top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า (1) : ผู้หญิงและเด็กภายใต้รัฐในระบอบทุนนิยมชายเป็นใหญ่


ภาพประกอบโดย : สุไลพร ชลวิไล




“ผู้หญิงคือเพศแม่” “แม่ทุกคนรักลูก” “คนที่เข้าใจลูกมากที่สุดคือแม่ที่อุ้มท้องมาเก้าเดือน” "แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง"



หลายคนอาจจะเคยได้ยินวลีเหล่านี้มาก่อนเมื่อพูดถึง ผู้หญิงที่มีลูก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทั้งจากสื่อต่างๆที่อยู่รอบตัว หรือกระทั่งนโยบายจากรัฐที่กระตุ้นให้ผู้หญิงมีลูกเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศนั้นๆ และหากใครยังจำได้ ประเทศไทยเรามีโครงการ “ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามิน แสนวิเศษ" หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “สาวไทยแก้มแดง” ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐพยายามกระตุ้นให้ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มีลูก เพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดน้อย ด้วยการสร้างแรงจูงใจในด้านต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้ผู้หญิงเข้ารับการเสริมธาตุเหล็กและวิตามิน เพื่อให้ร่างกายพร้อมในการมีลูก หรือการรณรงค์ให้ผู้หญิงดูแลร่างกายสุขอนามัยของตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นแม่


นอกจากนี้ในการหาเสียงของพรรคการเมือง โครงการมารดาประชารัฐ ก็ยังถูกนำมาใช้หาเสียงเพื่่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงตัดสินใจมีลูก โดยการสัญญาว่ารัฐจะช่วยจ่ายเงินให้ผู้หญิงและเด็ก เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอด และเลี้ยงดู ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด


แต่กระนั้น เรากลับไม่ค่อยเห็นรัฐไทยพูดถึงผู้หญิงในฐานะของคนที่ทำงาน ผลิตซ้ำทางสังคม (Social Reproduction) หรือการพูดถึงงานดูแลที่มีมูลค่าสักเท่าไหร่ หากแต่เรามักจะได้ยินรัฐไทยโฆษณาว่า แม่เป็นผู้ให้และเสียสละตัวเองเพื่อหน้าที่อันยิ่งใหญ่ วาทกรรมบุญคุณแม่นั้นถูกฉายซ้ำไปมาในวันแม่แห่งชาติ จนกระทั่งผู้หญิงจำนวนมากเชื่ออย่างสุดใจว่าตนเองเกิดมาเพื่อเป็นแม่ของเด็กคนหนึ่งและพร้อมที่จะทำหน้าที่แม่อย่างสุดชีวิต แม้พวกเธอจะต้องเลี้ยงลูกด้วยความยากลำบากขนาดไหนก็ตาม



เมื่อความเป็นแม่ถูกทำให้กลายเป็นธรรมชาติของความเป็นหญิง


ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกบอกถูกสอนว่าเมื่อโตเป็นสาว พวกเธอจะต้องแต่งงานมีครอบครัว และเมื่อมีสามีก็จะต้องดูแลสามี และมีลูก และเมื่อผู้หญิงมีลูก พวกเธอจะต้องอุทิศเวลาดูแลลูกและสามีไปพร้อมๆกัน ในขณะที่สังคมชายเป็นใหญ่กำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับผู้หญิงและผู้ชาย โดยความเชื่อที่ว่า ผู้ชายเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำ เป็นเพศที่ต้องใช้ความกล้าหาญเข้มแข็ง มีหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงนั้นมีธรรมชาติของความอ่อนโยนละเอียดอ่อน ดังนั้นหน้าที่ของพวกเธอคือการทำงานดูแลบ้าน ทำอาหาร เลี้ยงลูก ดูแลสามี


แนวคิดเหล่านี้ถูกหล่อหลอมจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งวาทกรรมผู้หญิงคือเพศแม่กลายมาเป็นวาทกรรมกระแสหลัก และนั่นส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากเชื่อสุดใจว่า เมื่อเป็นแม่คนแล้ว ก็จะต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีที่สุด และเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเธอดูแลลูกๆได้ไม่ดี ความผิดเหล่านั้นก็จะถูกชี้มาที่คนเป็นแม่ ว่าเลี้ยงลูกอย่างไรทำไมลูกน้ำหนักน้อย ลูกพัฒนาการช้า ลูกป่วยบ่อย ลูกเรียนไม่เก่ง ภาระเหล่านี้ตกอยู่ที่ผู้หญิงที่ถูกบอกให้ต้องทำหน้าที่แม่เพราะเป็นธรรมชาติที่ผู้หญิงทุกคนมีติดตัว แต่หากมองในมุมของนักสตรีนิยม คำถามสำคัญคือ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกโดยไม่มีเงื่อนไขนั้น ยุติธรรมต่อพวกเธอหรือไม่ ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการมีลูกนั้น ยังประโยชน์ให้กับรัฐที่ต้องการเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อนำไปพัฒนาประเทศและสังคม ความเป็นแม่ที่ถูกผลักให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงโดยลำพังนั้นกลายเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบที่รัฐมีต่อพลเมืองหรือไม่?



งานดูแลเด็กเป็นงานผลิตซ้ำทางสังคม


งานผลิตซ้ำทางสังคม เป็นกระบวนการหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนค้ำจุนให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถเติบโต มีชีวิตดำรงอยู่ได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นงานดูแลเด็ก งานดูแลผู้สูงอายุ การทำอาหารให้คนในบ้าน งานบ้านต่างๆ การดูแลรักษาชุมชนเพื่อให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนดำรงต่อไปได้ ในแง่นี้คนที่รับภาระหน้าที่ในงานผลิตซ้ำทางสังคมมากที่สุด ส่วนใหญ่คือผู้หญิง แต่เนื่องจากในสังคมที่มีลักษณะแบบชายเป็นใหญ่ งานดูแลเด็กถูกมองว่าเป็นธรรมชาติและหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบโดยลำพัง และภายใต้ระบอบทุนนิยม การทำหน้าที่ผลิตซ้ำทางสังคมไม่ได้ถูกมองว่าเป็นงานที่มีมูลค่า ผู้หญิงในสังคมแบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่จึงไม่เคยได้รับการตอบแทนหรือสนับสนุนในงานดูแลนี้ ด้วยการอ้างเรื่องธรรมชาติของพวกเธอเพื่อผลักภาระไปที่ปัจเจก และในขณะเดียวกัน รัฐที่ใช้วิธีคิดแบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ ก็อ้างว่าอยากให้พวกผู้หญิงมีลูกกันเยอะๆ ด้วยการสนับสนุนโครงการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และสนับสนุนสวัสดิการแบบมีเงื่อนไข ทั้งๆที่ในความเป็นจริง งานดูแลเด็กหนึ่งคนให้เกิดและอยู่รอดจนเติบโตเป็นกำลังแรงงานหรือพลเมืองที่มีคุณภาพของรัฐนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงควรต่อสู้อยู่ลำพัง แต่รัฐจะต้องมีส่วนในการสนับสนุนเพื่อให้ผู้หญิงที่ตัดสินใจมีลูก ได้รับการดูแลในระหว่างที่ทำหน้าที่ในงานผลิตซ้ำทางสังคมนี้ได้อย่างครอบคลุม


งานดูแลเด็กเป็นงานผลิตซ้ำทางสังคมที่สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่งานดูแลเด็กดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ขาดแคลนอาหารหรือโภชนาการที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็ก ประชากรที่เติบโตมาในสังคมก็ย่อมเป็นไปตามคุณภาพของการเลี้ยงดูตั้งแต่ในวัยเด็ก



เมื่อรัฐลอยนวลผลักภาระให้ผู้หญิง


โดยมากแล้ว รัฐที่ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน เพราะตระหนักว่าประชาชนคือคนที่จะมาพัฒนารัฐให้อยู่รอดได้ จะคำนึงถึงนโยบายสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ อาทิเช่น สวัสดิการเพื่อผู้พิการ สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ สวัสดิการทางด้านการศึกษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาล สวัสดิการของแม่และเด็ก แต่ในรัฐแบบระบอบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ มักจะผลักภาระให้กับประชาชนในการดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง หรือหากมีนโยบายสนับสนุนสวัสดิการ ก็มักจะให้เป็นบางส่วนหรือไม่ครอบคลุม และมีเงื่อนไขที่กีดกันหรือทำให้การเข้าถึงการช่วยเหลือต่างๆนั้นเป็นไปได้อย่างยากเย็น


ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด ณ เวลานี้ คือเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ของรัฐไทย ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่กีดกันคนไม่ให้เข้าถึงเงินเยียวยา อาทิเช่น การกำหนดให้ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งเป็นการกีดกันคนที่ไม่มีสัญชาติออกไป การให้กรอกข้อมูลในเว็บไซต์ ซึ่งทำให้คนที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตและขาดแคลนอุปกรณ์ไม่สามารถลงทะเบียนได้ หรือการให้สิทธิลงทะเบียนจำนวนจำกัด ส่งผลให้คนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโรคไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้


เช่นเดียวกับเรื่องของงานผลิตซ้ำทางสังคมที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นงานดูแลคนในบ้านที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก หรืองานบ้านอื่นๆที่ไม่เคยถูกนับว่าเป็นแรงงาน และเมื่อในระบบทุนนิยมเต็มไปด้วยนายทุนที่ขูดรีดแรงงานด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ผู้ชายจำนวนมากที่เป็นแรงงานก็ไม่อาจมีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องออกไปหางานทำนอกบ้านเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวอีกทาง ในขณะที่ก็ต้องดูแลคนที่บ้านทุกคนไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสามี ลูก หรือพ่อแม่ที่แก่ชรา หรือสมาชิกในบ้านที่อาจเป็นผู้พิการหรือผู้ป่วยติดเตียง นั่นหมายความว่าผู้หญิงจะมีภาระมากขึ้นเป็นสองถึงสามเท่าตัวภายใต้รัฐที่ไม่มีสวัสดิการที่ครอบคลุมเพียงพอหรือเป็นรัฐที่มีสวัสดิการอย่างมีเงื่อนไข


และเมื่อผู้หญิงประสบปัญหาในการหารายได้มาดูแลสมาชิกในบ้านได้ไม่เพียงพอ คุณภาพชีวิตของคนในบ้านก็จะตกต่ำไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารสำหรับเด็กแรกเกิดและเด็กปฐมวัยในช่วง 0-6 ปี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับโภชนาการที่ดีเพื่อพัฒนาการของเด็ก

รวมไปจนถึงสภาพจิตใจที่มาจากภาวะเครียดของคนในบ้านไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชายหารายได้เข้าบ้านไม่เพียงพอ ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้ หรือการที่ผู้หญิงไม่สามารถหาเวลาพักผ่อนของตัวเองได้เพียงพอ เนื่องจากต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ก็อาจส่งผลต่อสภาพอารมณ์ที่ต้องแบกรับจนทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจและความป่วยไข้ทางกายร่วมด้วยได้


ดังนั้นรัฐที่ลอยนวลผลักภาระให้กับผู้หญิงในการดูแลเด็ก รัฐที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับเด็กถ้วนหน้า จึงส่งผลต่อคุณภาพของประชากรและส่งผลต่อสังคมในระยะยาวและในหลากหลายมิติ เราทุกคนจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องของสวัสดิการของรัฐแบบถ้วนหน้า สวัสดิการที่รัฐจะจัดสรรให้กับงานดูแลเด็ก โดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือเกณฑ์ที่กีดกันการเข้าถึงสวัสดิการ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไปว่า อะไรคือ สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และสิ่งนี้จะช่วยยกระดับชีวิตผู้หญิงและเด็กได้อย่างไร




ร่วมลงชื่อสนับสนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าได้ที่ เรียกร้องรัฐให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าแก่เด็กเล็กทุกคน 0-6ปี เดือนละ 600บาท


หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญผลักดันสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ดูเพิ่มเติมที่ the read


บทความประกอบ



“มารดาประชารัฐ” เริ่มแน่เดือน ม.ค. ปีหน้า “รายได้น้อย” ได้สิทธิ์ก่อน https://workpointtoday.com/benefits190730/


เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า : จุดเริ่มต้นของการคุ้มครองทางสังคมทั้งระบบ https://tdri.or.th/2018/06/supporting-child2/






ดู 300 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page