top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Talk EP4: IDAHOBIT คุยกับ เจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์ นักกิจกรรมเฟมินิสต์เลสเบี้ยนอีสาน



วัน IDAHOBIT หรือ International day against homophobia transphobia and biphobia หรือ วันยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนรักสองเพศและอินเตอร์เซ็กซ์ เมื่อ 17 พค ที่ผ่านมา เฟมินิสต้าชวน เจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์ มาพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์การต่อสู้ในฐานะเฟมินิสต์เลสเบี้ยนอีสาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ทำงานในบริบทที่ทับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นผู้หญิง เด็ก คนที่มีความหลากหลายทางเพศ และชนเผ่าพื้นเมือง


มัจฉาเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติและถูกใช้ความรุนแรงในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับครอบครัว ที่แม่ของเธอไม่ได้รับการยอมรับในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวและทำให้ครอบครัวของเธอถูกกลั่นแกล้งจากคนในชุมชน เมื่อตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เผชิญในระดับครอบครัวและชุมชน มัจฉาจึงเริ่มทำงานเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม โดยเริ่มจากการทำงานด้านสิทธิเด็ก และเริ่มก่อตั้งองค์กรของตัวเอง ชื่อองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน โดยมุ่งให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่เข้าไม่ถึงการศึกษา


ประสบการณ์การถูกคุกคามของมัจฉาในฐานะที่มีความหลากหลายทางเพศ คือการถูกเผาบ้านเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเกิดจากความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ผู้ชายในชุมชนไม่สามารถยอมรับวิถีทางเพศของเธอที่ใช้ชีวิตอยู่กับคู่ชีวิตด้วยกันได้ มีการพยายามเผาบ้านในหลายครั้ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มัจฉาเข้าไม่ถึงการคุ้มครองช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนเองก็ไม่ให้ความร่วมมือในดำเนินการทางกฎหมาย คนรอบข้างมองว่าเป็นเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ทำให้เธอต้องขอความช่วยเหลือจากคนที่มีแหล่งอำนาจมากกว่า เรื่องจึงยุติลง แต่จากเหตุการณ์นี้ทำให้เธอและคู่ชีวิต รวมถึงลูกสาว ไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนได้อีกต่อไป


นอกจากการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว มัจฉายังทำงานเพื่อสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย ซึ่งจากการที่ลูกสาวของเธอถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนทั้งจากเพื่อนันกเรียนและคุณครู เพราะความไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เธอจึงเข้าไปร่วมต่อสู้ผลักดันให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเหมือนครอบครัวของคนรักต่างเพศ และในขณะเดียวกัน มัจฉายังทำงานในระดับนานาชาติ โดยเข้าไปร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการเป็นประธานมูลนิธิอิลก้า ที่ทำงานต่อสู้เรื่องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก หรือการเข้าไปเป็นกรรมการขององค์กรที่ชื่อว่า IFED - International Family Equity Day องค์กระดับโลกที่ทำงานรณรงค์สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ


ปัญหาในการทำงานที่มัจฉาแบ่งปันให้ทราบ คือเรื่องของทรัพยากรที่มีจำกัด ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความลำบาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนในประเทศหรือนอกประเทศ นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมต่างๆในประเทศไทยก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ปกป้องคุ้มครองคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทยไม่มีกฎหมายป้องกันอาชญากรรมจากความเกลียดชังหรือ Hate Crime และสังคมไทยไม่มีการเรียนการสอนเรื่องความเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างรอบด้าน ทำให้คนจำนวนมาไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้สังคมยังไม่ให้คุณค่ากับเสียงของคนชายขอบ เพราะในขณะที่เธอเดินทางไปพูดบนเวทีโลกในหลายๆเวที ไม่ว่าจะในเวที UN women หรือเวทีอื่นๆ แต่เสียงของเธอกลับไม่ได้รับความสนใจในประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นคำถามสำคัญว่า ทำไมสังคมไทยจึงปฏิเสธเสียงของผู้หญิงและโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ


ทำความรู้จักกับมัจฉา พรอินทร์ เพิ่มเติมได้ที่




ดู 95 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page