top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Review : คิมจียอง ผู้หญิงที่ไร้องค์ประธาน




ดิฉันได้รับหนังสือคิมจียองเกิดปี 82 ฉบับแปลภาษาไทย จากลูกศิษย์ท่านหนึ่งในงานปีใหม่ของภาควิชาฯเมื่อหลายวันก่อน ลูกศิษย์กำชับให้เขียนรีวิวให้อ่านหน่อย แถมบอกอีกว่า กว่าที่เขาจะอ่านจนจบ รู้สึกเหมือนถูกโบยตีตลอดทั้งเล่ม ดิฉันไม่ทันได้ถามว่า อะไรในตัวเขาที่ถูกโบยตี? สำนึกความเป็นชาย? ตัวตนในโลกของเพศชาย? หรือความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับโลกของผู้หญิง?


ลูกศิษย์น่าจะไม่ใช่ผู้ชายคนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น เพราะเมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ในปี 2016 ปฏิกิริยาส่วนใหญ่จากผู้ชายในสังคมเกาหลี ร้อนระอุและคุกรุ่นไปด้วยอารมณ์เคืองแค้น ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นปฏิบัติการที่รุนแรงตามมา โดยเฉพาะเมื่อดาราหรือนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง แสดงท่าทีสนับสนุนหนังสือดังกล่าว แฟนคลับชายพากันเผารูป และทิ้งสินค้าต่างๆ ของนักร้องสาว Irene จากวง K-pop Red Velvet หลังจากที่เธอกล่าวว่าได้อ่านวรรณกรรมเรื่อง คิมจียอง เกิดปี 1982


เช่นเดียวกับ Sooyoung นักร้องจากวง Girls’ Generation ที่ถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์ หลังจากที่เธอพูดถึงอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ที่มีต่อเรียลลิตี้โชว์ของเธอ และเมื่อหนังสือได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ กระแสการต่อต้านจากเพศชายในเกาหลี ก็ยิ่งแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง นักแสดงและนักร้องอย่าง Suzy เมื่อโพสต์ Instagram โปสเตอร์ของภาพยนต์ดังกล่าว พร้อมกับแคปชั่น “เรื่องของพวกเรา” ก็ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากแฟนคลับชาย


ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มผู้ชายกว่า 300 คนยังร่วมกันทำจดหมายประท้วงไปยังประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เพื่อให้แบนภาพยนต์ดังกล่าว ทั้งยังรวมตัวกันกดเรทติ้งของหนังให้ต่ำเรี่ยดิน แต่ถึงที่สุดก็ไม่อาจสู้กับพลังเทคะแนนของผู้หญิงในประเทศได้


สำหรับผู้ชายเกาหลีแล้ว นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ “องค์ประธานอันเบ็ดเสร็จ (Absolute Subject)” ของพวกเขา ที่ถูกเชื่อมาอย่างยาวนานว่าเป็นตัวกำหนด และกำกับแก่นแท้และแกนกลางที่สร้างโลกทางสังคมและวัฒนธรรมของเกาหลี ถูกนำออกมาโบยตีอย่างไม่เกรงใจในพื้นที่สาธารณะ


สำหรับดิฉันแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นการเปลือยโลกที่ถูกสร้างขึ้นด้วยภววิทยาของเพศชาย อันเป็นโลกที่เพศหญิง มีฐานะเพียง “ความเป็นอื่นอันเบ็ดเสร็จ "absolute Other” (de Beauvoir 1949) และโดยที่ตลอดทั้งชีวิตของพวกเธอพยายามตะเกียกตะกาย ที่จะหาที่หาทางให้กับตนเอง ในความสัมพันธ์กับโลกใบดังกล่าว การเกิดมาของคิมจียอง (และการไม่ได้เกิดมาของน้องสาวในครรภ์ของแม่ของเธอ) ชีวิตในครอบครัว โรงเรียน ในมหาวิทยาลัย การทำงาน การแต่งงาน การตัดสินใจที่จะมีลูก การออกจากงาน ไปจนถึงการกลายสภาพเป็นแม่บ้าน ไม่อาจที่จะมีความหมายอย่างอิสระด้วยได้ตัวของมันเอง หากทว่าถูกกำหนดให้ต้องนิยามภายในความสัมพันธ์กับเพศชายเสมอ


ตัวตนของเพศหญิงของคิมจียอง เช่นเดียวกับแม่ของเธอ และยายของเธอในรุ่นก่อนหน้า จึงไม่ใช่บุคคล (non-person), ไม่เคยเป็นองค์ประธานของตนเอง (non-subject), และไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนของตนเอง (non-agent) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นเพียงแต่ร่างของมนุษย์ที่ไม่อาจมีเจตน์จำนงค์ของตนเองเท่านั้น อุปมาที่เธอมองตนเอง-- เป็นก้อนหินเล็กที่ถ่วงทับชายกระโปรงของแม่ของเธอ หรือที่คนภายนอกมองเธอ--เป็นหมากฝรั่งที่ถูกเคี้ยวแล้วคายทิ้ง หรือเป็นปลิงที่ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองนอกจากสูบเลือดจากสามี สะท้อนการดำรงอยู่ของภาวะที่ถูกทำให้กลายเป็นอบุคคลของเพศหญิงได้เป็นอย่างดี


ตลอดชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ สิ่งที่พวกเธอฝ่าฟัน จึงมิใช่การพยายามไปให้ถึง และบรรลุ self ที่เป็นอิสระ และมีเสรีภาพ เพราะตัวตนชนิดนี้ ไม่ได้มีไว้สำหรับเพศหญิง หากแต่เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้ความเป็นองค์ประธานของเพศชาย สามารถที่จะบรรลุถึงความสมบูรณ์และเบ็ดเสร็จ และในการสร้างโลกของเพศชายดังกล่าว ก็เพื่อที่เพศหญิงจะสามารถนำตัวมาเกาะเกี่ยวและสัมพันธ์ด้วยได้ และภายใต้การเกาะเกี่ยวนี้เองที่เพศหญิงจะสามารถถูกค้นพบและมองเห็นได้ ถูกตระหนักถึงและยอมรับในการดำรงอยู่ แม่และป้าของคิมจียอง ในฐานะที่เป็นลูกสาวของครอบครัว จึงเรียนจบเพียงชั้นประถม เพื่อเข้ากรุงโซลทำงานเป็นแรงงานในโรงงาน ทำหน้าที่ส่งเสียให้กับพี่ชายคนโตได้เรียนจนจบแพทย์ พี่ชายคนรองได้เป็นตำรวจ ในขณะที่น้องชายคนสุดท้องได้เป็นครู ทั้งนี้ ภายใต้อุดมการณ์ของครอบครัวแล้ว สถานะและเกียรติของครอบครัว จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ ตัวตนที่มีเกียรติและสถานะของเพศชายได้รับการสถาปนาขึ้นเท่านั้น


สิ่งที่น่าสนใจคือ ในท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลีในหลายทศวรรษที่ผ่านมา กลับไม่ได้ทำให้ตัวตนของเพศหญิงในเกาหลี สามารถที่จะมีเจตน์จำนงค์ของตนเองขึ้นมาได้ ผู้หญิงในยุคของคิมจียอง แม้จะต่างจากรุ่นแม่และย่าของเธอ เพราะได้รับโอกาสที่จะมีสถานะทางเศรษฐกิจ และสังคมนอกพื้นที่ภายในบ้านได้ แต่สถานะดังกล่าวกลับยังคงบรรจุอยู่ในตัวตนที่ไร้เสียง ปราศจากองค์ประธาน ไม่สามารถตอบโต้ เปล่งวาจาในสิ่งที่ตนเองคิด แม้ในสภาวะคับขันหรือถูกรังแก ในการเผชิญกับการคุกคามทางเพศของนักเรียนชายแปลกหน้าในโรงเรียนพิเศษที่ตามเธอมาถึงบ้าน การถูกดูถูกทางเพศจากรุ่นพี่มหาวิทยาลัย การเหยียดเพศของคนขับแท็กซี่ การถูกบังคับให้ดื่มเหล้าทั้งที่ไม่เต็มใจของลูกค้าบริษัท ฯลฯ เราจะพบว่า คิมจียองไม่มีแม้กระทั่งอำนาจที่จะเปล่งเสียง แสดงสิ่งที่ตนรู้สึกออกมาภายนอกร่างกายของตัวเอง


หากเสียงและการเปล่งเสียง (Voice) คือการกระทำที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดงถึงความเป็นองค์ประธานที่มีอำนาจในการเลือก และในการเป็นตัวแทนแห่งตนแล้ว เสียงพร่ำบ่นโต้ตอบที่ดังอื้ออึงอยู่เพียงในหัวของคิมจียองนั้น เป็นได้ก็แต่เพียงเสียงที่ปราศจากองค์ประธานและไร้ซึ่งอำนาจ (Noise) ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ของตำแหน่งแห่งที่ของเพศหญิงและเพศวิถีของพวกเธอที่ถูกตรึงไว้กับความเงียบมาเป็นเวลาช้านาน

ความเงียบดังกล่าว ทำหน้าที่สำคัญทั้งในการจัดระเบียบและทั้งรักษาเส้นแบ่งโลกทางเพศระหว่างชายและหญิง สำหรับผู้หญิงแล้ว การเปล่งเสียงขึ้นทำลายความเงียบ จึงเป็นการท้าทายระเบียบทางสังคม เท่าๆกับทลายเส้นแบ่งระหว่างตัวตนและความเป็นอื่นในภววิทยาทางเพศ การกระทำการดังกล่าว จึงไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และบ่อยครั้งมักต้องเผชิญกับการลงโทษ หรือตราหน้าว่าสร้างปัญหาให้กับสังคมอันสงบสุข เมื่อกลุ่มนักเรียนหญิงในโรงเรียนที่คิมจียองเรียนอยู่ รวมตัวกันจับคนโรคจิต ที่มักยืนอวดของสงวนให้นักเรียนหญิงได้ชมเป็นประจำส่งตำรวจ หลังจากที่โรงเรียนเพิกเฉยและไม่ทำอะไร สิ่งที่พวกเธอได้รับ แทนที่จะเป็นคำชมเชยหรือขอบคุณจากโรงเรียน กลับกลายเป็นการถูกตราหน้าจากครูว่าพวกเธอนั้นเป็น “ความขายหน้า” ของโรงเรียน


ภาวะการทอดทิ้งเสียงที่ปราศจากองค์ประธาน และสวมเอาเสียงของมารดาและเพื่อนรุ่นพี่ที่เสียชีวิตไปแล้วเข้าเป็นของตนเองของคิมจียอง ในแง่นี้จึงสะท้อนการละทิ้งหรือขจัดตัวตนที่ไร้ความหมาย เป็นอื่น และปราศจากชีวิตที่มีเจตน์จำนง (Abjection) ไปสู่ตัวตนที่มีองค์ประธานและอำนาจในการแสดงอารมณ์และความรู้สึก หากทว่าภาวการณ์ดังกล่าว กลับได้ท้าทายระเบียบทางศีลธรรมภายใต้อุดมการณ์ครอบครัวอันเข้มงวดที่มีลำดับชั้นลงโดยสิ้นเชิง (ลูกสะใภ้ที่โต้เถียงกับแม่ผัว และภรรยาที่สวนตอบสามี) และทั้งยังทำลายความหมายที่แน่นอนตายตัว ที่จัดวางตำแหน่งแห่งที่ระหว่างตัวตนกับความเป็นอื่น ระหว่างองค์ประธานกับความเป็นเพศหญิงลง เสียงของแม่และเพื่อนรุ่นพี่ในร่างของคิมจียอง จึงถูกมองว่าเป็น “ภาวะวิปริต (Perversion)” ที่คุกคามต่อโลกทางเพศที่ดำรงอยู่ ที่จำเป็นต้องได้รับการ “บำบัด” และรักษา เพื่อนำตัวตนเดิมที่ “ปกติ” ของเธอ กลับสู่โลกที่สงบสุขอีกครั้ง


โลกที่คิมจียองมีชีวิตอยู่นั้น อาจสะท้อนประสบการณ์เฉพาะของสังคมเกาหลีใต้ ที่จารีตและอุดมการณ์แบบขงจื๊อ ซึ่งทำงานเข้มข้นเสียยิ่งกว่าสังคมต้นกำเนิด ได้หยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมและแผ่ขยายไปยังองคาพยพต่างๆของสังคมอย่างเหนียวแน่น นับตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ไปจนชั้นองค์กรธุรกิจ และสถาบันการเมือง ที่ดำเนินอย่างสืบเนื่องมา ข้ามกาล ข้ามเวลา สิ่งที่น่าสนใจคือ การปฏิรูปสังคมและการเมืองในเกาหลีใต้ ที่ได้ให้เครื่องมือในการเปิดพื้นที่และเสริมสร้างอำนาจแก่เพศหญิงภายในปริมณฑลในบ้านและในพื้นที่สาธารณะในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทรวงกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว การล้มเลิกระบบหัวหน้าครอบครัวที่เป็นเพศชายและให้สิทธิลูกในการใช้สกุลของแม่ การมีกฎหมายว่าด้วยโอกาสจ้างงานที่เท่าเทียมและสนับสนุนสมดุลยภาพระหว่างชีวิตงาน-ครอบครัว การให้สิทธิในการลาเพื่อดูแลบุตรได้นานหนึ่งปีแก่พ่อหรือแม่ ฯลฯ กลับไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง จิตสำนึก และอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ทั้งในระดับครอบครัวและในพื้นที่งานแต่อย่างใด ตัวเลขของผู้หญิงที่เลือกลาออกจากงานเมื่อตั้งครรภ์ ยังคงไต่อันดับที่สูง และเป็นอัตราที่ผกผันกับเงินเดือนที่ผู้หญิงได้รับซึ่งต่ำกว่าผู้ชายเสมอมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ยังผลให้พื้นที่เศรษฐกิจในสังคมถูกผูกขาดโดยเพศชายเรื่อยมาโดยปริยาย


ในขณะเดียวกันทุนนิยมแบบเกาหลีก็จับมืออย่างแนบแน่นและไม่เคอะเขินกับจารีตปฏิบัติของชายเป็นใหญ่แบบขงจื๊อ ขูดรีดแรงงานหญิง ผ่านอุดมการณ์และตรรกะทางเพศ ที่สามารถที่จะตัดข้ามความเห็นอกเห็นใจส่วนบุคคลที่ผู้ชายมีต่อเพศหญิงได้อย่างง่ายดาย ในแง่นี้ แม้ว่าจิตแพทย์ที่ทำการรักษาคิมจียองจะเข้าอกเข้าใจสภาวะการณ์ที่เธอเป็นอยู่เป็นอย่างดี เพราะประสบการณ์ความแปลกแยกดังกล่าว ไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่ภรรยาของเขาต้องประสบแต่อย่างใด แต่ความเห็นใจส่วนตัวนี้ ก็สามารถที่จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สลักสำคัญอะไร หรือปราศจากความหมายที่เกี่ยวข้องใดๆไปในทันที พลันที่เพศชายลุกขึ้นสวมบทบาทของผู้กำหนดความเป็นไปเชิงโครงสร้างของโลกที่เขาเองนั้นเป็นองค์ประธาน ไม่ว่าบทบาทนั้นจะเป็นนายทุน ผู้บริหารองค์กร หัวหน้างาน หรือหัวหน้าครอบครัวก็ตามที


ดิฉันเชื่อว่าภววิทยาทางเพศที่คิมจียองดำรงอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่แต่เพียงในโลกชายเป็นใหญ่แบบขงจื๊อเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประสบการณ์ร่วมข้ามวัฒนธรรม ข้ามภาษา และข้ามบริบททางสังคม ที่ผู้หญิงต่างๆทั่วโลกต่างพานพบในชีวิต เข้าใจมันเป็นอย่างดี และอย่างลึกซึ้ง

หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลใน 18 ภาษาและวางจำหน่ายทั่วโลก นักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรมอเมริกัน Elif Batuman เจ้าของงานเขียนเรื่อง The Idiot เรียกชีวิตคิมจียองว่าเป็นทั้งเรื่องธรรมดาสามัญและทั้งฝันร้ายไปพร้อมๆกัน ความย้อนแย้งดังกล่าวทำให้งานจินตกรรมชิ้นนี้มีความสำคัญและทรงพลัง และในแง่นี้ วรรณกรรมชิ้นนี้จึงเป็นงานที่มีนัยของเฟมินิสม์อย่างมิต้องสงสัย แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อหันกลับมาดูความฝันของผู้เขียนโชนัมจูแล้ว เรากลับพบว่า ความฝันของเธอช่างสามัญและธรรมดายิ่งนัก สำหรับผู้หญิงที่เป็นทั้งภรรยาและแม่ของลูกสาววัยประถม ผู้ใฝ่ฝันอยากจะโตขึ้นเป็นนักบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ และนักเขียน โชนัมจู เพียงต้องการอยากจะเห็นเหล่าลูกสาวทุกคนบนโลก สามารถจะมีความฝันที่ใหญ่ยิ่งกว่า สูงยิ่งกว่า และมหาศาลยิ่งกว่า ยุคสมัยที่เธอมีชีวิตอยู่ เท่านั้น

ในโลกที่เพศชายเป็นผู้กำหนดตัวเลือกและโอกาสให้กับเสียงและตัวตนของเพศหญิงแล้ว ความฝันเพียงเท่านี้ ก็นับว่ายิ่งใหญ่เหลือเกินแล้ว







ดู 747 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page