วันที่ 18 พค ที่ผ่านมา หลังจากมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวัน IDAHOBIT เพื่อเรียกร้องให้สังคมช่วยกันยุติการเกลียดกลัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก พระชาย วรธัมโม เป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปร่วมถือป้ายรณรงค์ในงานนี้ด้วย ซึ่งภายหลังจากจบกิจกรรม ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามเพื่อตรวจใบสุทธิว่าเป็นพระจริงหรือไม่ โดยอ้างว่ามีคนร้องเรียนไปเพราะเกรงว่าจะเป็นพระปลอม พระชายเล่าให้ฟังว่าพยายามปฏิเสธที่จะไม่ให้ตรวจค้น แต่เจ้าหน้าที่ยืนกรานขอดูใบสุทธิ แต่เนื่องจากพระชายไม่ได้นำติดตัวมาด้วย เพราะมีบัตรประชาชนที่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วว่าเป็นพระหรือไม่ หลังจากเจรจากันอยู่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวพระชายไปที่สน ปทุมวัน และทำการตรวจสอบประวัติ ก่อนจะปล่อยตัวภายในวันเดียวกัน โดยไม่นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศเดินทางไปให้กำลังใจและรอรับที่สถานีตำรวจ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว หลวงพี่ชายให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาตนได้เข้าไปร่วมแสดงออกทางการเมืองหลายครั้ง แต่ไม่เคยถูกตรวจสอบหรือถูกจับกุมมาก่อน และตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามจะกีดกันและสกัดกั้นไม่ให้พระสงฆ์เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพระรูปอื่นๆที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ถูกตรวจสอบ จับกุม รวมถึงถูกกดดันไปยังวัดต้นสังกัดให้ดำเนินการเอาผิดพระสงฆ์ที่เข้าร่วมทางการเมืองแล้วหลายรูป แต่ในครั้งนี้ตนมองว่าเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จับตาการแสดงออกทางการเมืองที่พูดถึงสิทธิทางเพศ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจมักไม่ค่อยเพ่งเล็งหรือเข้าตรวจสอบการดำเนินการของกลุ่มที่ทำงานเรื่องสิทธิทางเพศเท่ากับกลุ่มที่ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ และอาจถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่เจ้าหน้าที่มีความเข้มงวดกับการแสดงออกของพระสงฆ์มากขึ้นไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในประเด็นใดก็ตาม
ประเด็น LGBT กับศาสนาแบบชายเป็นใหญ่
พระชายได้แสดงความเห็นว่าหากไปศึกษาคำสอนของศาสนาพุทธที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการห้ามบัณเฑาะห์บวชนั้น จะพบว่าไม่ใช่การระบุว่ากระเทยห้ามบวชอย่างที่คนจำนวนมากเข้าใจกัน เพราะบัณเฑาะห์นั้นหมายถึงคนที่มีอวัยวะเพศแบบกำกวมหรือในภาษาอังกฤษอาจหมายถึง Intersex แต่ด้วยความไม่รู้ คนส่วนใหญ่จึงตีความว่าศาสนาพุทธห้ามกะเทยบวช นอกจากนี้ประเด็นที่มีการสอนว่า คนที่เกิดมาเป็น LGBT นั้นเป็นเพราะกรรมที่ทำมาจากชาติก่อน ก็เป็นผลมาจากวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่มองว่าโลกนี้มีแค่สองเพศเท่านั้น และเพศที่มีอำนาจสูงสุดคือเพศชาย ทำให้เพศอื่นๆถูกมองว่ามีสถานะด้อยกว่า และจริงๆแล้วศาสนาสอนให้คนเมตตาต่อกัน การปฏิบัติต่อ LGBT ก็ไม่ควรเป็นการเลือกปฏิบัติหรือปฏิบัติด้วยความเกลียดชัง
ต่อปัญหาเรื่องการตีความคำสอน พระชายแสดงความเห็นว่า เพราะสถาบันศาสนามีผู้ชายเป็นคนควบคุมกฎ ทำให้กฎที่ตั้งขึ้นมาหลายข้อเอื้อประโยชน์ให้กับเพศชาย ถ้าหากเราสามารถตีความคำสอนใหม่ หรือไม่ยอมรับคำสอนที่เป็นโทษ ก็ย่อมทำได้ในระดับปัจเจก หรือถ้าหากใครที่รู้สึกว่าศาสนาไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนๆนั้น ก็มีสิทธิที่จะไม่นับถือศาสนาใดๆก็ได้ เพราะการที่คนจำนวนมากเลิกนับถือศาสนา ก็เป็นการส่งเสียงถึงองค์กรศาสนาเองว่า เพราะเหตุใดคนจำนวนมากถึงไม่อยากมีศาสนาอีกต่อไป องค์กรศาสนาควรจะปรับตัวอย่างไรให้คนหันมานับถือ เพราะไม่เช่นนั้น คนก็จะไม่อยากมีศาสนากันมากขึ้น หรือในอีกกรณี คนที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของศาสนา ไม่เห็นด้วยกับกฎของศาสนาที่ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ก็อาจออกไปก่อตั้งศาสนาด้วยตัวเอง เช่น การทำงานทางด้านศาสนาพุทธแบบเฟมินิสต์ในมุมมองของ อวยพร เขื่อนแก้ว นักสตรีนิยมที่ตีความคำสอนศาสนาและใช้ศาสนาในการทำงานเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ เป็นต้น
ทำความรู้จักกับ พระชาย วรธัมโม เพิ่มเติม ได้ที่
コメント