพ่อแม่บังคับแต่งงานและในจำนวนนั้นมีผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย ในครอบครัวที่พ่อ-แม่ และ/หรือคนในครอบครัวเกลียดกลัว LGBTIQ (Homophobia, Lesbophobia, Biphobia, Transphobia) ถ้าลูกสาวเป็นคนที่มีความหลากหลากทางเพศ ถ้าพ่อ-แม่รู้ก็อาจจะนำไปสู่การบังคับแต่งงาน ในกรณีนี้ เราเรียกว่า การข่มขืนเพื่อความถูกต้อง (corrective rape) เพราะมีจุดมุ่งหมายในการใช้การแต่งงานที่ไม่ยินยอมพร้อมใจซึ่งเรียกการข่มขืน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแปลงแปลงอัตลักษณ์ทางเพศและ/หรือ รสนิยมทางเพศ ซึ่งความเชื่อ และแนวปฏิบัติแบบนี้ นำไปสู่การข่มขืน การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นระบบและถือเป็น อาชญกรรมที่มาจากความเกลียดชัง (hate crime)


คราวนี้มาดูในส่วนของกฎหมายที่เมื่อพ่อ-แม่สามารถเป็นผู้อนุญาติให้ลูกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แต่งงานได้ เยาวชนผู้หญิงและโดยเฉพาะเยาวชนผู้หญิงทีความหลากหลายทางเพศ จะเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกบังคับแต่งาน เสี่ยงที่จะถูกข่มขืน (corrective rape) แล้วเพื่อที่จะให้คนที่ไปข่มขืนไม่ต้องถูกดำเนินคดี คือ จับแต่งงาน ดังนั้น กฎหมายแบบนี้ควรจะถูกแก้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อเยาวชนผู้หญิง และเยาวชนผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมจริงๆแล้ว แม้ตอนนี้เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องครอบคลุมLGBTIQ แต่เราต้องเห็นว่ามันยังไม่เป็นธรรมทางเพศ เราต้องไปร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็ก ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยว่ากฎหมายตัวนี้ยังไม่ดี


เพราะงั้นเราต้องมาคุยกันในขบวนการว่าเราอยากจะแก้เรื่องอะไรบ้าง อยากครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง แล้วตอนนี้มันอยู่ตรงไหน ซึ่งอย่างที่เราเคยคุยกันว่ามันยังไม่รวม Polyamory เข้าไปด้วย แล้วเราก็ทิ้งเพื่อนที่เป็น Poly ไว้ข้างหลังได้ยังไง ทั้งๆที่จริงๆแล้ว บุคคลน่ะ ไม่ได้จำกัดแค่สอง แล้วทำไมเราไปจำกัด ถ้าเราเป็น LGBTIQ แล้วเราบอกว่ามันง่ายมากเลยนะ คุณเปลี่ยนจากผู้หญิงผู้ชายเป็นบุคคล แล้วบอกว่าLGBTIQ สมรสเท่าเทียมได้ เราก็จะบอกว่ามันง่ายมากเลยที่จะบอกว่า การแต่งงานไม่ใช่แค่สอง แต่อาจเป็นสามเป็นสี่ด้วยก็ได้ เพราะเรามีเพื่อนที่เป็นเกย์สองคนและเลสเบี้ยนสองคน แล้วเค้าก็มีลูกร่วมกัน แล้วตอนนี้ลูกอยู่ภายใต้กฎหมายของผู้หญิงสองคน ไม่ได้อยู่ในคู่เกย์ แต่เค้าอยากจะสร้างครอบครัวแบบสี่คนน่ะ นึกออกมั้ยคะ เพราะฉะนั้นกฎหมายตัวนี้มันก็ไม่ปกป้องคุ้มครองเค้า อันนี้คือเค้าอยู่ในประเทศที่กฎหมายผ่านแล้วนะ แต่เราก็พบว่าเราทิ้งคนที่มีรูปแบบความหลากหลายของครอบครัวกลุ่มหนึ่งไว้


เพราะฉะนั้นถ้าตอบคำถามไวๆก็คือว่า งั้นเราต้องเลือกประเด็นไปมั้ย เราคิดว่ามันไม่ใช่เลือกประเด็นไป แต่เราต้องมานั่งดูให้มันกว้างขวาง ต้องมาตั้งคำถามทั้งหมด แล้วเราก็ต้องใส่ชื่อว่ากฎหมายตัวนี้จะเลือกปฏิบัติกับ Polyamory กฎหมายตัวนี้จะเลือกปฏิบัติกับเด็กและเยาวชน


แล้วเราควรมีจุดยืนยังไงกับการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมกันตอนนี้ ที่คนรักต่างเพศบางคนก็ออกมาบอกว่าไม่จำเป็นหรือ LGBTIQ บางคนก็บอกว่าไม่จำเป็น หรือ Polyamory ก็บอกว่าเธอลืมพวกชั้น แล้วถ้าอย่างนั้นเราในฐานะนักกิจกรรมที่สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราควรจะวางตัวยังไง


คือตอนนี้มันมีการเคลื่อนไหวแบบ Feminist Reality ด้วยนะ ในการขับเคลื่อนเรื่องเฟมินิสต์ คือในทางทฤษฏีเหมือนที่เราบอกไว้ว่าเราอยากได้ความเป็นธรรม แต่บางทีความเป็นธรรมมันเป็นทีละขั้นละตอนเหมือนกัน แต่ทีนี้เราต้องไม่ลืมว่าเรายังไม่ได้เอาประเด็นใดไปด้วย แล้วเราก็ต้องมีแผนการว่า ประเด็นเหล่านั้นที่ถูกทิ้งเราจะทำยังไง เราต้องมีคำตอบให้กับขบวนการ เราต้องมีคำตอบกับสังคม เอาง่ายๆเราต้องกลับไปถามตัวเองเหมือนกันว่าเราทิ้งประเด็น Polyamory ไปได้ยังไง ทั้งที่เรารู้ว่ามีครอบครัวแบบ Polyamory เรารู้จักคนที่เค้าใช้ชีวิตกันสามคน แล้วเราจะดันสมรสเท่าเทียมนี้ก่อน คำถามคือเคยปรึกษากับคนที่เค้าอยู่กันสามคนหรือยังว่าเราจะทิ้งเค้าไว้ เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันไม่มีพื้นที่ในการนั่งคุยกัน แล้วก็เอื้อให้คนที่ถูกทิ้งได้มานำเสนอปัญหา แล้วเราก็ต้องมีแผนงานด้วยว่าเราจะเอาประเด็นเหล่านี้ไปด้วยพร้อมกันเลยได้มั้ย ตอนนี้เราเหมือนปักธงแล้วว่าไม่เอาไปด้วย แล้วเราก็บอกว่า ไม่เป็นไรความทุกข์ของบางกลุ่มเอาไว้ก่อน


เราคิดว่ามันสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการจัดการรับฟังความเห็นแล้วดูปัญหาที่เกี่ยวเนื่อง โจทย์ของเราไม่ใช่แค่ครอบคลุม LGBTIQ ถ้าคุณพูดเรื่อง สมรสเท่าเทียม มันต้องมีขยายความไปต่อว่านอกจากมันต้องรวมคู่ LGBTIQ แล้ว มันต้องรวมถึงความสัมพันธ์ที่มากกว่าคู่ด้วย กฎหมายเดิมที่ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิงในการที่จะหย่าหรือเด็กที่ยังถูกบังคับแต่งงาน เรื่องพวกนี้ต้องถูกพูดคุยมากกว่านี้ แล้วถามว่าตอนนี้เรากำลังเปิดรับฟังความเห็นทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราก็ตื่นเต้นมาก แต่ปรากฎว่าเข้าไปแล้วมันไม่ใช่การรับฟังที่เราสามารถแสดงปัญหาออกไปได้ มันยังจำกัดกรอบไว้ว่าเราจะครอบคลุมถึงคู่ชีวิต LGBTIQ เท่านั้น ข้อเสนอแนะเราคือให้ทำ Consultation มาคุยกัน สมมติว่าเราวางความสำเร็จไว้ตรงนี้ ก็ต้องวางว่าขั้นต่อไปคืออะไร เช่น เราบอกว่า ถ้าเราจะรวมทุกคน เราจะไปแก้กฎหมายมาตราไหนบ้าง รวมถึงว่าถ้าตรงนี้ผ่านแล้วแบบคู่ ขั้นตอนไปก็คือ แบบ Polyamory น่าจะไปด้วยได้นะ


คือตอนนี้เรากำลังอยู่ในขั้นแค่ว่าจะพูดถึงสมรสเท่าเทียมยังยากเลย เพราะคนที่ทำงานเรื่องประชาธิปไตยก็ออกมาบอกว่าอย่าเพิ่งพูดเรื่องสมรสเท่าเทียมเลย เพราะขนาดประชาธิปไตยยังไม่มี ประชาธิปไตยน่าจะสำคัญกว่า เพราะถ้าเรามีประชาธิปไตยแล้ว สิทธิอื่นๆมันก็จะตามมาเอง แทนที่จะไปโฟกัสเรื่องสมรสเท่าเทียม เราเอาพลังมาโฟกัสที่ประชาธิปไตยก่อนดีกว่า เจี๊ยบคิดว่ายังไง


เราคิดว่ามันไม่สะท้อนกับความเป็นจริง อันที่หนึ่งก็คือพวกเราเนี่ยเรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด หมายถึงว่าคนที่เคลื่อนไหวเรื่อง LGBTIQ รู้ว่าเงื่อนไขก็คือเรื่องกฎหมายที่มันไม่คุ้มครองเรา และกฎหมายที่มันไม่คุ้มครองก็เพราะกระบวนการออกกฎหมายและสังคมไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราก็ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย


แต่ว่าในสังคมไทยประชาธิปไตยมันมีความเป็นลำดับชั้น มันมีความเป็นชายสูงและมีความชายเป็นใหญ่อยู่ เสียงของพวกเรามันไม่เคยเข้าไปอยู่ในนั้นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนในขบวนการเคลื่อนไหว LGBTIQ ทำก็คือการผลักดันสิทธิ LGBTIQ และประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่มันไม่ถูกนำเข้าไปในกระแสหลัก เพราะ LGBTIQ ก็ถูกทำให้เป็นคนกลุ่มน้อยด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ เพราะฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของเราที่มันเป็น Intersectionality เราจึงบอกว่าเราใช้ประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาสิทธิ LGBTIQ และเราใช้สิทธิ LGBTIQ ในการพัฒนาประชาธิปไตยไปด้วย

เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้ากฎหมายมันออกมา มันก็จะออกมาแบบไม่มีส่วนร่วม หน้าตาของกฎหมายมันก็จะเลือกปฏิบัติ สิ่งที่เราสู้คือพยายามที่จะให้เกิดการมีส่วนร่วม การรับฟังเสียง การพัฒนาตัวแทนของเราให้เข้าไปในสภาเพื่อที่จะไปยกมือโหวตแล้วเราชนะ ในแง่นึงเค้าก็นำไปสู่ข้อสรุปว่า ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะไม่มีใครโหวตให้เรา เพราะฉะนั้นก็พักขบวนการ LGBTIQ ไว้ก่อน มาทำให้การเลือกตั้งมันเป็นธรรมก่อน ซึ่งเราคิดว่าการพูดแบบนั้นมันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าและขบวนการเคลื่อนไหวของเราที่ทำแบบ Intersectonality ให้กลายเป็น Selective และกันพวกเราออกไปจากขบวนการเคลื่อนไหว


คำตอบของเราคือ ไม่เห็นด้วยที่พูดแบบนั้น เพราะในความเป็นจริงคือ สองอย่างมันต้องไปคู่กัน ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยโดยไม่รับรู้สิทธิของชนกลุ่มน้อย มันเป็นประชาธิปไตยได้ยังไง มันจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ต่อเมื่อเสียงของคนกลุ่มน้อยทั้งหลายมันถูกสะท้อน ถูกแก้ไข ถูกขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันด้วย เราจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยถ้าเราไม่มีสิทธิ LGBTIQ และเราก็จะไม่มีสิทธิ LGBTIQ ถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นสองอันนี้มันแยกกันไม่ได้ สิ่งที่เราทำคือทำทั้งสองอย่างไม่พร้อมๆกัน



ซึ่งมันก็จะนำมาสู่คำถามเรื่อง "Intersectionality" ที่เราคิดว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยเข้าใจ อยากให้เจี๊ยบลองอธิบายว่ามันคืออะไร แล้วทำไมมันจึงสำคัญ


ภายใต้สังคมที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยนะ คนที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยก็จะโกรธมากที่รัฐกระทำกับเรา แล้วก็พร้อมที่จะต่อสู้ถวายชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน แล้วเราก็บอกว่ามันเป็นสิ่งดีงามและคนจำนวนมากก็สนับสนุน แต่พอมองไปเรื่องมิติทางเพศ ก็มีผู้หญิงจำนวนมากที่บอกว่าเราสู้เรื่องนี้ มันมีคุณค่า เราต้องทำ แต่สิ่งที่มันต่างจากเรื่องประชาธิปไตยก็คือ เราไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ชายที่มากพอ ทั้งๆที่เค้าก็ได้รับความรุนแรงทางตรงและเค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา


คราวนี้มันเป็น Intersectionality เพราะว่า ผู้หญิง ถ้าเป็นนักขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ต่อสู้กับรัฐไทยนะคะ แต่ว่าเรายังต่อสู้กับผู้ชายในขบวนการนั้นด้วย แล้วเราก็ไม่มีการปกป้องคุ้มครองในสามระดับ ระดับที่หนึ่งก็คือนักปกป้องสิทธิผู้หญิงนักประชาธิปไตยจำนวนมากอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เพราะมองว่าผู้หญิงจะไปเจออะไร ใช้เรื่องบทบาททางเพศที่มองว่าผู้หญิงไม่ควรออกไปขับเคลื่อน และยิ่งมีลูกมีครอบครัว ก็ยิ่งควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร เพราะฉะนั้น หนึ่งคือไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัวและสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปถึงกฎหมายและนโยบาย


อันที่สองก็คือเพื่อนที่อยู่รอบข้างในขบวนการที่เป็นผู้ชาย ก็ไม่ละเอียดอ่อนเลยในเรื่องเพศ พร้อมที่จะใช้ถ้อยคำคุกคาม แล้วก็บอกว่าพูดเล่น หรือเรื่องของการถูกคุกคามทางเพศในทุกพื้นที่ รวมถึงในขบวนการประชาธิปไตยด้วย ในขบวนการสิทธิมนุษยชนก็มี ในขบวนการเฟมินิสต์หรือ LGBTIQ เองก็มีด้วยเช่นกัน เพราะเราอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการกดขี่ และเรื่องเพศก็เป็นเหตุแห่งการกดขี่ที่ง่ายมาก และทันทีที่ถูกกดขี่ก็จะเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นมันเหมือนมีใบอนุญาตที่คนที่มีอำนาจมากกว่าสามารถทำอะไรก็ได้ แล้วกฎหมายก็ไม่ปกป้องคุ้มครอง


คราวนี้เราก็จะเห็นว่า แค่เอาคำว่าประชาธิปไตย ถ้าคุณเป็นผู้หญิง คุณมีสามเลเวลที่คุณต้องต่อสู้ ตั้งแต่ครอบครัว ขบวนการเคลื่อนไหว และรัฐ เพราะฉะนั้นลองนึกดูว่า ถ้าผู้หญิงคนนั้นเป็นชนเผ่าพื้นเมือง และถ้าผู้หญิงคนนั้นเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็น LGBTIQ อีกที เราก็จะเห็นเลเยอร์ของการที่ผู้หญิงคนนึงถ้าจะต้องขึ้นไปต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยน่ะ เค้าต้องทะลุทะลวงอะไรขึ้นมาบ้าง

เพราะฉะนั้นการที่มาบอกว่าเราไม่เห็นเค้าอยู่ตรงนั้นและเราบอกว่าเค้าไม่เคยสู้เรื่องประชาธิปไตยเลย นั่นก็เพราะว่าเค้าสู้เรื่องประชาธิปไตยในระดับครอบครัวอยู่ เค้าสู้เรื่องประชาธิปไตยในระดับขบวนการเคลื่อนไหวอยู่ และสองตัวนี้มันดึงเค้าไม่ให้สามารถจะไปมีพื้นที่ในสื่อ แล้วให้เค้าได้พูดว่าเค้าอยากเห็นประชาธิปไตยแบบไหน มันไม่เคยถูกรับรู้


เราเปรียบเทียบง่ายๆว่ามันเป็นยังไง “โอกาส” “พื้นที่” และ”เสียง” มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นักประชาธิปไตยไทยคนหนึ่งได้ไปพูดเวทีระดับโลก แล้วเพื่อนเราทั้ง LGBTIQ ทั้งคนทั่วประเทศ แชร์ข่าวกันมหาศาลมาก เราก็ดีใจจังเลยว่ามีคนไทยไป แต่เราเนี่ยไปพูดในเวทีต่างประเทศระดับโลก เป็นคนเดียวในเอเชีย ไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมันก็มีเรื่องของปัญหาในประเทศไทยที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยและเราก็พูด แต่ไม่มีใครแชร์ข่าวเลย แม้กระทั่งเพื่อนๆในขบวนการ LGBTIQ ด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าพอเราเป็นคนกลุ่มน้อย เราเป็นลาว เราเป็นผู้หญิง เราสู้เรื่องความหลากหลายทางเพศและประชาธิปไตย เราไม่ถูกรับรู้ สนับสนุนและยอมรับ เสียงของเรา เรื่องเล่าของเรา มันไม่เคยได้รับการให้คุณค่าเท่ากับเสียงของผู้ชายที่เป็นคนรักต่างเพศ ซึ่งมีความเป็นชนชั้นกลาง


เพราะฉะนั้น Intersectionality มันก็หมายถึง อำนาจ โอกาส พื้นที่ การช่วงชิงในการนิยามความหมาย ซึ่งเราก็เห็นว่าเราถูกสังคมโดดเดี่ยวและไม่นับเสียงของเรา แล้วก็ให้คุณค่าว่าเราทำแค่นี้ แล้วในขณะที่ถ้าผู้ชายขยับนิดนึง ผู้คนก็พร้อมจะชื่นชม รับรู้และภูมิใจไปกับเค้า แต่พอเป็นผู้หญิง มันเหมือนทำไม่พอซักทีน่ะ และนี่แหละคือ Intersectionality สำหรับเรา พอเราพูดทุกเรื่อง เราควรจะมีตัวตนในทุกๆที่ แต่มันกลับไม่เป็นแบบนั้น



ทั้งหมดทั้งมวลที่คุยกันมา เจี๊ยบคิดว่า แนวคิดเฟมินิสม์จำเป็นกับสังคมไทยมั้ย


จำเป็นมากเลย จำเป็นกับสังคมโลกและยุคปัจจุบันด้วย เพราะว่าเรากำลังต่อสู้กับการกดขี่อย่างเป็นระบบ เราคิดว่าก็ต้องอธิบายว่าเราจำเป็นต้องใช้หลักการเฟมินิสม์เพราะอะไร ซึ่งเรายังอธิบายไม่พอด้วยซ้ำไป คือเรื่องเฟมินิสม์ที่เราต่อสู้เรื่องการกดขี่ มิติทางเพศที่ต่อสู้กับระบบชายเป็นใหญ่เนี่ยเรื่องนึง แต่ชายเป็นใหญ่มันทำงานร่วมกับ Fundamentalism ทำงานร่วมกับระบบทหาร ทำงานร่วมกับ Globalization หรือระบบทุนนิยม เพราะฉะนั้นในประเทศไทยจำเป็นมากๆ เพราะตอนนี้เราไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า การที่มีทหารมาปกครองประเทศมันส่งผลต่อความเป็นธรรมทางเพศอย่างไร สังคมไม่เคยอนุญาตให้เฟมินิสต์อย่างพวกเราลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ทหารน่ะ แล้วรู้มั้ยว่าระบบทหารมันส่งผลยังไงต่อขบวนการเคลื่อนไหว ส่งผลยังไงต่อผู้หญิงในพื้นที่ ส่งผลยังไงต่ออนาคตของเด็กผู้หญิงในประเทศนี้ แล้วมันส่งผลยังไงกับผู้ชายในสังคมไทยด้วยนะ แล้วเรื่อง Fundamentalism ไม่เคยถูกตั้งคำถามเลย เช่น ระบบศาสนานิยม ระบบชาตินิยม การเกลียดกลัวบางศาสนา ไม่ยอมให้คนมานับถือผี อะไรพวกนี้ เราไม่เคยอนุญาตให้สิ่งเหล่านี้มันผุดขึ้นมาในสังคม แล้วนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเป็นธรรมอย่างแท้จริง


มันจึงจำเป็นต้องมีเฟมินิสต์ ต้องมีพื้นที่ มีทรัพยากร มีแรงสนับสนุน เพื่อทำให้เราไปขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเป็นธรรมได้เท่ากัน ถามว่าตอนนี้สมมติว่าขับเคลื่อนเรื่องทหาร นักการเมืองไปไม่มีผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว พูดเรื่องสันติภาพในภาคใต้มันไม่มีผู้หญิงเลย เพราะฉะนั้นการไม่มีผู้หญิง มันไม่ถูกใครตั้งคำถามเลยนอกจากเฟมินิสต์


เพราะฉะนั้นเราคิดว่า สังคมไทยต้องการเฟมินิสต์เพื่อที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนให้สังคมไปข้างหน้าแบบที่แก้ปัญหาทุกเรื่องไปพร้อมกัน ซึ่งมันทำได้ แต่คุณไม่เคยอนุญาตให้ปัญหามันออกมา แล้วคุณก็บอกว่าสังคมมันขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ ก็เลยคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยเอาทุกเรื่องไปพร้อมกัน ถ้าไม่ให้เฟมินิสต์มีพื้นที่ในสังคม ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวที่รวมทุกคน คุณก็จะไปแบบเลือกประเด็นแล้วก็ไม่เคยสำเร็จเลย เพราะจริงๆแล้วปัญหาของเราตอนนี้มัน Intersectionality แต่คุณจะเอาประเด็นเดียว ไม่มีทาง คุณจะไม่ได้รับการสนับสนุน




สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรให้กับสังคมไทยหรือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและประชาธิปไตย


เราอยากเห็นภาพสังคมไทยในแบบที่ว่า ทุกคนเดินออกไปข้างนอกแล้วปลอดภัย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฆ่า ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกข่มขืน ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นคนที่แปลก เราต้องการเห็นคนรู้สึกปลอดภัยในชีวิต เราต้องการเห็นกฎหมาย นโยบาย ความเป็นประชาธิปไตย อันนี้คือสิ่งที่เราต่อสู้ เพราะเราอยากได้ความปลอดภัยในชีวิต เราก็เลยต่อสู้ในเรื่องกฎหมายและนโยบายเพื่อที่จะได้มาปกป้องพวกเรา


แต่ปัญหาคือเราไม่มีพื้นที่ ไม่มีทรัพยากร แล้วกลายเป็นว่ามีบางคนเท่านั้นที่ปลอดภัย เราอยากขยายความปลอดภัยให้มันเกิดกับทุกคน เราอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ได้ลุกขึ้นมานำในประเด็นของตัวเองด้วย ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมโดยได้รับการสนับสนุน เรื่องใหญ่ที่สุดคือได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ต้องการันตีพื้นที่ของเยาวชน ต้องการันตีเรื่องของทรัพยากร เรื่องศักดิ์ศรีที่มันเท่าเทียมกันกับเสียงของทุกคนในสังคม เสียงของเยาวชนควรเป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วย


เราอยากเห็นเยาวชนมีบทบาทต่อสังคม โดยที่เราต้องเป็นคนสนับสนุนพื้นที่ของเยาวชน เราอยากเห็นเสียงของคนที่เป็น LGBTIQ ที่หลากหลาย เราเคยไปงานสถานทูต ไปงานไพรด์ เราเห็นในวีดีโอที่ฉายมีแต่เพื่อนที่เป็นเกย์กะเทยสิบกว่าคน มีผู้หญิงคนเดียว นึกดูว่าสิบเอ็ดต่อหนึ่งน่ะ เพราะฉะนั้นเราอยากเห็น ภาพตัวแทนของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ที่มันไม่เหมารวมและมีภาพเดียว แต่มันสะท้อนความหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นชาติพันธุ์ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น เพื่อที่จะทำให้สังคมเป็นธรรมอย่างแท้จริง บังเอิญว่าเราต่อสู้เรื่องชาติพันธุ์และ LGBTIQ เยอะ เราไม่ค่อยเห็นสองภาพนี้ในสังคมไทยเท่าที่ควร เราก็เลยอยากให้มีสองภาพนี้มากขึ้น




ติดตามการทำงานของ เจี๊ยบ มัจฉา ทองอินทร์ ได้ที่

Facebook Page องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน https://www.facebook.com/saydpthailand

Twitter ขององค์กร @SangsanAnakot และของมัจฉา @Matcha_Phornin

อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอและครอบครัวสีรุ้งได้ที่ https://adaymagazine.com/rainbow-family/








ดู 5,126 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page