top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

เมื่อไม่มีหลักฐาน ปัญหาก็ไม่มีอยู่จริง? : ข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศที่ไม่เพียงพอและเข้าไม่ถึง





ทุกๆครั้งที่พูดเรื่องปัญหาความรุนแรงทางเพศ สิ่งที่ผู้เขียนมักจะได้รับกลับมา คือคำกล่าวทำนองที่ว่า


“เดี๋ยวนี้สังคมเท่าเทียมกันหมดแล้ว ไม่มีหรอกระบอบชายเป็นใหญ่”


“เพศไหนๆก็โดนได้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่กะเทยหรือผู้หญิง”


“ไหนล่ะปัญหาที่ว่า ไม่เห็นมีตัวเลขที่วัดได้เลยว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริง”


บ่อยครั้งที่ประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในปัญหาไม่อาจโน้มน้าวให้คนทั่วไปเข้าใจปัญหาที่กำลังกล่าวถึงได้โดยทันที เพราะสังคมที่ถูกผูกขาดด้วยตัวเลขที่จับต้องได้นั้นกลายมาตรฐานที่รับรู้ได้ทั่วไป ผู้คนต้องการตัวเลข หรือแผนภาพ ที่ระบุได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร เพื่อที่พวกเขาจะได้เห็นว่าตัวเลขเหล่านั้นหมายถึงปัญหาที่มีอยู่จริง


แต่เมื่อผู้เขียนพยายามจะค้นหาสถิติความรุนแรงทางเพศที่เป็นตัวเลขข้อมูลต่างๆ เพื่อเอามายืนยันเข้ากับประสบการณ์จริงที่ผู้อยู่ในปัญหาต้องเผชิญ กลับพบว่าข้อมูลเหล่านั้นกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะได้อ่านผ่านตาหรือกระทั่งค้นเจอ


ผู้เขียนพบว่า องค์กรทั้งของรัฐและเอกชน มีการจัดทำการรวบรวมสถิติความรุนแรงเอาไว้หลายครั้ง ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย ดำเนินการสำรวจ สถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ใน พ.ศ. 2562 และมีรายงานให้ดาวน์โหลดไปอ่านได้ทั้งในฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงฉบับอินโฟกราฟิก


หรืออย่างสถิติ ความรุนแรงในครอบครัว ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สสส. สำรวจความรุนแรงในครอบครัวครึ่งปี 2563 จากข่าว 350 ข่าว และพบว่าสถิติที่ผู้หญิงถูกฆาตกรรมจากสามีมีจำนวนมากถึง 62.5% จากข่าวทั้งหมด


ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ พบว่ามีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงจากทั้งหมด 14 ปี (2547-2561) มีจำนวน 247,480 ราย และส่วนใหญ่ยังเป็นการถูกกระทำจากคนใกล้ชิด


หรือในกรณีของสถิติการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ก็มีข้อมูลสถิติ 7 ปี จาก สพฐ. ตั้งแต่ปี 2556-2562 พบว่า มีทั้งหมด 1,186 เคส โดยแบ่งเป็น บุคคลอื่นกระทำกับเด็ก 482 เคส รองลงมา คือ เด็กกระทำกับเด็กด้วยกัน 464 เคส คนในครอบครัวทำกับเด็ก 135 เคส และ ครู/บุคลากรการศึกษากับเด็ก 105 เคส


จากบางส่วนที่ยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง จะพบว่า ตัวเลข สถิติ ที่หลายๆคนถามหา ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่จริงๆแล้วมีการทำสำรวจอยู่เสมอ ปัญหาจึงกลายเป็นว่า ทำไมคนทั่วไปจึงไม่ทราบว่ามีสถิติตัวเลขเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศให้ค้นหาและนำมาอ้างอิงได้และสามารถที่จะทำให้เข้าใจปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยได้



ข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศที่ไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม


จากที่ได้กล่าวไว้ว่า ทุกๆครั้งที่มีการทำงานเคลื่อนไหวเรื่องความรุนแรงทางเพศ คำถามหนึ่งที่คนทำงานต้องเจออยู่เสมอ คือการถามหาข้อมูลที่เป็นตัวเลขสถิติ ซึ่งการรวบรวมสถิติข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ มักมีการแยกออกไปเป็นงานอีกประเภทหนึ่ง คนที่ทำงานรวบรวมสถิติข้อมูลความรุนแรงทางเพศตรงนี้ อาจไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกันกับที่ทำงานรณรงค์ หรืออาจไม่ใช่กลุ่มเดียวกันกับคนที่ทำงานช่วยเหลือเคสแบบรายกรณี แต่ในขณะเดียวกันบางองค์กรที่มีงบประมาณมากพอ ก็อาจจะสามารถทำงานได้ครอบคลุมในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หรือ ทำงานรวบรวมข้อมูลสถิติ และงานรณรงค์ไปพร้อมๆกัน อย่างกรณี มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่มีทั้งงานรณรงค์ ช่วยเหลือ และรวบรวมสถิติความรุนแรงทางเพศ


แต่ถึงแม้จะมีองค์กรหรือมูลนิธิที่ทำงานด้านการรวบรวมข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศเอาไว้บ้างแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอต่อการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงทางเพศ เพราะประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศนั้นมีเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีลักษณะที่หลากหลายมิติมากขึ้น เพราะความรุนแรงทางเพศนั้นไม่ได้มีแค่เฉพาะกับผู้หญิงและผู้ชายตามเพศกำเนิด แต่ยังรวมไปถึงความรุนแรงที่มีต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เช่น ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มบุคคลนอกกรอบเพศ (Non-Binary) ในรูปแบบของการฆ่า การทำร้ายร่างกาย การข่มขืนเพื่อเปลี่ยนเพศ หรือการเลือกปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน ตัวอย่างข่าวล่าสุด คือการทำร้ายร่างกายผู้หญิงข้ามเพศโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในหลายประเทศ ถือเป็น Hate Crime หรืออาชญากรรมจากความเกลียดชัง และมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่ในประเทศไทยกลับยังไม่มีกฎหมายนี้


หรือความรุนแรงทางเพศที่มีต่อผู้ชายตามเพศกำเนิดเอง ก็ยิ่งมีน้อยลงไปอีก เนื่องจากการเข้าไม่ถึงข้อมูลความรุนแรงทางเพศที่ผู้ชายได้รับ รวมถึงการที่ผู้ชายไม่กล้าออกมาร้องเรียน ฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะสังคมที่ขาดความเข้าใจว่าผู้ชายก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศได้ และความเป็นชายที่ถูกสังคมหล่อหลอมมาก็เป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ผู้ชายจำนวนมากเลือกที่จะเก็บปัญหาความรุนแรงทางเพศไว้กับตัว


หรือในกรณีสถิติความรุนแรงทางเพศบนพื้นที่ออนไลน์ เช่น การคุกคามทางเพศต่อนักกิจกรรมหญิงที่เข้าร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยด้วยการเปลือยกาย และมีการโพสต์รูปลงสื่อสังคมออนไลน์ แต่กลับถูกคุกคามทางเพศด้วยวาจาหรือกรณีการส่งต่อรูปภาพในลักษณะของการตัดต่อให้ได้รับความเข้าใจผิดในประเด็นทางเพศ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายใดที่สามารถนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้โดยตรง มีเพียงกฎหมายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาหรือการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเท่านั้นที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ กฎหมายอาญามาตรา 397 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้จริง เพราะมีการตีความกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมไปบนพื้นที่ออนไลน์ ดังนั้น ปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศบนพื้นที่ออนไลน์ ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหม่ และยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลสถิติอย่างเป็นระบบเท่าที่ควร


ข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศสำคัญอย่างไร


ทำไมข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศจึงสำคัญ??


ในด้าน นโยบาย การจัดทำนโยบาย ไม่ว่าจะนโยบายของรัฐหรือของเอกชน จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลเพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ยิ่งมีข้อมูลน้อย ปัญหาก็จะยิ่งไม่ได้รับการแก้ไข การตีแผ่ให้เห็นปัญหาทั้งในรูปแบบของเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในปัญหาเป็นส่วนที่สำคัญเพราะเป็นเสียงจากผู้ที่อยู่ในปัญหาจริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลเชิงสถิติตัวเลขก็จะเป็นตัวที่เข้ามาเสริมให้เห็นภาพรวมของปัญหา จำนวนของคนที่ได้รับผลกระทบจากปํญหาดังกล่าว และการที่คนออกแบบนโยบายได้เห็นตัวเลขสถิติ ข้อมูลต่างๆที่ครบถ้วน ย่อมส่งผลต่อการออกนโยบายที่ครอบคลุมในการแก้ปัญหานั้นๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าหากบริษัทใด ได้รับข้อมูลสถิติของจำนวนพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน บริษัทย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในการจัดทำนโยบายที่นำไปสู่การสร้าง นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติในที่ทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Code of Conduct ในบริษัท การจัดอบรม Gender Sensitisation ให้กับพนักงานเพื่อทำความเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการจัดทำคู่มือ Inclusive Workplace ที่เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติของบริษัทและพนักงาน


ในด้าน กฎหมาย เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลสถิติตัวเลขต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ กลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขหรือการตรากฎหมายใหม่ ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ เช่น ในการนำไปอภิปรายในสภา นำไปโน้มน้าวให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทำความเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้รัฐออกกฎหมายที่เป็นการส่งเสริมปกป้องคุ้มครองผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ ตัวอย่างของการนำข้อมูลสถิติไปใช้ คือการผลักดันกฎหมายทำแท้งในหลายประเทศ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการอ้างอิงถึงสถิติของอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและเข้าสู่กระบวนการทำแท้งไม่ปลอดภัย ว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้รัฐเห็นว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นปัญหาระดับชาติ เพราะส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตผู้ที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการปกป้องพลเมืองของตัวเองให้ได้รับสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย


ในด้าน การรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ สำหรับองค์กรที่ทำงานเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคม การรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารรณรงค์มีความสำคัญมาก เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ เนื่องจากการรวบรวมสถิติความรุนแรงทางเพศมีอยู่อย่างกระจัดกระจายไม่เป็นระบบเดียวกัน ต่างคนต่างทำตามศักยภาพขององค์กรและงบประมาณที่ตัวเองมี ดังนั้นหลายครั้งเราจะพบว่า มีการรวบรวมสถิติก็จริง แต่ไม่มีการนำมาใช้โปรโมท รณรงค์ให้คนในสังคมได้เข้าใจหรือเห็นได้ทั่วไป การมีข้อมูลสถิติที่เข้าถึงได้ง่าย สามารถทำความเข้าใจได้ผ่านแผนภาพต่างๆ และถูกนำไปใช้ตามสื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำไปโน้มน้าวทางความคิดให้กับคนในสังคมได้ ซึ่งนอกจากจะสามารถทำให้คนทั่วไปมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศแล้ว ยังอาจโน้มน้าวให้คนที่มีความสนใจ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายและนโยบายได้


เช่น การที่คนในสังคมมีความตระหนักรู้เรื่องความไม่เท่าเทียมในการสมรส คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ ก็สามารถนำไปสู่การลงชื่อเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือกรณีเรื่องการยกเลิกคำนำหน้าชื่อของบุคคลข้ามเพศ การทำความเข้าใจโดยมีข้อมูลอ้างอิงเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากคำนำหน้านามที่ไม่ตรงกับเพศสภาวะของบุคคลข้ามเพศ ก็สามารถทำให้คนในสังคมช่วยกันสนับสนุนการยกเลิกคำนำหน้าชื่อนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการลดความรุนแรงจากระบบโครงสร้างในด้านต่างๆที่คนข้ามเพศต้องเผชิญ ดังนั้นการสร้างการตระหนักรู้จากข้อมูลสถิติเหล่านี้จึงนำไปสู่การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นความรุนแรงทางเพศได้


ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดการรวบรวมข้อมูลสถิติความรุนแรงทางเพศให้เป็นระบบ สามารถทำให้คนเข้าถึงได้โดยทั่วไป และสามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผลักดันกฎหมายและนโยบายให้เกิดขึ้นและบังคับใช้ได้จริง



*บทความนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Feminista และ Femnimitr แพลตฟอร์มข้อมูลเรื่องเพศในประเทศไทย



ข้อมูลอ้างอิง











ดู 394 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


bottom of page