top of page
รูปภาพนักเขียนFeminista

เรียนเจนเดอร์ ที่อินเดีย :ICCR Scholarship ทุนรัฐบาลอินเดีย ใบเบิกทางสู่การเรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย



สำหรับช่วง India's Daughter บทความนี้จะพาไปรู้จักกับทุนรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นทุนที่ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อด้านเพศสถานะศึกษาหรือ Gender Study ที่อินเดียค่ะ โดยจะนำเสนอเป็นตอนๆว่าด้วยเรื่องของการขอทุน การศึกษาด้านนี้ที่อินเดีย การทำงานในอินเดีย และชีวิตความเป็นอยู่ในสถานะนักเรียนที่อินเดียค่ะ


ตอนที่ 1 ทุนการศึกษาจากรัฐบาลอินเดีย


ก่อนจะเล่าถึงเรื่องเรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย เราอยากรีวิวทุน ICCR ซึ่งเป็นทุนที่ทำให้มีโอกาสได้ไปเรียนในครั้งนี้ หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมา มีหนังสือที่เขียนโดยอดีตนักเรียนทุน ICCR ออกมาก่อนหน้า ชื่อ ลูกสาวคนเดียวก็เรียนจบอินเดียได้ โดยคุณมะปราง ข้อมูลหลายๆเรื่องเกี่ยวกับทุนนี้ก็มาจากเพจของคุณมะปราง โดยเฉพาะกำหนดการเปิดรับสมัครทุน ซึ่งมีการอัปเดทในเพจอยู่ตลอด รวมไปถึงรายละเอียดข้อมูลเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับทุนนี้ที่น่าสนใจ


การเปิดรับสมัครจะเริ่มช่วงปลายปีหรือต้นปี แล้วแต่ว่าจะเป็นเดือนไหน แต่ปี 2017-2018 ประกาศช่วงมกรา และหมดเขตส่งใบสมัครวันที่ 13 มกราคม สอบข้อเขียนภาษาอังกฤษวันที่ 23 มกราคม และสอบสัมภาษณ์วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ส่วนการตอบรับของมหาวิทยาลัย จะเริ่มตั้งแต่ช่วงพฤษภาคมไปจนถึงสิงหาคม


ทุน ICCR คือทุนของรัฐบาลอินดีย ชื่อเต็มๆคือ Indian Council for Cultural Relation หรือชื่อภาษาไทยว่า สภาวัฒนธรรมแห่งรัฐบาลอินเดีย
ทุนนี้เปิดรับสมัครทุกปี ทุกระดับทั้งป.ตรี โท และเอก สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.iccr.gov.in/a2a/iccr-scholarship หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย http://www.indianembassy.in.th/

ข้อดีของทุนนี้คือ ไม่ต้องใช้คะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษเช่น IELTS หรือ TOEFL แต่ทางสถานทูตจะจัดสอบข้อเขียนภาษาอังกฤษเอง ถ้าผ่านข้อเขียนถึงจะได้ไปรอบสัมภาษณ์ แต่การได้ทุนจากสถานทูต ไม่ได้หมายถึงได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัย การตอบรับจะเป็นอำนาจในการตัดสินใจของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจมีบางแห่งไม่ตอบรับก็เป็นไปได้


ทางสถานทูตจะให้ผู้สมัครเลือกมหาวิทยาลัยและสาขาที่ต้องการเรียนทั้งหมด 3 แห่ง และ 3 สาขา เมื่อผ่านการสัมภาษณ์ ทางสถานทูตจะส่งใบสมัครของเราไปให้มหาวิทยาลัยที่เราเลือกไว้ และทางมหาวิทยาลัยจะมีจดหมายตอบรับมาอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเลือกไปรายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนด


เนื่องจากทุนนี้เป็นทุนเพื่อให้นักเรียนไทยไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย ความนิยมของทุนจึงไม่เท่ากับทุนจากประเทศอื่นๆอย่างโซนยุโรป หรืออเมริกา ดังนั้นการแข่งขันก็อาจจะน้อยกว่า คนที่จะสมัครทุนนี้ต้องแน่ใจว่าจะอยู่อาศัยในประเทศอินเดียได้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศอินเดียมีเสียงร่ำลือหลายด้าน ทั้งเรื่องความสะอาด ความไม่มีระเบียบ อาชญากรรมต่างๆ อาหารหรือกระทั่งการเดินทาง ดังนั้นตัวเลือกของการไปเรียนที่อินเดียอาจอยู่ในลำดับท้ายๆของใครหลายคน


เนื่องจากผู้แข่งขันน้อย โอกาสจะได้ทุนนี้ก็มีพอสมควร สำหรับปีที่ผู้เขียนสมัคร มีคนมาสอบข้อเขียนทั้งหมดประมาณร้อยสี่สิบกว่าคน คัดเหลือเข้าสัมภาษณ์ประมาณ 25 คน แต่ตัวเลขในการได้รับจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยไม่ทราบแน่ชัด


ทุนนี้เท่าที่คุยกับคนที่เคยได้ จะมีลักษณะพิเศษตรงที่ กรรมการจะดูจากความต้องการของเราว่า ทำไมเราถึงอยากไปเรียนที่อินเดีย ดังนั้นข้อสอบในหน้าสุดท้ายจึงสำคัญมากๆ กับคำถามที่ว่า ขอให้อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงอยากไปเรียนที่อินเดีย ซึ่งข้อนี้จะแสดงให้กรรมการเห็นว่า เราสมควรได้รับทุนนี้ไหม เนื่องจากทุนมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย


ผู้เขียนเดาเอาเองว่า สิ่งที่เขียนไปหนึ่งหน้าเอสี่ในวันสอบ น่าจะมีพลังพอให้ได้รับเลือกทุนนี้ เพราะจำได้ว่า ตอนทำข้อสอบภาษาอังกฤษในส่วนของแกรมม่าและคำศัพท์ ไม่ได้ตอบถูกทั้งหมด เนื่องจากทักษะทางภาษาอังกฤษนั้นอยู่ในระดับที่แค่พอสื่อสารและอ่านออกเขียนได้เท่านั้น ไม่ถึงขั้นใช้ได้ในระดับวิชาการ ดังนั้นในส่วนของเรียงความจึงสำคัญมากๆ แต่อย่างไรก็ดี ในวันสอบสัมภาษณ์ก็ต้องพูดรู้เรื่อง โต้ตอบได้ถูกต้อง เพราะไม่งั้นอาจจะไม่ผ่านรอบสัมภาษณ์ก็ได้ ซึ่งเคยมีมาแล้ว


ทุน ICCR มีหลายประเภท บางประเภทจะไม่มีค่าตั๋วเครื่องบินให้ แต่บางประเภทก็มีให้ ประเภทที่ผู้เขียนเลือก ชื่อทุนว่า General Scholarship Scheme ซึ่งหมายถึงทุนทั่วไป ดังนั้นจะไม่มีตั๋วเครื่องบินให้ ต้องออกค่าตั๋วเอง แต่หากต้องการทุนที่ครอบคลุมค่าตั๋วเครื่องบิน ต้องเลือกทุนที่ชื่อว่า Mekong Gangka Scholarship Scheme ซึ่งโอกาสได้อาจมีน้อยกว่า เพราะจำนวนทุนมีแค่ 5 ทุน ส่วน GSS มีทั้งหมด 10 ทุน ในส่วนนี้ก็แล้วแต่การตัดสินใจของผู้สมัครเองว่จะเลือกทุนประเภทไหน


ทุน ICCR นี้ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ เป็นทุนให้เปล่า ค่าใช้จ่ายหลักๆเช่น ค่าเทอม ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าทำธีสิท ค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ทาง ICCR เป็นคนจ่ายให้ทั้งหมด แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็น่าจะพอใช้ได้จนจบการศึกษา (อัปเดทข้อมูล: เงินเดือนรายเดือนเพิ่มขึ้นสำหรับปอโท จาก 6000 รูปี เป็น 20000 รูปี ตั้งแต่ปี 2018)

สำหรับคนที่มองหาทุนที่ไม่ใช่ฝั่งยุโรปหรือเมริกา ทุน ICCR ของรัฐบาลอินเดียเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ลองพิจารณาดูได้ หากใครคิดว่าการศึกษาที่อินเดียน่าสนใจ และต้องการไปศึกษาที่นั่นโดยเฉพาะ ขั้นตอนการสมัครไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป แต่อาจต้องใจเย็นเวลารอเอกสารหรือข่าวคราวต่างๆจากทางสถานทูต ถ้าคิดว่ารับกับระบบของอินเดียได้ แนะนำให้ลองสมัครดูค่ะ (อัปเดทข้อมูล: ตอนนี้เปลี่ยนระบบรับสมัครเป็นออนไลน์หมดแล้ว เข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บ)


ในส่วนของผลทุนที่ผู้เขียนได้รับ หลังจากรอประมาณสี่เดือน นับจากวันสัมภาษณ์ ทางสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยก็ส่งข่าวมาว่า มหาวิทยาลัยที่อินเดียตอบรับเข้าเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขา เพศสถานะ วัฒนธรรมและการพัฒนาศึกษา (MA. in Gender, Culture and Development Studies) ที่มหาวิทยาลัยปูเน่ หรือชื่อเต็มๆว่า Savitribai Phule Pune University เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองมุมไบนั่นเองค่ะ


ตอนต่อไปจะเขียนถึงประสบการณ์การเข้าสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่สถานทูต และเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเรียนด้าน Gender ที่อินเดียค่ะ


หมายเหตุ : บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วที่เว็บบล็อกของประชาไท ก่อนหน้าที่จะไปเรียนต่อ แต่มีการอัปเดทข้อมูลเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงประโยคที่ใช้บางคำค่ะ







ดู 669 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page