top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Perspective : Bridgerton และผู้หญิงในศตวรรษที่ 19


*เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง





“You have no idea what it is to be a woman. What it might be like to have ones entire life reduced to a single moment.” - Daphne Bridgerton.


ในช่วงเวลานี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่าซีรีส์โรแมนติกจาก Netflix เรื่อง “บริดเจอร์ตัน” Bridgerton จากผู้กำกับชื่อดัง Chris Van Dusen และอำนวยการสร้างโดย Shonda Rhimes โดยดัดแปลงมาจากหนังสือขายดีอย่าง The Duke And I โดยจูเลีย ควินน์ ที่พาเราย้อนกลับไปพบเจอความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมในแบบฉบับผู้ดีอังกฤษในยุคสมัย “รีเจนซี” (Regency Era) ที่ถือเป็นยุคทองทางศิลปวัฒนธรรม สุนทรีนิยมที่รุ่งเรืองเบ่งบานของประเทศอังกฤษ แม้ว่าตัวซีรีส์จะถ่ายทอดความเป็นผู้ดีอังกฤษผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ความละเมียดละไมของพิธีรีตอง มารยาททางสังคมที่เข้มงวด และความหรูหรารุ่มรวยผ่านสถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรีและอาหารในเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามหากตัวซีรีส์ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ของยุคสมัยรีเจนซีของอังกฤษอย่างแท้จริง ผู้สร้างได้สอดแทรกการทำให้เป็นสมัยใหม่ลงไปในทุกสุนทรียศาสตร์ของตัวบทเพื่อให้เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรือดนตรีที่เราเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนอยากสะท้อนจากซีรีส์พีเรียดโรแมนติกเรื่องนี้ คือบทบาทของผู้หญิงในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ตัวซีรีส์สอดแทรกเข้ามาอย่างในเรื่อง


ก่อนอื่นเราขอเกริ่นถึงช่วงยุคสมัยรีเจนซี (Regency Era) ซึ่งเริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือช่วงสิ้นสุดยุดจอร์เจียน (Georgian Era) เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงประชวรและมีอาการเสียสติจนไม่สามารถปกครองประเทศต่อไปได้ (ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นโรค Porphyria) เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์จึงทรงขึ้นปกครองราชอาณาจักรแทนในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงปี 1801 ในช่วงระยะเวลา 9 ปี (1811-1820) ที่พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนนั้น ถูกเรียกว่าเป็นรัชสมัยรีเจนซี ก่อนจะสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 เสด็จสวรรคต และเจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนเสด็จพระราชสมภพเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 4


หากกล่าวถึงสตรีนิยมในโลกตะวันตก อังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ก่อนที่จะเริ่มได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เมื่อแมรี โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) และงานเขียนของเธอเรื่อง A Vindication of the Rights of Woman ได้รับความสนใจและถือว่าเป็นงานเขียนสตรีนิยมชิ้นแรก แมรีกล่าวถึงสิทธิของผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการได้รับการศึกษาที่นำไปสู่โอกาสและการปลดแอกของผู้หญิง เนื่องจากในช่วงยุคสมัยนั้นเป็นยุคสมัยที่การถกเถียงพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง หากแต่กลับพูดถึงสิทธิมนุษยชนที่ละเลยประเด็นของผู้หญิง เธอตอบโต้แนวคิดของนักคิดอย่างรุสโซ ที่เชื่อว่ามีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่มีความสามารถในการใช้ตรรกะและความคิดเพราะผู้หญิงนั้นไร้ซึ่งเหตุผล ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงไม่ควรและไม่สามารถที่จะเป็นพลเมืองได้ แนวคิดของรุสโซส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกและด้อยค่าผู้หญิงในสมัยนั้น

แมรียังผลักดันแนวคิดที่ว่าสถาบันการแต่งงานที่มั่นคงคือการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันระหว่างสามีและภรรยาอีกด้วย


นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่มีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อย่าง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้พิสูจน์ว่า “ผู้หญิงนั้นมีศักยภาพเท่าผู้ชาย แต่โอกาสนั้นมีไม่มากเท่า” เธอสนับสนุนการให้การศึกษาที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิง และนักเขียนผู้หญิงคนสำคัญอย่างเจน ออสตินเจ้าของผลงาน Pride and Prejudice นักเขียนหญิงยุคแรกเริ่มที่ท้าทายแนวความคิดของศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์เกี่ยวกับผู้หญิงและวิพากษ์วิจารณ์ปิตาธิปไตย เจนยึดมั่นในแนวคิดการมีอิสระในการตัดสินใจและสิทธิในตนเองของผู้หญิง Pride and Prejudice นำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่หลุดออกจากความคาดหวังของกฎระเบียบสังคมที่มีต่อพวกเธอ เจนนำเสนอภาพตัวละครของเธอเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญและไหวพริบและนำเสนอความอยุติธรรมในการแต่งงานที่เกิดกับเพศหญิงและการที่สังคมมองลูกสาวเป็นเหมือนสินค้าที่ต้องแต่งงานเพื่อยกระดับสถานะทางการเงินของครอบครัว ยกตัวอย่างเช่นการที่ชาร์ล็อตต้องแต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่ได้รักเพื่อความมั่นคงทางด้านการเงินของครอบครัว อย่างไรก็ตามถึงแม้ในช่วงยุครีเจนซีจะถือเป็นหนึ่งในยุคทองทางสุนทรียศาสตร์ งานเขียนที่ผู้เขียนเป็นผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับการยอมรับหรือความนิยมเท่างานเขียนของนักเขียนผู้ชาย อีกทั้งยังถูกจำกัดให้อยู่ในโลกของวรรณกรรมหรือนวนิยาย นอกจากนี้ยังมักถูกตีคุณค่าความสำคัญ ถูกแปะป้ายว่าเขียนโดยผู้หญิง และไม่ได้รับโอกาสในการตีพิมพ์มากเท่าผู้ชาย


การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 มีเป้าหมายเพื่อความเท่าเทียมและสิทธิในทรัพย์สินของผู้หญิง สิทธิในการเลือกตั้ง การต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชนและสิทธิในเนื้อตัวและชีวิตของผู้หญิง เนื่องจากเมื่อแต่งงานแล้ว ภรรยาและลูก ถือเป็นสมบัติของสามี Margaret Waters ผู้เขียน Feminism : a short introduction ได้กล่าวว่า “สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว บ้านและทุกสิ่งในบ้านเป็นสมบัติของสามี และสิ่งที่น่าสมเพชที่สุดคือ ภรรยา ที่เป็นเพียงเครื่องผสมพันธุ์ของเขา” แม้ว่ามีปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงเริ่มต่อต้านระบบปิตาธิปไตย แต่ด้วยสถานะทางสังคมของผู้หญิงที่ด้อยกว่าผู้ชายในเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้หญิงมีสถานะเป็น Second person ที่ด้อยกว่าผู้ชาย


ภาพสะท้อนบทบาทของผู้หญิงในเรื่อง Bridgerton นั้นถูกสังคมกำหนดไว้อย่างชัดเจน ผู้หญิงเกิดมาเพื่อผู้ชาย เรียนเพื่อผู้ชาย วางตัวเพื่อผู้ชาย สังคมปิตาธิปไตยกำหนดเวลาที่พวกเธอสมควรจะเปิดตัวสู่สังคม สิ่งที่พวกเธอควรรู้ เวลาที่เหมาะสมที่พวกเธอควรมีลูก การแต่งงานและมีบุตรสืบสกุลถือเป็นเป้าหมายสูงสุดเพื่อความสมบูรณ์ในชีวิตของผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น ฉากงานเดบูตองต์ (Debutante) หรืองานเปิดตัวหญิงสาวชนชั้นสูงเข้าสู่สังคมเพื่อหาคู่แต่งงาน โดยหญิงสาวเหล่านั้นจะต้องผ่านการอบรมมารยาท บทเรียนมารยาหญิง และการดูแลผิวพรรณ พร้อมเปิดตัวและเต้นรำในงานเลี้ยงผ่านคุณแม่ของพวกเธอมาทั้งชีวิตเพื่อวันเดบูตองต์ที่เป็นเหมือนวันที่เธอรอคอยมาทั้งชีวิตเพียงวันเดียว

การแต่งงานเป็นเหมือนอาชีพที่น่าเคารพที่สุดที่ผู้หญิงจะทำได้ พวกเธอต้องเปิดตัวกับราชวงศ์และถูกคาดหวังให้เป็นหญิงสาวที่เพียบพร้อมสำหรับการเป็นภรรยา ราวกับว่าพวกเธอเหล่านั้นเป็นเพียงสินค้าอันปราณีตที่สามารถนำขึ้นตู้โชว์พร้อมจำหน่ายได้แล้ว ความคาดหวังและกฎระเบียบของสังคมทั้งการวางตัวและความงามตามอุดมคติสร้างความกดดันให้กับหญิงสาวเหล่านี้ ความเจ็บปวดจากคอร์เซ็ทที่รัดแน่นจนหายใจไม่ออก พฤติกรรมของผู้ชายในงานเต้นรำที่แม้อยากจะหันหน้าหนี แต่เธอกลับไม่สามารถปฎิเสธได้เพียงเพราะต้องรักษามารยาท สายตาที่จับจ้องพวกเธอตลอดเวลา ทำให้พวกเธอทำได้เพียงส่งยิ้มและแสดงบทบาทของหญิงสาวในอุดมคติต่อไป


เพชรน้ำหนึ่งในฤดูกาลเดบูตองค์จะถูกจับจ้องและคาดหวังจากสังคมเช่นเดียวกับการถูกมองเป็นคู่แข่งจากหญิงสาวคนอื่น ในขณะที่หญิงสาวที่ไม่มีความโดดเด่นตามอุดมคติของสังคมถูกผลักให้เป็นกลุ่มชายขอบของฤดูกาล ยกตัวอย่างเช่นพี่น้องตระกูลเฟทเธอริงตัน ที่คุณค่าของพวกเธอถูกลดทอนไปพร้อมๆกับตัวเลือกชายหนุ่มที่ให้ความสนใจพวกเธอ อย่างไรก็ตามหากโชคดีหญิงสาวเหล่านี้จะได้สมหวังกับผู้ชายที่เธอรักและเหมาะสมกับเธอ หากโชคร้ายพวกเธออาจะต้องเผชิญกับชะตากรรมการแต่งงานที่ขมขื่นที่พวกเธอไม่อาจหลีกหนีได้ หรืออยู่เป็นโสดพร้อมกับคำครหาของสังคม

อย่างที่เราได้เกริ่นไปว่าสังคมที่ครอบทับด้วยกรอบปิตาธิปไตยกำหนดชีวิตของผู้หญิงในทุกด้าน นอกจากกำหนดเวลาที่ครอบครัวจะสามารถนำพวกเธอออกสู่ตลาดได้ ยังกำหนดสิ่งที่พวกเธอควรรู้ เวลาที่เหมาะสมที่พวกเธอควรมีลูก และสร้างเป้าหมายในชีวิตให้พวกเธอว่าชีวิตพวกเธอจะสมบูรณ์พร้อมหากเข้าสู่สถาบันการแต่งงาน เป็นภรรยาที่เพียบพร้อมและมีบุตรสืบสกุล ดาฟนี บริดเจอร์ตันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น อย่างไรก็ตามการศึกษาของผู้หญิงที่กำหนดสิ่งที่พวกเธอสามารถรู้ได้ให้มีพออ่านออกเขียนได้แต่เป็นเลิศในการเย็บปักถักร้อย งานบ้านและสุนทรียศาสตร์ทุกชนิดกลับสร้างความกดดันให้เธออย่างมากในฐานะภรรยา หญิงสาวในเรื่องไม่รู้แม้กระทั่งผู้ชายและผู้หญิงสามารถมีลูกได้อย่างไรซึ่งทำให้เธอถูกเอาเปรียบจากสามีของเธอเอง ในขณะเดียวกันหญิงสาวที่เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เรื่องเพศกลับถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ชนชั้นต่ำกว่า เสเพลและไม่มีความเป็นกุลสตรีในขณะที่ตัวละครชายสามารถร่วมประเวณีได้อย่างอิสระและเปิดเผย ผู้หญิงถูกคาดหวังให้มีลูกเพื่อสืบสกุล แต่ถึงกระนั้นพวกเธอจะสามารถมีลูกได้ก็ต่อเมื่อสังคมอนุญาตให้เธอมี นั่นคือหลังจากที่พวกเธอเข้าพิธีแต่งงานแล้ว

มิสมารีนา ทอมป์สันและอาการป่วยของเธอเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการถูกกดทับและประสบการณ์ที่เลวร้ายของผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อพวกเธอก้าวเท้าของจากครรลองที่สังคมต้องการให้พวกเธอเป็น อีกทั้งเมื่อจะมีลูกแล้วผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีบุตรหรือลูกชายที่พร้อมแก่การสืบสกุลต่อไป เหมือนดังเช่นแม่ของดยุกไซมอนที่มีค่าเป็นเพียงเครื่องจักรผลิตผู้สืบสกุล และเมื่อถึงแม้เธอจะให้กำเนิดลูกชาย แต่ลูกชายของเธอที่มีพัฒนาการไม่เหมาะสมเป็นผู้นำตระกูลก็ลดทอนคุณค่าความเป็นผู้หญิงของเธอลงไป ผู้หญิงไม่สามารถหลีกหนีจากความคาดหวังและสิ่งที่สังคมกำหนดให้ชีวิตพวกเธอได้เลย


ตัวละครผู้หญิงในเรื่อง Bridgerton นั้นผูกติด พึ่งพาและหมุนรอบปิตาธิปไตยที่ครอบทับสังคมของพวกเธอไว้ บทบาทของผู้หญิงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมถูกผูกติดและถูกรับผิดชอบโดยผู้ชายไม่ว่าจะเป็น ลูกชาย พี่ชายหรือสามีของพวกเธอ พวกเธอถูกนำเสนอออกมาเหมือนสินค้าที่ครอบครัวสามารถใช้ต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านการแต่งงาน ความรับผิดชอบในการเลือกคู่ครองของพวกเธอจึงขึ้นอยู่กับผู้ชาย

อย่างตัวดาฟนีเองที่ถูกพี่ชายเข้ามาจัดการหมั้นหมายให้โดยไม่ได้ถามความเห็นของเธอ และหากไม่มีครอบครัว วิธีทางที่จะทำให้พวกเธอเลื่อนสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจได้ก็มีเพียงการแต่งงานเท่านั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมอย่างเซียนา นักร้องโอเปราที่ต้องพยายามไขว่คว้าและเลือกเส้นทางที่จะทำให้ชีวิตเธอมั่นคงมากขึ้น สิทธิและอิสระในการเลือกของผู้หญิงถูกจำกัด ไม่ว่าพวกเธอจะหวาดกลัวเพียงใด หรือปฎิเสธค่านิยมของสังคมเหล่านี้มากเพียงใด ในท้ายที่สุดแล้วเธอก็ต้องโอบรับมันอยู่ดี อย่างเอโลอิสที่ต่อต้านชีวิตแต่งงาน หรือเพเนโลปีที่ขอถอนตัวออกจากฤดูการหาคู่ สุดท้ายแล้วคนที่ตัดสินใจให้พวกเธอก็คือโครงสร้างปิตาธิปไตยที่ได้กำหนดชีวิตพวกเธอไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ชีวิตของผู้หญิงจึงไม่มีอะไรเลย คุณค่าของเธอล้วนมาจากผู้ชาย เหมือนที่เอโลอิสได้พูดถึง Lady Whistledown กับพี่ชายของเธอว่า “Whistledown is a woman, therefore she has nothing,…., you are a man, therefore you have everything. (วิสเซิลดาวน์เป็นผู้หญิง ดังนั้นเธอไม่มีอะไรเลย เธอเป็นผู้ชาย เธอมีทุกอย่าง)


การครอบงำของระบบชายเป็นใหญ่นั้นรุนแรงและกดทับในแทบจะทุกอิริยาบถของผู้หญิง อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกกดทับโดยระบบนี้ ตัวละครชายในซีรีส์เองก็ถูกคาดหวังให้มีความเป็นชาย ทำหน้าที่ของผู้ชายตามที่สังคมคาดหวังเช่นกัน เห็นได้ชัดจากฉากที่ แอนโธนี พี่ชายคนโตที่ถูกคาดหวังในฐานะลอร์ดผู้นำตระกูลบริดเจอร์ตันให้ทำตัวให้เหมาะสมในฐานะลอร์ด ต้องหาภรรยาที่เหมาะสมกับฐานะทางสังคม หรือ เบเนดิกส์ พี่ชายคนรองที่รักในการวาดภาพ แต่ไม่อาจเดินตามความฝันได้เพียงเพราะการวาดภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าและเหมาะสมกับฐานะของเขา ดยุกไซมอนที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำตระกูลที่เพียบพร้อม ที่ถึงแม้ว่าจะถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างหนักจากผู้เป็นพ่อ แต่ก็ต้องพยายามเพื่อเป็นผู้สืบสกุลที่เหมาะสม ลอร์ดเฟทเทอริงตันที่ล้มเหลวในการเป็นผู้นำและเลี้ยงดูครอบครัวอย่างสิ้นเชิง


เรามองว่าสิ่งที่ซีรีส์นำเสนอออกมาคือ ในท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าความฝันหรือจุดมุ่งหมายของผู้หญิงคนนั้นคือการสร้างครอบครัว การมีลูก การเป็นอิสระจากขนบสังคม การได้เรียนหนังสือ การเป็นนักเขียนหรือการมีอาชีพที่มั่นคง มันไม่ผิดเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้หญิงเหล่านั้นต้องมีอิสระและสิทธิในการเลือกเพื่อตัวเธอเองโดยปราศจากการกดทับโดยโครงสร้างสังคมใดๆก็ตาม ทั้งนี้กรอบปิตาธิปไตยนั้นไม่ได้กดทับเพียงแค่เพศหญิงอย่างเดียวแต่เป็นทุกคนไม่ว่าจะเพศใดก็ตามที่อยู่ภายใต้สังคมนั้น








ดู 2,633 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page