top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

ความรุนแรงทางเพศไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว


ขอบคุณภาพจากเพจ Nitihub



วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กลุ่ม Nitihub ได้จัดเสวนาออนไลน์ 'Sexual violence ส่วนตัว หรือสาธารณะ'

ซึ่ง ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งสื่อออนไลน์เฟมินิสต้า และผู้อำนวยการหลักสูตร School of feminists ได้รับเชิญให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะของผู้ที่ทำงานด้านความยุติธรรมทางเพศ รวมถึงเป็นผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและลุกมาต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศในหลากหลายรูปแบบ

(อ่านเรื่องราวของเธอได้ที่ https://adaymagazine.com/feminista/)


เฟมินิสต้า สรุปประเด็นที่ ดาราณี นำเสนอในงานเสวนาสำหรับคนที่ไม่ได้ร่วมรับชมเอาไว้ด้านล่างนี้



บริบท สถานการณ์ ปัญหาตั้งต้น


ปัญหาข้อถกเถียงว่าอะไรคือความรุนแรงทางเพศ อะไรคือการละเมิดทางเพศ เป็นปัญหาที่คนจำนวนมากมักพิจารณาแค่เรื่องของความรุนแรงที่จับต้องได้ เช่น ความรุนแรงทางกายภาพ เห็นเลือด เห็นร่องรอยการทำร้ายร่างกายที่ชัดเจน แต่ความรุนแรงทางเพศนั้นมีรายละเอียดอีกมาก และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การข่มขืน การแอบถ่าย หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างคู่สัมพันธ์ เท่านั้น และในหลายๆเคส สังคมยังมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ต้องจัดการภายในกันเอง ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ


ทีนี้พอเป็นปัญหาเรื่องการให้ความยินยอมระหว่างคู่สัมพันธ์ ก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก เพราะสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจเรื่องเหล่านี้โดยละเอียด ส่วนมากสังคมรับรู้แค่ว่า ถ้าเป็นแฟนกัน มันจะกลายเป็นการข่มขืนหรือละเมิดทางเพศได้อย่างไร ในเมื่อตอนที่มีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ขัดขืน แต่จริงๆแล้ว การบีบบังคับ การโน้มน้าว การยกข้ออ้างต่างๆมาใช้เพื่อให้ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย ก็เป็นการละเมิดเช่นกัน ซึ่งเกิดได้ในหลายกรณี เช่น การที่อีกฝ่ายโน้มน้าวให้ถอดถุงยางออกระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ การสอดใส่ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งพบได้ในความสัมพันธ์ของทุกเพศ รวมไปถึงการจงใจปิดบังข้อมูลบางประการ เช่น การมีเชื้อ HIV การมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นๆอีกในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจในการให้ความยินยอมทั้งสิ้น เพราะถ้าหากคู่สัมพันธ์ทราบข้อมูลก่อน ก็อาจจะไม่ยินยอมให้มีเพศสัมพันธ์กันก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้คู่สัมพันธ์ได้รับเชื้อ HIV โรคติดต่ออื่นๆ หรือตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งการล่อลวง ให้ข้อมูลเท็จ บีบบังคับในลักษณะนี้ คนในสังคมมักจะไม่ยอมรับว่าเป็นการละเมิดหรือเป็นความรุนแรงทางเพศ เพราะมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนในคู่สัมพันธ์มีต่อกัน


ซึ่งปัญหาข้อถกเถียงเรื่องอะไรคือความรุนแรงทางเพศ ก็จะนำไปสู่กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศในขั้นตอนต่อไป



การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมหรือการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ถูกกระทำ



เมื่อคนสังคมไม่ได้มีความเข้าใจว่าอะไรคือความรุนแรงทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น คือปัญหาการเข้าสู่กระบวนการเยียวยาหรือให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่คิดว่าตนถูกละเมิด ปัญหาอุปสรรคของการเข้าสู่กระบวนการตรงนี้ มีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น


  • กฎหมาย

ที่ไม่คุ้มครอง ไม่ถูกระบุว่าเป็นความผิด ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศอาจถือเป็นความผิด บางประเทศไม่ผิด แต่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความรุนแรงทางเพศ มักมีกฎหมายที่ครอบคลุมความรุนแรงทางเพศในมิติต่างๆ ประเทศที่สังคมมีความเข้าใจน้อย ก็มีกฎหมายที่คุ้มครองน้อยไปด้วย ยกตัวอย่าง บางประเทศตัดสินให้การข่มขืนภรรยาเป็นความผิด แต่บางประเทศไม่ถือว่าเป็นความผิด บางประเทศการบังคับแต่งงานเด็กเป็นความผิด บางประเทศไม่ถือเป็นความผิด บางประเทศ การ Cat calling ถือเป็นความผิด มีกฎหมายคุ้มครอง โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียใต้ แต่อย่างประเทศไทยไม่มีกฎหมายระบุให้เป็นความผิด เป็นต้น ซึ่งผู้กระทำความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆที่ไม่ใช่การข่มขืนหรือทำร้ายร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ก็จะอาศัยช่องว่างทางกฎหมายตรงนี้ในการกระทำความผิดและไม่เข้าสู่กระบวนการสอบสวนใดๆ


  • กระบวนการร้องเรียน ขอความช่วยเหลือ

นอกจากปัญหาเรื่องกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมแล้ว กระบวนการร้องเรียน ขอความช่วยเหลือ ก็ไม่สามารถทำงานได้ตามจุดประสงค์ของการก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนก็ตาม ซึ่งจากการทำงานกับผู้เสียหาย พบว่าผู้เสียหายไม่กล้าเข้าร้องเรียนกับองค์กรของรัฐ เพราะกลัวถูกกระทำซ้ำ เช่น การกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหายเอง หรือแม้แต่กับองค์กรเอกชน ซึ่งมีทรัพยากรบุคคลจำกัด บางครั้งก็อาจจะไม่สามารถดูแลได้ทุกเคส เพราะเคสความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นเยอะมากๆในหนึ่งวัน อย่างเราเองก็มีคนติดต่อขอความช่วยเหลือมาทุกวัน หรือบางคนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือได้ เพราะไม่รู้ภาษาไทย ไม่มีทรัพยากรจะเดินทางไปดำเนินคดีหรือแม้แต่ขาดข้อมูลในการหาช่องทางติดต่อหน่วยงาน อย่างเคสความรุนแรงทางเพศล่าสุดที่ผู้หญิงติดต่อหน่วยงานไปแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ จนนำไปสู่การฆาตกรรมสามีในที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นหลายเคสแล้วในประเทศไทย


  • สังคมที่ขาดความเข้าใจ

เมื่อไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การเยียวยาทางช่องทางที่มีอยู่ได้ เราพบว่าผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งหลายครั้งเป็นเยาวชน หรือผู้หญิงที่มีแหล่งอำนาจทางสังคมน้อย จะขอความเป็นธรรมโดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเล่าเหตุการณ์ความรุนแรง การส่งข้อความไปที่นักเคลื่อนไหวที่ทำงานประเด็นความเป็นธรรมทางเพศ หรือการโพสต์ข้อความต่างๆลงในโซเชียลมีเดียของตัวเอง ซึ่งในยุคปัจจุบันเราจะพบเหตุการณ์ทำนองนี้รายวัน ถ้าในทวิตเตอร์ตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว พ่อทำร้ายแม่ พ่อแม่ทำร้ายลูก รวมถึงการถูกแอบถ่าย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การส่งข้อความไปคุกคามทางเพศ การส่งรูปโป๊มาให้โดยไม่ยินยอม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมหรือไม่สามารถบังคับดำเนินคดีได้จริง

แต่เมื่อออกมาโพสต์สาธารณะ แน่นอนว่าสังคมที่ไม่ได้มีความเข้าใจ ก็มักจะตั้งคำถามกับผู้เสียหายในลักษณะกล่าวโทษ ตำหนิ หรือตัดสินว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความรุนแรง คิดไปเองหรือทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราพบว่ามีคนที่ถูกล่วงละเมิดจำนวนมากพยายามบอกครอบครัวคนใกล้ชิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครเชื่อ และเมื่อมาสื่อสารกับสังคม ก็มีทั้งเคสที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเคสที่เกิดการโทษผู้เสียหาย ซึ่งหลายครั้งเราพบว่าถ้าหากเป็นการพาดพิงถึงคนที่มีอำนาจมีสถานะในสังคมสูง ผู้เสียหายจะถูกกล่าวโทษเป็นพิเศษ และจะมีคนจำนวนมากออกมาปกป้องผู้ถูกกล่าวหาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ตัวแทน พยายามลดทอนความรุนแรง ไปจนถึงขั้นกล่าวหาว่าอีกฝ่ายใส่ร้ายเพราะอยากให้เสียชื่อเสียง เป็นต้น


  • สภาพจิตใจและอันตรายที่จะเกิดขึ้น

เมื่อระบบหรือกระบวนการทั้งหมดไม่ทำงาน กฎหมายไม่คุ้มครอง กระบวนการเข้าไม่ถึง สังคมไม่เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศไม่สามารถหลุดออกจากความรุนแรงได้ บางคนต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ของความรุนแรงซ้ำๆ และหลายๆเคสก็นำไปสู่การสูญเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นจากผู้กระทำความรุนแรงที่ยังคงอยู่ในความสัมพันธ์ ในครอบครัวหรือในชุมชน หรือมาจากสภาพจิตใจอันบอบช้ำของผู้เสียหายเองที่ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า หรือ ภาวะความบอบช้ำทางจิตใจหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder) จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกสิ้นหวังในทุกๆด้าน เนื่องจากไม่ไ่ด้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามขั้นตอน ซึ่งการฆ่าตัวตายของเหยื่อความรุนแรงทางเพศนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกไม่เฉพาะสังคมไทย นอกจากนี้การที่ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงการเยียวยาหรือการให้คำปรึกษาแบบเสริมพลัง ก็ทำให้การจะดำเนินชีวิตต่อไปนั้นเป็นเรื่องยากลำบาก การที่สังคมพยายามบอกให้ผู้เสียหายลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือก้าวต่อไปและทิ้งอดีตที่ผ่านมาไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงภาวะทางจิตใจที่เป็นผลมาจากความรุนแรงนั้นด้วย



ข้อเสนอต่อสังคมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ


  • .ความรุนแรงทางเพศไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว

แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม เกี่ยวกับกฎหมาย โครงสร้างต่างๆที่เป็นสถาบันทางสังคม การที่คนจะใช้ความรุนแรงต่อกันก็เพราะสังคมหล่อหลอมว่าการกระทำนั้นไม่ใช่ความผิด เช่น ผู้ชายที่ถูกเลี้ยงดูมาให้ทำอะไรก็ได้อย่างอิสระและไม่ถูกสอนให้เคารพในเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น ผู้หญิงถูกสอนมาให้เก็บทุกอย่างไว้กับตัวหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง การหล่อหลอมความคิดความเชื่อเหล่านี้มาจากระบบสังคมที่เริ่มตั้งแต่ที่บ้านไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ ดังนั้นมันจึงไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเราทุกคนมีส่วนในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจ ศึกษาว่าอะไรคือความรุนแรงทางเพศ ซึ่งมีองค์กรที่ทำงานในประเด็นความรุนแรงทางเพศอยู่พอสมควรในไทย แต่อาจจะต้องหาทางผลักดันให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาที่รอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติมากกว่าที่มีอยู่


  • ต้องช่วยกันผลักดันกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย หรือการจัดการกับผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่บทลงโทษจำพวกการกักขังควบคุมตัวอย่างเดียว แต่ควรเป็นการบำบัดหรือการนำเข้าสู่กระบวนการทำความเข้าใจให้ข้อมูลความรู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้กระทำไม่ไปกระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้อาจจะต้องมาทบทวนกันว่า การเยียวยาผู้เสียหายสามารถมีช่องทางใดบ้าง เช่น ผู้กระทำอาจจะรับผิดชอบในการรักษาพยาบาลในกรณีที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจ เป็นต้น


  • การแก้ไขกฎหมายที่ครอบคลุมความรุนแรงทางเพศในมิติต่างๆ

ต้องทำงานกับทัศนคติของผู้ใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีหลายองค์กรที่ทำงานอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง เพราะในความเป็นจริงระบบกฎหมายต่างๆทำให้กระบวนการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบากมากๆ เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานเรื่องกฎหมาย นโยบาย องค์กรรัฐที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายคดีความรุนแรงทางเพศจะต้องปรับปรุงแก้ไขทั้งหมด


  • สังคมจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง

ต้องไม่กล่าวโทษหรือซ้ำเติมผู้เสียหาย หากมีการออกมาบอกเล่าเหตุการณ์ที่ผู้เสียหายคิดว่าเป็นความรุนแรงที่เค้าได้รับ สิ่งที่อยากเสนอว่าสังคมควรทำคือการเสนอช่องทางความช่วยเหลือที่ผู้เสียหายต้องการ แนะนำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการสอบสวน การเยียวยา บำบัด ไม่ตั้งคำถามกับผู้เสียหายด้วยตนเองเพราะสังคมไม่ได้มีหน้าที่ในกระบวนการตรวจสอบการกระทำความผิด


ในส่วนของการให้กำลังใจกันนั้นคิดว่าสามารถทำได้ทั้งสองฝ่าย แต่อาจจะต้องระวังว่าจะไม่เป็นการยกย่องเชิดชูผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความกล้าหาญที่ออกมายอมรับผิด เพราะหลายๆเคสเราพบว่า ผู้ถูกกล่าวหานั้นได้รับการปกป้องเชิดชูและบางเคสถึงกับอธิบายว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอย่างไร โดยที่ยังไม่มีการเข้าสู่กระบวนการสอบสวนด้วยซ้ำไป ในขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายที่ออกมากล่าวหานั้น มักจะถูกตำหนิ ด่าทอ ทำให้กลายเป็นคนผิดและหลายครั้งทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถพาตัวเองเข้าไปสู่กระบวนการสอบสวนได้เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนในทุกๆด้านโดยเฉพาะในด้านสภาพจิตใจ ซึ่งในหลายๆเคสก็เกิดขึ้นจริง เช่น เคสครูที่กระทำชำเราเด็กนักเรียนและมีเพื่อนครูออกมาให้กำลังใจ

โดยมีการกล่าวโทษนักเรียนว่าให้ความยินยอมเอง ซึ่งส่งผลทั้งต่อรูปคดีและสภาพจิตใจของผู้ร้องเรียนและครอบครัว


*สำหรับสรุปเสวนาแบบละเอียด สามารถติดตามได้ที่เฟซบุคเพจของทาง Nitihub ซึ่งจะมีการถอดสรุปเสวนาเร็วๆนี้




ดู 216 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page