top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

MAID: ความรัก ความสัมพันธ์และความรุนแรงภายในครอบครัว



(ภาพประกอบจาก Netflix)


***อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของละครชุดนี้




MAID เป็นละครชุดที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่ง ที่ชื่อ อเล็กซานดรา หรือ อเล็กซ์ (Alexandra/Alex)

ที่พยายามจะสร้าง ‘สภาพแวดล้อมในการมีชีวิตที่ดีให้กับลูกสาว หรือ มาเดลีน/แมดดี้ (Madeleine/‘Maddy’)’

โดยพยายามจะพาลูกสาวออกจากสภาพแวดล้อมของความรุนแรงในครอบครัว


ละครเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ละครกระแสหลักและอาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมเท่ากับหนักรักโรแมนติกของเกาหลี แต่ละครเรื่องนี้ได้รับคะแนนตอบรับที่ดีอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะละครเรื่องนี้เขียนมาจากความทรงจำและประสบการณ์จริงของ สเตฟานี่ แลนด์ (Stephanie Land) ผู้ซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและทำงานเป็นแม่บ้านเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและลูกสาวอยู่นานหลายปี จนเรียนจบและได้ทำงานเป็นนักเขียนในที่สุด และแม้ละครเรื่องนี้จะดูเหมือนเป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอ แต่ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้หญิงหลายคนจากทั่วทุกมุมโลก ละครชุดเรื่องนี้จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่มันยังได้สะท้อนภาพส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในการมีชีวิตคู่และความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นจริงในทุกสังคม


ละครเรื่องนี้ได้สื่อสารประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โดยที่ไม่ได้มีการ ‘ฉายภาพซ้ำ’ หรือ ‘ผลิตซ้ำ’ ความเข้าใจเดิมที่ว่า ความรุนแรงภายในครอบครัว คือ การกระทำความรุนแรงทางกาย หรือ การตบตีที่โจ่งแจ้ง รอยแผลบนใบหน้าหรือเนื้อตัวร่างกายที่บอบช้ำ แต่ละครต้องการจะสื่อสารว่าความรุนแรงในครอบครัวอาจจะฝังรากลึกมากกว่านั้น และไม่สามารถเห็นได้อย่างโจ่งแจ้งตามเนื้อตัวร่างกายเหมือนที่เราเข้าใจอีกต่อไป ตลอดทั้งเรื่อง สิ่งที่ละครต้องการจะนำเสนอ คือ ความรุนแรงทางด้านอารมณ์/จิตใจ (emotional abuse) ที่ผู้หญิงต้องเผชิญซ้ำซากจากการใช้คำพูดที่รุนแรงในชีวิตประจำวัน การข่มขู่ การนอกใจและกดเธอไว้ในฐานะเบี้ยล่างทางสังคม การตัดขาดพวกเธอออกจาก ‘พื้นที่ทางอำนาจทั้งหมด’ และต้องพึ่งพิงผู้ชายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ สถานะทางการเงิน หรือแม้แต่การตัดสินใจในด้านต่างๆ ผู้หญิงต้องอยู่กับความไม่มั่นคงทางจิตใจและความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ผู้ชาย ที่เธอสร้างครอบครัวด้วย วันดีคืนดีจะใช้คำพูดที่หยาบคาย ทำร้ายร่างกาย พูดจาดูถูกดูแคลนและกดเธอให้เป็นเบี้ยล่างอีกครั้ง และในท้ายที่สุดแล้ว การเผชิญความรุนแรงทางด้านจิตใจซ้ำซากอาจจะทำให้ผู้หญิงลืมไปแล้วว่า ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของตัวเองเป็นเช่นไร ‘ความคิดและความฝัน’ ในชีวิตคืออะไร


ถึงแม้ละครเรื่องนี้จะใช้ตัวเอกของเรื่อง หรือ อเล็กซ์ เป็นตัวเดินเรื่อง แต่เป็นการเดินเรื่องที่ไปเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้หญิงหลายคนที่ผ่านประสบการณ์ของความรุนแรงในครอบครัวที่มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป และได้ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ หรือ ครอบครัวที่มีความหลากหลาย โดยเชื่อมโยงอยู่กับพื้นที่ ‘บ้าน’ ที่เธอต้องเข้าไปทำงานรับจ้างทำความสะอาดเพื่อที่จะได้มีชีวิตรอดในแต่ละวัน อเล็กซ์ซึ่งรับทำงานเป็น ‘แม่บ้าน (maid)’

เก็บกวาดเช็ดถู ล้างห้องน้ำ จัดของใช้ภายในบ้าน ทำความสะอาดครัวและตู้เย็น จึงได้เข้าไปรับรู้ถึงความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ และพบว่า พื้นที่ภายนอกที่สวยหรูของแต่ละ ‘บ้าน’ ล้วนซ่อน ‘ความลับ’ ของความสัมพันธ์ในชีวิตจริง

เอาไว้ข้างใน และไม่ว่า ‘บ้าน’ จะสกปรกโสโครกขนาดไหน เธอก็ต้องทำงานนี้เพื่อความอยู่รอดและทำให้ ‘บ้าน’

กลับมาน่าอยู่อีกครั้ง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งเดียวกันกับที่เธอ (และผู้หญิงคนอื่นๆ) ต้องทำในฐานะ ‘แม่บ้าน (housewife)/เมีย’ เพียงแต่ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนในรูปตัวเงินที่ชัดเจนเท่ากับระบบการจ้างงานที่จ่ายให้เธอเป็นรายชั่วโมง (แม้จะเป็นงานที่ผลิตซ้ำบทบาททางเพศที่กดขี่การใช้แรงงานผู้หญิงอย่างมากก็ตาม)


ผู้เขียนชอบการดำเนินเรื่องที่ไม่ได้ทำให้ตัวเอกของเรื่อง หรือ อเล็กซ์ ดูเป็น ‘เหยื่อ’ (victim) จนสุดโต่ง แต่พยายามจะเสนอด้านที่เป็นผู้กระทำการ (agency) ที่ก็ไม่ได้สุดโต่งด้วยเช่นกัน แต่เป็นผู้กระทำการที่พยายามจะมองหาเส้นทางไปของชีวิตแม้จะมีข้อจำกัดที่มากมายรายล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย ระบบความช่วยเหลือของรัฐ หรือการมองหาความช่วยเหลือจากครอบครัว เครือญาติและเพื่อน โดยที่ตัวเอกของเรื่องต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ผิดหวังบ้าง โดนโกงบ้าง โดนหักหลังบ้าง ผิดพลาดซ้ำๆซากๆ บ้าง ชีวิตของเธอจึงเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็คือความซับซ้อนในชีวิตจริงของมนุษย์


ในช่วงครึ่งแรกของละคร (ตอนที่ 1- 6) ที่ดูเหมือนว่าชีวิตของเธอในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวและลูกสาวกำลังจะไปได้ดี

อดีตสามีก็พยายามทำดีและกลับเข้ามาในชีวิตเธออีกครั้ง จนเธอถลำตัวเองกลับเข้าไปอยู่ในวังวนเดิมเหมือนตอนเริ่มเรื่องในครั้งแรก ซึ่งก็เป็นเหมือนดังที่ เดนิส (Denise) ผู้ดูแล‘ที่พักพิงสำหรับผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงภายในครอบครัว’ (the domestic violence shelter) บอกกับเธอไว้ว่า


ผู้หญิงบางคน ‘ต้องการเวลา’ ในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะกลับไปกลับมาระหว่าง ‘บ้าน’ (home) และ ‘ที่พักพิง’ (the domestic violence shelter) ถึงสามครั้งสามครา หรืออาจจะมากกว่านั้น จนกว่าพวกเธอจะตัดสินใจออกมาจากความสัมพันธ์ที่แย่ๆ (unhealthy relationship) หรือความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) ได้ หรือ ออกมาจากวาทกรรม ‘ความรัก’ และ ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ-พ่อ แม่ ลูก’ ได้ด้วยตัวเอง และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีใครจะไปตัดสินใจแทนพวกเธอได้ ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อไหร่ที่พวกเธอ ‘พร้อม’ ที่จะเดินออกมาได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเธอต้องการคือ ‘พื้นที่ที่ปลอดภัย’ ที่สามารถพึ่งพิงได้ยามที่พวกเธอต้องการ

ผู้หญิงคนอื่นๆ (ที่ต่างสถานะทางสังคมทั้งในด้านชนชั้น อาชีพ สีผิว ชาติพันธุ์ และเพศวิถี) ที่อยู่ในละคร จึงอยู่ในฐานะผู้คอยให้การสนับสนุน ที่ไม่ได้บีบบังคับว่า อเล็กซ์ ต้องทำอะไร ไม่ได้บอกว่าต้องแก้แค้นหรือใช้ความรุนแรงตอบโต้ (เหมือนเช่นละครไทยบางเรื่อง) ไม่ได้ตัดสินว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ แต่ให้ อเล็กซ์ เป็นคนค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ผิดพลาดบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง แล้วพวกเธอก็คอยช่วยประคับประคองให้ อเล็กซ์ ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง จนสุดท้ายแล้ว

อเล็กซ์ เลือกที่จะมีชีวิตใหม่ผ่านการเรียนต่อเพื่อเป็นนักเขียนและหาสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับลูกสาวที่เมืองอื่นแทน โดยที่เธอเองก็ไม่ได้มองหาผู้ชายคนใหม่เข้ามาเป็นที่พึ่งพิงแต่อย่างใด ซึ่งตรงกันข้ามกับ พอลล่า (Paula) แม่ของเธอ (ผู้หญิงอีกรุ่นหนึ่ง) ซึ่งผ่านความรุนแรงภายในครอบครัวตั้งแต่ อเล็กซ์ ยังเป็นเด็ก แต่ยังพยายามมองหาความสัมพันธ์กับผู้ชายคนใหม่ไปเรื่อยๆ และต้องเผชิญกับการถูกหลอกและผิดหวังซ้ำซากจนสูญสิ้นทุกอย่าง แม้กระทัjงบ้านที่เป็นมรดกของครอบครัวและต้องกลายเป็นผู้สูงอายุที่ต้องไร้บ้านไปในที่สุด พอลล่า คือ ภาพอีกด้านของผู้หญิงที่เผชิญกับความบอบช้ำทางด้านจิตใจซ้ำๆ จนเกิดสภาวะความไม่มั่นคงทางด้านอารมณ์ และถูกตัดสินจากคนอื่นว่า มีสภาวะทางจิตที่ ‘ไม่ปกติ’ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย จนลืมไปว่า เธอถูกกระทำผ่านการมีชีวิตคู่กับผู้ชายแต่ละคนอย่างไร


ผู้เขียนพบว่า เนื้อเรื่องในละครเรื่องนี้มีความใกล้เคียงกับชีวิตจริงของผู้หญิงไทยหลายคนที่ผู้เขียนรู้จักผ่านจากการทำงานและจากความความสัมพันธ์ส่วนตัว และหนึ่งในผู้หญิงทั้งหมดนั้นก็คือ แม่ของผู้เขียนเอง ความรุนแรงภายในครอบครัวเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ทั้งความรุนแรงทางกายและทางจิตใจ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ เป็นเรื่องที่บางครั้งก็ถูกปิดซ่อนจากคนข้างนอก และแม่/ผู้หญิงก็คือคนที่ต้องถูกสังคมตัดสินอยู่ตลอดเวลาว่า ‘บกพร่องในหน้าที่เมีย’ จึงต้องถูก ‘สั่งสอนด้วยสามีทั้งทางร่างกายและวาจา’ ความรุนแรงภายในครอบครัว

มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาในพื้นที่ส่วนตัวและเป็นปัญหาส่วนบุคคล มากกว่าจะถูกมองว่าเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างทางสังคม หากผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายโดยสามีซ้ำๆ ทั้งทางกายหรือทางวาจา โดยไม่มีครอบครัว เครือญาติ ชุมชน ตำรวจ กฎหมายหรือระบบความช่วยเหลือใดๆ มาปกป้องคุ้มครอง (เหมือนเช่นที่ตัวเอกของเรื่องได้รับ) ความรุนแรงเหล่านี้จะถูกอนุญาตให้ดำเนินต่อเนื่องต่อไปและเพิ่มระดับความรุนแรงต่อไปเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไขได้อีกต่อไปและจะกลายเป็นวังวนของความรุนแรงต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด (เหมือนเช่น กรณีหมอนิ่มและเอ็กซ์ จักรกฤษณ์)


และไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่ต้องทนอยู่กับความรุนแรงในพื้นที่ครอบครัวเท่านั้น แต่เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้ที่รับผลกระทบทางด้านจิตใจเช่นเดียวกับ Barefoot Billy (ในตอนที่ 5 – Thief) ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าเขาได้รับความรุนแรงทางด้านร่างกายและจิตใจตั้งแต่เป็นเด็กด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่ง Sean Boyd (อดีตสามีของ

อเล็กซ์) ก็ชอบอ้างความรุนแรงในครอบครัวในวัยเด็กของเขาเพื่อนำมาเป็นข้อแก้ตัวให้กับการกระทำของตัวเอง

แต่ อเล็กซ์ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเด็กที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัวด้วยเช่นกันกลับตีความสิ่งเหล่านี้ต่างออกไป และไม่ได้ใช้ประสบการณ์เหล่านี้เป็นข้ออ้างในการกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ เธอกลับพยายามสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดีให้กับลูกสาวและพาลูกสาวออกมาจากพื้นที่ของความรุนแรงเหล่านั้น และนี่อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่ละครพยายามจะทิ้งท้ายไว้ให้กับคนดูและคนที่เคยประสบกับความรุนแรงภายในครอบครัวด้วยเช่นกัน





ดู 447 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page