top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminista Talk EP. 1 : ผู้ชายพูดถึงปัญหาของผู้หญิงได้ไหม?




สำหรับคอลัมน์ Feminista Talk จะเป็นการรวบรวมสรุปสิ่งที่พูดคุยกันใน Twitter Space ซึ่งจัดขึ้นทางทวิตเตอร์ของเฟมินิสต้า หรือทางช่องทางอื่นๆที่จะจัดขึ้นในอนาคตต่อไป เหมาะสำหรับคนที่พลาดการเข้าร่วมหรือต้องการทบทวนประเด็นที่มีการถกเถียงหรือข้อสงสัยต่างๆ ซึ่ง EP แรก ว่าด้วยเรื่องคำถามที่มีคนตั้งไว้ในทวิตเตอร์ ว่าผู้ชายทำไมชอบพูดถึงปัญหาของผู้หญิงโดยไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงพูดด้วยตัวเอง เฟมินิสต้าจึงชวนชาวทวิตมาฟังและแลกเปลี่ยนกันใน Feminista Talk ค่ะ


คำถาม: ผู้ชายพูดถึงปัญหาของผู้หญิงได้ไหม? ผู้ชายตรงเพศ? ผู้ชายเกย์? ผู้ชายไบ? ผู้ชายข้ามเพศ? ผู้ชายที่มีอภิสิทธิ์ทางสังคมสูง? ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะผู้ชายในความหมายที่เป็นผู้ชายตรงเพศ (Cisgender)


คำตอบ : ได้แน่นอน แต่ คำถามต่อไปคือพูดอย่างไร?


คำถาม : ทำไมผู้ชายที่ออกมาพูดเรื่องสิทธิผู้หญิงหรือปัญหาของผู้หญิงถึงโดนวิจารณ์


คำตอบ: เพราะว่าพูดในมุมมองที่ผู้ชายได้เปรียบ ในเชิงแนะนำสั่งสอน หรือคิดว่าตนรู้มากกว่า เช่น การบอกว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ดังนั้นผู้หญิงไม่สามารถทำบางอย่างหรือควรทำบางอย่าง การมีเพศสัมพันธ์แบบไหนอย่างไร เป็นต้น

หรือพูดในมุมมองของคนที่ไม่เคยศึกษาประเด็นปัญหาของผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหา ทำให้การพูดนั้นเป็นปัญหาเสียเอง เช่น การพูดว่าผู้หญิงควรรู้สึกหรือจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไรเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ


คำถาม : ถ้าผู้หญิงต้องการแก้ปัญหา ทำไมไม่ให้คนทุกเพศช่วยพูดให้


คำตอบ :คนทุกเพศพูดประเด็นปัญหาของผู้หญิงได้ แต่ถ้าให้คนที่เผชิญกับปัญหานั้นพูดด้วยตัวเองได้ ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะเหตุผลสองสามข้อ เช่น ผู้ที่อยู่ในปัญหาอาจต้องการสื่อสารกับสังคมถึงสภาวะ ประสบการณ์ ที่ตนเองพบเจอ โดยไม่ถูกบิดเบือนหรือลดทอนข้อเท็จจริง เพราะโอกาสที่สารที่สื่อออกมาจะถูกลดทอนก็มีสูง หากผู้พูดแทนไม่ได้เข้าใจประเด็นปัญหานั้นจริงๆ ยกตัวอย่าง ผู้ชายในสังคมที่มีชื่อเสียง มีพื้นที่อยู่แล้ว เวลาพูดเรื่องปัญหาของผู้หญิง คนมักจะชื่นชม ยกย่อง ตัวบุคคล และให้ความสนใจกับตัวบุคคล โดยอาจจะไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่พูดควรจะได้รับการแก้ไขปัญหาอะไร และสื่อต่างๆก็จะเชิญหรือให้พื่นที่ผู้ชายที่มีสิทธิมีเสียงกลุ่มนี้มากขึ้นอีก ซึ่งรวมไปถึงทรัพยากรอื่นๆ เช่น เงินทุนในการทำงาน ช่องทางในการสื่อสาร ซึ่งปกติไม่เคยตกมาถึงกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานส่งเสียงอยู่ด้วยทรัพยากรของตนเอง เราจึงมักจะเห็นผู้ชายที่มีอำนาจจำนวนมากมีพื้นที่ในการพูดถึงประเด็นผู้หญิงอยู่เสมอ และไม่ถูกโจมตี แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อผู้หญิงพูด จะกลายเป็นพวกประสาทแดก คิดมาก หยุมหยิม เรียกร้องมากไปเสมอ ทั้งๆที่สารนั้นคือสารชุดเดียวกัน ความแตกต่างในการที่ผู้หญิงพูดถึงปัญหากับผู้ชายพูดถึงปัญหาจึงแตกต่างกันตรงนี้ด้วย


คำถาม: ประสบการณ์เฉพาะ ประสบการณ์ร่วม กรรมสิทธิ์ของชุดประสบการณ์มีจริงหรือเปล่า


คำตอบ: มีคนบอกว่าประสบการณ์เฉพาะเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ประสบการณ์ไม่ควรมีกรรมสิทธิ์ การพูดแบบนี้เป็นการตัดมิติทางอารมณ์ความรู้สึกออกไปให้กลายเป็นแค่ทฤษฏีแบบมาร์กซิสต์อันแห้งแล้ง แน่นอนว่าประสบการณ์ไม่ใช่ทรัพย์สิน ไม่มีกรรมสิทธิ์และไม่ควรมี แต่ต้องยอมรับว่า ชุดประสบการณ์ที่คนแต่ละคนเผชิญเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเฉพาะ และในขณะเดียวกันก็มีบางจุดที่สามารถกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของคนอีกจำนวนมากบนโลกนี้ ดังนั้น ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนกับผู้ชายที่ถูกข่มขืนก็ไม่มีทางมีชุดประสบการณ์แบบเดียวกันทั้งในด้านกายภาพและจิตใจ แต่สิ่งที่มีร่วมกันแน่ๆคือ การถูกใช้อำนาจ และความเจ็บปวดจากการถูกใช้อำนาจซึ่งเกิดขึ้นกับปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายหรือเพศใดๆ การแชร์ประสบการณ์จึงสำคัญ และการเคารพชุดประสบการณ์ของคนแต่ละคนก็สำคัญเช่นกัน การแนะนำสั่งสอนว่า คนที่ถูกข่มขืนควรจะรู้สึกอย่างไร มากน้อยแค่ไหน จึงเป็นเรื่องที่อันตราย


คำถาม: การเมืองอัตลักษณ์มีปัญหายังไงบ้างต่อขบวนการเคลื่อนไหว


คำตอบ: ในการเคลื่อนไหวโดยชูอัตลักษณ์ ปัญหาที่พบ คือการแบ่งแยกและความขัดแย้งเนื่องจากการไม่สามารถจะเข้าใจกันและกันได้ เพราะเราพบว่า การสู้แบบเดี่ยวๆทำให้เราผลักคนกลุ่มอื่นๆออกไป เช่น พอเราพูดแต่คำว่า ผิวสี เราไม่สนใจคนเอเชีย คนชนเผ่า แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของเราก็ไม่ครอบคลุม หรือบางครั้งเราเคลื่อนไหวเรื่องการทำแท้ง แต่อีกกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องศาสนา มันก็เกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งตรงนี้ขบวนการเคลื่อนไหวแบบ Intersectionality ก็เข้ามาแก้ปัญหาแล้วพยายามกระตุ้นให้ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมดทางสังคมจับมือกันเพื่อไปสู่เป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่การสลายอัตลักษณ์ของคนแต่ละกลุ่มทิ้ง เพราะเรามองเห็นความทับซ้อนของอัตลักษณ์ที่ทุกคนมี ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ก็ต้องลงรายละเอียดไปว่ามันไม่ใช่ว่า All lives matter แต่คนแต่ละกลุ่มนั้นมีปัญหาที่ถูกกระทำต่างกัน เพราะฉะนั้น Black lives matter Asian Lives matter ก็เป็นเรื่องเฉพาะในตัวมันเอง มีประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ที่แตกต่างกัน วิธีแก้ปัญหาในรายละเอียดก็อาจจะต่างกันด้วย ในขณะเดียวกันก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือการขจัดแนวคิดเหยียดเชื้อชาติให้หมดไป มีกฎหมายที่คุ้มครองสนับสนุนสิทธิของคนกลุ่มนี้ แล้วก็ต้องมาหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้โดยมีแนวทางที่สอดรับกับคนแต่ละกลุ่มด้วย แล้วพอเราเห็นอัตลักษณ์ที่หลากหลายตรงนี้ เราก็จะพบอีกว่า ยังมีปัญหาอื่นๆที่เรามีร่วมกัน เช่น การถูกขูดรีดแรงงานจากระบบทุนนิยม การถูกกดขี่ทางเพศ ถ้าเรามองเห็นปัญหาร่วมระหว่างกลุ่มแต่ละกลุ่ม ก็จะจับมือไปด้วยกันได้ ไม่ใช่การสู้แบบตัวใครตัวมัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับก่อนว่าคนแต่ละกลุ่มถูกกระทำต่างกัน และเราต้องทำให้คนแต่ละกลุ่มนั้นมีพื้นที่มีเสียงของตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ลดทอนอัตลักษณ์และเสียงของคนกลุ่มอื่น และบอกว่าเราต้องสู้เรื่องนี้ก่อนเพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า


คำถาม: ทำไมเราจึงต้องเอื้อให้เสียงของผู้ที่ไม่ถูกรับฟังได้เปล่งขึ้นด้วยเจ้าตัวเอง และถ้าเราจะพูด เราจะพูดอย่างไร แค่ไหน


คำตอบ: อย่างที่บอกไปว่า การที่คนที่เผชิญปัญหาสามารถสื่อสารในสิ่งที่เค้าต้องการแก้ไข หรือบอกเล่าประสบการณ์ที่อยากจะแชร์กับสังคม ถ้าเค้าต้องการพูดด้วยตัวเอง ถ้าหากเรามีทรัพยากร มีเสียงดัง มีพื้นที่มากกว่า เราก็ไม่ควรกันพื้นที่เหล่านั้นไว้เป็นของเรา เพราะมีเรื่องของทรัพยากร เรื่องของช่องทางในการสื่อสารที่ไม่เท่าเทียมกัน ถ้าเรายึดครองพื้นที่ในการสื่อสารเอาไว้ทั้งหมด ก็เป็นการตัดโอกาสของคนที่ต้องการจะสื่อสารจริงๆ ยกเว้นในกรณีคนที่เผชิญปัญหาไม่สามารถพูดได้ด้วยตัวเองและขอให้เราช่วยพูดแทน


ส่วนประเด็นว่า ถ้าอย่างนั้นผู้ชายพูดเรื่องผู้หญิงได้มั้ย แค่ไหน ก็ต้องดูว่า เราในฐานะที่ไม่เคยมีประสบการณ์นั้น ไม่ได้เป็นผู้เผชิญปัญหานั้นด้วยตัวเอง แล้วเราอยากจะพูด เราสามารถที่จะขอคำแนะนำ ทำความเข้าใจ คุยกับคนที่เราอยากพูดถึงได้มั้ย ไปศึกษาเรื่องราวของคนที่เราจะพูดถึงมากแค่ไหน เราใช้เลนส์แบบไหนในการพูด ใช้อำนาจจากสถานะที่ตัวเองมีในการพูดหรือเปล่า มันต้องดูหลายอย่าง เราอาจจะมั่นใจว่าตนเองพูดได้ แต่พูดมาแล้วส่งผลยังไงกับคนที่อยู่ในปัญหา เหมือนกรณีที่ทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงออกมาแล้วโดนวิจารณ์ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงจะรู้สึกว่าสิ่งที่สื่อออกมามันไม่ใช่ แล้วเราก็ต้องการให้คนทำสื่อตรงนี้รับผิดชอบกับการผลิตสื่อ การพูดถึงปัญหาของผู้หญิง บางทีนอกจากไม่ช่วยแล้ว ยังผลิตซ้ำอคติทางเพศต่อผู้หญิงด้วยซ้ำไป


อ่าน Feminista Talk EP2 ได้ที่






ดู 47 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page