top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Recommended : Behold, I Shine






เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ เรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย และมีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่



'Behold I Shine' คือเรื่องเล่าของผู้หญิงและเด็กๆชาวแคชเมียร์ที่อาศัยอยู่ในแคชเมียร์ ดินแดนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลอินเดียกับปากีสถาน และกลุ่มเรียกร้องเอกราชแคชเมียร์ ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในความขัดแย้ง ในรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างกองกำลังเพื่อเอกราชกับกองทัพรัฐบาลอินเดีย


หนังสือแบ่งออกเป็น 10 ตอน เริ่มต้นจากการแนะนำประวัติศาสตร์โดยย่อของแคชเมียร์ สถานที่ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย แต่ในอีกด้านหนึ่งของแคชเมียร์คือความขัดแย้ง ความรุนแรง และความอยุติธรรม


ผู้เขียนโฟกัสไปที่เรื่องเล่าของผู้หญิงและเด็กซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากเท่าผู้ชาย หนังสือเล่มนี้เล่าเกี่ยวกับครอบครัวของชาวแคชเมียร์และชุมชนที่อยู่ท่ามกลางการควบคุมทางการทหาร และเผยให้เห็นว่าผู้หญิงและเด็กในแคชเมียร์ได้รับผลกระทบอย่างไร


คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิง เมื่อสามีของพวกเธอหายตัวไป? หรือ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กๆที่เติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งและมีประสบการณ์ต่อความรุนแรง


ในบทที่หนึ่ง ว่าด้วยสถานการณ์ในแคชเมียร์ที่ถูกควบคุมโดยทหารอินเดีย การที่ทหารถือปืนและลูกระเบิดเดินไปมา กลายเป็นภาพปกติธรรมดาที่เราสามารถเห็นได้ในทั่วไปในเมือง ทหารเข้ายึดครองสถานที่ต่างๆและทำให้ประชาชนใช้พวกเขาเป็นเครื่องหมายในการบอกทาง ตัวอย่างเช่น เวลามีนักท่องเที่ยวถามทาง คนในพื้นที่จะบอกว่า เดินไปทางซ้ายที่ค่ายทหาร ตรงไปทางด่านตรวจ จากนั้นให้เลี้ยวขวาไปทางบังเกอร์ เป็นต้น


การเข้ายึดครองพื้นที่ของทหารส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน พวกเขาไม่สามารถออกจากบ้านด้วยความรู้สึกที่ปลอดภัย ผู้หญิงแคชเมียร์ใช้ช่องหน้าต่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า “Window Talk” แต่ในขณะเดียวกัน หน้าต่างที่ใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารนี้เอง กลับกลายเป็นประตูมรณะเปิดรับความรุนแรง เมื่อผู้หญิงบางคนเสียชีวิตจากคมกระสุนปืนในยามที่เธอลุกไปเปิดผ้าม่านที่หน้าต่างในบ้านของเธอเอง


บทที่สอง เขียนถึงการที่ผู้หญิงต้องออกมามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ผู้หญิงแคชเมียร์ต้องอดทนต่อการถูกทารุณกรรมจากทหารและนอกจากนี้ยังต้องเข้าไปมีส่วนในการตามหาสามีของพวกเธอที่หายตัวไป ผู้หญิงต้องไปสถานีตำรวจ ค่ายทหาร เรือนจำ และศาล เพื่อตามหาสามีและลูกชายของพวกเธอที่หายตัวไป

ในอีกด้านหนึ่ง การที่ผู้หญิงอยู่ในสภาวะกึ่งบังคับให้ต้องออกมามีบทบาททางสาธารณะมากขึ้น ก็ทำให้พวกเธอมีศักยภาพมากขึ้น แต่มันก็มาพร้อมกับภาระที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเช่นกัน ผู้หญิงหลายคนถูกบังคับให้กลายเป็นผู้ส่งข่าวหรือให้ข้อมูลกับทางการ


บทที่สาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิง ผู้หญิงหลายคนกลายเป็น หญิงม่ายเพียงครึ่ง หรือที่เรียกว่า “Half Widow” บทนี้อธิบายว่าหญิงม่ายเพียงครึ่งนี้เผชิญกับความรุนแรงอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทหารอินเดีย เข้ายึดครองพื้นที่และมีอำนาจเหนือกฎหมายปกติ เพราะมีกฎหมายพิเศษให้อำนาจไว้ คือกฎหมายป้องกันภัยสาธารณะ (Public Safety Act) เรียกย่อๆว่า PSA และกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจพิเศษกับกองทัพ

(Arm Force Special Power Act) เรียกย่อๆว่า AFSPA


การประกาศเคอร์ฟิวและการเข้าควบคุมฝูงชนทำลายชีวิตปกติของผู้หญิงแคชเมียร์ และละเมิดศักดิ์ศรีรวมไปถึงจารีตประเพณีของพวกเธอ ทหารอินเดียสามารถเข้ามาที่บ้านเมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการค้นหาผู้ชายที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และพาตัวสามีหรือลูกชายของพวกเธอไปจากบ้าน หลายครั้งที่พวกเขาไม่เคยได้กลับมาอีกเลย


ช่วงปี 1999 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง อาทิ เช่น สมาชิกครอบครัวจำนวน 15 คน รวมไปถึง เด็กจำนวน 6 คน ถูกสังหารหมู่กลางดึกที่ Mohra Bachai หรือในปี 1998 สมาชิกครอบครัวจำนวน 19 คน รวมถึง เด็ก 11 คน และผู้หญิง 5 คน ถูกยิงเสียชีวิต


เหล่าหญิงม่ายเพียงครึ่ง (Half Widow) คือคำนิยามของผู้หญิงที่สามีหายตัวไป หรือ ถูกบังคับสูญหาย ปัญหาของหญิงม่ายเหล่านี้ก็คือ การที่พวกเธอไม่สามารถรับมรดกหรือทำธุรกรรมทางการเงินได้ เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามีของพวกเธอเสียชีวิต ดังนั้นการขอเอกสารจากทางการจึงไม่สามารถทำได้ หญิงม่ายหลายคนจำเป็นต้องหางานทำ แต่เพราะพวกเธอไม่ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาหรือฝึกฝนทักษะต่างๆ งานที่ทำได้จึงเป็นงานที่ได้ค่าแรงต่ำและเป็นได้แค่แรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น

นอกจากนี้ หญิงม่ายยังถูกโดดเดี่ยวจากสังคมโดยครอบครัวของสามี พวกเธอถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตหรือหายตัวไปของพวกผู้ชาย ถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงที่นำมาซึ่งโชคร้าย และครอบครัวของสามีปฏิเสธที่จะให้ที่อยู่กับเธอและลูกๆ หรือบางครั้งอาจยกเว้นให้เฉพาะหลานชายเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนถูกบังคับแต่งงานใหม่ภายในครอบครัวของฝั่งสามี


ไม่เฉพาะการที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการสูญเสียสามีเท่านั้น แต่หญิงม่ายเพียงครึ่งนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียดวิตกกังวล หรือ อาการทรอม่าหลังเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง (PTSD) และมีเพียงผู้หญิงจำนวนน้อยที่เข้าถึงการรักษา


และเนื่องจากกฎหมายอิสลาม ภรรยาจะได้รับมรดกแค่หนึ่งในแปดส่วนเท่านั้น ที่เหลือจะถูกยกให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต แม้ว่ารัฐจะมอบค่าชดเชยให้กับครอบครัวของเหยื่อ แต่ความลำบากใจของผู้รับเงินดังกล่าวคือ บางคนจะมองว่าเงินที่รัฐให้มานั้นคือเงินที่เปื้อนเลือด และปฏิเสธที่จะไม่รับ เพราะพวกเขาต้องการความยุติธรรมให้กับสามี แต่ผู้หญิงบางคนก็รับเงินจากรัฐ เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ


มันไม่ง่ายเลยที่จะมีชีวิตอยู่รอดโดยปราศจากการสนับสนุนของครอบครัว ผู้หญิงหลายคนต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพังโดยไม่ได้รับการดูแลจากเพื่อนบ้าน เพราะความหวาดกลัวว่าจะตกเป็นเป้าของทางการ หากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับครอบครัวของผู้ต้องสงสัย


ในบทที่สี่นั้น เกี่ยวข้องกับชีวิตของเด็กๆที่เติบโตท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน พวกเขาบางคนได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธ พวกเขาสูญเสียพ่อหรือพี่น้องจากการบังคับสูญหายโดยทหาร และบางคนมีประสบการณ์ตรงกับความรุนแรง เพราะพวกเขาอยู่ในวันที่สมาชิกในครอบครัวถูกยิงหรือเสียชีวิต และเพราะข้างนอกไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เด็กๆหลายคนจึงเติบโตขึ้นในบ้านท่ามกลางกำแพงสี่ด้าน เด็กๆหลายคนมีภาวะอาการทรอม่าและได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หลายคนต้องโตมากับการเห็นความเศร้าโศกของผู้เป็นแม่ และการหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาของผู้เป็นพ่อ พวกเขาถูกทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกถึงการตีตราอยู่ตลอดเวลา


บทที่ห้า นำเสนอเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่ผู้หญิงแคชเมียร์ต้องเผชิญ ทหารอินเดียใช้การข่มขืนเป็นเหมือนอาวุธในการดูหมิ่นครอบครัวของผู้ต้องสงสัยและเป็นการกดดันสมาชิกของครอบครัวเพื่อได้มาซึ่งข้อมูลของผู้ต้องสงสัย มีเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถเอาผิดทหารอินเดียได้ เนื่องจากกฎหมาย AFSPA ให้ความคุ้มครองและนำไปสู่การลอยนวลพ้นผิด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังพบว่าการข่มขืนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีผู้หญิงที่ถูกกล่าหาว่าให้อาหารและที่พักพิงกับกลุ่มขบวนการ


บทที่หกและเจ็ด ผู้เขียนเล่าเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงแคชเมียร์ลุกมาต่อต้านและค้นหาความยุติธรรม มีกลุ่มผู้หญิงที่ก่อตั้งองค์กรเพื่อทำงานกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต เช่น กลุ่ม 'สมาคมครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย' หรือ 'The Association of Parents of Disappearance Person (APDP)' ซึ่งก่อตั้งโดยการช่วยเหลือของทนายสิทธิมนุษยชน Pervez Imroz และ Parveena Ahangar ผู้ก่อตั้ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาการสนับสนุนให้กับครอบครัวของเหยื่อที่สุญหายหรือผู้หญิงม่ายเพียงครึ่ง เช่น กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน การช่วยเหลือทางการแพทย์ และการสนับสนุนทางจิตใจ


นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมหญิง อย่าง Zamrud Habib ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเธอเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำอินเดียและการเสียชีวิตของผู้หญิงในเรือนจำอันเนื่องมาจากการถูกทำร้ายร่างกาย


ในบทที่แปด นำเสนอเกี่ยวกับ 'สังคมชายเป็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา' ผู้หญิงหลายคนต้องหาสถานที่ปลอดภัยในการพบปะกัน พวกเธอใช้ศาลเจ้าเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสร้างกิจกรรม ในขณะที่มัสยิดไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปข้างในได้ เพราะโดยทั่วไป ผู้หญิงต้องละหมาดในบ้านเท่านั้น


ส่วนในบทที่เก้า เกี่ยวข้องกับการควบคุมของทหาร การดูแลความปลอดภัยและข้อกังวลด้านความปลอดภัยต่างๆ ทหารเข้าควบคุมเศรษฐกิจของพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ทางสังคม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของพลเมือง ทหารเป็นผู้ให้การศึกษากับประชาชน แต่อยู่ในการควบคุมข้อมูลว่าอะไรที่ประชาชนควรรู้และอะไรที่ควรเชื่อตามที่ทหารบอก


ในบทสุดท้าย นำเสนอเกี่ยวกับ 'แนวคิดเฟมินิสต์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่' ผู้หญิงจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาวิพากษ์ต่อสังคมแบบชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะการควบคุมร่างกายของผู้หญิง เช่น การสวมหรือไม่สวมฮิญาบ ผู้หญิงลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิทธิในการดูแลร่างกายตัวเองโดยปราศจากการควบคุมของทหารหรือผู้ชายในชุมชน


โดยสรุป หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องเล่าของผู้หญิงและเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธในรัฐแคชเมียร์ ผู้เขียนเน้นไปที่การตอบคำถามว่า ผู้หญิงและเด็กได้รับผลกระทบอย่างไรจากความรุนแรงในพื้นที่ และผู้หญิงรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ ไม่เพียงแต่การสะท้อนเรื่องของการถูกกดขี่แต่รวมไปถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ของผู้หญิง


นอกจากนี้ยังบอกเล่าถึงความรุนแรงที่เกิดจากทหารอินเดียที่เข้ามายึดครองพื้นที่และมองว่าผู้คนในแคชเมียร์เป็นศัตรูที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทหารที่ต้องปกป้องดินแดน


หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเกี่ยวกับแคชเมียร์ที่แตกต่างไปจากสื่อกระแสหลักหรือสื่อจากรัฐบาลอินเดีย และฉายให้เห็นภาพของการถูกทำให้เป็นชายขอบของผู้คนในแคชเมียร์ รวมไปถึงการตีตราคนแคชเมียร์ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ดังนั้น หนังสือเล่มนี้อาจทำให้คนอ่านทั่วไปที่ไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งในแคชเมียร์มาก่อนสามารถเข้าใจสถานการณ์ในแคชเมียร์มากขึ้น และอาจทำให้ผู้คนใส่ใจกับความรุนแรงที่เกิดในแคชเมียร์ และหันมาสนับสนุนคนแคชเมียร์ในการค้นหาความยุติธรรมให้กับคนที่ต้องเสียชีวิตหรือถูกบังคับสูญหายโดยรัฐ


เป็นอีกเล่มที่อยากแนะนำให้อ่านกันค่ะ

BEHOLD, I SHINE โดย FRENY MANECKSHA





ดู 164 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page