top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Review : เพศหญิง ตัวตน และความทรงจำ ใน "วันที่แม่ไม่อยู่" โดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี



ตอนที่หยิบ วันที่แม่ไม่อยู่ (엄마를 부탁해/Please look after mom) เล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ดิฉันคิดในใจว่าคงเป็นหนังสือประเภท “วันแม่” ทั่วไป ที่อ่านเอาซาบซึ้ง แต่ก็สนใจใคร่รู้ว่า หากเป็นหนังสือแม่ๆลูกๆ ทั่วไป เหตุใดจึงเป็นหนังสือขายดีในเกาหลีกว่า 2 ล้านเล่ม ซึ่งถูกแปลและขายในกว่า 32 ประเทศ รวมทั้งไทย แถมยังได้รางวัล Man Asian Literary Prize ในปี 2011 อีกด้วย


หากจะให้สรุปความ วรรณกรรมเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของผู้หญิงชนบทคนหนึ่งในช่วงรอยต่อสำคัญระหว่างหลังสงครามเกาหลี (1950-53) กับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ในทศวรรษที่ 1960-1990 ที่ซึ่งชีวิตของตัวเอกในเรื่อง เติบโตและค่อยๆกลายมาเป็นเมียและแม่ ภายใต้สังคมปิตาธิปไตยของครอบครัว


ในครอบครัวดังกล่าว Patriarch ผู้เป็นสามี ทั้งล้มเหลวและเสเพล ทั้งปราศจากความรับผิดชอบต่อครอบครัว

แม่ของครอบครัว จึงต้องต่อสู้ กัดฟัน ทำงานอย่างหนักเพื่อส่งลูกๆของเธอทุกคนเข้าสู่เมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของความเจริญในขณะนั้น เป้าหมายเช่นนั้น ในแง่หนึ่งก็เพื่อผลักดันให้ครอบครัวได้มีชีวิตที่พ้นจากความยากจน

แห่งยุคสมัย แต่ในการทำเช่นนั้นเอง ก็ได้เปลี่ยนครอบครัวที่เคยเป็นหน่วยที่ยึดโยงซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด

ด้วยบ้านและครัวเรือน ไปสู่ความสัมพันธ์ที่คั่นกลางด้วยการเดินทาง การสื่อสารทางไกล และชีวิตที่แตกกิ่งก้าน

ที่แผกต่างในเมืองใหญ่ของลูกๆแต่ละคน ที่พากันฉีกตัวเองออกจากครอบครัวชนบทที่เคยอยู่อาศัยตลอดกาล

เรื่องราวกึ่ง suspense เรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “แม่หายตัวไปหนึ่งสัปดาห์แล้ว” ซึ่งเป็นเสียงของผู้พูดที่ 2

ชีออน บุตรคนที่สามผู้เป็นบุตรสาวคนโตของครอบครัว เมื่อเธอย้อนคิดถึงเหตุการณ์ ที่กลายเป็นวิกฤตใหญ่ของครอบครัว เมื่อแม่และพ่อของเธอ พากันมาเยี่ยมลูกๆที่กรุงโซล เพื่อจัดงานวันเกิดของทั้งพ่อและแม่ และทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ไปพร้อมกันในคราวเดียว แต่ ณ สถานีรถไฟใต้ดิน สถานีโซล ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนอันเนืองแน่นนี้เอง แม่ของเธอ กลับพลัดหลงกับพ่อ ซึ่งเดินนำหน้าไปต่อรถขบวนใหม่เพื่อเดินทางไปยังบ้านของลูกชายคนที่สองโดยไม่ได้เหลียวหลังมาดูว่าแม่นั้นเดินตามมาหรือไม่ แม่ผู้ไม่รู้จักถนนหนทางต่างๆในโซล ไม่รู้หนังสือ และกระเป๋าต่างๆก็อยู่กับพ่อ ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยโดยไม่มีอะไรติดตัว และแม้ว่าลูกๆจะแจ้งความให้ตำรวจช่วยออกตามหา แต่ก็ไร้ซึ่งวี่แวว


เวลาผ่านไปนานนับสัปดาห์ ในที่สุด ลูกชายและลูกสาวคนโต จึงตัดสินใจทำแผ่นปลิว ตั้งรางวัลแก่ผู้พบเห็น

และออกตระเวณแจกแผ่นปลิวไปยังที่ต่างๆ ในท่ามกลางวิกฤตของครอบครัวครั้งใหญ่นี้นี่เอง เมื่อลูกๆต้องทำข้อมูล และตอบคำถามผู้คนเกี่ยวกับแม่ของพวกเขา ทั้งครอบครัวจึงได้เริ่มตระหนักว่า พวกเขาแทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ

ผู้หญิงที่เขาเรียกว่าแม่มาตลอดช่วงชีวิต การหายไปของแม่ จึงเป็นชั่วขณะที่นำเอาความทรงจำต่างๆเกี่ยวกับผู้หญิงคนนี้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เขียน ชินคยองซุก (진곙속) เล่าเรื่องของพักโซ-นยอ ผู้หญิงจากชนบทเมือง J ที่ขณะที่หายไปนั้น มีอายุ 69 ปีผ่านเสียงอันหลากหลาย ทั้งสรรพนามบุคคลที่1 สรรพนามบุคคลที่2 และสรรพนามบุคคลที่ 3 สลับไปมา ซึ่งเป็นกลวิธีที่สร้างความรู้สึกที่ค่อนข้างแปลกให้กับผู้อ่าน เพราะบางครั้งก็เหมือนกำลังเข้าไปนั่งอยู่ในห้วงคิดของตัวละครในเรื่อง แต่บางครั้งก็เหมือนถอยออกมาเกาะรั้วบ้าน มองความเป็นไปของชีวิตภายในครอบครัวในชนบทนั้น และขณะเดียวกัน ก็ทำให้ได้ยินเสียง และความทรงจำที่แตกต่างกันของตัวละครแต่ละคน ที่ต่างก็เกี่ยวพันกับแม่และเมียของพวกเขาในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวคนที่สาม-ชีฮอน ลูกชายคนโต-ฮยองชอล สามีของเธอ และกระทั่งตัวเธอเอง

พักโซ-นยอ เป็นผู้หญิงจากครอบครัวยากจนในหมู่บ้านชินมเวในจังหวัดชุนชอนใต้ ที่เกิดและเติบโตในยุคที่สงครามเกาหลีเพิ่งสิ้นสุดลงหมาดๆ ในครอบครัวซึ่งบิดาผู้เป็นคนงานในเหมืองได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุเมื่อเธออายุได้เพียง 3 ขวบ การถูกจับคลุมถุงชนเมื่ออายุ 17 ปีกับสามีที่อยู่ในหมู่บ้านต่างเมือง ผู้มีอายุมากกว่าเธอ 3 ปี ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า

ผู้หญิงอย่างเธอจะได้ปลอดภัยจากการปล้นชิง ดักฉุด ภายใต้การคุ้มครองของสามี อีกทั้งดวงชะตาของเธอกับอนาคตสามี ผู้ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาก่อนนั้น ก็สมพงษ์กันดี มีโชคชะตาของการผลิดอกออกผลที่อุดมสมบูรณ์รออยู่ข้างหน้า การทำนายของหมอดูนั้น ไม่ได้ผิดแต่ประการใด เพราะนับตั้งแต่แต่งงานเข้าบ้านสามี ชีวิตของพักโซ-นยอ

ก็อุทิศให้กับการทำไร่บนภูเขา ปลูกพืชพันธ์ุธัญญาหารนานาชนิด คลอดบุตรถึง 5 คน (เสียชีวิตไป 1 คน) และทำงานอย่างหนัก เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่สามี ผู้มักออกจากบ้าน ตระเวณท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆอย่างเสรี นอกจากจะไม่เคยแบกรับภาระของครอบครัวแล้ว ยังพาผู้หญิงอื่นเข้ามาอยู่ในบ้านเสียอีกด้วย

บ้านซึ่งมีพักโซ-นยอและแรงงานของเธอเป็นแกนกลางสำคัญในการผลิตสร้างอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องของลูกๆ

ได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับฤดูกาลที่โอบล้อมบ้าน ไร่ สวนและชีวิตในครอบครัวเอาไว้อย่างแนบแน่น ฤดูกาลดังกล่าว

จึงเป็นฤดูกาลที่เป็นเพศหญิงอย่างไม่ต้องสงสัย การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนึ่งไปสู่อีกฤดูหนึ่ง จากหน้าร้อน เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง หน้าหนาว เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เชื่อมโยงและเชื่อมต่อกันได้ ก็ด้วยแรงงานในการผลิตของผู้หญิงผู้เป็นแม่ ที่เปลี่ยนพืชพันธุ์ต่างๆให้กลายเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นข้าว หน่อไม้ฝรั่ง ผักกุยช่าย แมงลักจีน ตั้งโอ๋ ผักกาดหอม พริก ข้าวโพด ฟักทอง งา หม่อน แตงกวา ถั่วเหลือง ฯลฯ ที่ทั้งถูกตาก หมัก ต้ม และยำ หมุนเวียนเป็นอาหารหลากชนิดในแต่ละฤดูกาล และเก็บไว้ข้ามฤดูกาล


ดังเสียงเล่าของชีฮอนที่ว่า แม่ของเธอนั้น อยู่ในทุกที่ ทั้งในครัว ในไร่ ในทุ่งนา พื้นที่เหล่านั้น ไม่เคยมีที่ว่าง เช่นเดียวกับมือของแม่ของเธอที่ไม่เคยหยุดพัก อาหารเหล่านี้ นอกจากจะมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้ที่ยังอยู่ในโลกแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญที่เชื่อมโยงคนเป็นกับวิญญาณที่อยู่ในปรภพอีกด้วย ผ่านพิธีเซ่นไหว้ที่มีอยู่ในทุกฤดูกาล ฤดูกาลที่เป็นเพศหญิงนี้ ผลิตสร้างอาหารที่หล่อเลี้ยงทั้งโลกที่ยังอยู่ และโลกแห่งภพอื่น ก็ด้วยแรงงานของแม่ที่ทำงานตลอดเวลาไม่เคยหยุดหย่อน

เมื่อชีฮอน ถามแม่ของเธอในวันหนึ่งว่า แม่ชอบทำงานครัวไหม เวลาทำอาหารแม่รู้สึกยังไง แม่ของเธอเงียบไป

ก่อนจะถามกลับว่า มีใครชอบหรือไม่ชอบงานครัวได้ด้วยหรือ มีใครที่ได้ทำแค่งานที่ตัวเองชอบบ้างล่ะ เช่นเดียวกับงานครัวและการทำอาหาร การแต่งงาน การเป็นแม่ การหาเลี้ยงชีพ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ได้เป็นทางเลือกที่เสรีสำหรับผู้หญิงในยุคสมัยที่พักโซ-นยอเติบโตขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงกับการทำอาหาร ก็ไม่ได้เป็นคู่ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ ที่กำเนิดมาเพื่อกันและกัน ดังที่มายาคติอันโรแมนติกว่าด้วยแม่กับอาหารของแม่มักชวนเชื่อ


นวนิยายเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความแปลกแยกระหว่างแรงงานผู้หญิงกับอาหาร ผ่านวงจรของเวลาและงานอันซ้ำซากและน่าเบื่อหน่าย ซึ่งแตกต่างไปจากงานในไร่ (ซึ่งเป็นพื้นที่นอกปริมณฑลของบ้าน) ที่เคลื่อนไปตามวงจรของฤดูกาล ในขณะที่งานในไร่นั้นมีจุดเริ่มต้น -- การหว่านเมล็ดพันธุ์ และจุดสิ้นสุด -- การเก็บเกี่ยวดอกผล งานในครัวนั้น กลับไม่มีทั้งจุดเริ่มต้น หรือจุดสิ้นสุด มื้อเช้าไปบรรจบกับมื้อเที่ยง ตามมาด้วยมื้อเย็น และวนกลับมามื้อเช้าอีกครั้งหนึ่ง


ครัวจึงกลายเป็นโรงงานที่จองจำให้ผู้หญิงทำหน้าที่ผลิตอาหารอย่างไม่มีวันจบสิ้น การเขวี้ยงฝาไหดินเผาสามฝากระแทกกำแพงบ้านจนแตกเป็นเสี่ยงๆของพักโซน-นยอในเย็นวันหนึ่ง จึงสะท้อนภาวะแปลกแยกอันเหลืออด ที่ผู้หญิงมีต่อคุกของ “ความเป็นแม่” และงานที่ไม่รู้วันจบสิ้นของเธอ แน่นอน ปฏิกิริยา ที่มิใช่การขบถนี้ เธอไม่เคยบอกใคร จวบจนเมื่อลูกสาวถามขึ้นมาในวันหนึ่งเท่านั้น


“วันที่แม่ไม่อยู่” ไม่ใช่นวนิยายเฟมินิสม์ ที่ต่อต้านความเป็นแม่ เท่าๆกับไม่ใช่งานเขียนที่ romanticize ครอบครัวและบทบาทความเป็นแม่ของผู้หญิง



ในขณะที่งานเขียนสร้างความเศร้าสะเทือนใจให้กับผู้อ่าน ผ่านความรู้สึกผิดที่ตัวละครแต่ละคนถ่ายทอดผ่านความทรงจำและความหลงลืมที่พวกเขามีต่อแม่
ในท้ายเล่ม นวนิยายเรื่องนี้ ก็ได้เปิดพื้นที่ให้กับเสรีภาพของพักโซ-นยอน ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีส่วนเสี้ยวของชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องเกาะเกี่ยวกับครอบครัว ความเป็นเมีย หรือความเป็นแม่ของครอบครัว

ซึ่งเป็นท่อนที่ดิฉันชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวสั้นๆของพักโซ-นยอนกับอีอึนกยู ชายคนหนึ่งที่ชะตาชีวิตได้พาให้มาพบและผูกพันกัน ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครในครอบครัวได้รับรู้ การที่พักโซ-นยอน หรือกระแสสำนึกของเธอ พาเธอไปพบกับอีอีนกยูเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะกลับไปบ้านเพื่อพบกับสามีที่ไม่มีแม้แต่นามในเรื่อง เป็นการขบถต่ออุดมการณ์ปิตาธิปไตยของครอบครัวเพียงอย่างเดียวที่พักโซ-นยอนสามารถทำได้ แม้ว่าการกระทำนั้น จะเกิดขึ้นแต่เพียงภายในกระแสสำนึกก็ตามที

ผู้เขียน ชินคยองซุก (진곙속) เป็นนักเขียนหญิงที่เติบโตในยุคกระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ในทศวรรษ 1980 บริบททางการเมืองดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของแม่ในนวนิยายของเธอเรื่องนี้ด้วยอย่างน่าสนใจ หนึ่งในความทรงจำของพักโซ-นยอนที่มีต่อลูกๆของเธอจึงรวมถึง "ภารกิจของคนหนุ่มสาว" ที่ลูกๆของเธอมักพูดถึง และการออกไปร่วมกิจกรรมบนท้องถนน ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเติบโตของพวกเขาในเมืองหลวง ที่พักโซ-นยอไม่เข้าใจ จนกระทั่งลูกสาวคนเล็กของเธอ ได้ชวนให้ออกไปร่วมขบวนแห่ศพของเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่ง (อีฮันยอล เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาของตำรวจในปี 1987) ในค่ำคืนหนึ่ง


การร่วมในประสบการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำสำคัญที่โพโซ-นยอนมีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ลูกๆของเธอเติบโตขึ้นมา ต่อคนหนุ่มสาวและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพวกเขา และต่อตัวเธอเองในฐานะที่เป็นแม่ของคนหนุ่มสาวเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ที่รักวรรณกรรมเกี่ยวกับผู้หญิง นวนิยายเล่มนี้ เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ควรค่าแก่การเก็บไว้ในคอลเล็กชั่นเป็นอย่างยิ่ง และสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของสังคมเกาหลีในทศวรรษที่ 1950-1990 จากสายตาของผู้หญิงชนบท งานเขียนชิ้นนี้ ก็สามารถทำได้อย่างน่าสนใจมากเช่นกัน




ดู 886 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page