top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Review : Romanticizing domestic violence ในมิวสิควิดีโอเพลง "รักให้ตาย"






ข้าพเจ้ารักน้องแพ็ทวง Klear มาก เพราะน้องแพ็ทเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่แต่งเพลงเก่งและเสียงเพราะมากเท่านั้น ในเพลงล่าสุด เห็นว่าเป็นการมีวุฒิภาวะในทางความรักไปอีกสเต็ปหนึ่ง เพราะน้องแพ็ทแยกให้เห็นความรักที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกกับการใช้ชีวิตจริงออกจากกันด้วยคำอธิบายของตนเอง เช่นบอกว่า


"รักให้ตายก็รับไม่ได้อีกแล้ว"


มิวสิควิดิโอเพลงนี้มีคนดูแล้วถึง 19 ล้านวิว คนทำตีความเพลงออกมาเป็นประเด็นการที่ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายโดยคนรัก ตามธีมของเพลงที่ว่า


"ยังรักอยู่ไหม ยังรักอยู่แล้ว ผ่านมาเท่าไรก็ยังร้องไห้อย่างเดิม แต่มันเจ็บเกินจะโดนอีกครั้ง วันนี้ต้องฝืนใจ"


ตัวข้าพเจ้าเองเมื่อฟังแต่เพลงโดยยังไม่ดูภาพประกอบ ไม่ได้คิดเลยว่าสิ่งที่ผู้หญิงในเพลงโดนกระทำจะเป็นการทำร้ายร่างกาย แต่เหมือนเป็นการถูกทำร้ายจิตใจและอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า


ภาพรวมของมิวสิควิดิโอ เป็นโทนสีเศร้าๆ หม่นๆ ของความอกหักแบบโรแมนติก มีฉากให้ดอกกุหลาบ กุหลาบแห้งในแจกัน มีภาพของน้ำตานางเอกที่ไหลพราก มีฉากการยืนง้อขอคืนดีหน้าคาเฟ่เก๋ๆ ฯลฯ


แต่เมื่อดูเนื้อหาแต่ละฉากในรายละเอียดจะเห็นความโหดเหี้ยมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีทั้งบาดแผลและรอยช้ำบนร่างกายตรงโน้นตรงนี้ และคราบเลือดที่อยู่ทั่วไปในบ้านและบนกำปั้นของผู้ชาย ความขัดกันของภาพที่นำเสนอกับโทนที่นำเสนอนับว่าสั่นสะเทือนความรู้สึกอย่างมากเมื่อดู


จริงอยู่เรื่องความรุนแรงในครอบครัวถูกนำเสนอในความเป็นดราม่าเสมอในหนังและเพลง อย่างเรื่อง Sleeping with the Enemy (1991) ที่จูเลีย โรเบิร์ตเล่นเป็นนางเอก Tracy Chapman ก็เคยร้องเพลง Last Night I Heard the Screaming เอาไว้เมื่อนานมาแล้ว


แต่การทำให้เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของความรักที่โรแมนติกนี่ก็เพิ่งเคยเห็นในพ.ศ. นี้ เลยไม่รู้ว่าผู้กำกับเพลงนี้คิดไม่ซับซ้อน ไม่รู้ปัญหาจริงๆ หรือตั้งใจให้เพลงกระทบความรู้สึกคนดูแบบย้อนแย้ง และอย่างเลือดเย็น

จากประสบการณ์ของข้าพเจ้า ความรุนแรงต่อผู้หญิงมีแง่มุมที่มากกว่า "รักให้ตายก็คงไม่ไหว" อยู่มาก ผู้หญิงที่ข้าพเจ้าทำงานด้วยคนหนึ่ง ปัจจุบันเป็นแกนนำเฝ้าระวังความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงในหมู่บ้านก็เคยถูกสามีซ้อมมาก่อน หึงหวงไม่ให้ไปไหน ไปซื้อผักชีก็ไม่ได้ เงินก็ไม่ให้ใช้ ติดยาติดเหล้า เวลาเมาแล้วจะซ้อมทุกที ผ่านมาหลายปี จนวันหนึ่งโดนซ้อมหนักมาก จึงคิดได้ว่าถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไป กูคงตายแน่ ก็เลยวิ่งออกจากบ้านมาแจ้งตำรวจเลย จากนั้นก็ไม่ได้กลับไปอยู่กับผัวคนนั้นอีกเลย


ในสังคมชนบท เพื่อนบ้านและผู้นำหมู่บ้านจะคิดว่าเรื่องผัวเมียตีกันเป็นเรื่องครอบครัว แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้าน ก็มักจะใช้วิธีไกล่เกลี่ย ประนีประนอม เช่น ถ้าไปแจ้งว่าผัวทุบตีเมีย ผู้ใหญ่บ้านก็จะเรียกมาคุย แล้วผัวบอกว่า เมียล้างจานไม่สะอาด แล้วล้างไม่สะอาดหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ทนไม่ได้ก็เลยขอตบซักที ผู้ใหญ่บ้านถามเมียว่า ล้างไม่สะอาดจริงหรือไม่ เมียบอกว่า จริงค่ะ ผู้ใหญ่บ้านบอกว่า งั้นต่อไปพยายามล้างให้สะอาดถูกใจผัวนะ (หันไปทางผัว) เมียรับปากแล้วว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น ถ้าเมียล้างจานสะอาด ต่อไปจะตีเมียมั้ย ผัวตอบว่า ไม่ตี (จบการไกล่เกลี่ย)


ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว ไม่ควรแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวโดยมาลงที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกใจสามี เพราะความถูกใจของสามีย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ควรมีเงื่อนไขใดมาเป็นข้ออ้างว่าผู้หญิงควรถูกผัวซ้อม แม้ว่าจะทำพฤติกรรมที่ไม่ดีถูกใจ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ควรใช้วิธีอื่น


นอกจากนี้ ตามข่าวหนังสือพิมพ์หรือทีวี จะเห็นกรณีผัวเมียทำร้ายร่างกายกันขึ้นไปด่าทอกันหรือตบตีกันต่อในโรงพัก จึงจะเห็นว่า การทำร้ายร่างกายเป็นอาชญากรรม สามารถแจ้งความโดยใช้กฎหมายอาญาได้ แต่ส่วนใหญ่คนก็ไม่ค่อยแจ้ง ตำรวจยิ่งไม่อยากรับแจ้ง ก็อยากจะไกล่เกลี่ย ภายหลังมีการออก พรบ.ความรุนแรงในครอบครัวขึ้นมาอีกฉบับเพื่อให้มีการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหาครอบครัว แต่กลไกรัฐควรแทรกแซงไม่ให้ผัวเมียทำร้ายกัน แต่ผู้รักษากฎหมายก็ยังเป็นเช่นเดิมเหมือนที่เคยมา


จะว่าไปแล้ว เหตุผลที่ผู้หญิงอดทนยอมถูกซ้อมหลายครั้งหลายปีก็เพราะยังรักอยู่นั่นแหละ การศึกษาพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่เชื่อเวลาที่ผู้ชายสัญญาว่าจะไม่ทำอีก (แล้วก็ทำ) และไม่ได้ต้องการเลิกกับผู้ชาย แต่ต้องการให้ผู้ชายเลิกใช้ความรุนแรง แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีสูตรสำเร็จแบบตรงไปตรงมาที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชายให้เลิกซ้อมเมียได้อย่างได้ผล เนื่องจากพฤติกรรมแบบนี้มีที่มาจากปัจจัยซับซ้อน เช่น ความคิดแบบ patriarchy ที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า (ไม่น่าเชื่อว่ายังเหนียวแน่นอยู่มาก) ที่สังคมยอมรับได้ สุรา ยาเสพติด ปัจจัยทางจิตวิทยา และความอ่อนแอเปราะบางในใจผู้ชายคนนั้นเอง ฯลฯ


ดังนั้น สำหรับผู้หญิงแล้ว ความหวังที่จะได้ผัวคนเดิมที่ยังรักกลับคืนมาในสภาพที่อัพเกรดเป็น a better version จึงเหมือนเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ชัยชนะของผู้หญิงที่รอดพ้นจากประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่พบเห็นโดยทั่วไป จึงมักต้องจบลงด้วยการเลิกราแบบเพลงนี้แหละ และมีชีวิตอยู่ต่อไปบนสองขาของตนเองหรือกับผู้ชายคนใหม่ต่อไปตามครรลอง


ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ความรุนแรงในครอบครัว มีความซับซ้อนหลายชั้นกว่าความอกหักหรือเลิกรักอย่างโรแมนติกอยู่มาก แต่ถ้ามันโรแมนติกจริง ก็ช่วย educate กันด้วยนะคะ ถือว่าเอาบุญ













ดู 294 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page