top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

สรุปเสวนา เฟมินิสต์เรียลลิตี้: ร่างกาย ความรัก เพศ คอนเซ้นท์





วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องในการรณรงค์ระดับโลก V-Day Thailand ร่วมกับ Sangsan Anakot Yawachon Development Project และ Feminista ร่วมกันจัดงานเสวนา


"เฟมินิสต์เรียลลิตี้: ร่างกาย ความรัก เพศ คอนเซ้นท์ เรา(เฟมินิสต์)อยู่ตรงไหน

และต้องการไปสู่เป้าหมายใดเพื่อพัฒนาความเป็นธรรม"


โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่


มัจฉา พรอินทร์

ผู้ประสานงาน V day ประจำประเทศไทย

องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน


น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น

เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน


ดาราณี ทองศิริ

เฟมินิสต้า


ดำเนินรายการโดย

ดร.มลิวัลย์ เสนาวงษ์

นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



มลิวัลย์ เสนาวงษ์ ได้เล่าถึงความเป็นไปเป็นมาของ V-Day หรือ One billion Rising ซึ่งเป็น Movement ระดับโลกว่า เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ริเริ่มโดยคุณ อีฟ หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น วี เอสเลอร์ นักเคลื่อนไหวที่ทำงานรณรงค์ในประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2012 โดยเลือกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวาเลนไทน์ หรือ V Day เพื่อรณรงค์ให้ความหมายใหม่ว่า ความรัก ต้องมิใช่ความรุนแรง ต้องไม่ใช่ควบคุมเนื้อตัวร่างกายและต้องมิใช่การกดทับผู้หญิง ความรักต้องปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ


สำหรับปีนี้แคมเปญของ One billion rising หรือ V-Day Movement มาในหัวข้อหลักคือ “Body” เพื่อต้องการรณรงค์ให้สังคมและทุกคนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงและคนที่ประสบปัญหากับความรุนแรงทางเพศ รวมถึงความรุนแรงในสังคม ซึ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากระบบชายเป็นใหญ่


แคมเปญ One Billion Rising มีที่มาจากการรายงานของ UN ว่ามีผู้หญิงหนึ่งในสามในโลกที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ซึ่งจำนวนผู้หญิงหนึ่งในสามขณะนั้นก็คือจำนวน หนึ่งพันล้านคน จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ให้ตระหนักถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อผู้หญิงหนึ่งพันล้านคนนั้น


ในประเทศไทย มัจฉา พรอินทร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประสานงาน V Day ประจำประเทศไทย ได้เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์ One Billion Rising Movement โดยใช้การเต้น Break the Chain มานับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน


เมื่อมาถึงบริบทในสังคมไทย ก็จะเห็นว่าก่อนหน้านี้จะเป็นในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีความรุนแรงมากขึ้น คิดว่าจำนวนของผู้ที่ประสบปัญหาตอนนี้น่าจะมากกว่ารายงานที่ UN เคยทำไว้ด้วยซ้ำ แล้วสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน เราก็ยังพูดถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอยู่เช่นเดียวกัน แล้วก็ในวันนี้เราก็อยากจะชวนนักเคลื่อนไหวหรือว่า Activist Feminist มาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของความรัก ความรักที่อยู่บนฐานของความเท่าเทียมทางเพศ และเรื่องของสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย แล้วก็คอนเซ้นท์


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: วันนี้จะขอแนะนำผู้ร่วมเสวนาก่อน คนแรกคือ คุณมัจฉา พรอินทร์ หรือว่าพี่เจี๊ยบ เป็นผู้ประสานงาน V-Day ประจำประเทศไทย เป็นผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน คนที่สอง น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น เป็นเฟมินิสต์รุ่นใหม่ เป็นเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ดูแลโครงการเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำงานกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนด้วย สุดท้าย คุณดาราณี ทองศิริ ก็เป็นผู้ดูแลเว็บไซต์และองค์กรเฟมินิสต้า อันดับแรกก็อยากจะให้พวกเราได้ทำความรู้จักกับเฟมินิสต์ Activist ทั้งสามท่านก่อน อยากจะขอให้แต่ละท่านแนะนำตัวเอง แล้วก็เล่าถึงงานที่ตัวเองทำ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องของความรัก ความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายค่ะ


น้องแอร์: สวัสดีค่ะ น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็นค่ะ เป็นเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ อดีตเป็นคนไร้สัญชาติไทยค่ะ แล้วก็เป็นเฟมินิสต์คนรุ่นใหม่ค่ะ ตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ทำวิจัยสตรีนิยมเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม แล้วก็เป็นผู้ดูแลโครงการเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือเรียกอีกอย่างว่า ธุรกิจผ้าทอกระเหรี่ยงร่วมสมัยสีรุ้ง พูดถึงเรื่องของการทำงานขององค์กรอนาคตสร้างสรรค์ ที่เราสร้างความเป็นธรรมทางเพศ เราจะเล่าที่บริบทชุมชนก่อน บริบทชุมชนที่เราทำงานหรือว่าที่ตัวเองเกิด เป็นพื้นที่ที่อยู่ในชายแดน ที่ได้ผลมาจากสงครามตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษมาจนถึงรุ่นปัจจุบันนี้ ก็ยังได้รับผลจากสงครามอยู่ คนในชุมชนก็เป็นคนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง แน่นอนว่าการเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เราไม่ได้รับนโยบายจากภาครัฐ ทำให้เราสูญเสียการมีสัญชาติ และในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน ทำให้การพึ่งพิงต่าง ๆ ของคนในชุมชนรวมถึงผู้หญิงเองก็เกิดความยากลำบากมากขึ้น เรายังถูกผลักให้ก่อสร้างบ้านที่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เสี่ยงอุทกภัย เราเจอทั้งไฟป่า น้ำท่วม ดินสไลด์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้คนในชุมชนเจอกับปัญหาความยากจนที่ซับซ้อน แต่ถ้าเราเป็นเพศหญิง เราไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเพศเลย เริ่มตั้งแต่ผู้หญิง เมื่อเริ่มอายุ 8-9 ปี เราเกิดมาพร้อมกับความเชื่อ เกิดมาพร้อมกับหน้าที่ เกิดมาพร้อมกับต้องดูแลทุกอย่างในบ้าน จะเล่าในบริบทนี้อีกทีหนึ่งค่ะ


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: ต่อไปขอเชิญพี่เจี๊ยบ แนะนำตัวเองแล้วก็งานที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ค่ะ


มัจฉา พรอินทร์: มัจฉา พรอินทร์ เป็นผู้ประสานงาน V-Day ประจำประเทศไทย จริง ๆ แล้วเราเต้นรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ เพราะว่าเราอยากจะปลดปล่อยเนื้อตัวร่างกายมาปีนี้เข้าปีที่ 8 แล้ว จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เราได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลก เพื่อที่จะให้ประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย แล้วก็ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน งานที่ทำอยู่ก็ทำงานเรื่องการศึกษาเฟมินิสต์กับ Human Rights แล้วก็ใช้งานวิจัยในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงชุมชน รวมถึงการรณรงค์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วที่สำคัญที่สุด เราทำ Movement Building ก็คือพยายามที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่คำนึงถึงมิติทางเพศค่ะ


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: ขอบคุณมากค่ะ ก็มาถึงท่านสุดท้าย พี่ปลา หรือคุณดาราณี


ดาราณี ทองศิริ: ตอนนี้ก็ทำเว็บไซต์ที่ชื่อว่า เฟมินิสต้า โดยพยายามที่จะเป็นสื่อออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศ แล้วก็มี School of Feminist ที่ทำร่วมกับ องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และ Thai Consent เราทำคอร์สขึ้นมาเพื่อที่จะให้คนที่ต้องการมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศเข้ามาเรียนรู้ ก็จัดไป 3-4 รุ่นแล้ว นอกจากนี้เราก็ทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ องค์กรต่าง ๆ ในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ เรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวคิดเฟมินิสต์ เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: จะเห็นว่าผู้ร่วมเสวนาของเราในวันนี้ ทำงานหลากหลายพื้นที่แล้วก็หลากหลายมิติ ทั้งจากชุมชนเอง ทั้งการเคลื่อนไหวในสื่อออนไลน์ และการเคลื่อนไหวทั้งในชุมชน แล้วก็ในระดับโลกที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศด้วย มาถึงคำถามที่ 2 อยากจะทราบถึงบริบทแล้วก็สถานการณ์ปัญหาที่แต่ละท่านทำงานอยู่ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องของความรุนแรงทางเพศ เรื่องของการเรียกร้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง


บริบทและสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กหญิง ผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ


น้องแอร์: เราจะพูดถึงมิติทางเพศที่ผู้หญิงเผชิญแล้วก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเพศ อย่างที่พูดไปก็คือ ผู้หญิงเราเกิดมาพร้อมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ ต้องดูแลทุกสิ่งในบ้าน เมื่อเราอายุ 8-9 ปี เราถูกสอนให้ดูแลครอบครัวในบ้าน ทำงานบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า เวลาเราไปเรียนเราก็ต้องเอาน้องไปเรียนด้วย เพราะว่าถ้าเราไม่เอาน้องไปเรียนด้วยเนี่ย จะเท่ากับว่าเราสูญเสียโอกาสในการไปเรียน เราต้องอยู่บ้าน ดูแลลูก ดูแลน้อง แล้วเมื่อเราเลิกเรียน เราต้องรีบกลับมาบ้าน เพื่อที่จะกลับมาหุงข้าว ทำกับข้าวต่อ ซึ่งอันนี้เราจะเห็นว่าเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ในชีวิตวัยเด็ก ไม่มีเวลาที่จะได้เรียนอย่างเต็มที่ ไม่มีเวลาที่จะได้เล่นเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ เวลาเห็นน้องชายเล่นฟุตบอล เราเห็นน้องชายได้ออกกำลังกาย แต่เราไม่มีเวลาว่างที่จะไปเล่นไปทำสิ่งนั้น เด็กผู้หญิงถูกสอนให้ต้องดูแลผู้อื่นอยู่ตลอด แล้วเมื่อโตขึ้นเริ่มมีประจำเดือน เราก็จะถูกสอนว่า เวลาที่เราเข้าสู่การมีประจำเดือน เราห้ามไปตักบาตร ห้ามทำบุญ ห้ามขึ้นวัด เวลาที่ผู้หญิงมีประจำเดือน เราไม่มีสิทธิ์ที่จะออกจากบ้าน เราต้องอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยให้เด็กผู้หญิง แล้วเวลาที่เราจะไปซื้อผ้าอนามัยแต่ละครั้งที่ในชุมชนของเรา เราต้องห้ามเรียกว่าผ้าอนามัย เราต้องเรียกว่าไปซื้อขนมปัง แล้วเวลาที่เราไปซื้อในร้านค้า เราต้องดูว่าช่วงที่มีคนมาเราต้องให้คนที่อยู่ในร้านออกไปให้หมดก่อน ต้องเหลือเรากับแม่ค้าเท่านั้น ถึงจะไปซื้อผ้าอนามัยได้ ถ้าเราซื้อ เราต้องเอาซ่อนไว้ เหมือนเราไปขโมยของในร้าน เราต้องเอาซ่อนไว้ใต้เสื้อผ้า ซึ่งเรามองว่าทำไมเวลาผู้หญิงมีประจำเดือนผู้คนต้องรังเกียจ แล้วก็มองว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายด้วย แล้วถูกห้ามนั่นห้ามนี่อยู่ตลอดเวลา



มีเหตุการณ์ครั้งนึง คือตอนนั้นพี่สาวเป็นคนที่มีประจำเดือนมาไม่ปกติ แล้วเวลาจะไปหาหมอก็ไม่สามารถไปหาหมอได้ หนึ่งคือเรื่องของค่าใช้จ่าย สองคือผู้หญิงถูกสอนมาเสมอว่าห้ามพูดเรื่องเพศ ห้ามพูดต่อหน้าสาธารณะ ห้ามไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นประจำเดือน ห้ามพูดเรื่องจิ๋ม ซึ่งทำให้ผู้หญิงในชุมชนเวลามีปัญหาในเรื่องของสุขภาพหรือเรื่องจิ๋ม ไม่สามารถไปหาหมอได้เลย ตอนนั้นพี่สาวประจำเดือนมาติดต่อกัน 2 เดือน คือพี่สาวไม่ไหวแล้ว และสิ่งที่แม่ทำ ความเชื่อของทุกคนในชุมชนก็คือ ให้อยู่แต่ในบ้านแล้วก็เอากิ่งไม้อะไรก็ไม่รู้มาไว้ตรงบนที่นอน ก็เชื่อว่าเมนส์จะหายปกติ ร่างกายจะแข็งแรง แต่ความเป็นจริงคือไม่เลย พี่สาวก็โทรมาหาหนู ซึ่งหนูอยู่เชียงใหม่นะคะ โทรมาบอกว่าช่วยไปส่งที่โรงพยาบาลหน่อยได้ไหม ก็คือร่างกายไม่ไหวแล้ว ด้วยความที่ติดต่อพี่สาว ก็กลับบ้าน สิ่งที่เห็นก็คือ พี่สาวเหมือนคนไม่มีเลือด สูญเสียเลือดไปจำนวนมาก ก็รีบขับรถเครื่อง เราไม่มีรถยนต์ ก็ขับรถเครื่องจากเชียงใหม่ไปรับพี่สาว แล้วก็รับพี่สาวจากบ้าน มาส่งที่โรงพยาบาล แล้วสิ่งที่หมอบอกก็คือ ถ้ามาส่งช้ากว่านี้ พี่สาวอาจจะเสียชีวิตได้ เนื่องจากพี่สาวเสียเลือดเป็นจำนวนมาก


เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราตั้งคำถามอีกว่า ทำไมผู้หญิงอย่างเราถึงไม่ถูกสอนเรื่องเพศตั้งแต่เด็ก ทำไมเวลาเราจะไปโรงพยาบาล เราถึงไม่สามารถพูดเรื่องจิ๋มของเราได้ เวลาเราเป็นเมนส์ เราไม่สามารถบอกคนอื่นได้ ทำให้คนคนหนึ่งแล้วก็อีกหลายชีวิตกำลังสูญเสียสุขภาพ แล้วก็อาจจะเสียชีวิตได้

วันนั้นพี่สาวก็เลยต้องเติมเลือด ต้องนอนโรงพยาบาลอีกคืนหนึ่ง อันนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผู้หญิงเผชิญ แล้วเมื่อเราเป็นเมนส์ เราก็เผชิญกับการถูกบังคับเพราะคนในชุมชน ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่เชื่อว่า เราเป็นเมนส์ เราเป็นสาวแล้ว เขาก็พยายามจะหาคู่ชีวิตให้เรา จับแต่งงานให้ เพราะว่าคนในชนเผ่าพื้นเมืองแต่งงานไว แต่งงานตั้งแต่เด็ก แต่งงานอายุต่ำกว่า 18 ปี แล้วเมื่อผู้หญิงเริ่มแต่งงานมีครอบครัว สิ่งที่เผชิญต่อก็คือ เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว นอกจากจะต้องทำงาน ต้องรับผิดชอบงานบ้านแล้ว ยังต้องรองรับอารมณ์ของผู้ชาย เวลาที่ไม่เต็มใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ ด้วยความที่เราถูกสอนมาว่า เนื้อตัวร่างกายเมื่ออยู่กับพ่อแม่ ก็คือเป็นสิทธิ์ของพ่อแม่ แต่เมื่อเราแต่งงานมีครอบครัว เป็นสิทธิ์ของผัว เราไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ซึ่งทำให้ผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวนั้น หลายชีวิต จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย บางคนพยายามฆ่าตัวตายแล้ว แต่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ หลายคนอยากออกจากปัญหาแต่ออกไม่ได้ ด้วยภาระหน้าที่ที่เขายึดมั่นไว้ตลอดว่า ต้องดูแลพ่อแม่ ต้องดูแลลูกอีก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่เรารู้สึกว่ามันใหญ่มาก ๆ แล้วเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงคือเราไม่ถูกสอนให้พูดเรื่องเพศ เราไม่ถูกสอนให้ปฏิเสธความที่เราไม่ต้องการ เราไม่สามารถที่จะหันมารักตัวเองได้ ด้วยภาระหน้าที่ที่เราเผชิญ ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าเราไร้ค่า เราไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเรา เราไม่มีสิทธิที่จะเป็นผู้นำ หรือพูดถึงเรื่องของตัวเองได้ อันนี้เป็นปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญ


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: เราก็จะเห็นว่าชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นชุมชนของน้องแอร์ น้องแอร์ก็ได้เล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ก็ถูกห้ามจากวัฒนธรรม แล้วก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้หญิง ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้หญิงด้วย แล้วก็ต่อความรู้สึกที่มีคุณค่าต่อร่างกายตัวเองด้วย นอกจากนี้ก็จะเห็นว่าบทบาทของความเป็นลูกสาว ก็จำกัดสิทธิที่จะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การที่จะออกไปเล่น ออกไปเรียนรู้ ออกไปพัฒนาร่างกายของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากเด็กผู้ชาย รวมถึงเรื่องของการบังคับแต่งงาน ต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว แล้วชุมชนเองก็ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ จนนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง แล้วก็ใช้การจบชีวิต เป็นทางออกของปัญหา แต่ว่าบางคนที่ยังมีภาระผูกพันก็จำเป็นต้องทนอยู่กับความรุนแรงเหล่านี้อยู่ ซึ่งประเด็นนี้น้องแอร์ก็อยากจะนำมาให้ทุกคนได้เห็นว่า สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงชนเผ่า ถูกกดทับจากทางวัฒนธรรม



น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น (กลาง)

ขณะเล่าถึงประสบการณ์การทำงานและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ



มัจฉา พรอินทร์ : จริง ๆ แล้วเราทำงานโดยพื้นฐานของประสบการณ์ของผู้หญิงแล้วก็ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งสิ่งที่น้องแอร์พูด คือปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วเรามักจะรู้สึกว่ามันมี 2 แบบ แบบที่ 1 ก็คือมันเป็นบริบทเฉพาะว่าเกิดแค่ในชนเผ่าพื้นเมืองไหม นี่คือคำถาม กับอันที่ 2 หลายคนก็จะรู้สึกว่า ปัญหา สมมุติว่าเรื่องผ้าอนามัย ประจำเดือน มันเป็นปัญหาในประเทศที่แบบไม่ใช่ในไทยไหม ประเทศทาง South Asia หรือเปล่า แล้วบริบทแบบนี้ที่น้องแอร์ยืนยันว่ามันเกิดขึ้นในชุมชน แล้วเราคิดว่ามันได้เกิดในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย มันจริงไหม เราก็จะพบว่าในช่วงโควิด มันเห็นได้ชัดมากว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ถ้าที่ไหนก็ตามที่เรามีทรัพยากรที่น้อยที่สุด ความจำเป็นที่สุดของผู้หญิงอาจจะไม่ได้ถูกตระหนักก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจี๊ยบอยากจะพูดต่อไปนี้ ก็คือว่า


บริบทที่เราทำงานในชุมชน เรามีความจำเป็นต้องผลักดันในระดับประเทศ และแม้เราจะพูดถึงชุมชน สมมุติที่บ้านแม่สามแลบ มันก็จะไม่ได้หมายถึงบ้านแม่สามแลบเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงชุมชนอีสาน ซึ่งเจี๊ยบก็เป็นลาว เป็นลาวอีสาน เป็นคนอุบล ก็เป็นชายแดน ติดฟากหนึ่งของแม่น้ำโขง จะคล้าย ๆ กับสาละวิน ที่เป็น สาละวิน ที่เป็นฝั่งพม่า แล้วก็เป็นดินแดนของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง กระเหรี่ยง อย่างของเราเอง ฝั่งหนึ่งก็เป็นประเทศลาว แล้วเราก็ถูกมองว่าเป็นคนไทย พอเป็นคนไทยก็เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไทยอีกเพราะว่าภาษาที่เราพูด วัฒนธรรมที่เราเชื่อ แม้กระทั่งมุมมองทางการเมือง ก็ไม่ได้ถูกยอมรับในกระแสหลัก เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่าอันนี้เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในมิติเรื่องของการถูกผลักให้เป็นชนกลุ่มน้อย เพราะว่ามิติทางความเป็นชาติพันธุ์ หรือการถูกผลักให้เผชิญกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพราะเกิดมาแล้ว อาจจะมาพร้อมจิ๋ม หรืออาจจะมีทั้งจิ๋มและจู๋ หรือว่าอาจจะมีแต่จู๋แต่ว่าเขาก็นิยามว่า เขาอยากข้ามเพศ ไปเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ มันก็พันกันอยู่ในคนหนึ่งคน

สถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นมันก็พันกันอยู่ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ แต่ว่าเราอยากจะโยงไปมากกว่านั้นก็คือ มันเป็นสถานการณ์ระดับโลกด้วย เจี๊ยบไม่ใช่แค่ได้ฟังเรื่องราวของผู้หญิงว่าเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงนั้นถูกกระทำโดยระบบความเชื่อ ถูกกระทำภายในครอบครัวหรือแม้กระทั่งในระบบโรงเรียนอย่างไร แต่ตัวเองก็มีประสบการณ์ที่ ไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงอื่น ๆ สักเท่าไหร่ ก็คือรากฐานของมิติทางเพศ ที่เราพยายามจะโยงให้เห็นว่าร่างกาย เพศ หรือหลายคนก็จะเอาความอยากมาครอบอีก ความรักอะไรแบบนี้ มันไม่เคยมีเสียงของผู้หญิง ว่าเนื้อตัวร่างกายของเราแล้วเราเป็นเจ้าของ น้องแอร์ยืนยันว่าตอนที่เราเป็นเด็ก มันเหมือนเราถูกสอนว่าคนที่เป็นเจ้าของเราคือพ่อแม่ แล้วเมื่อเราโตมากกว่านี้เราต้องหาใครสักคนซึ่งก็คือคู่ชีวิต ก็เป็นคู่ชีวิตต่างเพศด้วยที่สามารถมาเป็นเจ้าของเรา เพราะฉะนั้นโดยมิติความเชื่อที่เราถูกหล่อหลอมมา เราไม่มีอิสระ เสรีภาพ เหนือเนื้อตัวร่างกายเราเลย ในฐานะที่มีเพศกำเนิด หรือภายหลังเลือกที่จะข้ามเพศก็ตาม เราอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ ๆ อีกอันหนึ่ง ซึ่งหมายถึง Transgender woman (ผู้หญิงข้ามเพศ) ด้วย เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่เราเจอไม่ต่างจากคนอื่นก็คือร่างกายของเรามันถูกทำให้เป็นวัตถุ ตัวอย่างของการถูกทำให้เป็นวัตถุ อย่างเช่น


ตอนเด็ก ๆ โดยเฉพาะในสังคมไทยเราอยากจับแก้มเด็ก เราก็เดินไปจับเลย เราไม่ได้รู้สึกว่าเราจะต้องระมัดระวังในการไปสัมผัสเขา แล้วเราก็เชื่อว่าเด็กไม่มี ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ เพราะฉะนั้นเราอยากจับ อยากหอม อยากอุ้มไปไหนก็ได้ อันนี้คือชั้นที่ 1 ที่พวกเราแทบจะมีประสบการณ์ในตอนที่เราเป็นเด็กกันหมด แล้วเผลอ ๆ พอเราโตมาเราก็ลืมว่าประสบการณ์แบบนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะ คอนเซ้นท์อยู่ตรงไหนแต่ว่าพอเราโตมาเราอาจจะลืมก็ได้ แล้วเราก็ไปทำแบบนี้กับเด็ก มันก็กลายเป็นว่าถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นเรื่องปกติไป

ชั้นต่อมาก็คือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เราบอกว่าตอนนี้ สถานการณ์มันแย่ มันเลวร้ายมาก เด็กในครอบครัวถูกคนล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิด เด็กไปโรงเรียนก็อาจจะถูกล่วงละเมิดจากครู จากเพื่อน แต่ที่มันน่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ระบบยุติธรรมทั้งหลาย มันเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมจริง ๆ กับผู้ที่ถูกกระทำ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นประสบการณ์ร่วม ซึ่งเราเองก็เป็น Survivor (ผู้รอดชีวิต) จาก Sexual Assaulted (การถูกล่วงละเมิดทางเพศ) เป็น Survivor จากการถูกข่มขืน ตั้งแต่เป็นเด็ก 4 ขวบด้วย คราวนี้ ประสบการณ์ร่วมอีกอันหนึ่งก็คือ เราโตมา เข้าสู่ระบบการศึกษา ระบบการศึกษาที่มีวิธีคิดแบบระบบทหารนิยม หรือที่เรียกว่า Militarization เป็นขบวนการที่ทำให้เราเชื่อว่าความเป็น Masculine (ความเป็นชาย) หรือความแข็งแกร่ง การจัดการปัญหาด้วยอาวุธคือทางออก แล้วสุดท้ายมันก็นำไปสู่สงคราม มันก็อยู่ในระบบการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นพวกเราก็จะมีเครื่องแบบ เราถูกบังคับให้ใส่กระโปรงทั้ง ๆ ที่เราไม่ comfortable (รู้สึกสะดวกใจ)


ตอนเด็ก ๆ เจี๊ยบอายุแค่ 9 ขวบ ก็น้ำหนัก 45 แล้ว ก็เป็นเด็กตัวใหญ่ใช่ไหม เราก็รู้สึกว่าเราไม่สะดวกกับการใส่กระโปรงเลย เราถูกล้อเลียนทางด้านร่างกาย เราผิวดำ แล้วเราก็อยู่ในครอบครัวที่ยากจน คือทุกอย่างมันพันกันไปหมดเลย แต่ว่าพอมันมาเรื่องเนื้อตัวร่างกายเรากลายเป็นว่าเราถูกสอนไม่ให้รักเนื้อตัวร่างกายตัวเอง ซึ่งเราคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาร่วมของเด็กผู้หญิง แล้วก็ใน LGBT+ ด้วย แล้วมันหนักมากขึ้นเมื่อมันมาอยู่ในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้มันก็มีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อมันมาอยู่ใน Social Media เพราะฉะนั้นเรากำลังบอกว่า ร่างกายของผู้หญิง ของเด็กผู้หญิง และ LGBT+ มันหนีไม่พ้นการถูกสังคมหล่อหลอมให้เราเชื่อว่ามันคือวัตถุ แล้วมันเป็นวัตถุทางเพศ เพราะฉะนั้น Consent (ความยินยอม) ที่เราเป็นเจ้าของร่างกาย มันไม่ถูกเอื้อให้เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นมันคือการต่อสู้พื่อที่จะ Reclaim หรือเรียกร้องเอาความหมายกลับมาว่า พื้นฐานของมนุษย์ อันที่หนึ่ง เราจะเป็นมนุษย์ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีชีวิต ศักดิ์ศรี และความปลอดภัย และการได้ถูกเคารพ ในฐานะของการเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเราจะพบว่าคนที่มีอัตลักษณ์ชายขอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุแห่งชาติพันธุ์ ถ้าเป็นชาติพันธุ์ที่เป็นผู้หญิงก็จะอีกชั้นหนึ่ง และยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ชั้นที่หนึ่ง เราถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพราะว่าเราเกิดมาเป็นผู้หญิง ชั้นที่สอง เราเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในสังคมไทย ชั้นที่สาม เรามีความหลากหลายทางเพศ เป็นเลสเบี้ยน


มันก็กลายเป็นว่าเหมือนเรา ถูกพันธนาการด้วยความรุนแรง 3 ชั้น แล้วมีคนบอกเราว่า ถ้ามันมีประชาธิปไตย พันธนาการพวกนี้จะหลุดออกโดยอัตโนมัติ เราบอกว่าไม่ การมีประชาธิปไตยโดยไม่คำนึงว่าผู้หญิงต้องการอะไร ความรุนแรงทางเพศจะต้องแก้ไขด้วยเจ้าตัวด้วย แล้วในขบวนการประชาธิปไตยเอง ก็มีความรุนแรงทางเพศอยู่ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่ไม่มีส่วนร่วมของผู้หญิง คำนึงถึงความต้องการของผู้หญิง และให้ผู้หญิงเข้าไปเป็นส่วนสำคัญ เป็น Solution ในทางออกของปัญหาในทุกมิติมันก็จะไม่สามารถปลดล็อกในเรื่องของเพศ ซึ่งมันเป็นชั้นแรกที่เราถูกเลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คือสถานการณ์โลกที่เราอยากชี้ให้เห็นว่าทำไมร่างกายของผู้หญิงถึงถูกทำให้เป็นวัตถุทางเพศ แล้วทำไม คอนเซ้นท์ของพวกเราถึงไม่ได้ถูกสังคมตระหนัก เพราะคอนเซ้นท์ ถ้าให้เราแปลเป็นไทยก็คือ การที่เรามีอำนาจที่จะบอกว่า “ไม่” ด้วยตัวของเรา และคำว่า ไม่ สำหรับเด็กมันก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วในสังคมไทย ที่คำว่า ไม่ กลายเป็นไปตีความว่า “ใช่, ต้องการ” มันก็กลายเป็นว่าเสียงของเรา ความต้องการของเราและตัวตนของเราไม่เคยถูกมองเห็นเลย นี่คือสิ่งที่เฟมินิสต์เรียลลิตี้ กำลังพยายามผลักดัน ก็คือ ถ้าเราต้องการจะไปใน Solution (หนทางแก้ไขปัญหา) ที่มันไม่เคยมีในสังคมโลกและสังคมไทย สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปนี้ก็คือ


การฟังเสียงของเจ้าของปัญหาว่าเขาอยู่ในบริบทปัญหาอย่างไร และฟังว่าเขาต้องการอะไร แล้วก็ต้องเอื้อให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นจริงเพื่อที่เราจะได้มีทางออก เพราะเรายังไม่เคยมีทางออกให้กับปัญหาเหล่านี้ อะไรคือหลักฐานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลกโดยเฉพาะในช่วงโควิด และตอนนี้มันไม่ใช่เหมือนที่นุกนิกบอก ไม่ใช่หนึ่งพันล้านคนแล้ว เพราะว่าสถานการณ์จริงที่เราเจอตอนนี้ก็คือตัวเลข ความถี่ และความรุนแรงต่อเด็ก ต่อผู้หญิง ต่อ LGBT+ มันมากขึ้นในช่วงโควิด


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: จากที่เราได้ฟังประสบการณ์การทำงานของพี่เจี๊ยบ ก็ทำให้เห็นความเชื่อมโยงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทชุมชนที่น้องแอร์เจอ มันไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเท่านั้น แต่ว่าผู้หญิงในไทยและผู้หญิงทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน คือ การถูกทำให้ร่างกายกลายเป็นวัตถุ หรือว่าการที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียง หรือว่าเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่มันถูกขัดเกลา มันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วพอเราโตขึ้น เนื้อตัวร่างกายเราก็ไม่ใช่ของเรา อย่างเช่น ถูกสังคมมองว่าจะต้องไปเป็นของผู้ชาย ของสามี แล้วสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิงที่เกิดมามีอวัยวะเพศเป็นผู้หญิง มีจิ๋มเท่านั้น แต่ผู้หญิงที่เป็นทรานส์ เป็นผู้หญิงข้ามเพศ หรือว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เผชิญสถานการณ์ของการถูกทำให้ร่างกายกลายเป็นวัตถุ และการไม่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเช่นเดียวกัน และสิ่งที่เจี๊ยบมองว่าเป็นประเด็นสำคัญ ก็คือ การที่เราจะต้องให้ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รื้อฟื้นอำนาจ หรือว่าเรียกร้องอำนาจในการที่จะเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายตัวเองอย่างแท้จริง และการต่อสู้เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัย และการเคารพผู้หญิง แล้วก็ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อไป รวมถึงเราจะเห็นว่าจากประสบการณ์ของเจี๊ยบ การที่มีอัตลักษณ์ที่เป็นชายขอบ ที่ทับซ้อนกัน ทำให้คนคนหนึ่งต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่มีหลายมิติมากขึ้น และสุดท้าย ขบวนการประชาธิปไตย ถ้าหากว่าไม่รับฟังเสียงของเจ้าของปัญหา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วก็ให้พื้นที่กับคนเหล่านี้ในการที่จะนำเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความเป็นธรรม แล้วก็ความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งควรจะเริ่มจากความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางเพศ เพราะว่าเป็นมิติแรกที่ผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ



มัจฉา พรอินทร์ (คนซ้ายสุด)

ขณะเล่าถึงประสบการณ์การทำงานและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ




ความรุนแรงทางเพศบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ไม่ได้แยกออกจากกัน



ดาราณี ทองศิริ : จริง ๆ แล้วพอเราพูดถึงเรื่องออนไลน์ หลายคนจะเข้าใจว่าความรุนแรงออนไลน์มันแยกกับความรุนแรงออฟไลน์ แต่จริง ๆ แล้วมันเชื่อมโยงกัน ถ้าเราบอกว่าผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดมา เราก็โตมาเป็นเด็กผู้หญิงเด็กผู้ชาย แล้วเราก็มีความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะจากคนใกล้ตัวหรือว่าคนแปลกหน้าก็ตาม พอเราเติบโตมาเราก็ถูกสังคมบอกว่าเราจะต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร โดยเฉพาะในเรื่องเนื้อตัวร่างกาย อย่างที่เจี๊ยบบอกว่าเมื่อเราเข้าโรงเรียน เราก็จะถูกบังคับให้ใส่กระโปรง กางเกง แล้วเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็จะรู้สึกถูกกดขี่ซ้ำซ้อน ไม่ว่าจะจากคนในโรงเรียนด้วยกัน ถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ในเรื่องของเพศสภาพของตัวเอง กระทั่งการถูกบังคับให้ต้องเลือกเพศ มันก็จะทับซ้อนเข้าไปอีก กับการที่เป็นเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ทีนี้พอเราโตมาเราก็จะพบว่าเมื่อเราต้องเป็นผู้หญิงในสังคมไทย มันก็จะมีข้อบังคับมากมายเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตัว เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ แรก ๆ เลยที่ผู้หญิงเจอก็คือว่า ไปทำยังไงเข้าล่ะ มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Victim Blaming (การกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ)ก็คือตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกกระทำว่า เราไปยั่วเขาหรือเปล่า แต่งตัวเรียบร้อยไหม แล้วใครให้ไปเดินที่เปลี่ยว ๆ ทำไมไม่ระวังตัวเอง ล็อกประตูบ้านดี ๆ สิ คือสารพัดคำถาม มันจะพุ่งตรงมาที่ผู้ที่ถูกกระทำ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าร่างกายของเรามันไม่ได้เป็นของเรา แต่ว่ามันถูกสังคมหล่อหลอม กำหนดว่าเราจะต้องทำอะไรกับร่างกายของเราบ้าง ก็จะมีหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยทางเพศ เป็นเรื่องของสุขภาพทางเพศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตัดสินใจที่จะคุมกำเนิด ทำแท้ง ตั้งท้อง ของแบบนี้มันอยู่ในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะในเรื่องของกฎหมาย ถ้าเราอยากจะทำแท้ง กฎหมายก็บอกว่าเราจะทำไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการอนุญาต อนุญาตจากใคร อนุญาตจากรัฐ อนุญาตจากหมอ อนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเราก็จะพบว่า เพศกำเนิดชาย เป็นผู้ตัดสินว่าคุณควรจะได้รับการทำแท้งหรือไม่ ซึ่งหมอผู้ชายจำนวนมากก็ไม่อยากทำ ผู้พิพากษาก็เป็นผู้ชาย ส่วนใหญ่แล้วก็จะมองว่าผู้หญิงผูกติดอยู่กับความเป็นแม่ เพราะฉะนั้นเรื่องความเป็นแม่ของผู้หญิงมันก็เลยมากำหนดร่างกายของผู้หญิงเพิ่มขึ้นไปอีก


แล้วโดยเฉพาะเรื่องของคู่สัมพันธ์ เวลาที่เราพูดถึงเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ก็จะพบว่าในสังคมไทย การแบ่งบทบาททางเพศ ว่าผู้ชายเป็นฝ่ายรุก ผู้หญิงเป็นฝ่ายรับ เมื่อผู้ชายต้องการ ผู้หญิงต้องตอบสนอง มันก็จะมีวิธีคิดว่าผู้ชายสามารถที่จะแสดงออกทางเพศแบบใดก็ได้ ในพื้นที่ไหนก็ได้ ในเวลาที่ผู้ชายต้องการ ถอดเสื้อได้ในที่สาธารณะ โชว์หัวนมได้ ในขณะที่ผู้หญิงทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าถ้าผู้หญิงทำแบบนั้นปุ๊บ จะโดนเซนเซอร์ จะโดนตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่เรียบร้อย จะสังเกตเห็นได้ว่ามันมีลักษณะของความไม่เท่าเทียมทางอำนาจทางเพศอยู่


ทีนี้พอของพวกนี้มันเกิดขึ้นในพื้นที่ออฟไลน์แล้ว เมื่อเรามีชีวิตที่อยู่บนออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด ทุกคนก็จะทราบว่ามันมีลักษณะของการออกมาพูดประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศ หรือออกมาขอความช่วยเหลือเรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางเพศที่ตัวเองเจอในพื้นที่ออฟไลน์มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคืออะไร สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อออกมาพูดว่าเราถูกกระทำความรุนแรงทางเพศอย่างไรบนพื้นที่ออนไลน์ สิ่งที่เราเผชิญก็คือการถูกตั้งคำถามบนพื้นที่ออนไลน์ โดยการตั้งคำถามนี้มันเต็มไปด้วยอคติทางเพศ เราจะเห็นว่าเมื่อผู้หญิงหรือใครก็ตามที่ลุกขึ้นมา ล่าสุดก็มีนักกิจกรรมท่านหนึ่ง เขาก็แชร์ข่าวที่พูดถึงพล็อตเรื่องหนึ่งที่ให้ รปภ. มาแอบถ่ายกระโปรงนักศึกษา คือจำลองภาพเหตุการณ์ว่าให้ รปภ. มาแอบถ่ายกระโปรงนักศึกษา แล้วก็ทำเป็นเรื่องขำขันกัน นักกิจกรรมคนนั้นก็โพสต์ลงไปในเฟสบุ๊คว่ามันไม่ควรจะสร้างการเล่นมุกตลก ล้อเลียนเรื่องการถูกแอบถ่ายในห้องน้ำ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่ว่ามันถูกเอามาใช้ในสื่อ ในทางที่มันไม่โอเค พอโพสต์ไปปุ๊บ นักกิจกรรมคนนั้นก็ถูกคอมเมนต์ด้วยเรื่องเพศสภาพของเขา เพราะว่าเพศสภาพไม่ได้ตรงกับเพศกำเนิด เค้าเป็นนักกิจกรรม LGBT+ ก็โดนบูลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา เรื่องเพศสภาพ ความรุนแรงแบบนี้ที่มันสืบเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศซึ่งมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อย่างผู้หญิงที่ออกมาพูดเรื่องของคอนเซ้นท์ เรื่องของการถูกละเมิดคอนเซ้นท์โดยคู่รักของตนเอง เราก็พบว่าเมื่อออกมาพูด มันก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เขายังไม่มีความเข้าใจเรื่องคอนเซ้นท์ เขาก็มองว่าผู้หญิงเหล่านี้ ทำไมไม่รู้จักปกป้องตัวเอง ทำไมไม่รู้จักปฏิเสธ แต่ว่าเราลืมไปว่าเรื่องของคอนเซ้นท์ มันมีเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจเข้ามาด้วย อย่างที่เจี๊ยบบอกว่า สำหรับเด็ก เราจะเห็นชัดว่าเขาไม่สามารถที่จะให้คอนเซ้นท์ได้ด้วยตนเอง เขาไม่มีอำนาจมากพอในเชิงของวัยวุฒิแล้วก็กายภาพ แต่สำหรับผู้ใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์การละเมิดคอนเซ้นท์กันในระหว่างคู่รักขึ้นมา คนก็จะมองว่าผู้หญิง จริง ๆ แล้วสามารถที่จะปฏิเสธได้ แต่เขาก็ลืมไปว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายที่เป็นคู่สัมพันธ์กัน มันมีหลายมิติ ผู้หญิงคนนั้นอาจจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของมิติทางเศรษฐกิจ ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ มันถึงได้นำมาสู่การออกกฎหมายลงโทษสามีที่ข่มขืนภรรยา


แล้วกรณีของการใช้ความรัก พอพูดถึงเรื่องนี้ ในวันวาเลนไทน์ ก็คือ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งใช้ความรักในการโน้มน้าว ต้องการขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย ก็จะใช้ Emotional Blackmail (การข่มขู่ทางอารมณ์) เช่น“ถ้าเธอไม่ให้ฉัน ฉันจะไม่รักเธอ” หรือว่ามีลักษณะของการใช้อารมณ์โกรธ เช่น “ไม่ให้ฉันใช่ไหม ฉันโกรธเธอแล้วนะ” ก็จะแสดงอารมณ์กระฟัดกระเฟียด หรือโกรธ ของเหล่านี้เมื่อมันมาโยงกับเรื่องออนไลน์ คือเราออกมาพูดเรื่องคอนเซ้นท์กันมากขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่เจี๊ยบบอกว่า ขบวนการประชาธิปไตยกำลังถึงจุดที่คนในขบวนการที่รู้สึกไม่ปลอดภัยกับความรุนแรงทางเพศในขบวนการประชาธิปไตย ออกมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการพูดเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อจะยุติปัญหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในขบวนการประชาธิปไตย แล้วการพูดเรื่องคอนเซ้นท์ ไม่ใช่แค่พูดเพื่อที่จะหาว่าคนที่กระทำความผิดเป็นใคร แต่ว่ามันจะต้องนำไปสู่การที่คนทุกคนจะเข้าใจว่าความสัมพันธ์ หรือความรัก หรือเซ็กซ์ ถ้ามันมาจากความยินยอมพร้อมใจ ถ้ามันมาจากการให้ข้อมูล ข้อมูลที่เป็นข้อมูลที่เปิด เป็นข้อมูลที่ไม่ใช่แบบพูดบางส่วนแล้วไม่บอกบางส่วน เช่น การที่เราบอกว่าเราจะขอมีเพศสัมพันธ์กับแฟนเรา แต่ว่าเราไม่พูดให้หมดว่า เรามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเรามีคู่รักอื่นอยู่แล้ว แล้วเรามาโกหกเขา เพื่อให้ได้การมีเพศสัมพันธ์กับอีกคนหนึ่ง คือมันพูดไม่หมด การพูดไม่หมดแล้วอีกฝ่ายหนึ่งยินยอม การให้คอนเซ้นท์โดยที่ไม่รู้ข้อมูลทั้งหมดอันนี้มันก็ไม่ถือเป็น คอนเซ้นท์ หรือการพยายามที่จะโน้มน้าวทุกวิถีทางเมื่อเขาปฏิเสธแล้วก็ร้องขออีก หรือว่าเอาสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่จะตามมาว่า ถ้าเกิดให้เขามีเพศสัมพันธ์ด้วยเดี๋ยวเราจะคบเป็นแฟนนะ เดี๋ยวเราจะดูแลนะ ของแบบนี้มันคือการโน้มน้าว มันไม่ได้มาจากการตัดสินใจเต็มร้อยของคู่สัมพันธ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเพศใดจะทำแบบนี้กับเพศใด คือมันไม่ใช่แค่ผู้หญิงกับผู้ชาย


ในคู่รัก LGBT+ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหญิง ชายชาย ถ้าเราโน้มน้าวกัน ถ้าเราโกหกกัน เพื่อที่จะมีเพศสัมพันธ์มันก็ไม่ใช่เซ็กซ์ที่ดี มันก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดี แล้วพอมันโยงไปถึงเรื่องออนไลน์ สุดท้ายแล้วขบวนการเคลื่อนไหวในออนไลน์มันก็จะโยงกลับมาที่การศึกษาของเรามันไม่ไปไหน เรื่องคอนเซ้นท์ในมหาวิทยาลัยก็ดี หรือในระดับมัธยมก็ดี มันมีหรือเปล่า เราอาจจะรู้ว่าเคยมีสอนการใช้ถุงยาง การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย แต่ว่าเราอาจจะไม่เคยสอนเรื่องคอนเซ้นท์กันในระดับโรงเรียนว่า จริง ๆ แล้วคอนเซ้นท์มันคืออะไร ระหว่างที่เราให้คอนเซ้นท์ไปแล้ว และเราเกิดอยากจะหยุดกิจกรรมนั้นมันเป็นไปได้ คนอาจจะคิดว่าให้คอนเซ้นท์ไปแล้วก็จบกัน เพราะว่าให้แล้วครั้งแรก ก็แปลว่าให้ไปตลอดจนจบกิจกรรม ซึ่งมันไม่ใช่ คอนเซ้นท์มันมีการหยุดระหว่างนั้นด้วย มันมีการเรียกคืนด้วย แต่เรื่องนี้ รายละเอียดพวกนี้มันไม่เคยมีใครบอก แล้วเราก็โตมากับสภาพสังคมที่มีความชายเป็นใหญ่สูงมาก เพราะฉะนั้นผู้ชายหลายคนก็จะคิดว่าตัวเองทำได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วมันต้องตกลงกันทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้หญิงหลาย ๆ คน เราก็ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ คนก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะปฏิเสธ แล้วถึงแม้ว่ารู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะปฏิเสธ แต่เมื่อปฏิเสธไปแล้ว อำนาจความเป็นชายที่ควบคุมเราอยู่ เขาก็ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นเลยเกิดเคสที่ว่า ต่อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาปฏิเสธ แต่ก็ถูกใช้กลวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย หรือใช้การ Blackmail ทางอารมณ์ มันก็เกิดการละเมิดคอนเซ้นท์ขึ้น


เพราะฉะนั้นเราคิดว่าปรากฏการณ์ที่มีการออกมาเรียกร้องให้ขบวนการประชาธิปไตยลุกขึ้นมาพูดเรื่องความรุนแรงทางเพศกันมากขึ้น ก็เพื่อที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจว่า คอนเซ้นท์เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดแล้วสำหรับการที่จะมีความสัมพันธ์กันต่อไป คอนเซ้นท์ในแง่หนึ่งก็หมายถึงความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อกัน ความปรารถนาดีต่อกัน คุณไม่ชอบอะไร คุณชอบอะไร เราบอกกัน แล้วเราหยุด เมื่อเราไม่ชอบสิ่งนี้ เราเคารพร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่เคารพร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง เซ็กซ์อันนั้น หรือความสัมพันธ์ ความรักอันนั้น มันก็จะกลายเป็นเรื่องของการควบคุม กลายเป็นเรื่องของการครอบงำ แล้วก็กลายเป็นความรุนแรงทางเพศ อันนี้ก็เป็นสถานการณ์รวม ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเราก็พยายามที่จะทำงาน เพื่อที่จะทำให้คนมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น




มลิวัลย์ เสนาวงษ์: จากการทำงานของปลา ก็ทำให้เราเห็นว่าความรุนแรงในพื้นที่ออฟไลน์กับความรุนแรงในพื้นที่ออนไลน์ไม่ได้แยกจากกันความคิดความเชื่อที่ควบคุมในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง หรือการที่สังคมบอกว่าผู้ชายสามารถสนองทางเพศได้ มีอำนาจในเรื่องเพศ มันก็ถูกถ่ายทอดเข้ามาในพื้นที่ของออนไลน์เช่นเดียวกัน แล้วก็สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ ที่เราได้เรียนรู้ จะเห็นว่าเรื่องของการทำความเข้าใจ คำว่าคอนเซ้นท์ ทั้งในพื้นที่ออฟไลน์แล้วก็ในพื้นที่ออนไลน์ แล้วก็โดยเฉพาะในขบวนการประชาธิปไตย เป็นประเด็นสำคัญที่มีหลาย ๆ คน มีนักเคลื่อนไหวหลาย ๆ คนออกมาเรียกร้อง เพราะว่าการเคารพกัน การเคารพในเนื้อตัวร่างกายกัน ควรจะเริ่มจากการมีคอนเซ้นท์หรือว่าความยินยอมพร้อมใจในการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งคำว่าคอนเซ้นท์มันไม่ใช่แค่การยินยอมอย่างเดียว แต่ว่ามันควรจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลของคู่สัมพันธ์ที่ชัดเจน แล้วก็เปิดเผยทุกส่วน แล้วก็มันควรจะเกิดขึ้นโดยปราศจากการข่มขู่ การโน้มน้าวใจ และการหลอกลวง เพราะว่า ถ้าหากว่าในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ ถ้าเกิดไม่มีความยินยอมพร้อมใจกัน ถ้าเกิดว่าไม่มีความเคารพต่อกัน หรือว่าความซื่อสัตย์ต่อกัน มันก็จะทำให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจที่จะควบคุมหรือกดทับอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วก็นำไปสู่ความรุนแรงทางเพศได้ แล้วก็ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ในระบบการศึกษาของบ้านเรา อาจจะพูดถึงเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย แต่ว่าไม่เคยสอนตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม กระทั่งเด็กอนุบาลที่จะสามารถพูดถึงคอนเซ้นท์ของตัวเอง ในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง รวมถึงเรื่องของคอนเซ้นท์ และเรื่องเพศด้วย แล้วความเข้าใจเรื่องคอนเซ้นท์ในสังคมปัจจุบัน ก็ยังไม่ครอบคลุม เพราะว่าคำว่าคอนเซ้นท์มันไม่ได้แค่เริ่มต้นการที่จะตกลงมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน แต่หมายถึงว่าในคู่ความสัมพันธ์นั้นเนี่ย สามารถที่จะบอกเลิกคอนเซ้นท์ ระหว่างการมีกิจกรรมนั้นได้ด้วย อันนี้คือเป็นความเข้าใจที่เราควรจะต้องตระหนัก ในเรื่องของคอนเซ้นท์


คราวนี้มาถึงคำถามสุดท้าย เราจะเห็นว่าสถานการณ์ปัญหาเรื่องของความรุนแรงทางเพศ ทั้งในพื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์ ในชุมชน ในประเทศ แล้วก็ในระดับโลก ยังมีอยู่เยอะมาก คราวนี้เราจะมีทิศทางในการทำงานหรือว่าขับเคลื่อนอย่างไร ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะเรียกร้องให้คนเคารพในเนื้อตัวร่างกายของกันและกัน โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้หญิง เด็กหญิง และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ


ส่งเสริมศักยภาพ ทำงานร่วมกับชุมชน ให้ข้อมูลรอบด้าน และฟังเสียงเจ้าของปัญหา สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียม



น้องแอร์: จากปัญหาที่เราพูดไปทั้งหมดก็คือ ผู้หญิงไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย ไม่มีสิทธิที่จะเข้าถึงระบบการศึกษา สิ่งที่ตัวเองได้ทำ รวมไปถึงได้ทำงานร่วมกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ที่เราทำมีอะไรบ้าง ก็คือเราเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งโรงเรียนผู้หญิง เพื่ออบรมส่งเสริมศักยภาพให้กลุ่มเด็ก กลุ่มเยาวชน LGBT+ กลุ่มผู้หญิงที่ไร้สัญชาติ ได้เรียนรู้สิทธิของตัวเอง ได้เรียนรู้สิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง เราสอนเรื่องของเจนเดอร์ให้ผู้หญิงว่า เพศหญิงเพศชายมันเป็นยังไง แล้วก็ทำให้เขาตระหนักถึงร่างกายของตัวเอง ให้เขารู้สึกรักตัวเอง แล้วก็ให้เขามองว่าเขาก็มีอำนาจที่อยากจะบอกว่าไม่กับสิ่งที่เขาไม่ต้องการ นอกจากเราจะอบรมเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย เรื่องเจนเดอร์แล้ว เราก็ให้เขาเข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นธรรมทางเพศ แล้วก็รวมไปถึงสิทธิความหลากหลายทางเพศด้วย จากการที่ให้เขาตระหนักถึงสิทธิพวกนี้ทำให้เขาได้มีพื้นที่ให้เขาได้ไปพูดถึงปัญหาของตัวเอง ที่เขาเจอมาอย่างยาวนาน ได้ไปพูดที่ประชุม ที่อบต. เป็นครั้งแรกของเขา แล้วก็จากมีครั้งแรกก็มีครั้งที่สองครั้งที่สาม ที่เขาได้พูดถึงปัญหาของตัวเองเป็นครั้งแรก แล้วหลังจากที่เขาได้พูดถึงปัญหาของตัวเอง เขาก็รู้สึกว่าเริ่มมีความเป็นผู้นำ เริ่มรู้สึกเข้มแข็งขึ้น เขาสอนให้ลูกรักตัวเองมากขึ้น เขาเริ่มปฏิเสธกับสิ่งที่ครอบครัวสอนแบบไม่ถูกต้อง เขาสนับสนุนให้ลูกเขาได้เรียนหนังสือได้มากขึ้น ผู้หญิงก็ระดมความคิดรวม ๆ กันว่าอยากทำอะไร ก็เกิดเป็นโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงร่วมสมัยสีรุ้ง เกิดเป็นรายได้ให้ผู้หญิงที่จะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ มีเงินที่จัดซื้อของชิ้นแรกของตัวเอง มีเงินที่จะส่งลูกไปเรียนหนังสือ มีเงินที่จะซื้อผ้าอนามัย มีเงินที่จะซื้อยาให้ตัวเองเมื่อยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน


แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เข้าพื้นที่ไปเก็บข้อมูลงานวิจัย โควิด-19 จากการเก็บข้อมูลงานวิจัย เราพบว่าในช่วงที่เกิดโควิด-19 ผู้หญิงเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องของโควิด-19 เลย แล้วเราในนามองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนก็เลยเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องของการป้องกัน การดูแล การสวมใส่หน้ากากอนามัย คือเราสอนทั้งเด็กแล้วก็ผู้ใหญ่ แต่เราไม่ได้สอนเป็นภาษาไทย เราสอนเป็นภาษาชนพื้นเมือง ทั้งภาษาพม่าและภาษากระเหรี่ยงให้เขาเข้าใจมากขึ้น เพราะในชุมชน เวลามีการประกาศเสียงตามสายในทีวีหรือว่าในสื่อต่าง ๆ มันจะมีแต่ตัวหนังสือและองค์ความรู้ที่เป็นภาษาไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ผู้หญิงเข้าไม่ถึงเลย พอผู้หญิงเข้าไม่ถึง ผู้หญิงก็จะเกิดความกังวลเรื่องของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แล้วทีนี้หลังจากที่เราไปเก็บข้อมูล เราไปให้ความรู้ แล้วก็ไปเก็บข้อมูลเรื่องของปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราพบว่าจากข้อมูลที่เราเก็บ เราพบว่า


ผู้หญิงเผชิญกับความอดอยาก ไม่มีรายได้ ผู้หญิงจากที่แทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ต้องตื่นเช้ามากขึ้นกว่าเดิม ต้องไปหาของในป่า ถึงรู้ดีว่าการไปหาผักในป่ามันมีความเสี่ยง แต่ว่าก็ต้องยอมเสี่ยง เพื่อที่จะได้ให้คนที่บ้านได้มีกิน แล้วภาระที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 คนในบ้านเริ่มป่วยกันมากขึ้น ก็ไม่มีเงินไปรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากว่าเวลาเราจะไปรักษาที่โรงพยาบาล เราต้องมีบัตรประชาชน ต้องมีบัตรทองแต่ว่าคนในชุมชนเราไม่มีสัญชาติ เข้าไม่ถึงการดูแล เข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการเยียวยาใด ๆ ของรัฐบาลทั้งสิ้น ทำให้คนในชุมชนเกิดความอดอยาก และในการไม่มีอาชีพที่ทำให้เกิดความอดอยาก ทำให้ผู้หญิงไม่มีเงินแม้แต่จะไปซื้อผ้าอนามัย แล้วจากงานวิจัยที่เราไปคุยกับผู้หญิง มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาได้พยายามที่จะสื่อสารกับหมอ แต่ด้วยการที่พูดภาษาไทยไม่ได้ แล้วสื่อสารไม่ตรงกัน แล้วเวลาจะไปก็ไม่ได้รับการอนุญาตจากครอบครัว ไมไ่ด้รับอนุญาตจากสามี เวลาจะไปแต่ละครั้งก็ต้องไปแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เนื่องจากว่าฮอร์โมนเขาไม่ปกติ ก็คือเมนส์มาอย่างนี้ตลอด แล้วเขาไม่มีเงินจะซื้อผ้าอนามัย สิ่งที่เขาหาวิธีให้ได้ดีที่สุดก็คือ ปล่อยให้ตัวเองท้อง แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าปล่อยให้ตัวเองท้อง อย่างน้อยก็คือไม่ต้องเสียเงินซื้อผ้าอนามัยในแต่ละเดือน เนื่องจากเมนส์มาตลอด อันนี้คือเป็นปัญหาใหญ่ที่เรารู้สึกว่า ผู้หญิงคนหนึ่งเมื่อไม่มีรายได้ แม้แต่เงินจะซื้อผ้าอนามัย เขาต้องปล่อยให้ตัวเองท้อง แล้วพอปล่อยให้ตัวเองท้อง สิ่งที่จะตามมาก็คือก็จะเผชิญกับความยากจนที่มีมากยิ่งขึ้น


แล้วหลังจากที่เราไปเก็บข้อมูลมา ก็ได้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม องค์กรสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อน ๆ ในเฟสบุ๊กบางส่วนที่ได้บริจาคให้เรา ก็ช่วยเหลือในชุมชนมากถึง 12 ครั้ง เราช่วยเหลือในเรื่องของข้าวสารอาหารแห้ง รวมไปถึงผ้าอนามัย เพื่อให้ผู้หญิงได้ใช้ในช่วงวิกฤติเ เพราะว่ามันไม่มีใช้ แล้วหลังจากที่เราเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้ว มีวัคซีนเข้ามาในชุมชน ช่วงที่มีวัคซีนเข้ามา สิ่งที่ผู้หญิงได้รับจากข่าวสาร จากทีวี จากเพื่อนบ้าน ก็คือฉีดวัคซีนแล้วกลัวตาย ไม่กล้าฉีดวัคซีน ด้วยความที่ข้อมูลไม่รอบด้าน ทำให้ผู้หญิงไม่ยอมฉีดวัคซีนกันทุกคน รวมถึงคนในชุมชนด้วย เพราะเราทำงานกับคนในชุมชนอยู่ตลอดเวลา เราจะติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ กับกลุ่มผู้หญิง ซึ่งที่เราทำก็คือเราไปจัดหาวัคซีนตัวที่ดีให้กับกลุ่มผู้หญิง ให้ผู้หญิงได้ฉีดวัคซีน ก่อนที่จะฉีดวัคซีนเราลงไปในพื้นที่ ไปให้ข้อมูลในเรื่องของวัคซีน ช่วงสถานการณ์โควิด ว่าถ้าเราไม่ฉีดวัคซีนมันจะมีผลอย่างไร ถ้าเราฉีดวัคซีนมันจะมีผลอย่างไร เพื่อให้คนเค้าตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ เราไม่ได้บังคับ เพราะเราทำงานแบบมีส่วนร่วม ให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของเขาเอง หลังจากที่เราไปให้ข้อมูล จากที่ทุกคนปฏิเสธที่จะไม่ฉีดวัคซีน เวลาเราไปที่บ้าน พอเราพูดถึงเรื่องฉีดวัคซีน ฉีดโควิด-19 ทุกคนเหมือนไม่ต้อนรับเรา ไล่เรา แต่ว่าเราพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เขาก็เริ่มพูดคุยกับเรา เริ่มยินยอมที่จะฉีดวัคซีนกันมากขึ้น

แล้วผู้หญิงบางส่วนก็ต่อสู้ด้วยตนเองที่จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็จะมีเรื่องของลูกที่ว่า ถ้าเป็นเด็กก็ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีน ต้องได้รับอนุญาตจากสามี อย่างที่บอกไปว่าเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงเป็นของสามี แต่เนื้อตัวร่างกายของเด็กเป็นของพ่อแม่ เด็กกลุ่มนี้ ก็เสี่ยงที่จะไม่ได้รับโอกาสฉีดวัคซีน เนื่องจากทางพ่อแม่ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็อาจจะไม่อนุญาตให้ลูก ๆ ได้ฉีดวัคซีนด้วย ก็เป็นปัญหาที่เราก็รู้สึกว่าต้องเข้าไปในชุมชนเพื่อที่จะให้ความรู้กับเด็ก อย่างเรามีหลานสาว แล้วก็อย่างที่บอกว่าองค์กรสร้างสรรค์ทำงานกับเด็กผู้หญิงด้วย แล้วเวลาที่มีข้อมูลอะไรเราก็จะให้ข้อมูลหลานคนนี้ทุกครั้ง แล้วเมื่อหลาน ๆ รู้ว่าจะมีวัคซีนสำหรับเด็กแล้ว หลานก็มาคุยกับเรา มาคุยกับแม่ว่าอยากฉีดวัคซีน พี่ ๆ แม่ ยาย ได้ฉีดวัคซีนแล้ว หนูอยากฉีดวัคซีนเพื่อที่จะได้ไปโรงเรียนได้ เรารู้สึกว่าถ้าเราได้ให้ข้อมูลกับเด็กที่ถูกต้อง เด็กเขาก็สามารถที่จะบอกได้ด้วยตัวเองว่าเขาต้องการฉีดหรือไม่ฉีด อันนี้จะเป็นข้อมูลที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันวิเศษมาก ๆ และมันก็ได้รับผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ ด้วย

และอีกหนึ่งสิ่งที่เราเผชิญก็คือ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ แล้วในระบบการศึกษาที่ให้เด็กเรียนออนไลน์ เด็กไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้เนื่องจากว่าเขาไม่มีอุปกรณ์ที่จะเรียนออนไลน์ ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น แล้วปัญหาที่เราพบมาตลอด จริง ๆ ก็คือมันมีมา 2 ปี 3 ปี แต่ว่าที่เราเก็บข้อมูลที่ 2 ปี คนในชุมชนเริ่มแต่งงานกันมากขึ้น การแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กมันไม่ใช่มีตั้งแต่บรรพบุรุษ มันไม่ได้มีตั้งแต่รุ่นแม่ แต่ว่ารุ่นปัจจุบันที่เกิดโควิด เด็กแต่งงานกันมากขึ้น พี่สาวเราที่เราพยายามให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ว่าการที่เราเป็นผู้หญิงเราก็มีสิทธิมีเสียง เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธ แต่แน่นอนว่าการที่เราอยู่ในชุมชนแบบนี้ ทุกคนมารวมตัวกัน มันก็เลยเกิดความกดดัน ไม่มีรายได้ที่จะเลี้ยงปากท้องของแต่ละคน คนในชุมชน ผู้ปกครองเชื่อว่าถ้าเราแต่งงานออกไป อย่างน้อยก็จะแบ่งเบาภาระคนในครอบครัว อย่างน้อยคู่ชีวิตของลูกจะมาเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ในความเป็นจริงคือไม่เลย ยิ่งเราแต่งงาน เรายิ่งเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม


แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด หนึ่งก็คือผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่วัยเด็ก ที่เราสำรวจมาก็คือแต่งงาน 12 คนแล้ว ซึ่ง 12 คน ตลอดระยะเวลา 2 ปีนี้มันไมใช่น้อย ๆ เลย ที่เด็กคนหนึ่งที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมาแต่งงาน เพราะมีความเชื่อที่ว่าจะหลุดออกระบบความยากจน คือเราคุยกับผู้หญิงที่แต่งงานไปด้วยร้องไห้ไปด้วยคนที่แต่งงานคือเขาไม่อยากแต่ง เขาไม่อยากแต่งเลย แต่ด้วยความกดดัน ความคาดหวังของพ่อแม่ ทำให้เขาต้องแต่งงาน แล้วมันรุนแรงมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา แล้วเราก็พยายามที่จะทำงานเพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ แล้วถามว่าจากปัญหาทั้งหมดเราเรียกร้องอะไร


ข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กหญิง ผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ



น้องแอร์ : เนื่องจากเราเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เราไม่ถูกยอมรับ ทำให้เราเข้าไม่ถึงสิทธิ์ทางด้านต่าง ๆ เราเรียกร้องให้


1. รัฐ ต้องยอมรับ การมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งอัตลักษณ์ ตัวตน ในทางปฏิบัติและในทางกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การที่เราเข้าถึงสิทธิ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับสัญชาติ สิทธิบนที่ดิน สิทธิในการครอบครองธรรมชาติ รวมถึงที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยของคนในชุมชน


2. สังคม โดยเฉพาะรัฐบาล ต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างเร่งด่วน และในการแก้ไขปัญหาต้องมีเจ้าของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย


3. ต้องมีทุนการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน เยาวชน LGBT+ แล้วในสถานศึกษา ต้องมีหลักสูตรสอนเรื่องเจนเดอร์ เนื่องจากเราเองก็ไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องเจนเดอร์มาตั้งแต่อนุบาล ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่รักเนื้อตัวร่างกายของเรา การมีประจำเดือน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือการมีประจำเดือน แล้วเราไม่สามารถที่จะปฏิเสธอะไรได้ เราอยากที่จะให้มีการสอนเรื่องเพศศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับ


4. ในระหว่างการศึกษา รัฐต้องมีมาตรการป้องกันเด็กที่หลุดออกจากการศึกษา โดยจะต้องมีทุนการศึกษาให้เด็ก ให้กับเยาวชน ในส่วนของผู้หญิงที่เป็นเด็ก เยาวชน หรือเด็กที่แต่งงานไปแล้วก็ยังต้องเข้าถึงระบบการศึกษา เราต้องสนับสนุน จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างตัวอย่างองค์กรสร้างสรรค์ที่เราได้พูดไปก็คือ เราก็จัดตั้งโรงเรียนผู้หญิง ทำให้คนที่เป็นเจ้าของปัญหาเข้ามาเรียน เข้ามาออกแบบหลักสูตรร่วมกัน แล้วดูว่าเขาต้องการอะไร ก็นำไปสู่ที่เราได้จัดตั้ง โครงการผ้าทอกะเหรี่ยงร่วมสมัยสีรุ้ง ที่เขาต้องการ


สุดท้ายก็คือในระดับครอบครัว ด้วยภาระหน้าที่ที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงต้องเผชิญเราเรียกร้องให้ผู้ชาย เรียกร้องให้ชุมชน เรียกร้องให้สังคม รวมไปถึงประเทศ มารับผิดชอบงานในบ้านร่วมกับผู้หญิง แล้วยุติความรุนแรงทางเพศทุกมิติ แล้วก็สิ่งที่อยากพูดมากที่สุดก็คือ


ข้อเสนอที่ 6 ก็คือข้อเสนอระดับชุมชน เนื่องจากผู้หญิงไม่มีเวลาแม้แต่จะรักตัวเอง ผู้หญิงไม่มีเวลาแม้แต่จะดูแลเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ไม่มีพื้นที่ออกกำลังกาย เราต้องการให้รัฐสนับสนุนพื้นที่ออกกำลังกายให้กับผู้หญิง เพื่อที่จะให้เขาได้มีเวลาไปออกกำลังกาย ว่ามันคือที่ออกกำลังกาย ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ต้องไม่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศ แล้วอยากจะบอกท้ายนี้ อยากจะบอกให้คนที่ฟังอยู่ว่า รวมถึงทุกคนว่า วันวาเลนไทน์มันเป็นวันแห่งความรัก มันจะดีมาก ๆ เลยถ้าเราเป็นผู้หญิงที่เราสามารถเลือกคู่ครองได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิง เราสามารถที่จะรักใครที่สามารถรักได้ ไม่ว่าจะมีความหลากหลายทางเพศ เราจะแต่งงานยังไง มันก็สิทธิของเรา เราจะรักเพศอะไร มันก็สิทธิของเรา มันคงจะดีมาก ๆ ถ้าเราเรียนรู้เรื่องเจนเดอร์ที่เราจะได้ปกป้องสิทธิ คุ้มครองตัวเอง ก็อยากจะให้วาเลนไทน์ปีนี้ อยากจะให้มีการยุติความรุนแรงทางเพศในทุกรูปแบบ


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: จะเห็นว่าข้อเรียกร้องของน้องแอร์เป็นข้อเรียกร้องที่สำคัญมาก รัฐและสังคมควรจะนำไปปฏิบัติหรือว่านำไปกำหนดให้เป็นนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องของการส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาของเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา แล้วก็ถูกผลักหรือถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อที่สังคมหรือว่าครอบครัว มองว่ามันเป็นหนทางของการหลุดพ้นจากความยากจน แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นการผลักให้ผู้หญิงต้องเข้าไปเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้น แล้วก็เรื่องของมาตรการป้องกันความรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรที่จะเข้ามาจัดการแล้วก็มีมาตรการที่ชัดเจน ในทุกระดับ รวมถึงเรื่องของการศึกษาที่เป็นการศึกษาในเรื่องของเจนเดอร์ แล้วก็เรื่องการเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของเด็ก ผู้หญิง และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วสุดท้ายก็จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงได้มีเวลาดูแลตัวเอง แล้วก็พัฒนาตัวเอง แล้วก็ออกกำลังกายเพื่อที่จะสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเพศแล้วก็มิติทางกาย มิติทางสังคม



เสียงของเจ้าของปัญหาต้องอยู่ร่วมในการแก้ไขปัญหาในทุกมิติ เสริมสร้างพลังอำนาจ และกลไกสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรม



มัจฉา พรอินทร์: จริง ๆ น้องแอร์ได้ทำให้เราเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะออกจากปัญหา นั่นก็คือการมีส่วนร่วมของเจ้าตัว แลละการมีส่วนร่วมของเจ้าตัว จะเกิดขึ้นไม่ได้ ภายใต้สภาพที่เขาถูกกดทับหลายชั้นมาก ตั้งแต่ระดับร่างกาย ความคิด ความเชื่อ แล้วคอนเซ้นท์ที่ไม่มีในสังคม มันไม่ถูกรับฟังตั้งแต่คนที่อยู่ในระดับรอบ ๆ ตัวเขา แต่ว่าคอนเซ้นท์ของชุมชนของเขาก็ไม่ได้ถูกรับฟังจากรัฐ หลักการที่สำคัญมากในการมีเพศสัมพันธ์ ในการมีเซ็กซ์ ก็คือคอนเซ้นท์


เมื่อหลายปีที่แล้วเราไปทำอบรมให้กับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น บางทีอาจจะอยู่ม.ปลายบ้าง แต่หลัก ๆ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พอเราถามเยาวชนว่า ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์อะไรคือสิ่งที่สำคัญบ้าง เขาก็ระดมความคิดออกมาหลายอย่างมากเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถุงยาง สถานที่ บรรยากาศรายล้อมเรื่องของการมีเซ็กซ์ เรื่องของการคุมกำเนิดก็มีออกมา แต่ไม่ว่าจะถามกลุ่มไหน ไม่ว่าจะจัดอบรมกี่ครั้ง สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงเลยในความเข้าใจของเยาวชนที่เราทำงานด้วย ก็คือการยินยอมพร้อมใจ หรือว่าความพร้อม แล้วก็การบอกว่าเขาต้องการหรือไม่ มันไม่ใช่สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาเลยแต่ก่อนนี้ เพราะฉะนั้นมันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้อง Empower (เสริมอำนาจ) ทั้งเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย ก็คือเยาวชนเด็กทุกคน ให้เขารู้ว่าเนื้อตัวร่างกายของเขาศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าใครก็จะมาละเมิดไม่ได้ ซึ่งเราไม่ได้หมายถึงแค่เด็กผู้หญิงที่จะต้องตระหนักถึงสิ่งนี้ แต่เราหมายถึงเด็กผู้ชายด้วย เนื้อตัวร่างกายของเขาก็ศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่ากันกับเด็กผู้หญิง และเมื่อเขาไม่ต้องการให้ใครมาละเมิดพื้นที่นี้ของเขา ในขณะเดียวกันเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าเขาจะไปละเมิดสิ่งนี้กับใครไม่ได้


เพราะฉะนั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้อง Imagination (จินตนาการ) ถึง ก็คือสังคมที่เด็กหญิงและเด็กชาย เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน เติบโตมาบนพื้นฐานของการถูกเคารพร่างกาย แล้วก็ความคิดความเชื่อของเขา ซึ่งต้องผ่านกระบวนการเสริมศักยภาพ เวลาเราบอกว่าเสริมศักยภาพ เราก็คิดว่าเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานไหม รัฐที่ไม่ตระหนัก ไม่เข้าใจวิธีเหล่านี้ อย่างเวลาเราจะทำงานกับกลุ่มพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง เราก็ไปเชิญนักวิชาการมาแต่คำถามก็คือว่าความรู้มันมีหลาย Approach งานวิจัยก็ส่วนหนึ่ง การเรียนการสอนก็ส่วนหนึ่ง แต่ความรู้ที่มาจากประสบการณ์ เขาสะสมมาทั้งชีวิต เขาเป็นเจ้าของปัญหา เขาเป็นเจ้าของความรู้ เราไม่เคยได้มีโอกาสให้เจ้าของปัญหา ได้ไปมีส่วนร่วมในการที่จะบอกว่าแนวทางที่เขาเสนอที่จะออกจากปัญหา มันคืออะไร เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นภาพความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่อง LGBT+


วันนี้พี่น้องชุมชนของเราออกไปเรียกร้องว่า วันนี้เป็นวันความรัก แล้วความรักของ LGBTIQ+ มันถูกเหยียบย่ำ ก็คือเราไม่สามารถมีหลักประกันว่า ความรักของเราจะนำไปสู่การได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน เราต้องการสมรสเท่าเทียม รัฐก็ไม่ฟังเรา วันนี้ก็มีการจดทะเบียนสมรสปลอม เราขอบอกว่ามันคือทะเบียนสมรสปลอม เพราะว่ามันไม่มีผลทางกฎหมาย เพราะว่ารัฐไม่ฟังเราว่าเราต้องการสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่พรบ.คู่ชีวิต แล้วในรัฐสภาเราก็จะเห็นว่า สส.ที่ลุกขึ้นมาพูดถึงพรบ.คู่ชีวิต หรือพูดถึงสมรสเท่าเทียม ในวันที่มีการพูดถึงประเด็นนี้ ทุกคนก็บอกว่า ความเข้าใจมันง่ายมากเลยก็คือบอกว่าสิ่งที่เราต้องการคือสมรสเท่าเทียม คือการนิยามว่าบุคคลสามารถสมรสกันได้ ซึ่งถ้ารัฐไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ รัฐก็ต้องถูก Empower (เสริมสร้างพลังอำนาจ) แล้วรัฐก็ต้องไม่ Ignorant (เพิกเฉย) แล้วการให้เจ้าของปัญหา เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันเพื่อที่จะหาทางออกต่อปัญหา มันคือหัวใจ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ หรือว่าไม่มีพื้นฐาน เราก็ต้องรับฟัง แล้วรับฟังจากใคร เรารับฟังจากองค์ความรู้ภายนอกสุด แต่หัวใจคือภายในที่เราต้องรับฟังเจ้าของปัญหา


แต่คราวนี้หลายคนก็บอกว่าสมมุติว่าเจ้าตัวเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว แล้วเราจะไปยังไงต่อ เรื่องพรบ.คู่ชีวิตจะไปยังไงต่อ เรื่องเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองจะไปต่ออย่างไร มันก็จะต้องมาพูดถึงเรื่องเครื่องมือการเป็นผู้หญิง ทำไมเขาถึงเข้าไม่ถึงการศึกษา แอร์ก็บอกว่า ไม่มีเงินทุน เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่จะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาก็คือการเข้าถึงทรัพยากร ที่ถ้าไม่มีในสังคม ภาษีของเรามันก็ต้องเอากลับมาทำให้เด็กผู้หญิงได้เข้าถึงการศึกษา แต่คราวนี้อย่าง LGBT+ เครื่องมือหรือวิธีที่จะให้สังคมเข้าใจคืออะไร เราก็พบว่า พอเราไปถามใครในนี้ เราก็แอบไปดูเฟสบุ๊กของเพื่อนที่พากันไปรณรงค์มาในเชียงใหม่ เข้าไปถามว่าสนับสนุนไหม สมรสเท่าเทียม สำหรับ LGBT+ คนเกือบ 100% ที่เราเห็นในภาพที่เพื่อนเราแชร์เครือข่ายหลากหลายทางเพศทางภาคเหนือ ที่เขาทำงานอยู่ตรงนี้ ก็ค้นพบว่าเขาก็สนับสนุน เพราะฉะนั้น ก็แปลว่าเครื่องมือที่เจ้าตัวเขาได้ลุกขึ้นมาบอกรัฐผ่านสื่อ ผ่านพื้นที่ออนไลน์ ผ่านเวทีสาธารณะ มันเพียงพอแล้ว แล้วอะไรที่มันกดทับเราอยู่ ก็คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ความไม่อยากเปลี่ยนแปลงให้คนเท่ากัน ให้คนได้มีศักดิ์มีศรี เพราะฉะนั้น เครื่องมือมันมีหลายอันมากเลย เพราะฉะนั้นเราก็อยากจะพูดถึงเครื่องมือที่จะบังคับให้รัฐ เคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเรา นั่นก็คือกลไกกฎหมายหรือกลไกที่มันมีความเป็นธรรม


ซึ่งกลไกกฎหมายในประเทศนี้ เราก็เห็นว่าพอมันเป็นเรื่องเพศ มันก็ไม่เป็นธรรมเพราะว่า ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งถูกสอนว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นความผิดของเธอเอง เพราะเธอแต่งตัวอย่างไร หรือเพราะเธอไปอยู่ที่ไหน เด็กผู้หญิงก็จะเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเขาเหรอ เพราะทุกคนพูดไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันถ้าเธอมีเสียงข้างในว่า ไม่ใช่สิ มันไม่ใช่ความผิดของฉัน แต่เธอจำเป็นต้องไป พิสูจน์ ว่า มันไม่ใช่ความผิดของเธอในระบบกฎหมาย เพื่อที่จะเอาคนกระทำ มาทำให้เกิดความเป็นธรรม แต่ปรากฎว่าเราเดินไปก็มีแต่ผู้ชายในระบบกฎหมาย แล้วเราก็รู้สึกว่าเมื่อเราไปนั่งอยู่ตรงนั้น เหมือนเราถูกข่มขืนอีกรอบหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่แปลก ว่าทำไมพอมันเป็นมิติทางเพศแล้วคนถึงไม่ค่อยพูด เพราะสุดท้ายเมื่อเราค่อย ๆ ผ่านกระบวนการไปจนถึงขั้นสุดท้าย สิ่งหนึ่งที่มันไม่ได้กลับคืนมาก็คือศักดิ์ศรีว่าเราเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้ถูกกระทำ เป็น Survivor ศักดิ์ศรีของเราคือมันไม่ใช่ความผิดของเรา นิ้วมือทั้งหมดมันไม่ควรถูกชี้มาที่เด็กผู้หญิงตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่เราจะใช้บังคับรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้หญิงมันก็ต้องใช้กลไกทั้งภายในและภายนอก กลไกภายนอกก็คือกลไกสิทธิมนุษยชน ชุมชนของพวกเราที่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ใช้กลไก UPR มา 3 รอบ แม้กระทั่งเรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องเด็กที่ไม่มีสัญชาติ เรื่องผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรง เด็กชายขอบเข้าไม่ถึงการศึกษา เรื่องโทษประหารยังมีอยู่ในสังคมไทย เรื่อง 112 เรื่องเด็กที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย เยาวชนที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตย ถูกข้อหาต่าง ๆ ซึ่งหลายอัน มันก็ไม่สมเหตุสมผล เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้กลไกอีกทาง แล้วรัฐก็ไปรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เราเผชิญอยู่ เพราะว่ามันคือ Mandate (พันธสัญญา) ของรัฐที่ต้องปกป้องเรา โปรโมทสิทธิของเรา แล้วก็ Fullfil หรือว่าเติมเต็มสิ่งที่มันยังขาดหาย เพื่อที่จะทำให้สังคมมันขับเคลื่อนไปข้างหน้า และทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน


เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐรับปากแล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือรัฐได้พิสูจน์ให้เราเห็นไหมว่า สถานการณ์สิทธิมันดีขึ้น มีการ Improvement มันมีการแก้ไขปัญหา มันมีการแก้ไขกลไกเพื่อให้เปิดกว้าง เพื่อให้ได้เข้าถึง แต่เรารู้สึกว่ามันยังไม่เป็นแบบนั้น มันยังไม่ได้ถูกแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดและมีส่วนร่วม เอาง่าย ๆ สมรสเท่าเทียมยังไม่มี เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องการปกป้องคุ้มครอง LGBT+ ที่เขาต้องการที่จะใช้ชีวิตแบบครอบครัว สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวมันไม่มี เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นตัวอย่างว่าเครื่องมือที่เราใช้มีอะไรบ้าง และเครื่องมือที่เราใช้ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนก็คือ เครื่องมือที่มาจากประสบการณ์จากเจ้าของปัญหา เรื่องการไร้สัญชาติ ขออนุญาตน้องแอร์ หลังจากที่ช่วยตนเองจนสามารถได้รับสัญชาติแล้ว น้องแอร์เข้าใจว่าขบวนการเป็นอย่างไร ไปช่วยคนในชุมชนได้เป็นร้อย ๆ คน อันนี้คือตัวอย่างว่าเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่เราจะต้องยอมรับ ก็คือประสบการณ์ ซึ่งพอมันเป็นมิติทางเพศ การแก้ไขปัญหาทางเพศ ประสบการณ์ของผู้หญิง ประสบการณ์ของ LGBTIQ+ มันจึงสำคัญ แล้วพอเรามีเครื่องมือแล้วเราก็คิดว่าแล้วไปยังไงต่อ เราก็จะบอกว่า นี่ไง เราต้องการพัฒนาระบบกฎหมาย เราต้องการให้ภาษีมันถูกกลับมาใช้เพื่อที่จะสร้างสวัสดิการ เราต้องการที่จะ Reclaim (เรียกคืน) ความหมาย ที่มันถูกกดขี่ไว้ อย่างเช่น ร่างกายศักดิ์สิทธิ์ เราต้องเคารพ คอนเซ้นท์หรือการยินยอม หมายถึงการยินยอมโดยที่มีข้อมูลอย่างรอบด้านในการตัดสินใจ แล้วเขาจะบอกว่าไม่ ก็คือไม่ หรือบอกว่าใช่ ก็ได้ อยากจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วไม่ได้หมายถึงแค่มิติร่างกายของเขา หรือความเป็นเพศของเขาเท่านั้น แต่มันหมายถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย รัฐไปทำเขื่อน รัฐจะไปเอาทรัพยากรออกมา นายทุนจะไปลงทุน รัฐร่วมมือกับนายทุนเปิดธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้มันต้องมีคอนเซ้นท์ ถ้าประชาชน ถ้าชนเผ่าพื้นเมือง พี่น้องชนกลุ่มน้อย หรือใด ๆ ก็ตามอยู่ตรงนั้น ส่วนใหญ่คนที่ถูกแย่งชิงทรัพยากรจะเป็น กลุ่มคนชายขอบใช่ไหม ถูกผลักให้เผชิญกับความยากจน เพราะฉะนั้นเสียงก็ถูกทำให้เงียบอยู่แล้วในสังคม เพราะฉะนั้นเวลาถูกละเมิดแบบนี้ ก็ยังไม่ได้รับการมองเห็น แต่อย่างไรก็ดีเราจะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือหัวใจ ของการที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงว่าทรัพยากรของเขา จะมาเอาไป คอนเซ้นท์มีหรือไม่ ถ้าไม่มี รัฐก็ไม่มีสิทธิที่จะมาทำแบบนั้นในแผ่นดินของพี่น้อง ชนเผ่าพื้นเมือง



ความรักต้องไม่ใช่ความรุนแรง การควบคุมและครอบงำ



แล้วสิ่งที่เราต้อง Reclaim ความหมายมาในวันนี้ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก การมีเซ็กซ์โดยปราศจากคอนเซ้นท์ คือการข่มขืน และคอนเซ้นท์จะมีไม่ได้ ถ้ามีข้อมูลไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็คือความรักจะต้องอยู่ที่การเคารพ และความยินยอมพร้อมใจ ความรักต้องไม่ได้หมายถึงการครอบงำ การ Manipulate (การจัดการ) การ Dominate (การควบคุม) แต่ว่าความหมายของมันก็คือ การที่เราจะต้องใช้พลังอำนาจแบบสนับสนุนกันและกันให้ตัดสินใจร่วมกัน


เพราะฉะนั้นความรักต้องไม่หมายถึงความรุนแรงทางร่างกาย เราต้องไม่ไปทำร้ายร่างกายเขา ต้องไม่หมายถึงการควบคุมมิติทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ไม่ให้ออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีสิทธิในการตัดสินใจที่จะใช้ทรัพยากร เพราะฉะนั้นผู้หญิงจะต้องไม่ถูกควบคุมทรัพยากร แต่ต้องเอื้อให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันในการใช้ทรัพยากร เพราะฉะนั้นเราต้อง Reclaim หลายความหมายกลับมาว่า


ความรักคือการดูแลซึ่งกันและกัน ความรักคืออำนาจร่วม ความรักต้องไม่กระทำความรุนแรง แล้วก็มากไปกว่านั้น ในขบวนการเคลื่อนไหว เราจะเห็นว่าเมื่อเราบอกว่าหัวใจคือเจ้าของปัญหา แล้วตอนนี้สังคมไทยไม่ได้เผชิญแค่มิติเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเป็นปัญหาระดับโลกใช่ไหม ไม่ใช่เชิงแค่ปัญหาวิกฤติในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งมันก็เป็นวิกฤติระดับโลกเช่นกัน หลายประเทศก็เผชิญอยู่ แล้วความขัดแย้ง สงคราม หลายคนก็บอกว่าเราไม่มีสงครามในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ว่าสถานการณ์ในชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมากกว่า 10 ปี ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นหมื่น ๆ คน ผู้ได้รับผลกระทบทั้งเด็ก ทั้งผู้หญิง ทั้งคนในชุมชน สถาบันที่ต้องเอาทรัพยากร ภาษีมาใช้ ในการที่จะซื้ออาวุธ สิ่งเหล่านี้มันยืนยันว่า ความรุนแรงมันมีและมันเป็นรูปแบบของการใช้อาวุธและสงคราม แต่สิ่งที่คนไทยมักจะลืมก็คือว่า 70 กว่าปีที่ผ่านมาชายแดนฝั่งตะวันตก แม่ฮ่องสอน ตาก มีสงครามมาตลอดเลย แล้วพี่น้องที่อยู่สองฝั่งฟากแม่น้ำสาละวิน คือพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดินก่อนที่จะมีรัฐชาติ เพราะฉะนั้นการบอกว่าพี่น้องเหล่านี้ ไม่มีสัญชาติไทย เป็นคนอื่น จากการทำงานของเราก็บอกว่า เขาไม่ใช่คนอื่น เขาอยู่ตรงนั้นก่อนรัฐชาติ แต่พอมาแบ่งเส้นสาละวินแล้วมีสงครามขนาดนั้น เจ้าของบ้านหนีสงคราม ถ้าเกิดตรงนั้นก็ต้องหลบตรงนี้ ถ้าเกิดตรงนี้ก็ต้องหลบตรงนั้น กลายเป็นว่าต้องหาที่ปลอดภัยอยู่มา 70 กว่าปี แล้ววันหนึ่งรัฐก็ไปสำรวจแล้วบอกว่า คุณเป็นคนอื่นในแผ่นดินของเขาเอง นี่ก็คือปัญหาว่าเมื่อไม่มีสัญชาติ ก็เกิดความซับซ้อนของการเข้าถึงสิทธิในฐานะพลเมือง เพราะว่าถูกพรากไปด้วยบัตรประชาชน



Re-Claiming Re-Calling and Re-Building



เพราะฉะนั้นเราก็เลยบอกว่า คำถามก็คือว่า เราจะเปลี่ยนทุกอย่างพร้อมกัน เราเรียกร้องอะไร เราก็เรียกร้องการ Re-Claiming ความหมายใหม่ขึ้นมาจากเจ้าตัวเค้าว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร เขาต้องการอะไร Re-Calling หรือเรียกร้องให้ทุกสถาบันที่อยู่รายรอบนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติทางเพศ จุดเริ่มต้นเลยก็คือเจ้าตัวเขา ต้องรู้สิทธิเหมือนกัน เวลาเราพูดถึงเรื่องสิทธิ หลายคนมองไกลตัวว่าไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียวไหม สำหรับเราการรู้สิทธิคือการ Empower เวลาเราบอกเด็กว่าเนื้อตัวของหนูศักดิ์สิทธิ์ แล้วเขาจำได้ เขาก็จะบอกว่า อย่ามาตัดผมเขานะ เขาจะบอกว่าอย่ามาตีเขานะ หรือแม้ผู้หญิงบางคนที่เราทำงานด้วย เพราะคำว่าสิทธิมันไม่ได้มีอยู่ในสังคม เขาไม่เคยมีประสบการณ์ถูกเคารพแบบนั้น เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการถูกทำร้ายร่างกายมันคือการถูกละเมิดสิทธิ เพราะฉะนั้นการบอกว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร สิทธิผู้หญิงคืออะไร มันคือการทำให้ผู้หญิงกลับมารักตัวเอง กลับมาดูว่าเราก็มีศักดิ์ศรี แล้วมันเป็นไพออริตี้ (การให้ความสำคัญ) ในการที่เราจะต่อสู้ เพราะฉะนั้นเรา Re-call เจ้าตัวให้เขาได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการที่จะมารู้สภาพปัญหาของตัวเอง แล้วก็ตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง เพื่อร่วมขับเคลื่อน แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือชุมชนเองก็ต้องสร้างความปลอดภัย ต้องการันตีความปลอดภัยให้ผู้หญิง ให้เด็ก ถ้ามีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น มันต้องไม่ใช่ปัญหาภายในครอบครัว แต่ว่ามันคือปัญหาชุมชน แล้วเราต้องช่วยกันเข้าไปดูว่ามีเด็กคนไหนถูกครอบครัวทำร้าย มีผู้หญิงคนไหนถูกครอบครัวทำร้าย มี LGBT+ คนไหนถูกครอบครัวปฏิเสธ แล้วเราต้องบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ชุมชนของเราต้องดูแลกัน เราต้อง Re-Call ให้รัฐมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแบบนี้เป็นต้น เปลี่ยนแปลงกฎหมาย แก้กฎหมายที่มันไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้ง มันจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ แล้วก็มีหลักการที่มันไม่บิดไม่เบี้ยว เพื่อที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แล้วประชาธิปไตยที่เราว่าก็ต้องแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แล้วก็การันตีความปลอดภัยของผู้หญิง แล้วเราก็เรียกร้องให้เกิดความเข้าใจแบบนี้ ไม่ใช่แค่ในระดับชุมชน ระดับประเทศเท่านั้น แต่ว่าเราก็สามารถช่วยเหลือเพื่อน ๆ ได้อย่างเช่นสถานการณ์ในพม่า แม้กระทั่งยูเครนที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ ผู้หญิงเอง LGBT+ เอง ที่อยู่ไกลขนาดนั้นเขาอยู่ยังไง เขาต้องการความช่วยเหลืออะไรรึเปล่า เราเองเสียงเล็ก ๆ อาจจะเขียนเรื่อง Human Rights ว่า เราเป็นห่วงเพื่อนที่อยู่ที่โน่นแล้วถ้าเราทั้งโลกช่วยกันส่งเสียง เสียงของคนทั้งโลกก็อาจจะมีผล ทำให้คนที่โน่น ซึ่งอยู่ในภาวะสงคราม และกำลังเผชิญกับความเกลียดชัง เพราะเป็น LGBT+ แล้วก็อาจจะทำให้เขาปลอดภัยมากขึ้น


เพราะฉะนั้นเรา Re-call ทุกคน ทุกสถาบันในสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ตอนนี้ต้องกลับมาปฏิรูป ปฏิรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับเด็ก กับชุมชน แล้วก็กับสภาพปัญหา ไม่ใช่ใช้ วิธีแก้ปัญหา เดิม ๆ แล้วหลังจากเรา Recall แล้ว เราต้องการ Re-Build ระบบยุติธรรมสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความเป็นธรรมของประเทศ จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นธรรมในสังคม ถ้าเราเรียกร้องสิทธิให้คนยากคนจน ถ้าเราเรียกร้องสิทธิให้ชนเผ่าพื้นเมือง ถ้าเราเรียกร้องสิทธิให้แรงงานข้ามชาติ เราต้องไม่ลืมว่าผู้หญิงที่อยู่ในบริบทนั้น ๆ เขาอาจจะเผชิญกับความรุนแรงอยู่ แล้วแม้ในความเป็นธรรมเหล่านั้นจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเขายังเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ มันก็ไม่ได้เรียกว่าความเป็นธรรม


สุดท้ายก็อยากจะให้กำลังใจ กับคนที่ลุกขึ้นมาทำงานแบบนี้ ก็คืองานที่ต่อสู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศ ขอให้พวกเราได้มีความปลอดภัยในชีวิต โดยคนรอบตัวของเรามีความเข้าใจประเด็นของเรามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การได้ดูแลตัวเองทรัพยากรที่แหล่งทุน ทรัพยากรที่สังคมจะต้อง Contribute ไปในงาน Human Rights มันมีความจำเป็นมาก ๆ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างยั่งยืนและสิ่งที่สำคัญที่ตอนนี้กำลังขับเคลื่อนก็คือเรื่อง Foundation (การวางรากฐาน) ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนเพื่อการศึกษาก็คือพื้นฐานในเรื่องของ Self Care (การดูแลตัวเอง) ตอนนี้เราต้องการทรัพยากร เราต้องการวันหยุดพักผ่อน เราต้องการค่าแรงเป็นธรรม เราอาจจะตายก่อนได้เห็นความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นเราต้องการมี Wellness (ความเป็นอยู่ที่ดี) เราต้องการมีทรัพยากรเพื่อที่จะให้เราทำงาน มีศักดิ์มีศรี แล้วเรามีอายุยืน ๆ ดูความพังพินาศของระบอบเผด็จการ ดูความพังพินาศของระบบชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ เราจะได้ยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงสังคม


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: จะเห็นว่าทิศทางการทำงานแล้วก็การขับเคลื่อนเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้วก็ความเป็นธรรมทางเพศของพี่เจี๊ยบ จะมีหัวใจสำคัญก็คือการรับฟังปัญหาของเจ้าของปัญหา และการเปิดพื้นที่ให้เจ้าของปัญหาได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอทางออกของปัญหา การเปิดพื้นที่นั้นรวมไปถึงการสร้างพลังอำนาจหรือว่า Empowerment ให้กับเจ้าของปัญหา เพื่อที่เขาจะได้สามารถมองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วก็จะเห็นว่าข้อเรียกร้องของพี่เจี๊ยบก็คือมีตั้งแต่ข้อเรียกร้องในระดับบุคคล ระดับปัจเจก แล้วก็เจ้าตัวเองในมิติทางเพศ เจ้าตัวเองจะต้องตระหนักรู้ ถึงสิทธิใน เนื้อตัวร่างกายของตัวเองแล้วก็เห็นคุณค่าของตัวเอง รักตัวเองแล้วก็ควรที่จะได้รับการเสริมสร้างอำนาจเพื่อที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แล้วก็ชุมชนเองก็จะต้องรับรองความปลอดภัยของผู้หญิง แล้วก็คนที่เป็น LGBTIQ+ ด้วย รวมถึงรัฐเองก็จะต้องเปลี่ยนแปลงให้มีระบบการเมืองที่เป็นธรรม โปร่งใส มีการเลือกตั้งที่ยอมรับได้ โปร่งใส แล้วก็ประชาธิปไตยต้องคำนึงถึงปากท้องและความปลอดภัยของผู้หญิงแล้วก็คนที่มีความหลากหลายทางเพศ สถาบันการศึกษาเองก็ต้องปฏิรูปโดยให้เด็กมีส่วนร่วม แล้วก็ให้ความสำคัญกับความต้องการของเด็ก แล้วก็จะเห็นว่าสิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากให้กับทุกคนฃ สิ่งสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องของความยุติธรรมด้วย เพราะว่าเรื่องความเป็นธรรมทางเพศมันเกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรม ระบบยุติธรรมเองจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม โดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง LGBT+ หรือว่าชนเผ่าพื้นเมือง แล้วสุดท้ายคนที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศ จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ในการดูแลตัวเอง มีความปลอดภัยในการทำงาน และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นที่จะต้องมีสุขภาวะที่ดี มีการดูแลตัวเองที่ดี ซึ่งรัฐจะต้องสนับสนุนทรัพยากร มีเวลาให้คนทำงานได้ดูแลตัวเอง แล้วที่สำคัญก็คือมีความปลอดภัย ที่จะคุ้มครองสิทธิของคนทำงานด้วย



รับฟังผู้ที่อยู่ในปัญหา สนับสนุนและเสริมสร้างอำนาจ เคารพเสียงของผู้ได้รับผล

กระทบจากความรุนแรง


ดาราณี ทองศิริ: สิ่งที่เราคิดว่ามันขาดอย่างมากเลยก็คือเรื่องของการรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเพศ คือถ้าให้เราสังเกต ถ้าเราติดตามข่าวเราจะเห็นเลยว่ามีม็อบชาวนา มากินนอนอยู่ตรงข้าง ๆ ที่ทำเนียบใช่ไหม ตรงสถานที่ไหนสักที่หนึ่ง มาอยู่กันนานมากแล้ว คำถามก็คือว่ามีใครบ้างที่ฟังเสียงคนเหล่านี้ ซึ่งเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แล้วสำหรับคนที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ตัวเองไม่ได้เป็นชาวนา ไม่ได้ถูกเอาเปรียบ อยู่ได้สบายดี มีเงินเดือน มีตำแหน่ง มีบ้านอยู่ แล้วก็ไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน เขาก็จะมองไม่เห็นคนเหล่านี้อยู่แล้ว ทีนี้คำถามก็คือ เมื่อเรามองเห็นเสียง ที่มันเป็นเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะจากความรุนแรง จากไหนก็ตาม เรารู้สึกว่าสังคมไทยให้การรับฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยเกินไป โดยเฉพาะเรื่องเพศ เรื่องของคนชายขอบ เรื่องที่ดิน เรื่องคนไร้สัญชาติ เรื่องผู้พิการ เรื่องผู้สูงอายุ เราเป็นประเทศที่ให้เงินผู้สูงอายุแค่เดือนละ 600 ใช่ไหม หรือ 800 ตามอายุใช่ไหม คือเราคิดสภาพว่าถ้าเราต้องอยู่ให้ได้ด้วยเงิน 600 บาทต่อเดือน คือมันเป็นไปไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเงินของเด็กแรกเกิด 600 คือมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าการออกนโยบาย การออกกฎหมายเหล่านี้ ได้ฟังเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้จริง ๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้พิการ ใช้ชีวิตให้ได้ด้วยเงินเพียงแค่นั้น


เช่นเดียวกันกับเรื่องของความรุนแรงทางเพศ หลายครั้งหลายหนที่เราพบว่ามีใครสักคนลุกขึ้นมาบอกว่า เราถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ แล้วเราไม่ยอม แล้วเราต้องการคำขอโทษ แล้วเราต้องการความรับผิดชอบ เราต้องการกฎหมายที่มาปกป้องคุ้มครอง เราก็พบว่ามีคนจำนวนมากที่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับผลกระทบ หรือว่าตัวเองไม่ใช่ผู้เสียหาย หรือแม้กระทั่งตัวเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้กระทำความรุนแรง ก็มักพยายามที่จะปิดเสียงเหล่านี้ลงทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่า อย่าพูดเลย เดี๋ยวเสียขบวนการประชาธิปไตย หรือปัดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวให้ไปตกลงกันเอง อย่าทำให้มันเป็นเรื่องสาธารณะ อย่าเอาเรื่องข้างในออกมาข้างนอก เวลามีเพศสัมพันธ์กันก็ทำกันสองคนแล้วเวลามีปัญหาทำไมถึงเอาออกมาพูดข้างนอก คือการผลักภาระให้ปัจเจกมันจะเป็นแบบนี้เสมอ ถ้าจนใช่ไหม ก็แปลว่าไม่ขยันทำงานสิ โดยไม่ได้ดูโครงสร้างของสังคมเลยว่ามันกดทับเขาอยู่ อย่างเรื่องของโครงสร้างสังคม ระบบทุนนิยมมันกดให้เราต้องได้รับค่าแรงเท่านี้ มันกดให้เราต้องทำงาน 24 ชม. ก็ไม่พอ แต่ว่าคนก็มักจะมองไม่เห็นโครงสร้างเหล่านี้ที่มันปรากฏอยู่เบื้องหลัง มันเป็นรากฐานของความไม่เป็นธรรมทั้งหมดในสังคม


เรื่องเพศคนก็จะมองว่าเธออ่อนแอเธอไม่เข้มแข็งมากพอที่จะพูดว่า "ไม่" โดยที่คุณไม่รู้เลยว่า โครงสร้างสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ มันบอกให้ผู้ชายทำอะไรได้บ้าง บอกให้ผู้หญิงทำอะไร และไม่ทำอะไร เพราะฉะนั้นคนที่มองว่าเป็นภาระของปัจเจกเท่านั้น ที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่าอ่อนแอ อย่าทำตัวเป็นเหยื่อ โดยที่ไม่มองโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลัง เรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน ในการผลักภาระให้ปัจเจกในทุกเรื่องแบบนี้ มันเลยทำให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนที่มักจะถูกทำให้เป็นคนชายขอบเสมอ เขาก็ลุกขึ้นมาสู้อยู่คนเดียว อยู่ลำพัง เมื่อสู้ไม่ไหวก็ปิดปากตัวเองไป

เพราะฉะนั้นอันแรกเลยที่เราอยากเรียกร้องกับสังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือว่าอยู่ในภาคส่วนใดก็ตาม อยากจะให้ฟังคนที่เขาออกมาพูด ฟังเขาว่าเขาอยากจะให้แก้ปัญหาอะไร มีอะไรเกิดขึ้นกับเขา ฟังโดยที่ไม่ได้ Judge (ตัดสิน) หรือตั้งคำถามกับเขาว่า ออกมาพูดนี่คืออยากจะสร้างเรื่องหรือเปล่า หรือเรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะตัวเขาเอง คนอื่นไม่เกี่ยว ไม่ต้องเข้ามารับผิดชอบ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม ๆ ในทุกมิติ เราไม่ชอบที่รัฐทำร้ายเรา เราอยู่ในรัฐที่เป็นเผด็จการ ไม่เคยฟังเสียงเรา ไม่ให้เราเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม ไม่ยอมผ่านกฎหมายที่เราต้องการ เช่น กฎหมายลดการผูกขาดการผลิตสุรา เราต้องการกฎหมายที่ดิน เราต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่รัฐไม่เคยฟังเสียงเรา เมื่อเราลุกขึ้นมาพูดมันก็จะบอกว่า LGBT+ ก็อยู่กันได้สบาย ไม่ได้มีกฎหมายลงโทษอะไร คุณก็อยู่กันไป ทำไมจะต้องมาทำให้เป็นเรื่องวุ่นวาย เช่นเดียวกันกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เมื่อมีคนจำนวนมาก ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยเลยนะ คือในแต่ละวัน ความรุนแรงทางเพศมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ว่ามันจะเป็นข่าวในทีวี จะเป็นข่าวในกรณีถูกข่มขืน แบบที่เห็นได้ชัด ในกรณีที่ยิงผู้หญิง ทำร้ายร่างกายกัน ความรุนแรงในครอบครัวมันเป็นข่าว แต่สิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ในแต่ละคู่ของเรา มันเกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันจะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ แต่ว่าความรุนแรงที่คนจะคิดว่ามันไม่รุนแรง เช่นการละเมิดความยินยอม ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่อะไรได้หลายอย่าง เช่น การไม่ยอมใส่ถุงยาง ก็อาจจะนำไปสู่การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การท้องที่ไม่พึงประสงค์ แล้วก็นำไปสู่การตัดสินใจที่จะทำแท้งของผู้หญิง โดยที่ก็ไม่ปลอดภัย เข้าไม่ถึงการบริการที่ปลอดภัย ก็สูญเสียชีวิต อันนี้เป็นเรื่องของฐานคอนเซ้นท์ที่ถูกละเมิดไปแล้วอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในระดับอื่นได้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่ คอนเซ้นท์ถูกละเมิดแล้วจบไป แต่ว่าสังคมมักจะไม่ค่อยเข้าใจ


ข้อเรียกร้องคืออยากให้ฟังเสียงของคนที่มีประสบการณ์ แล้วก็ดูว่าทำไมเขาถึงได้ออกมาพูด แล้วเราทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะสนับสนุน ความยุติธรรมนั้น กฎหมายอะไรที่ยังไม่เป็นธรรม ยังไม่มีการปกป้องคุ้มครอง เราก็ต้องช่วยกันผลักดันให้มันเกิดกฎหมาย แล้วก็ในระดับของสังคม ตราบใดที่เรายังไม่มีพื้นที่ให้ผู้เสียหายได้ลุกขึ้นมาพูด ตราบใดที่เราผลักภาระให้ผู้เสียหายว่าไปจัดการกันเอง เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขไม่ได้เลย ถ้าเราบอกว่าสังคมไม่มีส่วนร่วม เพราะว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแบบชายเป็นใหญ่รักต่างเพศ เพราะฉะนั้นคอนเซ้นท์ของเราถูกละเมิดโดยคนที่ไม่เข้าใจว่าคอนเซ้นท์คืออะไร คอนเซ้นท์ของเราถูกละเมิดโดยได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่บอกว่า นี่มันไม่จำเป็น ว่าการโน้มน้าวไม่ใช่เรื่องของการบีบบังคับ สังคมก็จะคอยออกมาปกป้องคนที่ละเมิดคอนเซ้นท์อยู่ตลอดเวลา ก็เหมือนกับคนที่สนับสนุนคณะรัฐประหารว่า มันมีคณะรัฐประหารเพราะว่ามันจะทำให้เราปลอดภัย อย่าไปลงโทษรัฐประหารเลย รอไปอีก 6-7 ปี เราก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น จะมีคนจำนวนมากที่ออกมาปกป้องผู้กระทำความผิด แล้วก็ออกมาบอกให้ผู้ที่เรียกร้องเงียบไป Put in the place กลับไปอยู่ที่ของคุณ ไม่ต้องออกมาพูดอะไรมาก อยู่เฉย ๆ ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง


เราเรียกร้องให้สังคมต้องยอมรับเสียง ที่มันเกิดขึ้น แล้วก็ช่วยกันเปลี่ยนแปลงความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่เป็นความเป็นธรรมในทุกมิติ เพราะฉะนั้น ในอนาคตสิ่งที่เราอยากจะเห็น อยากจะตั้งเป้าว่าจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนน่าจะมีส่วนร่วมได้ คือการทำความเข้าใจในระดับปัจเจก ทำความเข้าใจว่าคอนเซ้นท์คืออะไร สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของตัวเองคืออะไร เราไม่อยากให้คนอื่นมาละเมิดเราอย่างไร เราก็จะต้องไม่ไปละเมิดคนอื่นอย่างนั้นด้วย เมื่อเรารู้จักตัวเองแล้ว ถ้ามีพลังอำนาจภายในมากพอ เราก็ไปเสริมพลังอำนาจให้กับคนอื่น โดยที่ไม่ใช่เป็นการไปชี้หน้าด่าว่าทำไมเธอไม่เข้มแข็งแบบฉันล่ะ


แต่ถ้าเราเข้มแข็งแล้ว เราจะต้องทำให้คนที่เขายังรู้สึกว่าอำนาจน้อย ยังรู้สึกว่าเรายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ด้วยการฟังเขา ฟังเขาว่าเขาต้องการอะไร สิ่งไหนที่เขาไม่ต้องการ แล้วเราก็ช่วยกันเสริมสร้างอำนาจให้กับผู้หญิง คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ชายที่อาจจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ เสริมสร้างศักยภาพให้เขาลุกขึ้นมาที่จะปฏิเสธ หรือลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเขาได้ ทีนี้มันก็เลยจะต้องขับเคลื่อนกันไปทั้งในระดับปัจเจก ในระดับของสังคม และก็ไปสู่ในระดับของกฎหมาย ในระดับรัฐที่มันจะต้องเข้ามาเห็นว่าความสำคัญของความรุนแรงทางเพศ มันไม่ได้ส่งผลแค่ปัจเจก แต่มันส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง


แล้วระบอบประชาธิปไตยจะไปไหนไม่ได้เลยคือถ้าคุณได้ประชาธิปไตยมา แต่เรื่องเพศยังล้าหลัง มันก็จะฉุดดึงประชาธิปไตยให้กลายเป็นประชาธิปไตยแบบเหยียดเพศ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อยากเห็นประชาธิปไตยแบบเหยียดเพศ เกิดขึ้นในประเทศไทย เราจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด จะไม่มีคำพูดอีกต่อไปแล้ว ที่บอกว่าเอาประชาธิปไตยก่อน แล้วเรื่องเพศจะตามมา เรื่องที่ดินจะตามมา คนไร้สัญชาติจะตามมา มันเป็นลำดับแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าทุกคนเดือดร้อนในทุก ๆ มิติ มันจะต้องไปพร้อม ๆ กัน ก็ฝากสังคมให้กลับมาทบทวนวิธีคิดที่ว่ามันเป็นแค่เรื่องของปัจเจก แล้วก็ช่วยกันรวมพลังกันเปลี่ยนแปลงความไม่เป็นธรรมในสังคมในทุก ๆ มิติ


มลิวัลย์ เสนาวงษ์: สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนของปลา ก็ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการรับฟังเสียงของคนที่เป็นเจ้าของปัญหา โดยทั่วไปคนในสังคมก็รู้สึกว่าปัญหานั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วก็มักจะละเลยกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิไม่ว่าจะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ชาวนายากจน หรือว่าแรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ ถ้าสังคมรับฟังปัญหาของคนเหล่านี้ โดยที่ไม่ตัดสินแล้วก็ไม่ตั้งคำถาม แบบไม่มีอคติ มันจะทำให้เราเริ่มเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม ๆ ที่มีในสังคม แล้วที่สำคัญก็คือ เราจะเห็นว่ารัฐที่เป็นเผด็จการก็ไม่ฟังเสียงของประชาชน เจ้าของปัญหาด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องพัฒนาไปด้วยก็คือ ระบบประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรม มีความโปร่งใส แล้วก็ให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของปัญหา ได้ส่งเสียงแล้วก็มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แล้วก็ที่สำคัญการที่เราจะริเริ่มให้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงควรจะเริ่มตั้งแต่ระดับปัจเจก ก็คือเริ่มตั้งแต่การเข้าใจเรื่องคอนเซ้นท์ในเนื้อตัวร่างกายของแต่ละคน แล้วก็เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องคอนเซ้นท์ เป็นแค่เรื่องของแต่ละบุคคล แต่มันควรจะเป็นค่านิยมที่ทุกคนในสังคมยอมรับแล้วก็เคารพซึ่งกันและกัน แล้วสุดท้าย ระบอบประชาธิปไตยเองก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ถ้าเราละเลยมิติความเป็นธรรมทางสังคม อื่น ๆ โดยเฉพาะมิติความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งควรจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน พร้อมกันกับระบบประชาธิปไตย ไม่ควรจะมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง


วันนี้เราก็ได้เห็นนักเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ที่ได้นำแนวคิดเฟมินิสต์ที่เรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศควบคู่ไปกับสิทธิมนุษยชนแล้วก็ประชาธิปไตย เพื่อที่จะทำให้สังคมมีความปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่ม มีความเป็นธรรมให้กับสังคมทุกกลุ่ม แล้วก็ความรักควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเคารพกัน การใช้อำนาจร่วม แล้วก็ความปลอดภัย


มัจฉา พรอินทร์ ได้ปิดท้ายเวทีเสวนาเอาไว้ว่า


วันนี้เรียกว่าวัน V-Day ก็คือขบวนการเคลื่อนไหวในระดับโลก จุดเริ่มต้นอย่างที่ได้เล่าให้ฟังในตอนแรกกระบวนการที่ใช้ก็คือการเต้นรณรงค์ โดยใช้เพลง ฺBreak the Chain ตอนที่เราเต้นกัน ก็คือเรากำลัง Solidarity Dancing (การเต้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) เพราะวันนี้ ไม่ใช่แค่ในเวทีประเทศไทย ที่เราลุกขึ้นมา Re-Claim ความหมาย ความสำคัญของร่างกาย ความรัก แล้วก็การให้ความเป็นธรรมในทุกมิติ แต่ว่าเพื่อน ๆ เราทั่วโลกวันนี้มีกิจกรรมพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นที่อินเดีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งในแถบแอฟริกา


ทั่วโลกยืนยันว่าวันนี้ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก ที่เราต้องลุกขึ้นมาเต้นระบำกันเพื่อเฉลิมฉลองสิ่งที่อยู่บนเนื้อตัวร่างกายของเรา และนับจากนี้ไปสิ่งที่ขบวนการ V-Day ขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลก เรียกร้องมีข้อเดียว ข้อเดียวเท่านั้น ก็คือเด็กผู้หญิง ผู้หญิง ทุกคนจะต้องอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย เขาจะต้องไม่ถูกทำร้าย ข้อเรียกร้องเดียว ที่เรายังเห็นแล้วว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐบาลเป็นเผด็จการ เกิดขึ้นไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่ให้พวกเราเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเรียกร้องข้อเดียวนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และประเทศไทยเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศ แล้วเราเชื่อมโยงกับทั่วโลก แล้วเราก็จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเป็นธรรม






ฟังคลิปเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/102088898021829/videos/1964562910371721

รู้จักกับขบวนการเคลื่อนไหว One Billion Rising หรือ V-Day Movement ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/One_Billion_Rising




ดู 197 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page