top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

เสียงของผู้หญิงชายขอบ:ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความไม่เป็นธรรมที่ผู้หญิงยังต้องเผชิญ (1)




ข้อสรุปจากเวทีสาธารณะ วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ปัจจุบันสังคมไทยหันมาใส่ใจกับปัญหาการกดขี่ทางเพศมากขึ้น แต่ทว่า ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงทั้งในระดับปัจเจกและระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายและนโยบายที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม


เฟมินิสต้าเข้าร่วมเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังปัญหาของกลุ่มผู้หญิงชายขอบ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เสียงของพวกเธอยังคงส่งไปไม่ถึงภาครัฐและคนในสังคมเท่าที่ควร เราจึงขอส่งต่อเสียงของผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงพิการ ผู้หญิงพนักงานบริการ ผู้หญิงข้ามเพศ ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ผู้หญิงสูงอายุ และผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง ให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเธอยังคงเผชิญกับความรุนแรง และเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องร่วมกันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคน



ด้านแม่และเด็ก

โดย จันทร์ฉาย โนลอย รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน นำเสนอสภาพปัญหาและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


ในบริบทของตำบล พี่น้องชนเผ่าปะกาญอ, ม้ง, คนเมือง

กว่าสามพันครัวเรือน มีปัญหาเรื่องสิทธิเงินอุดหนุนเด็ก


หลายครอบครัวมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิเงินอุดหนุนเด็ก พี่น้องชนเผ่าเข้าไม่ถึงสิทธิ อันเนื่องมาจากปัญหาด้านการสื่อสาร และประชาชนขาดข้อมูลในการรับสิทธิ ผู้ปกครองลงทะเบียนรับสิทธิ แต่มีปัญหาเอกสารตกหล่นระหว่างทาง ทำให้ไม่ได้รับเงิน สาเหตุหลักๆคือ ขั้นตอนการลงทะเบียนยุ่งยาก เอกสารตกหล่น พื้นที่ที่มีบริเวณกว้างและห่างไกลจากตัวเมือง ทำให้เข้าไม่ถึงการรับสิทธิ นอกจากนี้ขั้นตอนการลงทะเบียนรับสิทธิที่ไม่เชื่อมโยงกับอำเภอ ทำให้เพิ่มภาระผู้ปกครองในการเข้ารับสิทธิ


ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐและสังคมคือ

-ให้รัฐจัดสวัสดิการถ้วนหน้า สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิที่ไหนก็ได้

-สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว ควรได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติม เพราะรับภาระคนเดียว

-จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้อบต.รับเรื่องโดยตรงได้เลย

-ลดขั้นตอนในการเข้าถึงงบประมาณ

-ระบบฐานข้อมูลเด็กแรกเกิดต้องได้รับการปรับปรุงในการรับสิทธิ


ด้านผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง

โดย น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น จากองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน นำเสนอสภาพปัญหาและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


เนื่องจากเป็นพื้นที่สงครามต่อเนื่อง ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองมีปัญหาเรื่องการไม่มีสัญชาติ ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในการศึกษา การเลือกตั้ง การจ้างงาน การอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตอุทยาน ทำให้เข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร ถูกผลักดันให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่จุดเสี่ยงภัยธรรมชาติ


ผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับผลกระทบจากการไม่ยอมรับจากครอบครัว ถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง ผู้หญิงได้รับความรุนแรงภายในครอบครัว ถูกบังคับแต่งงาน ถูกกีดกันไม่ให้เป็นผู้นำ


ช่วงโควิด หมู่บ้านขาดรายได้ ชาวบ้านไม่มีข้าวกิน ขาดแคลนอาหาร เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นในช่วงภาวะโควิด และเนื่องจากการขาดรายได้ ผู้หญิงจึงต้องฝ่าฝืนกฎหมาย เข้าไปหาของป่าเพื่อนำอาหารมาให้ครอบครัว


ข้อเรียกร้องต่อภาครัฐและสังคม

-ให้รัฐเยียวยาผู้หญิงที่มีสัญชาติและไม่มีสัญชาติ

-จัดหาล่ามในโรงพยาบาลสำหรับผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงการใช้ภาษาไทย.

-การรักษาต้องฟรีทั้งหมด

-หน่วยงานรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้รายงานสภาพปัญหาของตัวเอง

-เรียกร้องให้สังคมช่วยกันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกรุปแบบ

-โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็ก

-คนทุกคนควรได้รับสัญชาติโดยไม่มีเงื่อนไข

-ยกเลิกกฎหมายที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงที่ดินทำกิน


ด้านผู้หญิงกับที่ดิน

โดย พชร คำชำนาญ


สภาพปัญหาคือ การถูกประกาศพรบป่าไม้ในที่ดินที่อาศัยอยู่มายาวนาน และถูกขับไล่ ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก

การประกาศพื้นที่อุทยาน ทำให้พื้นที่ทำกินกลายเป็นพื้นที่ต้องห้าม ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้


หลังรัฐประหารคสช. มีการบังคับใช้กฎหมาย ทวงคืนผืนป่า ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ถูกขับไล่ จับกุม ดำเนินคดีกับประชาชน


ผู้หญิง โดยเฉพาะชาติพันธุ์ ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และบางพื้นที่ ชาวบ้านถูกยึดไร่หมุนเวียน ทำให้ต้องลงมารับจ้างในเมือง ผู้หญิงนักต่อสู้ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า อาศัยในชุมชนไม่ได้


ข้อเรียกร้องต่อรัฐและสังคม


-เรียกร้องให้หยุดกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ

-เรียกร้องให้มีกฎหมายเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีพ.ร.บ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์

-ต้องการรัฐธรรมนูญที่พุดถึงสิทธิชุมชนและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ การกระจายอำนาจและจัดการทรัพยากรและที่ดิน

-ยุติระบอบเผด็จการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรและจัดการที่ดิน


ด้านผู้หญิงพนักงานบริการ

โดย ผึ้ง (อาซิว แลเช่อ) ตัวแทนพนักงานบริการ จากองค์กรเอ็มพาวเวอร์ Empower Foundation


เธอพูดถึงปัญหาของพนักงานบริการ ว่าสังคมขาดความเข้าใจการทำงานของพนักงานบริการ

ความรุนแรงที่เกิดจากผู้ชาย ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสได้รับเหมือนกัน ไม่ว่าจะอาชีพใด แต่เวลาเกิดเหตุ เมื่อไปแจ้งความ พนักงานบริการจะถูกเลือกปฏิบัติ และกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดซะเอง


ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ มากกว่าจะเกิดจากลูกค้า เช่น

ถ้าทำงานไม่ถึงยอดหรือหยุดงาน จะถูกหักเงินไม่เป็นธรรม หากน้ำหนักตัวเกิน ก็จะถูกหักเงิน


ตำรวจมักจะแอบติดกล้อง ล่อซื้อ ถ่ายภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม

ถ้าผู้หญิงพม่าถูกจับกุม จะถูกส่งกลับและห้ามเข้าประเทศเป็นเวลานาน และถูกตีตราว่าค้าประเวณี


ข้อเรียกร้องต่อรัฐและสังคม

-ยกเลิกกม.การค้าประเวณี 2539 รวบรวมรายชื่อเสนอกม.ใหม่

-คนในสังคมต้องช่วยกันลดการตีตราผู้หญิงพนักงานบริการ



ด้านผู้หญิงพิการ

กั๊ต จากสมาคมวัฒนธรรมความพิการ เชียงใหม่


สภาพปัญหาคือ แม้จะมีพ.ร.บ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ มีแผนส่งเสริมผู้หญิง แต่การมีแผนเหล่านี้ ทำให้สังคมเข้าใจว่า ผู้หญิงพิการเข้าถึงสิทธิเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่จริงยังมีผู้หญิงพิการอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ


คนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เข้าไม่ถึงการบริการสาธารณสุข และเบี้ยคนพิการแปดร้อยบาทก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต คนเป็นแม่ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกพิการ และหลายคนเป็นผู้สูงอายุ


นอกจากนี้ ทัศนคติของภาครัฐยังไม่หลุดพ้นจากแนวคิดเรื่องการสังเคราะห์


ด้านการศึกษา การศึกษาของคนพิการเป็นระบบปิด กินนอนประจำ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ละเมิดสิทธิเด็กมากที่สุด


ผู้หญิงพิการเข้าไม่ถึงสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน เพราะมองว่าไม่มีศักยภาพในการดูแล ผู้หญิงพิการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนรอบตัว


คนพิการขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการ สังคมสูงอายุ ทำให้เกิดผู้ป่วยติดเตียงที่เป็นผู้หญิงพิการ โดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่อยุ่ในสภาพแวดล้อมเสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศ


ผู้ดูแลคนพิการไม่ได้รับการสนับสนุนในการดูแลคนพิการ ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้พิการได้

แม่ที่ต้องดูแลผู้พิการเกิดภาวะเครียด ทำให้ใช้ความรุนแรงกับลูกที่พิการ


ข้อเรียกร้องต่อรัฐและสังคมคือ

-ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับผู้พิการในสถานศึกษา

-ให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง และสูงสุดเท่าที่จะสูงได้

-เบี้ยคนพิการต้องรับถ้วนหน้า และเรียกร้องให้จ่ายเบี้ยเพิ่มเป็นหนึ่งพันบาทหรือมากกว่านั้น

-การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม มาตราที่ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคนพิการ แต่ข้อเท็จจริง ปรากฎว่าต้องเสียค่าดำเนินการ เพราะคนพิการจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อเป็นจำเลยเท่านั้น



ด้านผู้หญิงสูงอายุ

ปลาย จากมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ


สภาพปัญหาคือ ผู้สูงอายุถูกปฏิเสธการจ้างงาน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น การดูแลเด็ก

ผู้หญิงสูงอายุมีจำนวนมาก และต้องการการดูแลสุขภาพ แต่ไม่สามารถดูแลสุขภาพได้

ความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงอายุคือ การทำร้ายจิตใจ 1ใน4 ของผู้หญิงสูงอายุได้รับความรุนแรงทางจิตใจ

ผู้สูงอายุถูกหลอกเอาทรัพย์สินจากคนรอบตัว จากครอบครัว


กฎหมายแรงงานบอกว่าหกสิบปีเกษียน แต่ผู้สูงอายุบางคนยังทำงานได้อยู่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานได้

ผู้หญิงสูงอายุยังต้องรับผิดชอบภาระการทำงานบ้าน ดูแลคนในครอบครัว

ความกดดันทางเศรษฐกิจทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว ทำให้ลูกหลานใช้ความรุนแรงกับผู้สูงอายุ


ข้อเรียกร้องต่อรัฐและสังคม

-พยายามดึงผู้สูงอายุให้กลับมามีส่วนร่วมในชุมชน

-ผู้สูงอายุยังเป็นแรงงานในครอบครัว และมองว่าเป็นการแบ่งเบาภาระให้มากกว่าเป็นภาระ

-ผู้หญิง.คือผู้ถูกกระทำซ้ำซ้อน มีอคติด้วยเหตุแห่งเพศ ดังนั้นต้องมีความมั่นคงทางการเงินตั้งแต่วัยแรงงาน รัฐต้องดูแลในฐานะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงงาน มีรายได้ เพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ในเมื่อสูงอายุ


นอกจากการนำเสนอสภาพปัญหาและข้อเรียกร้องต่อรัฐและสังคมแล้ว ผู้เข้าร่วมเวทีในช่วงบ่ายยังได้สะท้อนเรื่องราวความไม่เป็นธรรมและการถูกกดทับทางเพศในฐานะผู้หญิงชายขอบ ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบของ Ted Talk ซึ่งเฟมินิสต้าจะได้นำสรุปมาให้อ่านในตอนที่ 2 ค่ะ


ท่านที่สนใจเข้าชมงานเสวนาย้อนหลัง สามารถเข้าไปรับชมได้ที่

















ดู 441 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page