top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

"Sapphic Riot" สเตรทไม่ใช่ปัญหา แค่เข้ามาแล้วเคารพซึ่งกันและกัน


ป้ายหน้าร้าน Sapphic Riot


เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมของทุกปี เฟมินิสต้าขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ "Sapphic Riot" บาร์แซฟฟิคที่ต้อนรับผู้หญิงทุกรูปแบบ ขอเพียงแค่เคารพความเป็นมนุษย์และไม่ทำตัวเหยียดเพศในพื้นที่แห่งนี้ก็เพียงพอ


Sapphic Riot เป็นบาร์แซฟฟิคหรืออาจจะเรียกว่าบาร์เลสเบี้ยนแห่งแรกในเชียงใหม่ก็เป็นได้ โดยบาร์แห่งนี้เพิ่งเปิดมาได้ไม่ถึงหนึ่งปี และมีสองหุ้นส่วนคือ หมวยกับโรส เป็นผู้ก่อตั้งและดูแลบาร์เป็นหลัก เฟมินิสต้าชวนทั้งสองคนพูดคุยเกี่ยวกับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสาวสเตรท (ผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้ามเท่านั้น) ที่อยากเข้าไปเที่ยวบาร์ที่ถูกมองว่ามีแต่ผู้หญิงของชาวแซฟฟิค แต่ความต้องการนี้ถูกต่อต้านจากชาวแซฟฟิคจำนวนหนึ่งที่มองว่าพื้นที่ของชาวแซฟฟิคก็มีน้อยนิดอยู่แล้ว สาวสเตรทยังจะเข้ามายึดครองไปอีก ทั้งความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่โอเคกับพฤติกรรมของสาวสเตรทที่ชอบเข้ามาล้อเล่นกับใจหรือใช้ชาวแซฟฟิคเป็นเครื่องมือทดสอบความฮอตของตัวเอง ก็ยิ่งทำให้ชาวแซฟฟิคจำนวนหนึ่งในทวิตเตอร์ (X) ออกมาให้เหตุผลกันหลายประการว่าทำไมบาร์แซฟฟิคหรือบาร์เลสเบี้ยนควรจะเป็นพื้นที่ของคนในชุมชนเท่านั้น ลองมาฟังความเห็นและที่มาที่ไปของ Sapphic Riot กันว่าเค้าคิดอย่างไรกับประเด็นนี้ และบาร์แซฟฟิคในนิยามของ Sapphic Riot เป็นแบบไหน



สองหุ้นส่วนหลัก โรส-หมวย



เฟมินิสต้า : ช่วยเล่าจุดเริ่มต้น ของ “Sapphic Riot” ให้เราฟังหน่อย


หมวย : เริ่มต้นจากหมวยทำกลุ่ม Sapphic Pride และจัดกิจกรรมของกลุ่มมาตลอดตั้งแต่ช่วงปี 2022 ซึ่งเรามีเงินน้อยมาก บางครั้งก็ต้องเก็บค่าเข้าเพื่อเอาเงินมาจัด Party อาจจะมีงานฉายหนังบ้าง พยายามทำให้มันเป็นพื้นที่มาสักระยะนึงแล้ว แต่ก่อนหมวยใช้บ้านเช่าที่เราเช่าอยู่เป็นสถานที่จัดงาน พอมันไม่เสียค่าที่จัดงานเราก็เลยใช้บ้านเช่าเราเป็นที่รวมตัวของชาว Sapphic


เฟมินิสต้า: แล้วมาเป็นความคิดที่มาเป็น Sapphic Riotได้ยังไง 


หมวย  : ปลายปี 2022 ไปเจอกันกับโรสที่ค่ายเฟมินิสต์ จากนั้นก็ไปกิน ไปดื่มด้วยกัน นัดเจอกันก็คุยกันเรื่องนี้ ตอนแรกโรสบอกว่าอยากเปิดร้านน้ำปั่น แล้วมันก็ค่อยๆลามไปจนเราบอกว่าอยากทำบาร์ อยากทำพื้นที่ แล้วก็ไปถึงบาร์เลสเบี้ยน ตอนแรกก็คุยกันเล่นๆ


โรส : เอาจริง โรสเองตอนแรกคิดว่าคุยกันเล่นๆ แล้วหมวยก็มาถามเรื่อยๆ โรส ก็เลย เออ ทำก็ได้ 555 แต่จริงๆแล้วตอนที่เริ่มคิดเรื่องแผนธุรกิจกัน ประวัติของหมวยในการจัดปาร์ตี้ให้กับ Sapphic Pride เราไม่ได้คิดว่าจะเป็น Business เลย จริงๆแล้วไม่ได้มอง  Sapphic Riot ในแง่ธุรกิจมากด้วยซ้ำ เพราะว่ารู้อยู่แล้วยังไงคนก็อยากมาเพราะมันเป็นอะไรที่ขาดตลาด แล้วก็เห็นความต้องการชัด แล้วมันก็เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เราหาพื้นที่เช่า แล้วก็ทำเลย


หมวย: ตอนแรกจะหาหุ้นส่วนเพิ่มด้วย แต่ก็ไม่มีใครกล้าเสี่ยงแบบเรา 


เฟมินิสต้า : แล้วพอตัดสินใจจะเปิดแล้ว อยากจะให้เป็นพื้นที่แบบไหน เป็นบาร์แบบไหน?


หมวย:  เวลาเราเจอ Sapphic เราก็ถามนะว่าชอบไปที่แบบไหนอะ หลายๆคนก็บอกว่าชอบที่ชิลๆ เราเองก็ชอบที่ชิลๆมากกว่า มันน่าจะเป็นพื้นที่ที่พูดคุย แลกเปลี่ยน พบเจอกันได้สบายๆ ไม่ต้องมาใช้พลังงานเยอะก็ได้ แบบมานั่งเล่น อ่านหนังสือ ทำงานก็ได้ 


โรส :ใช่ มีเกมส์  ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นผับหรืออะไร


เฟมินิสต้า : ไม่ใช่บาร์ลับสาวเกาหลี ที่เขาไว้ไปหาคู่กันใช่ไหม ที่ต้องแอบๆกันเข้าไปหาคู่


หมวย: จริงๆ มันก็ทำได้นะถ้าจะมาหาคู่กัน แต่มันก็ไม่มี แบบมานั่งชิลๆ กันได้ไหม มองตากันแล้วก็หาคู่ ไม่ต้องมาแบบเจอกันแล้วใส่กันเลยอะไรแบบนั้น


โรส: ใช่ โรสกับหมวยอะ ทำงานหนักมากกับเรื่องนี้ ที่จะจับคู่กันแนะนำคนนี้กับคนนั้น โรสทำบ่อยมาก แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ให้รู้จักกันแบบเพื่อนๆ แล้วก็จะมี Sapphic ฝรั่งเข้ามาในร้านเยอะ แล้วบางที backpacker ที่มาคนเดียว โรสก็จะ โอเค ไปคุยกับ backpacker อีกคนที่มาคนเดียวไป 555 แต่จะเล่าว่าเรื่องนี้ (หาคู่) ไม่ได้เป็นประเด็นเลยตอนที่จะทำร้านกับหมวย ที่โรสกังวลมากแล้วก็เคยคุยกับหมวยคือ เรื่องโดนทำลายร้านหรือว่าเป็น Hate crime (อาชญากรรมจากความเกลียดชัง) อะไรแบบนี้


สำหรับในหัวเวลามองภาพศัตรู ก็ไม่เคยคิดภาพผู้หญิงสเตรท (straight) เพราะเวลามองภาพศัตรูเราก็จะเห็นภาพฝรั่งขาว หรือ ผู้ชายไทยที่เหยียด LGBT อะไรอย่างงี้ ก็กังวลว่าจะมีคนมาทำลายร้าน หรือสักคืนนึงจะมีคนเข้ามาคุกคามอะไรแบบนี้ไหม? เพราะในหัวโรสก็คิดวุ่นอยู่กับข่าวที่อเมริกาตลอด ที่หลายปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์บ่อยๆ แล้ว

หมวยก็บอกโรสว่า “โรส ที่นี้ไม่ใช่อเมริกา ไม่มีคนทำหรอก เข้าใจปะ ที่นี้ประเทศไทยถ้าคนที่เขาไม่โอเคกับ LGBT เขาก็จะไม่มา หรือว่าไม่อยากจะยุ่งด้วย ไม่ใช่เขาจะมาหาเรื่อง” แล้วมันก็จริง ใช่ ก็ยังไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น


เฟมินิสต้า : แล้วข้อกังวลของหมวยล่ะ คืออะไร? 


หมวย:  ส่วนใหญ่ก็จะแบบ ไม่รู้ว่าคนเขาจะมาไหม เพราะไม่รู้ว่าส่วนใหญ่ Sapphic ไทย หญิงรักหญิงเขาไม่ค่อยออกมาเปิดเผยกันตรงๆ อยู่แล้ว แล้วก็รู้สึกว่าที่ผ่านมาก็แอบยากในการที่เราทำพื้นที่แล้วคนจะมาเข้าถึงกลุ่มหรือว่าเข้าถึงพื้นที่ ที่เรามีไว้สำหรับชุมชน อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายที่เราก็ยังคิดไม่ตกเรื่องที่ จะทำยังไงให้ Sapphic คนไทยเขามาใช้พื้นที่ตรงนี้ มาเจอร้าน มาเจอกิจกรรม หรือแม้กระทั่งกับ Sapphic pride เองก็ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ยาก



หมวยกับโรส และกลุ่มคนทำงานเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ เฟมินิสต์นักปกป้องสิทธิ


เฟมินิสต้า : ถ้าอย่างงั้นข้อกังวลคือจะทำยังไงให้คนเข้ามาใช้พื้นที่  แต่พอพูดเรื่องการใช้พื้นที่ มันก็มีเรื่องที่กำลังถกกันในทวิต  ที่พูดเรื่องบาร์เลสเบี้ยนที่เกาหลี ผับเลสเบี้ยน แล้วผู้หญิงสเตรทก็โควทไปบอกว่า อยากไปเพราะรู้สึกปลอดภัย มีแต่ผู้หญิง แต่แซฟฟิคในทวิตก็บอกว่า เราไม่ได้มีหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงสเตรทนะ 


ในฐานะคนทำบาร์ Sapphic มองเรื่องนี้ยังไง เรายินดีต้อนรับ ผู้หญิง straight มั้ย ?


หมวย: ในมุมมองของหมวย หมวยเฉยๆ มาก เพราะผู้หญิงกับ Sapphic ก็มีส่วนที่คล้ายกันอยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องเพศกำเนิด แล้วตัวเราเอง ..เราก็รู้สึกว่ามันก็สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงสเตรทด้วยจริงๆ ถ้าสมมุติว่าเขาอยากจะเมา หรืออยากจะนั่งชิลโดยที่แบบมีแต่ผู้หญิงกันเอง แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกว่ามีผู้ชายมาจับจ้องหรือจะเจอเหตุการณ์ที่โดนคุกคาม harassment  สำหรับ Sapphic Riot หมวยว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาอะไรถ้าผู้หญิงเสตรทจะเข้ามาใช้พื้นที่นี้ แต่ว่าถ้าเขาเข้าใจพื้นที่ด้วยก็จะยิ่งดีมากกว่า ไม่ใช่ว่า “ไหนลองมาบาร์เลสเบี้ยนดูซิ จะเจอเลสเบี้ยนมาจีบไหม” อันนั้นก็จะเป็นอีกเรื่องนึง หมวยคิดว่ามันแยกกัน


โรส: ใช่ เราก็คิดเหมือนกัน จริงๆเรางงกันมากว่ามันเป็นประเด็นไปได้ยังไง สำหรับเราสองคนไม่ได้คิดว่ามันเป็นประเด็น คือเราตั้งใจตั้งแต่แรกให้มันเป็นพื้นที่ของ Sapphic และก็เป็น Feminist Space ด้วย คือเราเข้าใจเลยว่าทำไมผู้หญิงถึงอยากมา Joy ด้วย เพราะว่าอันนั้นก็เป็นจุดนึงที่มาทำร้าน เพราะว่าก็ไม่ชอบเหมือนกันเวลาออกไปตอนกลางคืนแล้วต้องกังวลตลอดว่าจะโดนคุกคาม เลยรู้สึกว่าอยากให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับผู้หญิงทั้งหมดแหละ 


คือที่เราต้องคิดกันตลอดคือ บ่อยครั้งที่ผู้ชายเข้ามาในร้านก็ยังไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเลย เราคิดว่าถ้า

ผู้หญิงสเตรทเข้ามาในร้านแล้วไม่ได้ทำตัวแย่ๆ ใครจะรู้ว่าเป็นสเตรท แบบโลกมันไม่ได้วนอยู่แค่กับตัวเอง ก็มานั่งอยู่กันแบบปกติ ไม่ต้องทำให้มันเป็นเรื่องราวขนาดนั้น



ธงรุ้งสนับสนุนสมรสเท่าเทียมและมุมฝากสินค้าขายของเพื่อนๆ



เฟมินิสต้า: ถ้าผู้หญิงสเตรท ไม่ได้เป็นปัญหา แล้วถ้าเป็นผู้ชายสเตรทเข้ามาล่ะ แบบที่เขาไม่ได้รู้จักใคร ไม่ได้เป็นเพื่อนของเพื่อน แค่ฉันอยากเข้าบาร์ Sapphic


โรส: ต้องบอกก่อนว่าจากหลายเดือนที่ทำมา มันมีคู่สเตรทที่เข้ามาหลายคู่มาก ผู้หญิงอาจจะเป็นไบเซ็กช่วลก็ได้ใครจะรู้ หรือแค่อยากจะออกมาข้างนอกกับเพื่อนผู้ชายหรือเพื่อนกะเทยแบบนี้ ก็มาได้ ไม่เป็นไร แต่ว่าก็รู้สึกแปลกถ้าเป็นผู้ชาย

สเตรทแล้วแบบตั้งใจเข้ามาที่ร้าน ซึ่งหลายอาทิตย์ที่ผ่านมามันมีเข้ามาค่อนข้างเยอะ มีลุงฝรั่งขาวสูงวัย ก็จะมีผู้ชายคนไทยมาบ้างนะ แต่ก็จะมากับแฟนกับกลุ่มเพื่อน ไม่เคยมีปัญหาเลย แล้วก็จะเห็นชัดเจนเลย เขาจะมีความเกรงใจ ไม่ชอบมาสั่งเครื่องดื่มด้วย ชวนแฟนมาสั่งด้วยกันอะไรอย่างงี้ 


แต่ว่าที่ผ่านมามันมีผู้ชายที่แบบเราก็คิดไม่ออกว่ามาทำไม เพราะร้านเราเขียนชัดเจน มีธงรุ้ง เราเขียนหน้าร้านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่าเป็น First lesbian bars  แต่ก็ยังมีฝรั่งขาวแก่ๆที่กำลังหาเมียคนไทย เขากำลังมาเที่ยวไทยแบบ

นั้น ที่ปกติจะไปบาร์อื่นๆ พอมาเจอบาร์เราแล้วเห็นว่าเป็นบาร์ผู้หญิง เลยเข้ามา เราก็เลยงงว่าจะจัดการยังไง ก็เลยไม่ได้คิดถึงเลยว่าจะจัดการกับเรื่องผู้หญิงสเตรทยังไง เพราะยังไม่เคยเป็นปัญหา


เฟมินิสต้า : ตอนเห็นประเด็นในทวิต ว่าทำไมถึงมีการกีดกันผู้หญิง straight มากกว่าที่จะพูดถึงเรื่องผู้ชาย คือผู้หญิงคนนั้นเขาก็ดูไม่มีที่ไปจริงๆ นะ เขาบอกว่า “ถ้างั้นก็คงต้องกินเหล้าอยู่ในห้องคนเดียวต่อไป” คนที่เป็นแซฟฟิคบางคน ก็บอกว่า “กินเหล้าอยู่ในบ้านนั่นแหละดีแล้ว ไม่ต้องออกมายึดครองพื้นที่ในผับ sapphic”  อย่างเพื่อนเราก็มีหลายคนที่เป็น straight แล้วก็ยังอยากจะมา hang out กับ Sapphic  แต่เหมือนแซฟฟิคบางคนเค้าแยกพื้นที่ออกชัดเจนเลย 


ที่นี้เราก็เลยสงสัยว่า ทำไมเราไม่มาพูดถึง ชายแท้ผู้ชายที่ยึดครองพื้นที่ทุกอย่าง จนทำให้ผู้หญิง straight ก็อยู่ไม่ได้ Sapphic ก็อยู่ไม่ได้ แล้วก็ต้องมานั่งกีดกันกันเอง แล้วก็อย่างที่โรสพูดมาว่า มันก็มีผู้ชาย straight เข้ามาในพื้นที่จริงๆแบบที่ไม่ได้มากับเพื่อน อยู่ดีๆก็เข้ามาแล้วเราจัดการยังไง  ในเมื่อเราไม่สามารถจะไปถามว่า “คุณเป็นชายแทร่รึเปล่า ” คือเราถามไม่ได้แล้วเรามีวิธีจัดการยังไง


โรส: วิธีการจัดการคือ ไม่มีวิธีการจัดการ รอให้เขาไปเอง อาทิตย์ที่ผ่านๆ มา มันมีลุงที่เขามาทุกคืน แล้วก็มาขอ attention มานั่งคุยกับโรสเป็นชั่วโมง แล้วมันก็ดึงพลังมาก เรารู้สึกว่าเราจัดการไม่ค่อยได้ด้วย เอาจริงมันมีความรู้สึกกลัวด้วย ทำได้มากสุดคือ Nice กับเขาแล้วรอเขาไป รอเขาออกจากเชียงใหม่ไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคืนเขามาที่บาร์คุยกับโรส 2 ชั่วโมง พอเขาไป คู่ sapphic ก็เดินมาคุยเล่นกับหมวยว่า ผิดหวังที่มาแล้วเจอลุงแก่ๆ พอมันเป็นชายแท้แบบนั้น มันเป็นพิษสำหรับบรรยากาศจริงๆ แล้วตอนนี้ก็ชัดเจนที่ได้ feedback จากลูกค้าว่ามันไม่โอเค แต่เมื่อก่อนมันไม่บ่อยนะ แต่รู้สึกว่าหลังๆ ช่วง high season ฝรั่งมาเที่ยวมากขึ้น มาใช้พื้นที่แล้วเราก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง


 เราก็ถามเพื่อนๆ ใน Social เราก็คิดว่าอาจจะต้องติดป้าย ไม่ใช่ว่าเราจะคัดเลือกคนที่เข้าร้านอะไรขนาดนั้น ส่วนตัวคิดว่ามันชัดเจนแล้วนะว่าเป็นบาร์ของ Lesbian ถ้าคนที่มี common sense หรือว่ามีความเกรงใจก็จะไม่เข้ามาอยู่แล้ว แต่เราก็จะติดป้ายถ้าแบบคุณเป็นผู้ชายหรือว่าคนสตเรทจะเข้ามาก็ขอให้เคารพว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ของแซฟฟิค แล้วตัวเองไม่ใช่ “กลุ่มเป้าหมาย”  ของร้าน อย่าคาดหวังว่าจะได้บริการเหมือนร้านทั่วไป กำลังคิดอยู่ว่าจะจัดการยังไงถ้าสักวันหนึ่งมันรบไม่ไหวแล้ว คงต้องเดินไปบอกตรงๆ ว่าทำแบบนี้ไม่ได้ แต่เราก็รู้จักนิสัยพวกคนขาวดี เขาจะคาดหวังว่าทุกคนต้องบริการเขา ต้องดูแลเขาให้เต็มที่ เขาไม่ได้เกรงใจใคร


เฟมินิสต้า: เป็นเรื่องยากนะ คือพอเป็นบาร์เปิดด้วย มันไม่ใช่บาร์ลับที่จะรู้รหัสกันระหว่างชาวแซฟฟิค พอมันเป็นบาร์เปิดใครๆก็เดินเข้ามาได้ แล้วทีนี้ก็กลายเป็นผลเสีย พอแซฟฟิคมาแล้วเจอชายแท้แก่ๆ คนขาวนั่งอยู่ที่บาร์ เขาก็อาจจะรู้สึกว่า มันจะปลอดภัยไหม ฉันจะแสดงความรักกับแฟนต่อหน้าชายแก่คนนี้ได้มั้ย เป็นเรา เราก็รู้สึกนะ ขนาดเป็นแฟนเพื่อน เราก็อาจจะรู้สึกนะว่ามันก็เป็นผู้ชาย ก็เลยเป็นตัวเองได้ไม่เต็มที่เวลาอยู่กับแฟน แล้วก็มีเลสเบี้ยนที่ไม่ชอบผู้ชายเลย ถ้าเขาเข้ามาแล้วเห็นว่ามีผู้ชายนั่งอยู่ ก็อาจจะรู้สึกไม่โอเค ก็เข้าใจมุมคนทำพื้นที่ เราอาจจะเสียลูกค้ากลุ่มนั้นไป

แล้วที่บอกว่าอยากจะติดป้าย จะติดยังไง? จะบอกเขายังไง มันก็ยากนะที่จะไปบอกให้เขาทำตัวยังไง?


โรส: ที่ผ่านมายังไม่เคยมีปัญหากับผู้ชายไทย เลยคิดเอาไว้ว่าจะติดแค่ป้ายภาษาอังกฤษ เพื่อไม่ให้พวกผู้ชายฝรั่งขาวมาคนเดียว เพราะว่าส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหากับผู้ชายที่ถูกเชิญมา หรือมีแฟนในกลุ่ม Sapphic แต่ว่าก็อยากชัดเจนถ้าเป็น

ผู้ชายสเตรททั่วไปแค่อยากมาดูมาสังเกต ก็ไม่รับอะถ้าแบบนั้น


เฟมินิสต้า: จริงๆ มันสำคัญมากเลยนะ คนจำนวนมากพยายามแยกว่า บาร์ Sapphic ใครบ้างที่จะเข้ามาใช้ได้ ก็เลยมีการกันคนออก  แต่ในการกันคนออกเราก็เข้าใจนะ คือมันต้องกันคนออกเพราะมันมีคนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยกับชายแท้  ส่วนคนที่เขาไม่เอาผู้หญิงสเตรท เขาก็บอกว่าเขารู้สึกไม่ปลอดภัยกับผู้หญิงกลุ่มนี้เพราะว่าเคยเจอมาแกล้งทำเป็น Sapphic แต่จริงๆไม่ใช่ แล้วก็เอาไปเม้าท์ต่อ เหมือนแบบมาทำให้ชอบแล้วก็เอาไปเม้าท์กัน เขาก็มี trauma กันกับผู้หญิงกลุ่มนั้น พวกที่เขาต่อต้าน straight ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เราก็เข้าใจ


แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมาที่จะจัดการพื้นที่กันยังไง แล้วคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เขาจะใช้พื้นที่ยังไง ทำยังไงกับพื้นที่ เพราะว่าการที่เป็น Sapphic ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คุกคามคนอื่น คือถ้าคนไม่เข้าใจเรื่อง Consent (ความยินยอม) ก็อาจจะไปคุกคามคนอื่นได้เหมือนกัน อย่างบางคนก็ถึงเนื้อถึงตัว หรือคิดว่าเป็นผู้หญิงด้วยกันแล้วจะทำอะไรก็ได้ มันก็อาจจะมีคนที่คิดแบบนั้นเหมือนกัน เพราะงั้นเอาเข้าจริงๆ อาจจะไม่ได้อยู่ที่เรื่องเพศหรือเปล่า



บรรยากาศการพบปะพูดคุยนอกร้าน


เฟมินิสต้า: มาคุยเรื่อง Trans กันสักหน่อยเพราะว่า ทรานส์เลสเบี้ยน (Trans-Lesbian) ก็เหมือนจะมีคำถามเหมือนกันว่าเขาเข้าไปได้ไหม สำหรับที่ผ่านมา มี Trans เข้ามาใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหน อาจจะรวมถึง Trans-Man ด้วยนะ เพราะว่าบางคนเขาอาจจะไม่รวมตัวเองอยู่ในร่มของผู้หญิง แต่ว่าใน Sapphic Riot ความหลากหลายตรงนี้มีปัญหาไหม เจอปัญหาอะไรบ้าง?


หมวย: เราเห็นฝรั่งหลายคนที่เป็นทรานส์แมน  แล้วก็มี ทรานส์วูแม่น เข้ามาในร้าน เราก็รู้สึกไม่ได้เป็นปัญหา แต่ว่าตัวคนที่เป็นทรานส์ เองเขาอาจจะคิดว่า ตัวเขาจะเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ไหม แต่สำหรับหมวยเอง หมวยคิดว่าใช้ได้ถ้าเขามีความเข้าใจในพื้นที่ แต่ว่าตอนที่ยังไม่เปิดก็ถูกตั้งคำถามจากกลุ่ม Transman ว่า แล้ว Transman เข้ามาได้ไหม เราก็แค่อยากจะทำพื้นที่ของเราเอง เราจะสร้างพื้นที่ของเรา แม้แต่ทำจากทุนของเราเองยังโดนตั้งคำถามจากคนในชุมชนเหมือนกัน 


เฟมินิสต้า : โรสล่ะ มองยังไง จริงๆพอตั้งคำว่า Sapphic คนมันก็ตั้งคำถามกันว่า Sapphic นี้รวมใครบ้าง รวมเพศกำเนิดหญิง คนที่มีสำนึกความเป็นหญิง นอนไบ เควียร์  ทรานส์แมนหลายคนเขาไม่นับตัวเองว่าเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว แต่เขาอาจจะมีแฟนเป็นผู้หญิงก็ได้ ทีนี้เราก็มักจะได้คำถามจากทรานส์แมน อยู่เนืองๆ โรสคิดยังไงบ้าง


โรส: ก็คิดว่าตลอดว่า Sapphic ก็คือคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Sapphic ถ้าคิดว่าเชื่อมโยงกับ Sapphic หรือมองตัวเองว่าเกี่ยวข้อง ก็มาได้ คือส่วนตัวโรสมีแฟนเป็นทรานส์แมน เราคิดว่าการที่ฝนมาที่ร้านมันก็ช่วยเรื่องพื้นที่ แล้วบางทีฝนก็ช่วยเพื่อนทรานส์แมนมาเชียงใหม่ เขาก็มาที่ร้าน แต่ใช่ จริงๆ แล้วไม่รู้จะเจาะประเด็นนี้ยังไง เพราะมันเป็นความคิดส่วนตัว ถ้าคิดว่าตัวเองเป็น Sapphic หรือมีความเชื่อมโยงก็มา มันง่ายขนาดนั้น อย่างที่บอกว่าปัญหาเดียวที่สำคัญคือ การจะจัดการพื้นที่กับผู้ชายตรงเพศยังไงมากกว่า


เฟมินิสต้า : อันนี้เป็นอย่างเดียวที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหาใช่ไหม แต่ใครที่ไม่ใช่ผู้ชายตรงเพศ แล้วอยากจะมา joy นิยามตัวเองว่าเป็นสเตรท หรือ แซฟฟิค หรือสบายใจกับ แซฟฟิค จะมาใช้พื้นที่ก็มาได้ อยู่ที่ว่าคุณสบายใจแค่ไหน แล้วเคารพพื้นที่แค่ไหน มาแล้วไม่คุกคามคนอื่น


โรส: จริงๆ แล้วใครที่อยู่ในร่มเควียร์มาที่ร้าน เราก็รู้สึกยินดีตลอดเลย รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วทรานส์ หรือกะเทย หรือเกย์แมน ก็ไม่ค่อยจะเข้ามาอยู่แล้ว ถ้าเข้าส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่ง นักท่องเที่ยว หรือไม่ก็ฝรั่งที่อยู่ในเชียงใหม่ที่จะเข้ามามากกว่า


เฟมินิสต้า : ก็คือใครสบายใจที่จะเข้ามาก็เข้ามา ไม่ได้จะจำกัด Trans Man หรือ Trans Woman


โรส : ใช่ แล้วก็มีธงทรานส์ โรสติดเอาไว้ตรงนั้นเพื่อที่จะส่งสัญลักษณ์ว่าร้านก็ trans friendly เพราะเราก็เห็นข่าวที่อังกฤษว่ามันมีบาร์ที่คัดเลือกที่เพศกำเนิด แล้วก็เห็นข่าวที่ปาร์ตี้ที่กรุงเทพ เราเลยรู้สึกว่าถ้าเริ่มคิดแบบนั้น มันยุ่งยากมาก มันวุ่นวายโดยที่ไม่จำเป็น



โปสเตอร์แสดง Solidarity ภายในร้าน


เฟมินิสต้า : มันมีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกันนะในต่างประเทศว่า L คือสำหรับเพศกำเนิดหญิง ไม่รับทรานส์ ทีนี้ สำหรับทั้งสองคน เปิดบาร์มา 6 เดือนแล้ว คิดว่าพอใจรึยัง กับการทำพื้นที่มา 6 เดือน ได้อย่างที่คิดไหม?

 

หมวย: คิดว่าในแง่ของการสร้างพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนที่เป็นแบบนี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่นี้ระดับหนึ่ง มันก็ค่อนข้างเสี่ยง แล้วอย่างการเคลื่อนไหวของหญิงรักหญิงก็มีปัญหาเหมือนกัน  คนที่เป็นหญิงรักหญิงก็อาจจะไม่ได้มีความต่อเนื่องหรือมีแรงที่จะมาสู้กับสิ่งแวดล้อม  หรือสู้กับสังคมมากนัก เพราะว่าปัญหาในชีวิตเยอะ อย่างบาร์เลสเบียนเท่าที่เห็นก็ยังไม่เคยเห็นจริงจัง เท่าที่เห็นอย่างมากก็ทอมดี้ ในไทยไม่แน่ใจว่ามีไหม แต่มันก็เป็นความเสี่ยงที่เราก็เลือกเอง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างนึงที่เราไม่ต้องขาดทุนจนกินเนื้อตัวเอง มันยังได้เงิน ถึงจะนิดเดียว แต่ก็ได้ทำเพื่อ Community ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเรื่องการทำพื้นที่ อาจจะไม่ได้ถึงขั้นคนหลั่งไหลเข้ามา แต่ในแง่ของการทำพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแล้วเราเป็นคนรับความเสี่ยง หมวยคิดว่ามันก็โอเค


โรส: ก็คิดเหมือนกันกับหมวย ก็คิดว่ามันสำเร็จระดับนึง แต่ส่วนตัวไม่ได้มองว่ามันเป็นความเสี่ยงขนาดนั้น เพราะตามที่บอกตั้งแต่แรกจากประสบการณ์หมวย แล้วเราก็มองภาพออกว่ายังไงมันก็ต้องมีคนเข้ามาใช้พื้นที่อะ ตอนที่พึ่งย้ายมาเชียงใหม่ โรสงงว่าทำไมเจอแต่ Sapphic เจอแต่พวกเควียร์ แล้วพวกเขาก็ hangout กันเองทั้งคนไทยแล้วก็ฝรั่ง แล้วก็คิดว่าก็มีหลายอย่างที่ต้องปรับ เช่น จัดการกับผู้ชายตรงเพศยังไง แล้วอย่างบางคืนที่เราจัดเป็น Theme night ที่รู้สึกจริงๆ ว่าคนออกมากัน จริงๆ ก็กังวลว่าคนจะมองว่าเป็นร้านฝรั่ง แบบมีแต่ฝรั่งไหม บางคืนก็ไม่มีคนไทยเลย แต่ก็มีวันวาเลนไทน์ที่เรารู้สึกว่า นี่แหละที่เราต้องการจากร้าน เห็นคนเต็มร้าน เห็นคนจีบกัน 



ชาวต่างชาติที่มักจะแวะเวียนมาใช้พื้นที่



เฟมินิสต้า: อะไรที่ทำให้ชาวต่างชาติมาเยอะกว่าคนไทย


หมวย: คิดว่าน่าจะ Google maps ด้วย แบบหาว่าคนไปที่ไหนกันเวลามาเที่ยว


โรส: ใช่ เราใช้ Google  ตั้งแต่แรก เพราะว่าท่องเที่ยวก็ต้องใช้ Google กัน แล้วเราก็ได้เลสเบี้ยนจากจีน จากเกาหลีเยอะมาก เหมือนตั้งแต่มาคู่แรก คนก็ตามมาจากโพสต์ของเขา แล้วก็คนที่เดินทาง backpacker เขาก็บอกว่าเดินผ่านแล้วเห็นเป็นบาร์ Sapphic ตอนกลางวันปิด เลยกลับมาใหม่ตอนกลางคืน  คนก็มาจากหลายทางแหละ เพื่อนก็ติดโปสเตอร์ในมหาลัยฯ ก็มีหลายทางที่คนเข้ามารู้จักกัน


เฟมินิสต้า: มองอนาคต Sapphic Riot ไว้ยังไงบ้าง ปี - สองปีข้างหน้า หรือว่าสิ่งที่อยากเห็น อยากให้มันเป็น


หมวย : ก็ยังเป็นการอยากให้คนไทยออกมาใช้พื้นที่ให้มากกว่านี้ มาที่ร้านมากกว่านี้ เป็นเรื่องความท้าทายที่ต้องคิดต่อไป ส่วนอนาคต จริงๆตอนนี้ก็รู้สึกว่าทำเต็มที่  ถ้าถึงจุดนึงก็ค่อยคิดว่าจะทำยังไงต่อ


 โรส : ใช่ ประมาณนั้น ค่อยว่ากันเอาตัวเองให้รอดไปวันต่อวันก่อน แต่ว่าตั้งแต่เปิดร้านมันมีคนในชุมชน เข้ามา สนับสนุน โยนไอเดียเข้ามา มีเพื่อนที่เป็นเลสเบี้ยนจากจีนมาขายคอมบูชา (Kombucha) เพื่อนเฟมจากขอนแก่นมาขายเข็มกลัด พี่ปลามาขายหนังสือของเฟมินิสต้า เพื่อนเควียร์จากสิงคโปร์ก็มาเป็น DJ ให้ทุกวันศุกร์ ซึ่งรู้สึกโชคดีในระดับหนึ่งนะที่พอลงมือทำจริงๆมีคนเข้ามาช่วยค่อนข้างเยอะ ไม่ได้ต้องเหนื่อยเปิดเองขนาดนั้น



มุมหนังสือเฟมินิสต์และเกมส์



เฟมินิสต้า : ฝากถึงคนที่จะมา Sapphic Riot มีอะไรจะฝากถึงคนที่กำลังมองหาพื้นที่ปลอดภัย หรือตั้งใจอยากจะมาในฐานะของคนที่จะมาบาร์ Sapphic 


หมวย: เรียนเชิญทุกคน 555 เรียนเชิญทั้งชาว Sapphic และชาว straight ผู้หญิงทุกคนที่อยากเข้ามาที่บาร์ จริงๆแล้วมันอาจจะไม่ได้เป็นเหมือนที่สังคมคิดก็ได้ ลองมาดูก่อนว่าจริงๆแล้วพื้นที่ที่บาร์ Sapphic Riot ของเราอะมันเป็นยังไง ..ก็ยินดีต้อนรับทุกคน ยกเว้นคนกวนตีน 555


โรส: รู้สึกว่าพูดยากมากเลยอะ เพราะไม่อยากพูดผิด คือใครๆก็มาได้ถ้ามีเจตนาที่ดี ไม่เหยียดเพศ ไม่มองว่าอันนี้คือแหล่งท่องเที่ยว พวกเราไม่ได้เป็นความบันเทิง (Entertainment) ให้คนอื่น เพราะว่าบางทีก็มีกลุ่มผู้หญิงต่างชาติเดินเข้ามาถ่ายรูปแล้วก็เดินออกไป เราก็รู้สึกไม่ค่อยดี เราไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวแบบนั้น เราตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของชุมชนจริงๆ เพราะงั้นถ้ามีความตั้งใจที่ดี ก็มากัน




ติดตาม Sapphic Riot ได้ที่










ดู 427 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page