top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Perspective: ประชาธิปไตยคือความหลากหลายและ LGBTIQไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว





ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อถกเถียงทางสังคมเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อการสมรสเท่าเทียมได้ถูกนำมาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง เมื่อพรรคก้าวไกล เปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขให้คู่รักเพศเดียวกันได้จดทะเบียนสมรสโดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เทียบเท่ากับคู่รักชายและหญิงต่างเพศ


หลังจากที่เปิดรับข้อคิดเห็นจากประชาชนเพียงไม่นาน กระแสแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ในทวิตเตอร์ ได้ขึ้นสู่อันดับหนึ่ง ประชาชนเข้าไปให้ความเห็นกันจากหลักพันเป็นหลักหมื่น มีการพูดคุยและสนับสนุนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล และมีการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสีรุ้งพร้อมกับคำว่าสมรสเท่าเทียม กระแสนี้กำลังเป็นที่พูดถึงกันไปทั่วโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 8 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งเป็นฉบับที่มาจากกระทรวงยุติธรรม มีการเสนอข่าวในสื่อแทบทุกสื่อว่า ครม. ประกาศผ่านร่างนี้เสมือนว่าประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว สื่อบางสื่อนำคำว่าสมรสเท่าเทียมไปใช้กับ ตัว พ.ร.บ.คู่ชีวิต สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก เสนอข่าวแสดงความยินดีกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในไทยประหนึ่งว่าประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว


ภาพข่าวจาก CM108.com


การเสนอข่าวที่คลุมเครือนี้ ทำให้นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศออกมาทำความเข้าใจกับสังคมว่าตัว พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ ครม.ประกาศนั้นไม่ใช่ร่างเดียวกับของพรรคก้าวไกล และมีความแตกต่างในสาระสำคัญหลายประการ พรรคก้าวไกลออกมาแถลงการณ์ในวันเดียวกันนั้นว่า ร่างพ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกลเป็นคนละฉบับกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้สังคมถกเถียงกันว่า ตกลงแล้วประชาชนควรสนับสนุนร่างฉบับไหนกันแน่


การนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนนำมาสู่ความขัดแย้งทางความคิด


หลังจากที่มีข่าวว่า พ.ร.บ คู่ชีวิตกำลังจะผ่านในรัฐบาลชุดนี้ กระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันเดียวกันนั้น รายการ Daily Topics ซึ่งดำเนินรายการโดย จอห์น วิญญู ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTIQ โดยในรายการมีการกล่าวคำพูดที่กลายเป็นข้อถกเถียงในเวลาต่อมา เช่นคำว่า “ถ้าสิทธิของคนทั่วไปยังไม่มาเนี่ย สิทธิของ LGBTIQ ก็ไม่น่าจะมาก่อน” ซึ่งหลายคนตีความว่าประโยคนี้กำลังหมายถึงการแยกกลุ่ม LGBTIQ ออกจากความเป็นพลเมืองทั่วไป และไม่ควรได้รับสิทธิเท่ากับชายหญิงรักต่างเพศ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประโยคเช่น "LGBTIQ ออกมาเย้วๆเรียกร้องกฎหมายนี้ แต่ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ" "เรียกร้องเปลืองน้ำลายอยู่ในเน็ตไม่เกิดอะไรถ้าไม่ออกไปข้างนอก" หรือ "สิทธิของกลุ่ม LGBTIQ จริงๆควรจะมาทีหลังด้วยซ้ำ" และอีกหลายความเห็นที่แสดงออกมาในทำนองตำหนิสั่งสอนว่า LGBTIQ ควรจะเรียกร้องอย่างไร และมีโทนเสียงไปในทางต่อว่า ว่า LGBTIQ ที่เรียกร้อง พ.ร.บ. คู่ชีวิตนั้น เป็นกลุ่มที่ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย


ทันทีที่รายการออกอากาศ กลุ่ม LGBTIQ ในทวิตเตอร์ที่สนับสนุนร่าง แก้ไข ปพพ ของพรรคก้าวไกล ได้วิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่จอห์น พูดในรายการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบอกว่ากลุ่ม LGBTIQ ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย การแบ่งแยกสิทธิในการสมรสของกลุ่ม LGBTIQ เป็นสิทธิของคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป จนกระทั่งรายการได้ตั้งค่าให้วีดีโอเป็นส่วนตัว ไม่สามารถเข้าไปชมได้อีกต่อไป เมื่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หลายคนใช้อารมณ์ในการด่าทอ และหลายคนพยายามอธิบายและโต้แย้ง แต่จอห์นเลือกที่จะตอบกลับด้วยอารมณ์และการประชดประชันเช่นกัน และในท้ายที่สุด เขาตัดสินใจจัดรายการในวันต่อมา และกล่าวขอโทษต่อกลุ่ม LGBTIQ ที่ได้พูดจาในลักษณะตำหนิสั่งสอน รวมไปถึงท่าทีที่ไม่เหมาะสม


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอาฟเตอร์ช็อกตามมาจากการจัดรายการครั้งนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมีการเริ่มแบ่งฝ่ายออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่เข้าใจสิ่งที่จอห์นพูดในรายการ ว่าเป็นการวิพากษ์กลุ่ม LGBTIQ ที่สนับสนุนพรบคู่ชีวิตซึ่งออกโดยฝ่ายรัฐบาล และเป็นการวิพากษ์ไปยังกลุ่ม LGBTIQ ที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่สนใจเพียงสิทธิของตัวเอง และอีกกลุ่มคือคนที่อยู่ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไข ปพพ. ของพรรคก้าวไกล และเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิด้านอื่นๆในแพลทฟอร์มทวิตเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนกลุ่มหลังนี้ตอบรับคำขอโทษของจอห์น วิญญู และได้มีความพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องพ.ร.บ. คู่ชีวิต โดยใช้แฮชเท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต มาขับเคลื่อนต่อภายในวันเดียวกัน


แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความขัดแย้งทางความคิดระลอกสอง เมื่อบทความ “การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน: จากจูบกลางสภา สู่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และการสู่ขิตของ จอห์น วิญญู” โดย ณัฐ วิไลลักษณ์ ได้เผยแพร่ในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์ Way Magazine ซึ่งในเนื้อหาของบทความ มีลักษณะของการตำหนิ สั่งสอน กลุ่ม LGBTIQ ที่เรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. คู่ชีวิตหรือร่างแก้ไข ปพพ.โดยพรรคก้าวไกล แม้ว่าเนื้อหาของบทความจะพยายามชี้ให้เห็นปัญหาของการเรียกร้องกฎหมายภายใต้รัฐบาลเผด็จการและไม่เป็นประชาธิปไตย รวมไปถึงปัญหาของการออกมาวิพากษ์วิจารณ์จอห์น วิญญู แต่ตัวบทความมีการเลือกใช้ประโยคที่ค่อนข้างมีปัญหาในการสื่อสาร ดังเช่นย่อหน้านี้


“สิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมไทยยังขาดทักษะการวิพากษ์วิจารณ์และยังคงหลงประเด็นอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นการหลงประเด็นที่ฟ้องว่า LGBTQ+ กำลังถูกสถาปนาให้เป็นสถาบันที่มีความยิ่งใหญ่เหลือเกิน แตะต้องไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้


ซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการทำความเข้าใจเรื่องเพศที่มุ่งเน้นให้สังคมถกเถียงเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันของทุกคนในสังคม และหากเราแบ่งแยกได้ว่าสิ่งไหนเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์และสิ่งไหนเรียกว่าเหยียด คำพูดแค่นี้ของจอห์นคงไม่น่ามีปัญหา ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ ภูมิคุ้มกันที่ว่าด้วยเรื่อง LGBTQ+ ในไทยเราต่ำขนาดนั้นเลยหรือ?”


จากข้อความดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อบทความนี้ว่าเป็นบทความที่มีอคติต่อกลุ่ม LGBTIQ โดยเฉพาะการระบุว่าคนกลุ่มนี้แตะต้องไม่ได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดทั้งทางสังคมและกฎหมาย รวมไปถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียนด้วยมุกตลกต่างๆในชีวิตประจำวัน บทความดังกล่าวถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียทั้งบนเฟซบุคและทวิตเตอร์ และนำมาสู่การแบ่งฝ่ายออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่เห็นด้วยกับบทความนี้และกลุ่มที่เห็นว่าบทความนี้มีปัญหา


ทั้งหมดนี้คือ Timeline ในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของกลุ่ม LGBTIQ ซึ่งนอกเหนือจากกรณีของจอห์น วิญญู ยังมีบุคคลที่มีสถานะทางสังคมอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิในการสมรสของกลุ่ม LGBTIQ ครั้งนี้ แต่บทความนี้ไม่ได้ต้องการอธิบายปัญหาทางความคิดของตัวบุคคล แต่อยากชวนมาดูว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างนั้น เบื้องหลังของความคิดแต่ละกลุ่มมีปัจจัยแวดล้อมอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และการสื่อสารที่ผิดฝาผิดตัวของคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTIQ ในครั้งนี้


บริบททางประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBTIQ ต่อ พ.ร.บ. คู่ชีวิต


ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ในช่วงที่ประเทศไทยมีการรัฐประหาร ถูกปกครองโดยรัฐบาล คสช. มีความพยายามจะผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิตโดยผ่านทาง สนช. มาแล้ว และการพยายามผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิตในครั้งนั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในระหว่างนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศที่พยายามผลักดันกฎหมายนี้ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเผชิญกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม นักกิจกรรมทางการเมืองถูกไล่ล่าจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ในขณะที่กลุ่ม LGBTIQ บางกลุ่มสนับสนุนการรัฐประหาร ออกไปเป่านกหวีดล้มการเลือกตั้ง การเรียกร้องของกลุ่ม LGBTIQ ในเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิต ณ ขณะนั้นจึงถูกตั้งคำถามว่ามองไม่เห็นสิทธิของคนกลุ่มอื่น และสนใจแต่สิทธิของตัวเอง จากกรณีนั้นนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศได้แตกออกเป็นฝั่งที่สนับสนุนประชาธิปไตยและไม่สนับสนุนประชาธิปไตยและมีข้อโต้แย้งกันมาโดยตลอด


ผ่านมาหลายปี พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการพูดถึงในสังคม แต่การผลักดันร่างแก้ไข ปพพ.1448 ได้กลายมาเป็นแนวทางใหม่ของนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ โดยมีการก่อตั้งกลุ่ม แก้ไขปพพ.1448 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการสมรสเท่าเทียม ที่นำโดย ส.ส. ของพรรคก้าวไกล และได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นบริบทของการต่อสู้เพื่อการสมรสเท่าเทียมในหลายปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและมีกระบวนการหรือกลไกของรัฐสภา มี สส. พรรคฝ่ายค้ายเข้าไปเสนอกฎหมาย ไม่ใช่บริบทของการอยู่ภายใต้อำนาจเต็มของ คสช. อีกต่อไป แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็ตาม แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเรียกร้องกฎหมายนั้นสามารถทำได้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. หลายฉบับของพรรคก้าวไกล อาทิ ร่าง พ.ร.บ. เกณฑ์ทหาร หรือ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า รวมไปถึง พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กำหนดให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องได้ไม่เกิน 30 วัน ของ ส.ส.รังสิมันต์ จากพรรคก้าวไกล และ พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน ฉบับประชาชนที่องค์กรสิทธิพยายามผลักดันให้เข้าสู่สภา รวมไปถึงการที่ภาคประชาสังคมเข้ายื่นกมธ. เด็ก สตรีฯ ยกเลิก กม.เอาผิดฐานทำแท้ง มาตรา 301 ด้วย


จะเห็นได้ว่าภายใต้กลไกรัฐสภาปัจจุบันที่มีอยู่ ได้มีการพยายามเรียกร้องให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกณฑ์ทหาร ซึ่งผลต่อพลเมืองเพศชายโดยกำเนิด สิทธิเสรีภาพในการดื่มสุรา ของนักดื่ม หรือการป้องกันการซ้อมทรมานอุ้มหาย ของนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายเอาผิดการทำแท้ง ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม การเคลื่อนไหวทางด้านกฎหมายเหล่านี้ ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อันเป็นสิทธิของพลเมือง ดังนั้นการออกมาตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTIQ ว่าเป็นการเรียกร้องที่ไม่คำนึงถึงสภาพสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็อาจต้องตั้งคำถามกับคนกลุ่มอื่นที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของกลุ่มตัวเองด้วยหรือไม่?


อย่างไรก็ดี คำถามต่อไปที่ผู้เขียนอยากชวนคิดต่อ คือกลุ่ม LGBTIQ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในกระบวนการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีความเหมือนหรือแตกต่างกัน เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่


กลุ่ม LGBTIQ ไม่ได้มีกลุ่มเดียวหรือคิดเห็นเหมือนกันท้้งประเทศ


หากจะจำแนกกลุ่มของ LGBTIQ ในสังคมไทยออกจากกันเพื่อให้เห็นภาพของความขัดแย้งในตอนนี้ ผู้เขียนเห็นว่าในสังคมไทยมี LGBTIQ ชนชั้นกลางขึ้นไป ที่ไม่สนใจสังคมด้านอื่นๆ ไม่สนใจสิทธิของคนกลุ่มอื่น ไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตย แต่อยากได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม


มี LGBTIQ ที่สนใจสังคมด้านอื่นๆ ร่วมเรียกร้องขับเคลื่อนประชาธิปไตยและสิทธิทางการเมืองและหลายคนได้รับผลกระทบจากการไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และอาจจะเป็นชนชั้นกลางล่างหรือชนชั้นล่าง หรือบางคนอาจไม่ได้ต้องการกฎหมายนี้ แต่ร่วมเรียกร้องเพื่อให้กลุ่ม LGBTIQ ที่ต้องการได้รับสิทธิ


นอกจากนี้ก็มี LGBTIQ ที่ไม่เอากฎหมายสมรสเท่าเทียม แล้วมองว่า LGBTIQ กลุ่มอื่นๆก็ไม่ควรเรียกร้องสิทธิด้วย เป็นกลุ่มที่ไม่อยากแต่งงานและอยู่ได้สบายดีถ้าไม่แต่งงาน เป็น LGBTIQ ที่มีสถานะทางสังคม ไม่ว่าจะโดยการเป็นคนที่มีชื่อเสียงจากอาชีพการงานหรือเป็นคนที่มีฐานะร่ำรวยสามารถจัดการปัญหาระหว่างการใช้ชีวิตคู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพากฎหมาย ไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎหมายหรือการควบคุมโดยรัฐ หรือบางคนเป็นคนโสดและไม่คิดเรื่องการใช้ชีวิตแบบสองคนเหมือนคู่รักต่างเพศ


ปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นความทับซ้อน เพราะเสียงของ LGBTIQ ชนชั้นกลางขึ้นไปถูกรับฟังและเสียงดังกว่าและไปกลบเสียงของ LGBTIQ ในชนชั้นอื่น หรือ LGBTIQ ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่มีกฎหมายนี้ สังคมเลยเห็นแต่การถกกันบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซึ่ง LGBTIQ ชนชั้นกลางฝ่ายที่เอากับไม่เอากฎหมายนี้ต่อสู้กันอยู่


หลายคนเข้าใจว่าทุกวันนี้ชีวิตของกลุ่ม LGBTIQ ในสังคมไทยโอเคแล้ว ได้รับการยอมรับ และดูจะเสียงดังด้วยซ้ำ ดูไม่มีปัญหาเดือดร้อนอะไร ไม่มีกฎหมายลงโทษแบบประเทศอื่น ที่มองเห็นแบบนี้ก็เพราะสิ่งที่เห็นนั้นเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งจากกลุ่ม LGBTIQ ชนชั้นกลาง คนหลายคนเข้าใจว่า LGBTIQ เรียกร้องมากไป แต่จริงๆแล้วกลุ่ม LGBTIQ ที่ไม่ได้มีอำนาจหรือสถานะในสังคมยังคงเผชิญกับปัญหาทางข้อกฎหมายและไม่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับครอบครับ ชุมชน ที่ทำงาน วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายและนโยบายรัฐ


กลุ่ม LGBTIQ ในประเทศไม่เคยได้รับสิทธิหรือแก้ไขปํญหาอย่างจริงจัง และมักจะถูกบอกให้เป็นสิทธิที่ควรอยู่ลำดับท้ายๆเสมอโดยการกำหนดทิศทางของกลุ่มประชาธิปไตยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มคนรักต่างเพศหรือ Cisgender Heterosexual ที่ได้รับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย ดังตัวอย่างของการออกมาพูดของ จอห์น วิญญู ที่เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา


กลุ่ม LGBTIQ ในประเทศไทยหลายกลุ่มยังเผชิญหน้ากับการต่อต้านของกลุ่มศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการออกมาต่อต้านพ.ร.บ.คู่ชีวิต ของกลุ่มคนมุสลิมบางกลุ่ม การใช้จารีตประเพณีในการบังคับกลุ่มหญิงรักหญิงให้แต่งงานในชนเผ่าพื้นเมือง การบำบัดชายรักชายในกลุ่มมุสลิมและกดดันให้แต่งงานกับผู้หญิงเพื่อให้หายเป็นเกย์ การข่มขืนหญิงรักหญิงเพื่อให้กลับมารักผู้ชาย การถูกขับไล่ออกจากบ้านและการทิ้งถิ่นที่อยู่เพราะการไม่ยอมรับของครอบครัวและชุมชน รวมไปถึงการหล่อหลอมค่านิยมและส่งต่อความเกลียดชังผ่านตำราเรียน สถาบันการศึกษา และคำสอนของผู้มีอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของกลุ่ม LGBTIQ ในทุกระดับ และยังรวมไปถึงการเข้าไม่ถึงการจ้างงานและการศึกษาเพียงเพราะอัตลักษณ์และวิถีทางเพศที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมไทย


ซึ่งปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่กลุ่ม LGBTIQ ทุกคนจะต้องเผชิญ เพราะอำนาจที่ไม่เท่ากันภายในกลุ่มเองดังที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น คนที่มีสถานะทางสังคม สามารถปกปิดตัวตนของตัวเอง ไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ก็อาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมองว่าเรื่องประชาธิปไตยนั้นสำคัญและเร่งด่วนมากกว่า แต่คนอีกกลุ่มที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาระหว่างใช้ชีวิตคู่ ก็อาจจะต้องการกฎหมายนี้อย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับไหนก็ตาม


ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของกลุ่ม LGBTIQ ต่อนักคิดนักเขียนนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย


อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น ว่ากลุ่ม LGBTIQ ไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียวและไม่ได้คิดเห็นตรงกันทุกเรื่อง กรณีของจอห์น วิญญู ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และใช้ถ้อยคำในลักษณะเหมารวมจนเกิดเป็นกระแสตีกลับแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของกลุ่ม LGBTIQ จำนวนหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยเสมอมา แต่ไม่เคยถูกนับเป็นพันธมิตรในขบวน และรู้สึกถึงการถูกตำหนิอย่างไม่เป็นธรรมกรณีที่จอห์นได้กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ไม่เคยสนใจประชาธิปไตยหรือสิทธิด้านอื่นๆและเรียกร้องเฉพาะประโยชน์ของตัวเอง จึงเป็นการสื่อสารที่ผิดฝาผิดตัวต่อผู้ชมรายการของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม LGBTIQ ที่เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและมีส่วนร่วมกับการเรียกร้องสิทธิในด้านอื่นๆด้วยเช่นกัน


หรือกรณีบทความของ Way Magazine ที่ได้กล่าวถึงการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความเห็นของจอห์น วิญญู โดยกลุ่ม LGBTIQ กลุ่มหนึ่งว่าเป็นกลุ่มที่แตะต้องไม่ได้ และมีภูมิคุ้มกันต่อการวิพากษ์วิจารณ์ต่ำ ก็เป็นการเพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์ของคนกลุ่มนี้และเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้เป็นแค่คนที่ไม่สามารถทำความเข้าใจต่อสิ่งที่จอห์นกล่าวในรายการ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างที่จอห์นได้อธิบายไปในรายการจากการออกมากล่าวขอโทษต่อกลุ่ม LGBTIQ แล้วว่าเขาได้พูดผิดพลาดไปอย่างไร ไม่ใช่แค่การตีความไปแค่ประโยคหนึ่งบรรทัดตามที่ผู้เขียนบทความได้อ้างถึง


อย่างไรก็ดี หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์บทความล่าสุดของ Way Magazine โดยเฉพาะทางทวิตเตอร์ ความขัดแย้งทางความคิดก็กลับเข้าไปสู่รูปแบบเดียวกันกับกรณีของจอห์น วิญญู คือการผลักคนที่วิจารณ์บทความนี้ให้กลายเป็นแค่กลุ่มคนที่อ่านหนังสือไม่แตก อ่านระหว่างบรรทัดไม่ออก และตีความเจตนาของผู้เขียนผิด ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้เป็นอันตรายต่อขบวนการประชาธิปไตย เพราะเป็นการผูกขาดความจริงเอาไว้ด้านเดียวว่าการออกมาพูดของนักวิชาการ นักเขียน คนที่มีพื้นที่สื่อในสังคมเท่านั้นที่ถูกต้อง ส่วนคนวิจารณ์ในทวิตเตอร์นั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจสารที่ถูกสื่อ หรือเป็นคนรุ่นใหม่ที่อ่านหนังสือมาไม่มากพอ และวิจารณ์อยู่ในโลกออนไลน์แต่ไม่ได้ออกไปทำอะไรข้างนอก (ซึ่งข้อเท็จจริงคนที่ใช้แพลทฟอร์มออนไลน์อาจออกไปร่วมเคลื่อนไหวข้างนอกเป็นประจำก็ได้)


การถกเถียงที่ถูกนำมาเป็นประเด็นในขณะนี้ ได้ถูกลดทอนให้เหลือเพียงแค่การด่าทอกันไปมาของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่ออกมาวิจารณ์นักคิดนักเขียนนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่มีการหยิบยกข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือปัญหาทางความคิดของผู้ถูกวิจารณ์ขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเป็นรูปธรรมว่ามีข้อผิดพลาดอย่างไร และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นแค่การพยายามปกป้องพรรคพวกฝ่ายเดียวกันและผลักแนวร่วมประชาธิปไตยที่พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายทางเพศออกไปจากขบวนโดยละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากการออกมาพูดหรือเขียนบทความของนักคิดนักเขียนนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งมีเสียงและพื้นที่สื่อมีผู้สนับสนุนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด


ประชาธิปไตยคือความหลากหลายและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของพลเมือง


สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมองว่าปัญหาของขบวนการประชาธิปไตยในสังคมไทย คือการแยกตัวเองออกจากสิทธิด้านอื่นๆด้วยเช่นกัน เช่น การมองว่าเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการขับเคลื่อนประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่จะตามมาทีหลังหากประเทศมีประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว โดยละเลยปัญหาที่คนกำลังเผชิญอยู่ในชีวิตจริง ทั้งๆที่การขับเคลื่อนประชาธิปไตยนั้นสามารถเดินไปพร้อมๆกับการขับเคลื่อนสิทธิด้านอื่นๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกให้ใครรอใคร และปัญหาสำคัญคือการมองชีวิตคนแบบแยกส่วน การไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ในตัวคนๆหนึ่ง มีอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนและได้รับผลกระทบจากการไม่มีกฎหมายปกป้องคุ้มครองในหลายๆด้าน


ตัวอย่างเช่นคนในกลุ่ม LGBTIQ คนหนึ่ง อาจเป็นได้ทั้งคนไร้สัญชาติ ไม่มีที่ดินทำกิน ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินแล้วอาจจะถูกอุ้มหายหรือซ้อมทรมานได้ อาจเป็นคนที่ออกไปชูสามนิ้วหน้าศาลากลาง และอาจเป็นคนที่กำลังใช้ชีวิตร่วมกับคนรักเพศเดียวกันโดยที่ไม่สามารถอยู่ในชุมชนเดิมได้เพราะถูกขับไล่ นอกจากนี้คนๆนี้ยังอยู่ในสถานะของคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคและการจ้างงานอีกด้วย


ดังนั้นคนๆนี้ย่อมต้องการทั้งประชาธิปไตย ย่อมต้องการเรียกร้องกฎหมายการจัดสรรที่ดินทำกินและสัญชาติไทย และเรียกร้องกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย รวมไปถึงเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อจะได้มีชีวิตที่ได้รับการยอมรับในชุมชน เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและออกกฎหมายให้เอื้อต่อการจ้างงานของคนไร้สัญชาติ รวมไปถึงแก้ปัญหาขนส่งสาธารณะ สร้างถนนหนทางในหมู่บ้านให้เดินทางสะดวก


ทั้งหมดนี้คือเรื่องของชนชั้น เพศ เชื้อชาติ สถานะทางสังคม โอกาสในการจ้างงาน สิทธิทางการเมืองในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนหนึ่งคน ดังนั้นการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของพลเมืองในสังคมไทย จึงไม่ใช่เรื่องของคนเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องของสิทธิของใครสำคัญกว่าใคร แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนทุกกลุ่ม


ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่านักคิดนักเขียนนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ออกมาพูดในสื่อที่ตัวเองมีอยู่หรือเขียนบทความเรื่องการเรียกร้องทางการเมืองของคนหลายๆกลุ่ม อาจจะต้องลองมองให้รอบด้านและมองเห็นความเชื่อมโยงที่มาก

กว่าอัตลักษณ์เดี่ยวของคนกลุ่มต่างๆ และไม่ละเลยอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของคนแต่ละกลุ่ม เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่คนกลุ่มๆต่างๆมีต่องานเขียนหรือการสื่อสารสาธารณะของตนเองและร่วมเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวไปด้วยกันได้โดยไม่ต้องผลักใครหรือฝ่ายใดออกไปจากขบวนการประชาธิปไตย และอาจต้องระวังไม่ให้เสียงของตนเองในฐานะที่มีพื้นที่สื่อมากกว่า มีผู้สนับสนุนจำนวนมาก และอยู่ในสถานะที่ 'เลือกได้' มากกว่า ไปกลบเสียงของคนกลุ่มอื่นๆที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาของการไม่มีกฎหมายคุ้มครองและถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลาในชีวิตจริง


บทความที่เกี่ยวข้อง


ภาคประชาสังคมเข้ายื่นกมธ. เด็ก สตรีฯ ยกเลิก กม.เอาผิดฐานทำแท้ง https://prachatai.com/journal/2020/06/88074

เปิดร่างฯ พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ฉบับประชาชน มีแล้วดีอย่างไร https://prachatai.com/journal/2020/02/86425

ก้าวไกลลุยดันร่าง พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ประกาศไม่เกิน 30 วัน ต่ออายุผ่านสภา https://mgronline.com/politics/detail/9630000063015

ชาวทวิตเตอร์บ่น “จอห์น วิญญู” ไม่แตะ LGBTQ พบเคยระบุ “สิทธิของคนทั่วไปไม่มา-ก็ไม่น่าจะมาก่อน”

สภาเปิดรับฟังความเห็น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=94&fbclid=IwAR2QOFS8IwAVVsOqlWeikapcyJ3ouENu-nUYyOBYzFUooet7bMo9j4-TSJM

การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน: จากจูบกลางสภา สู่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และการสู่ขิตของ จอห์น วิญญู https://waymagazine.org/lgbtq-marriage/

มุสลิมเพื่อสันติ ค้าน "กฎหมายคู่ชีวิต" สุดตัว ลั่นทำลายศีลธรรม-ประเทศไม่สงบ https://www.sanook.com/news/8205546/

ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม https://www.the101.world/partnership-law/

พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ย้ำ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ #สมรสเท่าเทียม ขอแก้ประมวลแพ่งฯ ให้ได้สิทธิเสมอภาค https://thestandard.co/move-forward-party-repeat-partner-act-does-not-equal-to-marriage-equality/

ครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต 'เพศเดียวกัน' สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/888413






ดู 702 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page