top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Recommended : ผู้หญิง I อำนาจ Women& Power a Manifesto





ช่วงหลายเดือนมานี้ฉันรู้สึกเหนื่อยกับการส่งเสียงเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมทางเพศซึ่งดูราวกับไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องเฟมทวิตที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งบนโลกออนไลน์ ถูกผู้ชายกลุ่มหนึ่งแปะป้ายให้เป็นพวกบ้าคลั่งประสาทเสีย หาสาระไม่ได้ มาจนถึงเรื่องวาทกรรมกดทับทางเพศที่ถูกใช้ในการชุมนุมทางการเมืองครั้งล่าสุด เพื่อใช้ก่นด่าฝ่ายตรงข้ามให้ดูต่ำลงตามความเข้าใจของพวกเขาที่คิดว่า ความเป็นหญิงที่อยู่ในตัวผู้ชายคือความอ่อนแอ ความตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็น การไล่ตำรวจชายไปใส่กระโปรง การด่าผู้นำว่าหน้าหี หรือการเรียกเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายผู้ชุมนุมว่าหน้าตัวเมีย เป็นต้น


แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงที่รู้สึกเหนื่อยใจและเหนื่อยกาย ฉันก็เห็นผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาส่งเสียงต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือในเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กผู้หญิงมัธยมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่พวกเธอออกมาส่งเสียงกันมากขึ้น ในนามของผู้หญิงปลดแอกก็ดี หรือในกลุ่มนักเรียนเลวก็ดี และน่าดีใจที่ฉันเห็นผู้หญิงในฐานะแกนนำการชุมนุมขึ้นเวทีปราศรัยเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย หรือสิทธิทางเพศ ซึ่งในแง่หนึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิง มีพื้นที่และมีเสียงมากขึ้นในสาธารณะ และกับผู้หญิงบางคน ก็ได้รับการยกย่องจากเหล่าผู้ชายในขบวนการประชาธิปไตย ว่าเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญ ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมที่มาจากการใช้อำนาจของสถาบันที่มีอำนาจมากกว่า อย่าง สถาบันกษัตริย์ หรือสถาบันทหาร และรัฐ


ฉันเห็นผู้หญิงแบบ รุ้ง ปนัสยา ที่กล้าลุกมาเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว และขณะนี้เธอก็ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ฉันเห็นผู้หญิงแบบ มายด์ ภัสราวลี ถูกจับกุมในฐานะแกนนำการชุมนุม และได้เห็นภาพที่เธอตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมอย่างไม่มีทีท่าของความหวาดกลัว และยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจากการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน


แต่อย่างไรก็ดี ฉันเห็นผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ถูกผลักออกจากขบวนการประชาธิปไตย เมื่อผู้หญิงเหล่านั้นเริ่มต้นพูดถึงความเป็นธรรมทางเพศ ในวันที่ ผู้หญิงอย่าง วาดดาว ชุมาพร ขึ้้นเวทีปราศรัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศและการเหยียดเพศในขบวนการประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมชายบางคนที่อยู่ด้านล่างเวทีโห่ฮาและบ่นว่าถึงการพูดจาไร้สาระของผู้หญิง และในขณะเดียวกัน แกนนำชายที่ขึ้นปราศรัยก็ยังคงพูดจาติดตลกว่าเธอได้ใช้พื้นที่พูดเรื่องผู้หญิงไปมากกว่าเขา และเขาขอพื้นที่ให้ผู้ชายพูดบ้าง ทั้งๆที่ผู้ชายนั้นได้พื้นที่ในการปราศรัยไปแล้วหลายสิบนาที และหนึ่งในแกนนำปราศรัย คือ ครูใหญ่ อรรถพล ก็ได้ใช้พื้นที่นั้นในการเล่าเรื่องเหยียดเพศผู้หญิงไปแล้วหลายนาทีก่อนหน้า


นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ เสียงของผู้หญิงที่พูดเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ไม่เคยดังเท่าเสียงของผู้หญิงที่พูดเรื่องประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยคือสิ่งที่ผู้ชายและคนจำนวนมากต้องการ และเมื่อผู้หญิงคนไหนก็ตามลุกมาพูดสนับสนุนสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการ เธอจะถูกยกย่องและนับเป็นพวกทันที แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงเริ่มพูดถึงการกดทับทางเพศ พวกเขาจะเบือนหน้าหนีและอยากให้เธอลงเวทีไปเร็วๆ กลับไปอยู่ในพื้นที่อันจำกัดของพวกเธอ ที่พวกเขาอนุญาตให้มีได้แค่เพียงมุมใดมุมหนึ่งของขบวน

นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสังคมไทย ในประเด็นเรื่องเพศกับพื้นสาธารณะทางการเมือง ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่ Mary Beard ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือเรื่อง ผู้หญิง อำนาจ ที่แปลมาจาก Women and Power a Manifesto โดย นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน


หนังสือเล่มนี้พูดถึงสองเรื่องที่สำคัญ คือเรื่อง เสียงของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ และ ผู้หญิงกับอำนาจ ซึ่งเล่าผ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคกรีก โรมัน และโลกตะวันตกในปัจจุบัน รวมไปถึงการยกตัวอย่าง ภาพวาดและงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดในหลากหลายรูปแบบ และผลงานเหล่านั้นสะท้อนถึงการถูกทำให้เงียบของผู้หญิง การลงทัณฑ์ผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาพูด และการทำลายอำนาจที่ผู้หญิงมี


มีหลายช่วงหลายตอน ที่ฉันอ่านแล้วก็ได้แต่คิดว่า ผู้หญิงเราต้องจ่ายอีกเท่าไหร่ถึงจะได้พื้นที่ในการส่งเสียง และเมื่อไหร่ที่ผู้หญิงจะสามารถส่งเสียงได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยผู้ชาย สิ่งที่ Mary บอกไว้ในหนังสือ ว่าในโลกของกรีกและโรมัน ผู้หญิงสามารถปราศรัยในที่สาธารณะได้ก็เพียงยกเว้นสองกรณี คือหนึ่ง พูดในฐานะเหยื่อหรือเพื่อการพลีชีพ และสอง พูดเพื่อปกป้องลูก สามีหรือสิทธิของผู้หญิงคนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ผู้หญิงไม่มีสิทธิพูดและหากพูดก็จะไม่ถูกรับฟัง ผู้หญิงไม่สามารถพูดแทนผู้ชายหรือแทนคนในสังคมโดยรวมได้


ตัดกลับมาในยุคปัจจุบัน แม้ว่าผู้หญิงจะพูดได้มากขึ้นแล้ว และพูดในเรื่องที่ใหญ่กว่าสิทธิของตัวเอง หรือในฐานะเหยื่อ หรือเพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิงคนอื่นได้ แต่เมื่อไหร่ที่พวกเธอเริ่มพูดในอาณาบริเวณที่ถูกครอบงำด้วยความเป็นชาย เสียงของผู้หญิงก็ดูจะเบาหวิวและเป็นความเบาหวิวอันเหลือทนที่ผู้ชายทั้งหลายก็แค่อยากจะรอให้เธอพูดให้จบๆไป (หรือบางครั้งก็ไม่ทันได้พูดจบ) เพื่อพวกเขาจะได้นำเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบายว่าสิ่งที่เธอพูดมันไม่ถูกต้องและไม่เป็นจริงอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่อง การข่มขืนหรือคุกคามทางเพศ ที่ผู้ชายหลายคนคิดว่าตนเองรู้ดีกว่าผู้หญิง และคอยบอกว่าพวกเธอควรรู้สึกอย่างไร และพร่ำบอกว่าพวกเธอคิดมากไปเองและนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายมาอ้างอิงเพื่อที่จะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือผู้ชายมีความต้องการทางเพศที่ไม่อาจควบคุม และผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ เอาแต่ใจ ไร้เหตุผล นั่นคือสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตกหรือตะวันออก


เรื่องเล่าของนางเมดูซ่า ก็ดูจะไม่แตกต่างจากเรื่องเล่าของนางโฮลิกะ ที่พวกนางต่างก็ถูกฆ่าด้วยข้อหาต่างๆนานา พวกผู้หญิงในประวัติศาสตร์ที่มีอำนาจมากต่างก็ถูกทำให้น่าเกลียดน่ากลัว และสร้างความชอบธรรมในการฆ่าพวกเธอทิ้งเสีย ไม่ว่าจะเป็นการตัดคอหรือเผาทำลาย


ในหนังสือเล่มนี้ Mary ยังกล่าวถึงผู้หญิงกับการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้หญิงต้องพยายามเป็นอย่างมากที่จะเข้าไปในสภาและขึ้นเป็นผู้นำได้ โดยมีมาตรฐานที่อ้างอิงจากความเป็นชายที่ผู้หญิงต้องขึ้นไปให้ถึง เช่นที่เธอยกตัวอย่าง การแสดงออกแบบสองเพศ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ หรือการแต่งตัวแบบผู้ชาย พูดแบบผู้ชาย เพื่อให้คนรู้สึกว่าพวกเธอ ไม่ได้อ่อนแอ และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งถ้าเทียบกับในรัฐสภาไทย เราก็จะเห็นชัดเจนว่า นักการเมืองหญิงมักถูกตำหนิเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม และนำความเป็นหญิงมาใช้โจมตีพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่า พวกเธอแข่งขันกันเองเรื่องความสวยความงาม พวกเธอใช้คำพูดจิกกัดกันเองด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง และกระทั่งการเรียกขานนามของพวกเธอด้วยคำว่า หนู หรือ คนสวย


สิ่งที่ Mary กล่าวไว้ในหนังสือประโยคหนึ่งที่ฉันเห็นด้วยเป็นอย่างมากคือ “คุณไม่สามารถนำผู้หญิงเข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่เข้ารหัสเพศชายไว้แต่แรก แต่คุณต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ต่างหาก” ดังนั้น ประเด็นมันจึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปเป็น สส ในสภาในสัดส่วนที่เท่ากับผู้ชาย ตราบใดที่โครงสร้างทางอำนาจยังไม่เปลี่ยน นักการเมืองหญิงห้าสิบคนพูด กับ นักการเมืองชายหนึ่งคนพูดในสภา เสียงก็ไม่มีทางเท่ากัน และหากโครงสร้างอำนาจที่เอื้อให้เสียงของผู้ชายได้รับการรับฟังมากกว่าผู้หญิงยังอยู่ จะมีผู้หญิงในสภาอีกกี่คนมันก็จะไม่มีประโยชน์เลย


นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังทำให้ฉันคิดไปถึงอำนาจของผู้หญิงในสถาบันกษัตริย์ไทย ที่ไม่เคยมีอยู่จริง และช่างตรงกับสิ่งที่ Mary ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ชายมอบอำนาจให้ผู้หญิงก็ต่อเมื่อมันมีประโยชน์กับเขา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงมีอำนาจมากเกินไป หรือใช้อำนาจนั้นเกินจากที่เขาเป็นคนกำหนด พวกเธอจะถูกริบอำนาจคืน และจะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆนานา เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับ เจ้าคุณพระสินีนาถ หรือ หม่อมศรีรัศม์ ในช่วงเวลาที่กษัตริย์วชิราลงกรณ์เรืองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน


หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงสถานการณ์บนโลกออนไลน์ พื้นที่สาธารณะในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการเหยียดเพศ และผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกขู่ฆ่า ขู่ข่มขืน เมื่อเธอออกมาส่งเสียงเรียกร้องเรื่องสิทธิทางเพศ พวกเธอถูกทำให้เงียบด้วยการรุมกลั่นแกล้งออนไลน์ในเรื่องรูปร่างหน้าตา หรือการคุกคามทางเพศ เหล่านี้คือรูปแบบของการทำให้ผู้หญิงเงียบเสียง และเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันในโลกออนไลน์ของไทย การแปะป้ายผู้หญิงว่าเป็นเฟมทวิต ที่หมายถึง ผู้หญิงประสาทแดกและหยุมหยิมไร้สาระที่ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวายน่ารำคาญ ก็คือเครื่องมือหนึ่งในการทำให้เงียบเหมือนที่ผู้หญิงในประเทศอื่นๆกำลังเผชิญอยู่นั่นเอง


ฉันอยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ แม้ว่ามันอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องราวของการเหยียดเพศ การปิดปากและปิดเสียงของผู้หญิงมาบ้างแล้ว แต่มันเป็นหนังสืออีกเล่มที่ยืนยันว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการที่ผู้หญิงถูกทำให้เงียบนั้นมีอยู่จริง แม้ว่าจะเป็นตัวอย่างแค่ในโลกตะวันตกและยุคสมัยหนึ่งก็ตาม แต่ถึงกระนั้น เมื่อมองมาในปัจจุบัน โลกปัจจุบันก็กำลังถูกครอบงำในแบบแผนเดียวกันกับโลกยุคโบราณที่ผ่านมา มีบางอย่างที่อาจจะดีขึ้นบ้าง แต่บางอย่างก็ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย และการพยายามทำให้ผู้หญิงเงียบเสียงก็ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบที่มีจุดร่วมเดียวกันของผู้หญิงทั้งโลก ไม่วา่จะอยู่ในโลกตะวันตกหรือตะวันออกก็ตาม


สำหรับคนที่ไม่เคยศึกษาเรื่องการทำให้ผู้หญิงเงียบเสียงมาก่อน ฉันคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเห็นรูปแบบที่กำลังดำเนินอยู่ ที่ต่อเนื่องยาวนานในทางประวัติศาสตร์และถ่ายทอดตกค้างมาจนถึงยุคปัจจุบัน


ผู้หญิง อำนาจ เป็นหนังสือเล่มบางๆที่คุณอาจสามารถอ่านจบได้ภายในหนึ่งวัน และคุณสามารถไปตามอ่านงานที่ถูกอ้างถึงได้อีกจำนวนมาก รวมถึงภาพวาดงานศิลปะต่างๆที่ผู้เขียนได้ยกมากล่าวถึง มีบางช่วงที่เนื้อหาอาจจะทำให้กระตุ้นความเจ็บปวดทางใจสำหรับคนที่เคยผ่านประสบการณ์การถูกข่มขืน ฉันแนะนำให้คุณเตรียมใจก่อนอ่านหรือถ้าไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งหยิบมาอ่าน


สุดท้ายนี้ฉันอยากขอบคุณที่หนังสือเล่มนี้มาถึงมือในวันที่ฉันกำลังหมดแรงในการต่อสู้ มันเป็นหนังสือที่ฉันได้รับมาในวันเกิดปีที่ 35 ซึ่งเป็นปีที่ฉันเผชิญหน้ากับความท้าทายในการทำงานด้านสิทธิทางเพศจากทั้งคนในขบวนการประชาธิปไตยและจากเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกันมากว่าสิบปี ซึ่งพวกเขาปฏิเสธเสียงของฉันที่เปล่งออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่องความไม่เป็นธรรมทางเพศที่ผู้หญิงกำลังเผชิญอยู่นี้


หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันมีความหวังขึ้นมาอีกนิดว่า จะมีผู้คนจำนวนมากได้อ่านมัน และฉุกคิดขึ้นมาได้ว่ายังมีความไม่เป็นธรรมทางเพศอยู่บนโลกใบนี้ และมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกกดขี่ทางเพศ และผู้คนเหล่านั้นจะลุกมาทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อความเป็นธรรมทางเพศของคนทุกเพศได้ในที่สุด


Women&Power a manifesto

Mary Beard เขียน

นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน แปล

สำนักพิมพ์ Bookscape










ดู 1,426 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page