*เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟซบุคเพจ เรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย
(ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ถูกนำมาเป็นหลักฐานในคดี)
เมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่อินเดียมีข่าวน่าสะเทือนใจออกมาเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัว โดยสำนักข่าวหลายสำนักได้นำเสนอวีดีโอจากกล้องวงจร ซึ่งเปิดเผยให้เห็นว่า ผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่ง ถูกสามี แม่สามี และพ่อสามีรุมทำร้ายภายในบ้าน ต่อหน้าลูกเล็กๆทั้งสองคน
วีดีโอแสดงให้เห็นว่าสามีของเธอเข้าไปพยายามทุบตีทำร้าย โดยมีพ่อสามีและแม่สามีช่วยกันดึง ผลัก ด่าทอใส่ผู้หญิงคนนี้ โดยภายหลังผู้หญิงคนนี้ให้สัมภาษณ์ว่า สามีเธอทำร้ายร่างกายเธอมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะหลังจากมีการเรียกเอาสินสอดหรือ ที่อินเดียเรียกกันว่า ดาวรี่ (Dowry) เพิ่ม แต่เธอไม่มีให้ และตอนแต่งงานกัน ครอบครัวฝ่ายหญิงก็ให้ทั้งเงินและทองคำ เป็นสินสอดแก่ฝ่ายชายไปแล้ว ทั้งๆที่จริงแล้ว การเรียกเอาค่าสินสอดเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอินเดีย นับตั้งแต่มีคดีฆาตกรรมและทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นจากการเรียกเอาสินสอดของฝ่ายชาย อินเดียจึงออกกฎหมายห้ามมิให้มีการเรียกสินสอด แต่ปัจจุบันก็ยังมีการแอบเรียกค่าสินสอดจากฝ่ายหญิงอยู่ดี
วีดีโอนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วตามหน้าสื่อต่างๆ และสิ่งที่น่าตกใจคือ ผู้กระทำความผิดคือผู้พิพากษาแห่งศาลเมืองไฮเดอราบัดที่เพิ่งเกษียณอายุไป โดยเธอแต่งงานกับลูกชายของผู้พิพากษาคนนี้เมื่อปี 2012 และมีลูกด้วยกันสองคน ครอบครัวนี้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำร้าย แต่เพราะฝ่ายหญิงพยายามจะฆ่าตัวตาย พวกเขาเลยพยายามช่วยชีวิตเธอไว้ แล้วยังกล่าวหาว่าเธอเป็นบ้าหรือวิกลจริตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เธอได้มอบวีดีโอนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ทั้งการหย่าขาดจากสามี และการขอสิทธิในการเลี้ยงดูลูกทั้งสองคน
กรณีความรุนแรงในครอบครัวกับระบบดาวรี่นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดซ้ำซากมานานในอินเดีย ระบบดาวรี่ หรือสินสอด ที่ฝ่ายหญิงต้องให้กับฝ่ายชายก่อนแต่งงานและระหว่างที่อยู่ด้วยกัน เป็นระบบที่ก่อให้เกิดคดีอาชญากรรมมาหลายต่อหลายคดี
โดยมีการเรียกคดีอาชญากรรมอันเกิดจากดาวรี่ว่า Dowry Death หรือ Dowry Murder ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การจุดไฟเผา การทำร้ายร่างกายในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงผลกระทบจากการเรียกเอาสินสอด ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายของฝ่ายหญิงเพราะไม่สามารถหาดาวรี่มาให้แก่ฝ่ายชายได้
ดาวรี่หรือสินสอดในที่นี้ ไม่ได้มีเฉพาะแค่ตัวเงิน ทองคำ หรือเครื่องประดับต่างๆเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึง เครื่องใช้ต่างๆในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ทีวี ซึ่งฝ่ายชายมักอ้างว่า การให้ดาวรี่แก่ครอบครัวสามี ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายหญิงในการดำรงชีวิตใหม่ในบ้านของสามี
ในอินเดีย มีการเรียกร้องให้ออกกฎหมายแบนการเรียกรับดาวรี่มาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีการออกกฎหมายที่ชื่อว่า Dowry Prohibition Act 1961 เพื่อไม่ให้มีการเรียกร้องสินสอด แต่กลับมีข้อยกเว้นว่าหากเป็นความสมัครใจก็ทำได้ ซึ่งตรงนี้จึงเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายให้มีการเรียกสินสอด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอาญาของอินเดีย ในมาตรา 498 A ที่ระบุว่าให้จับกุมสามีกับครอบครัวสามีได้ทันที หากมีการร้องเรียนจากภรรยาว่ามีการเรียกร้องดาวรี่ แต่ในปี 2014 ก็มีการแก้กฎหมายว่าจะจับกุมได้ ต่อเมื่อมีการอนุญาตจากผู้พิพากษาเท่านั้น
ปัจจุบันระบบดาวรี่ยังคงอยู่และเข้มแข็งมากในอินเดีย แม้กระทั่งในกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามบางส่วน ก็รับเอาระบบดาวรี่ไปจากกลุ่มคนที่นับถือศาสนาฮินดูเช่นกัน รวมไปถึงศาสนาเจน (๋Jain) ด้วย
โปสเตอร์ที่สื่อถึงความตายของหญิงสาวที่เกิดจากการฆ่าตัวตายเพราะสาเหตุของการเรียกร้องสินสอด
โปสเตอร์ที่สื่อถึงดาวรี่ในรูปแบบของทรัพย์สินต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถยนต์
โปสเตอร์ข้างบนนี้ คือโปสเตอร์รณรงค์เรื่องดาวรี่ จากกลุ่มองค์กรสิทธิผู้หญิงต่างๆในอินเดีย จะเห็นว่ามีเนื้อหาพูดถึงการฆ่าตัวตายของผู้หญิง การจุดไฟเผา รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งของดาวรี่ ซึ่งผลกระทบจากดาวรี่นี้ ทำให้กลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์กันอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 1975 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ดังนั้นระบบดาวรี่ (Dowry System) กับ ความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) จึงเป็นของที่มาคู่กัน และนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เรียกว่า Dowry Death หรือ Dowry Murder นั่นเอง
อ่านข่าวได้ที่
https://thewire.in/…/justice-nooty-rammohana-rao-dowry-hara…
Kommentare