top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

สรุปเสวนาออนไลน์เนื่องในวันผู้หญิงสากล 2565: สร้างเจนเนอเรชันแห่งความเท่าเทียม




สรุปเสวนาออนไลน์เนื่องในวันผู้หญิงสากล 2565: สร้างเจนเนอเรชันแห่งความเท่าเทียม โดยยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง(ทุกเพศภาวะ)


เนื่องในโอกาส วันสตรีสากล 8 มีนาคม V-Day Thailand และ Sangsan Anakot Yawachon Development Project ร่วมกับ ภาควิชาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายสุขภาพและโอกาส/HON HOUSE, กลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Indigenous Youth For Sustainable Development - #IY4SD), โครงการ Generation Equality/ Girls Fund, ชุมชนซับหวาย(คดีไทรทอง), มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน, Feminista และ Thaiconsent จัดการเสวนาเพื่อสะท้อนเสียงที่หลากหลายของผู้หญิงในประเด็นต่างๆ โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังต่อไปนี้


ศิริวรรณ พรอินทร์ : Asian Girl award 2021, ผู้รับผิดชอบโครงการ Generation Equality/ Girls Fund กลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Indigenous Youth For Sustainable Development - IY4SD)


มลิวัลย์ เสนาวงษ์ : นักวิจัยแนวสตรีนิยม ภาควิชาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ไศลทิพย์ ศุภางค์: เฟมินิสต์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิภาคใต้สีเขียว


น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น : เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองผู้มีความหลากหลายทางเพศ นักวิจัยโครงการ COVID19 Feminist Participatory Action Research องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และกลุ่มเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Indigenous Youth For Sustainable Development - IY4SD)


นิตยา ม่วงกลาง: นักปกป้องสิทธิที่ดินและทรัพยากร ชุมชนซับหวาย(คดีไทรทอง)


ทฤษฎี สว่างยิ่ง: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิหลากหลายทางเพศ ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส


โน๊ต แต้สมบัติ: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิหลากหลายทางเพศ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล


ดำเนินรายการโดย

มัจฉา พรอินทร์: ลาว/อิสาน เลสเบี้ยน เฟมินิสต์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิหลากหลายทางเพศ ผู้ประสานงาน V Day ประจำประเทศไทย, ผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการสอน School of Feminists



เสียงและประสบการณ์ของผู้หญิงภายใต้ระบอบปิตาธิปไตย ทุนนิยม รัฐเผด็จการ ทหารนิยมและสถานการณ์โควิด



  • เสียงจากเยาวชนหญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กและเยาวชน


ศิริวรรณ พรอินทร์ แชร์ประสบการณ์การต่อสู้ในฐานะที่ทำงานกับเด็ก และเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง โดยเธอได้กล่าวถึงบริบทของชุมชนแม่สามแลบว่ามีความซับซ้อนในหลายมิติ นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ที่มีสงครามต่อเนื่องมายาวนานหลายปีแล้ว พื้นที่ของชุมชนยังตั้งอยู่ในเขตอุทยาน ส่งผลให้ชุมชนไม่มีพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ไร้สัญชาติ จากปัจจัยที่ทับซ้อนกันหลายชั้น ส่งผลให้คนในชุมชนมีภาวะความยากจน และปัญหาความยากจนปรากฎชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากการทำงานวิจัยที่รวบรวมมาจากกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในชุมชนแม่สามแลบ พบว่า ชุมชนเผชิญกับความยากจนและภาวะอดอยากที่มากขึ้น หลายครอบครัวไม่มีแม้แต่ข้าวสารติดบ้าน ทำให้องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนต้องระดมทุนเพื่อจัดหาข้าวสารอาหารแห้งให้แก่ชุมชนที่เป็นผู้หญิงและเด็กไร้สัญชาติ เป็นจำนวนทั้งหมด 13 ครั้งในช่วงสามปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นจากงานวิจัย ยังพบว่าคนในชุมชนเกิดภาวะเครียดเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐไม่ได้สนับสนุนให้คนในชุมชนที่ไร้สัญชาติได้มีงานทำ ทำให้คนในครอบครัวเกิดความเครียดและใช้ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ


หลังข้อค้นพบถึงสภาพปัญหาที่กลุ่มผู้หญิงเผชิญ จึงเกิดเป็นการพูดคุยกับกลุ่มผู้หญิงว่าจะออกจากปัญหา อย่างไร และได้ข้อสรุปว่า ผู้หญิงต้องการอาชีพ อยากออกจากความยากจนอย่างยั่งยืน จนนำไปสู่การเข้าร่วมประกวดโครงการด้านนวัตกรรมส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ในภาวะวิกฤตโควิด 19 โครงการ Youth Collab /UNDP และได้เป็น 1 ใน 2 โครงการที่ชนะและได้รับงบประมาณสนับสนุน 100,000 บาทและเกิดเป็นธุรกิจผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้งร่วมสมัย ซึ่งเป็นการทำธุรกิจร่วมกันของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติบ้านแม่สามแลบและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (IY4SD : Indigenous Youth For Sustainable Deveopment)


นอกจากปัญหาของผู้หญิงและเยาวชนในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว ปัญหาเรื่องเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาในสถานการณ์โควิด คือภาวะเครียดจากการเรียนออนไลน์ การไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ภาระงานที่ถูกกดดันจากครู จากการเรียนออนไลน์ รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจของคนในครอบครัว ทำให้มีผลต่อภาวะเครียดของเด็ก ผู้ปกครองเด็กต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนและผลักภาระมาให้ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ ส่งผลให้บางครอบครัวไม่ให้ลูกเรียนต่อ นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากเด็กว่าในช่วงสถานการณ์โควิด ไม่สามารถไปทานอาหารที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้ได้ และอาหารที่บ้านก็ขาดแคลนไม่เพียงพอ

จากปัญหาที่เกิดขึ้น เด็กจึงมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้าจากสถานการณ์โควิด


นอกจากนี้ ความเสี่ยงของเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาคือการที่จะต้องออกไปทำงานหารายได้ให้กับครอบครัวตั้งแต่เด็ก และเด็กจำนวนมากถูกบังคับแต่งงานในวัยเด็กเพราะความเชื่อที่ว่าถ้าแต่งงานแล้วจะสามารถทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ข้อเท็จจริงคือ เด็กที่แต่งงานในวัยเด็ก มีความเสี่ยงที่จะถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว


งานที่ทำอยู่คือการส่งเสริมความเป็นธรรมทำเพศและการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านโปรแกรม Economic Empowerment หรือโปรแกรมการเสริมพลังอำนาจผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ และเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจโดยองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน โดยโครงการนี้เริ่มมาจากผู้หญิงที่ต้องการออกจากปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน จึงได้ทำโครงการผ้าทอกะเหรี่ยงสีรุ้งซึ่งได้รับเงินสนับสนุน โดยเป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจากการที่ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไม่ถึงการศึกษา ถูกกดทับด้วยความเป็นผู้หญิง ผู้หญิงไม่มั่นใจว่าสามารถเป็นผู้นำได้ สามารถทอผ้าได้ จึงได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้หญิงเรียนรู้เรื่องสิทธิผู้หญิง สิทธิมนุษยชน แนวคิดทางธุรกิจ เพื่อที่จะให้มีพื้นฐานทางธุรกิจเพื่อสังคม และจะมีส่วนร่วมในโครงการได้อย่างไร มีการเรียนรู้เรื่องการออกแบบและผลิตสินค้า ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้มาจากธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นทั้งด้ายและสีซึ่งมาจากธรรมชาติ และเป็นการทอผ้าแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ ที่สำคัญคือผู้หญิงที่เป็นผู้ทอผ้าจะมีเรื่องราวของผู้หญิงอยู่ในผ้าที่ทุกตัว การทอผ้าทำให้ผู้หญิงรู้สึกมั่นใจในตัวเองหลังจากที่ก่อนหน้าการเริ่มต้นทอผ้า ผู้หญิงไม่มีความมั่นใจและคิดว่าตนเองทำไม่ได้ ผู้หญิงได้รับการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการทอผ้าของตัวเอง นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนการตลาดทางออนไลน์ ซึ่งอุปสรรคคือ ด้วยวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนผ้ามีราคาสูง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งในกระบวนการผลิต และสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้ไม่กล้าวางตลาด เพราะเข้าใจว่าทุกคนเผชิญกับสภาพเศรษฐปัญหาทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของผลสำเร็จคือการที่ผู้หญิงเกิดการรวมกลุ่มกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการร่วมกลุ่มที่ทำให้ผู้หญิงกลับมาร่วมกลุ่มกัน เกิดการเป็นผู้นำร่วม และการที่ผู้หญิงมีรายได้เป็นของตัวเอง ทำให้ผู้หญิงมีความภาคภูมิใจ ได้นำเงินไปสนับสนุนในครอบครัว ส่งลูกเรียนหนังสือ และสามารถทำให้มีอำนาจต่อรองกับสามีได้ ในการทำให้สามีช่วยดูแลลูกดูแลบ้าน


นอกจากนี้ศิริวรรณ เองยังมีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบโครงการ We are rising : พัฒนาสิทธิมนุษยชนของเด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 จากโครงการทั่วโลก ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Generation Equality / Girl Fund ทั้งนี้โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้หญิงและเด็กผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่อยู่ในระบบการศึกษา ที่ผ่านมาได้ดำเนินจัดอบรมสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งนับเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กหญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ อันเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาในการการรณรงค์ส่งเสริมเสริมสิทธิเด็กและความเป็นธรรมทางเพศอย่างส่วนร่วม


นอกเหนือจากการอบรมให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแชะความเป็นธรรมทางเพศ โครงการ We are rising นี้ยังมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของเด็กๆ เช่น การวาดภาพและเขียนบอกเล่าข้อท้าทายในชีวิต ประสบการณ์ที่ผ่านมา และความหวังในอนาคตของเด็ก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศหลายที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองได้มีพื้นที่ปลอดภัย ได้สะท้อนเสียง ความต้องการ ผ่านการวาดภาพและบอกเล่าเรื่องราว เช่น เรื่องราวการถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน การถูกครูใช้อำนาจ ละเมิดเนื้อตัวร่างกาย เช่นการบังคับตัดผมนักเรียน การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ เพื่อเรียกร้องให้ครอบครัว โรงเรียนและสังคมเข้าใจสิทธิหลากหลายทางเพศ เป็นต้น ซึ่งภาพวาด เสียง และประสบการณ์ที่เด็กหญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองนี้จะจะถูกนำไปรณรงค์ทั้งในระดับชาติโรงเรียน ชุมชน ประเทศและนานาชาติ เช่น วันที่ 17 มีนาคมนี้ ศิริวรรณ จะร่วมเวทีในส่วนของภาคประชาสังคมภายใต้เวทีของสหประชาชาติ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 66 หรือ CSW66 : The sixty-sixth session of the Commission on the Status of Women หลังการทำงานกับเด็กๆ ทำให้เด็กๆมีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก เรื่องความเป็นธรรมทางเพศ เด็กๆมีพื้นที่ปลอดภัยให้ระบายเรื่องราวของกันและกัน เกิดการรับฟังอย่างไม่ตัดสิน และสามารถเสนอสิ่งที่ตัวเองต้องการให้กับโรงเรียน สังคม ชุมชน ได้ว่าเค้าต้องการอะไร


ข้อเสนอจากเด็กๆคือ ครอบครัวต้องให้กำลังใจ ไม่กดดันเด็ก ต้องการการยอมรับและสนับสนุนในสิ่งที่เด็กเลือก และเป็นในสิ่งที่อยากเป็น อยากให้พ่อแม่ไม่ใช่ความรุนแรงต่อกันและต่อตัวเด็กเอง นอกจากนี้ยังอยากให้โรงเรียนลดภาระการบ้าน และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และยกเลิกกฎที่ละเมิดสิทธิเด็ก ส่วนข้อเสนอต่อรัฐคือจะต้องมีทุนสนับสนุนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตการเรียนออนไลน์ สนับสนุนสิทธิสำหรับเด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิของเด็กไร้สัญชาติ และต้องมีการสนับสนุนทุนค่าอาหารกลางวันของเด็กมัธยม

ในส่วนข้อเสนอของคนทำงาน เรียกร้องให้ครอบครัว ชุมชน ต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โรงเรียนต้องมีมาตรการมีนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถูกทำร้ายกลั่นแกล้งในสถานศึกษา ต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของเด็กผู้หญิงและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการมีหลักสูตรเพศศึกษารอบด้าน รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว



  • เสียงจากผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น เล่าถึงประสบการณ์ของผู้หญิงที่ไร้สัญชาติภายในชุมชนบ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่กับสงครามชายแดนมาต่อเนื่องยาวนานถึงเจ็ดสิบปี คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติ ทำให้รัฐไม่รับรองสิทธิในหลายๆด้าน ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีสิทธิในที่ดินของตัวเองที่เคยเป็นของบรรพบุรุษมาก่อน นอกจากนี้การถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตอุทยาน ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ทางจิตวิวญญาณ การพึ่งพิงป่า ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป นอกจากนี้คนในชุมชนยังถูกผลักดันให้ไปก่อตั้งบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ที่มักจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งไฟป่า น้ำท่วม ดินสไลด์ ก่อให้เกิดภาวะยากจนที่ซับซ้อน


ในมิติความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะต่อผู้หญิง เริ่มต้นตั้งแต่ความคิด ความเชื่อที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้วมีจิ๋ม จะถูกกำหนดบทบาทและหน้าที่ว่าจะต้องเป็นผู้ดูแลบ้าน จึงถูกสอนให้ต้องทำงานบ้าน ต้องดูแลทุกคน ทำให้ไม่มีโอกาสได้วิ่งเล่น ไม่ได้เตะฟุตบอลเหมือนเด็กผู้ชาย นอกจากนี้เด็กผู้หญิงยังถูกใช้ความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆทั้งทางตรงและทางอ้อมจากครอบครัว เช่น เมื่อเป็นเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เผชิญกับความรุนแรงที่เป็นผลมาจากเพศภาวะ นอกจากการต้องดูแลงานบ้านและคนในครอบครัว เด็กผู้หญิงยังถูกใช้ความรุนแรงจากคนในครอบครัว เช่น เมื่อเด็กผู้หญิงต้องการเรียนหนังสือ ก็ไม่ได้ถูกสนับสนุนจากครอบครัวเท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย เพราะความเชื่อที่ว่าสุดท้ายแล้วเด็กผู้หญิงจะต้องแต่งงานมีครอบครัวและต้องไปอยู่ในอำนาจของผู้ชายคนอื่น ความเชื่อเหล่านี้กีดกันทำให้มีเด็กผู้หญิงจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาแต่ก็ยังมีเด็กอย่างน้องแอร์และอีกหลายๆคนที่พยายามต่อสู้เพื่อที่จะออกจากปัญหาความยากจน เพื่อที่จะเข้าถึงระบบการศึกษา เพื่อที่จะไม่ถูกบังคับแต่งงาน แต่การจะได้เรียนหนังสือก็มีความยากลำบากมาก ในช่วงเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม จะต้องไปทำงานแลกเงินเพื่อที่จะส่งตัวเองเรียน ยกตัวอย่าง น้องแอร์เองต้องทำงานตั้งแต่อยู่ประถมต้น ไปทำงานในร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร ทำงานในไร่สตรอว์เบอรี่ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาส่งตัวเองเรียน ระบบการศึกษาฟรีไม่ได้มีอยู่จริง

นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาหรือเคยอยู่ในระบบการศึกษาแต่หลุดออกจากระบบระหว่างทางเนื่องจากไม่มีเงินเรียนต่อ และในช่วงสถานการณ์โควิด ก็มีเด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเข้าไปทำงานในเมือง เพราะต้องส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว โดยที่ตนเองไม่ได้ใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว ต้องทนถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ถูกกดค่าแรง และเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยขน์ทางเพศ

และเมื่อมีอายุมากขึ้น ผู้หญิงในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองก็มิได้หลุดออกจากปัญหาความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว เช่น กรณีของแม่ของน้องแอร์เอง ก็มีประสบการณ์ถูกทำร้ายจากพ่อ อย่างต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ บางครั้งรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บ แต่ก็ไม่สามารถจะไปแจ้งความกับตำรวจได้ เพราะภาวะไร้สัญชาติและความคิดความเชื่อที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว คนในชุมชนล้วนมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นเรื่องปกติ ความเชื่อแบบนี้ส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงตลอดเวลาและออกจากปัญหาไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะออกจากปัญหาความรุนแรงในครองครัวอย่างไร นี่เองส่งผลให้ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวหลายคนมีภาวะซึมเศร้าและมีบางคนเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย


อีกปัญหาสำคัญที่เชื่อมโยงกับมิติสิทธิมนุษยชนและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง คือ ภาวะที่เชื่อว่าผู้หญิงต้องรองรับอารมณ์และความต้องการของผู้ชาย มีผู้หญิงเปิดเผยประสบการณ์ว่าบางครั้งแม้อยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน หากผู้ชายต้องการมีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่สามารถขัดขืนได้ ซึ่งนี่คือปัญหาการข่มขืน เพราะการมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากการยินยอมพร้อมใจ คือ การข่มขืน และนี่เป็นความต้องการของผู้หญิงที่จะแก้ไขปัญหานี่อย่างจริงจัง


นอกจากนี้สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชุมชนเผ่าพื้นเมือง ก็ไม่ได้รับการยอมรับ อย่างน้องของน้องแอร์ที่เป็นคนข้ามเพศ แสดงอัตลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน ก็จะถูกพ่อใช้แรงงานอย่างหนักและถูกบังคับให้บวชเณร เพื่อจะแสดงให้ชุมชนเห็นว่าตนเองมีลูกชาย ซึ่งจากอำนาจที่ไม่เพียงพอ ก็ทำให้น้องชายไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้ ตอนที่น้องบวชเณรไม่เคยรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ต้องเข้าไปอยู่ในกลุ่มเด็กผู้ชายจำนวนมากๆ และนอกจากนี้ ตอนนี้น้องก็เป็นเยาวชน แล้ว เขาเริ่มมีความกังวลที่จะต้องถูกบังคับเกณฑ์ทหารอีกด้วย


ส่วนตัวของน้องแอร์เองซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กซวล ก็ถูกครอบครัวกดดันพยายามบังคับให้แต่งงาน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้น้องแอร์ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือและจะได้ออกจากชุมชน เพราะถ้ายังอยู่ในชุมชน ก็คงจะถูกใช้ความรุนแรง และถูกบังคับแต่งงานไปแล้ว


จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเกิดการทำงานในโครงการต่างๆ เช่น การศึกษาสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิงจัดการศึกษาให้กับผู้หญิงและเด็กในชุมชน เพื่อเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศ ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงระบบการศึกษา ทำให้ผู้หญิงเกิดการเรียนรู้และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้รู้ว่ามีสิทธิมีเสียงที่จะลุกมาต่อสู้ปัญหาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการจัดโรงเรียนเฟมินิสต์ มีการจัดอบรมเรื่องการเท่าทันสื่อให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการทำวิจัยสตรีนิยมแบบมีส่วนร่วม คือการทำงานร่วมกับเจ้าของปัญหาในทุกๆระดับ และนอกจากนี้ยังมีโครงการผ้าทอกะเกรี่ยงสีรุ้งซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิง และรณรงค์ให้ผู้หญิงและเยาวชนเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวพูดถึงปัญหาของตัวเอง ได้เข้าไปพูดกับภาครัฐถึงความต้องการของตัวเอง


สิ่งที่เรียกร้องก็คือ รัฐและสังคม จะต้องยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง การยอมรับจะทำให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การมีสิทธิบนที่ดิน รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างจริงจัง ต้องแก้ไขการแต่งงานในวัยเด็ก หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ในด้านการศึกษา จะต้องมีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางเพศในทุกระดับ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนการศึกษาของคนชนเผ่าพื้นเมือง ในระดับครอบครัว ภาระหน้าที่ทั้งหมดไม่ควรจะเป็นของผู้หญิงและเด็กเท่านั้น แต่ควรเป็นภาระที่รับผิดชอบร่วมกัน และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทางเพศในทุกมิติในทุกภาคส่วน


  • เสียงจากนักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงข้ามเพศ


โน้ต แต้สมบัติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งหมดสามประเด็น คือประเด็นโครงสร้างทางกฎหมาย สื่อ และการครอบครัว โดยชี้ให้เห็นว่า บริบททางกฎหมายไทย พยายามจับคนลงกล่องแค่สองเพศ เมื่อเกิดขึ้นมาก็ถูกบอกว่าเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เมื่อโตมาก็เป็นนางสาว เมื่อแต่งงานก็เป็นนาง แม้ว่าตอนนี้จะมีการแก้กฎหมายให้สามารถเลือกได้ว่าจะเป็นนางหรือนางสาว แต่การที่กฎหมายไทยในปัจจุบันยังจับคนลงกล่องและระบุสิทธิหน้าที่ การเข้าถึงบริการของรัฐในด้านต่างๆ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่นิยามตนเองว่าเป็น กะเทยหรือสาวประเภทสอง หรือคนข้ามเพศ ที่เกิดมาและมีเจตจำนงที่จะมีวิถีทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศกำเนิดที่ถูกรัฐกำหนด เข้าไม่ถึงบริการต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ถูกตีตราและนำไปสู่การถูกใช้ความรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์โควิด คนข้ามเพศไม่สามารถเข้าถึงการบริการไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพและการบริการ ทำให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ยกตัวอย่าง ตอนที่ตนเองติดโควิดและเข้าสู่บริการของภาครัฐ ช่องว่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของห้องพักที่ต้องไปพักที่วอร์ดชายและข้อมูลความรู้ต่างๆที่ไม่รองรับว่าถ้าเป็นคนข้ามเพศที่มีการใช้ยารักษาอาการโควิดร่วมกับการใช้ฮอร์โมนจะส่งผลระยะยาวหรือไม่อย่างไร ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของสุขภาพของคนข้ามเพศในระบบสาธารณะสุข


ประเด็นที่สอง เรื่องสื่อมวลชน ซึ่งจะเห็นว่า สื่อมีลักษณะของการตีตราพิพากษาชี้นำสังคม มากกว่าจะนำเสนอข้อเท็จจริง จากการทำงานเรื่องสื่อในประเด็นการติดตามการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ เมื่อเวลามีการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ สื่อจะมีการตั้งคำถามกับผู้ตายว่าไปยั่วยุ สร้างให้เกิดการบรรดาลโทสะ ทำให้ตนเองถูกใช้ความรุนแรงหรือไม่ มีการเปิดเผยชื่อนามสกุลของผู้ตาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงจากคนรอบข้าง กรณีการนำเสนอข่าวล่าสุดของคุณแตงโม ภัทรธิดา ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการเสนอข่าวของคนข้ามเพศที่ได้รับผลกระทบ


ประเด็นที่สาม เรื่องการยอมรับของคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่คนข้ามเพศได้รับจากคนในครอบครัวจำนวน 38.4%ในโครงการเพศวิถีที่หลากหลายในความหมายของครอบครัว ซึ่งศึกษาโดยมูลนิธิสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ แน่นอนว่าครอบครัวมีความรักและความปรารถนาดี แต่ถ้าหากความรักนั้นปราศจากความรู้ความเข้าใจก็อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นความรุนแรง ไม่อยากให้ลูกเป็นสาวประเภทสองเพราะไม่มีความเข้าใจหรือกลัวว่าเมื่อแก่ตัวมาจะไม่มีคนดูแลหรือกลัวจะถูกปฏิเสธการจ้างงาน สิ่งที่พ่อแม่ทำคือการบังคับให้ลูกกลับมาเป็นเพศที่พ่อแม่คาดหวังซึ่งนำไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ฮอร์โมนเพศหรือการทำร้ายทุบตี ถ้าเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชนเผ่าพื้นเมืองก็ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ ต้องออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น ไม่สามารถกลับไปหาครอบครัวได้ ซึ่งเป็นความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบหนึ่งซึ่งมาจากความไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในครอบครัว


จากสภาพปัญหาทั้งหมดทำให้เกิดการทำงาน คือการผลักดันกฎหมาย Gender Recognition หรือกฎหมายรับรองเพศสภาพที่จะทำให้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านาม โดยปราศจากการแทรกแซงจากบุคคลากรทางการแพทย์หรือการต้องไปร้องต่อศาล แต่ควรให้เป็นเจตจำนงของผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง โดยจะให้มีการแสดงความเห็นทำประชาพิจารณ์เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อไป ในประเด็นเรื่องการนำเสนอของสื่อ ก็ได้มีโครงการที่ทำเรื่องสื่อกับการเสนอข่าวความหลากหลายทางเพศ คือการทำแนวปฏิบัติถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำให้กับสื่อ นิยามคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ การทำลิสต์องค์กรสื่อ การประเมินโครงสร้าง สัดส่วนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องความหลากหลายทางเพศหรือเนื้อหาที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งเป็นเครื่องมือให้สื่อนำไปตรวจสอบการทำงานของตัวเอง นอกจากนี้คาดหวังให้คนทำงานด้วยกันช่วยกันติดตามสอดส่องสื่อที่มีการละเมิดสิทธิ เราสามารถที่จะแจ้งไปยังองค์กรที่รับเรื่องและแจ้งให้สื่อปรับปรุงแก้ไข

ส่วนเรื่องของครอบครัว ก็มีการจัดทำคู่มือชื่อ บ้านนี้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นคู่มือนึงที่จะทำให้ครอบครัวที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับลูกๆที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องความหลากหลายทางเพศในครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ยังคาดหวังให้องค์กรหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุ้มครอง เช่น บ้านพักฉุกเฉิน ศูนย์ประชาบดี ต้องออกแบบนโยบายและการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะหลายครั้งหน่วยงานรัฐยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศและความหลากหลายทางเพศ เพราะหลายครั้งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกปฏฺบัติอย่างไม่สอดคล้องกับเพศสภาพซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงซ้ำต่อผู้เข้ารับความช่วยเหลือ


  • เสียงจากนักต่อสู้เพื่อสิทธิทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางเพศ


ทฤษฎี สว่างยิ่ง บอกเล่าประสบการณ์ในฐานะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำงานกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ให้บริการทางเพศ และผู้ใช้ยา โดยชี้ให้เห็นว่าสังคมที่ไม่ได้ยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้นยังคงมีอยู่ แต่ก็มีความหวังว่าคนรุ่นใหม่ๆจะช่วยกันเปลี่ยนแปลง ในส่วนของบริบทการทำงาน คือการทำงานกับพื้นที่ชุมชนที่พัทยา กับกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศที่นิยามตัวเองว่าเป็นสาวประเภทสองหรือกะเทย หรือเกย์ ชายรักชาย โดยเริ่มรณรงค์การเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้ให้บริการทางเพศและเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การตรวจเลือด แต่เมื่อรู้ผลเลือดว่ามีเชื้อเอชไอวี ปัญหาที่ตามมาคือความกดดันจากการที่เป็นคนมีความหลากหลายทางเพศที่สังคมมักตีตราอยู่แล้ว บวกกับการมีเชื้อเอชไอวี ยิ่งทำให้หลายคนเผชิญกับปัญหามากยิ่งขึ้น หลายคนออกมาจากบ้านเดิมเพื่อที่จะมาใช้ชีวิตที่พัทยา ซึ่งมาจากหลายภูมิภาค รวมไปถึงมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย อัตลักษณ์ที่หลากหลายส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพด้วย ในมิติของการเข้ารับบริการทางสุขภาพทั้งทางนโยบายและกฎหมาย ยังคงถูกกำหนดไว้แค่สองเพศ วอร์ดรักษาพยาบาลมีแค่สองเพศ ส่งผลให้ผู้ที่เปลี่ยนแปลงร่างกายจากเพศกำเนิดเดิมประสบปัญหาว่าจะพักที่วอร์ดไหน รัฐไม่ได้ช่วยอธิบายให้สังคมทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ

การทำงานของเครือข่ายสุขภาพและโอกาสคือการทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้ในสังคม โดยไม่ถูกตีตรา สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลังๆมายุคโควิด ปัญหาเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ทุกคนเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด คนที่เข้ามาทำงานไม่มีบ้านให้กลับ ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่พัทยา อยู่ตามชายหาด นอกจากนี้ยังทำงานเพื่อช่วยพยุงสุขภาพของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ในช่วงโควิดที่ผ่านมาจึงต้องทำงานช่วยเหลือในด้านปัจจัยพื้นฐาน จะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและที่อยู่อาศัย ซึ่งหลายคนถูกเพิกเฉยไม่ได้รับการดูแล ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นความรุนแรง คนที่มาทำงานที่พัทยาหลายคนตกงาน กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่มีที่ไป หลายคนเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถกลับบ้านได้ ต้องไปอาศัยตามตึกร้าง ในช่วงโควิดจึงต้องช่วยเหลือกันและกัน แต่ในเชิงระบบในด้านการบริการวัคซีน ก็ยังมีคนที่ตกหล่นไม่ได้รับบริการอีกจำนวนมากโดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางเพศ


นอกจากนี้ยังทำงานกับกลุ่มกะเทยที่เป็นพนักงานบริการทางเพศ เป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ไร้สัญชาติและใช้สารเสพติด มีประวัติอาชญากรรม คนกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับความรุนแรงอย่างไรบ้าง ไม่มีการถูกพูดถึง คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความรุนแรงในฐานะที่เป็นกะเทย เป็นผู้ใช้สารเสพติด หลายคนต้องยอมติดคุกเพื่อคนครอบครัว กะเทยหลายคนถูกซ้อมทรมานระหว่างติดคุกหรือระหว่างถูกจับกุม หรือถูกเรียกรับเงินเพื่อไม่ให้เป็นคดี โดยเฉพาะการถูกบังคับให้เป็นสายให้ตำรวจเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่ สิ่งที่พยายามจะทำคือ ทำยังไงให้คนกลุ่มนี้สามารถส่งเสียงได้ด้วยตัวเองว่าพวกเขาเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง แต่ในขณะนี้คนที่มีอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนและถูกกดทับ ไม่มีแรงพอที่จะลุกขึ้นมาพูด เราในฐานะคนทำงานจึงต้องออกมาพูดแทนในระดับหนึ่งก่อน แต่เราก็ต้องทำงานเพื่อให้เค้าได้พูดว่าเค้าถูกกระทำความรุนแรงอย่างไรบ้างบนพื้นฐานของเพศและอัตลักษณ์ที่เค้ามีอยู่


จากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ เราพยายามทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบายโดยทำงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำงานกับโรงพยาบาล กระทรวงที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังทำงานกับกลุ่มที่เข้ารับบริการเพื่อให้เค้ารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ที่อยู่ในปัญหาสามารถส่งเสียง มีความเข้มแข็งและสามารถเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นและวันหนึ่งจะสามารถลุกขึ้นมาพูดด้วยตัวเองได้ สร้างพื้นที่ทางออนไลน์เพื่อให้คนมาใช้พื้นที่ในการส่งเสียงบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองได้ โดยมีเว็บไซต์ที่ชื่อ Inspire ที่เป็นพื้นที่ในการนำเสนอเสียงของผู้ที่อยู่ในปัญหา และนอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้ที่มีความทับซ้อน เป็นเรื่องยากๆที่สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจ นอกจากนี้ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนทางสังคมต่อไป สิ่งที่อยากเรียกร้องคือต้องหันมาสำรวจครอบครัว ชุมชน โรงเรียนของเรา หน่วยงานของเราเองว่ามีการละเมิดสิทธิหรือคุกคามทางเพศกันหรือไม่ มีความเท่าเทียมกันจริงไหม มีสัดส่วนหญิงชายเท่าไหร่ในองค์กร เรายอมให้เกิดการบุลลี่ในเรื่องเพศหรือรูปร่างหน้าตาของผู้หญิงในพื้นที่การทำงานของเรามากน้อยแค่ไหน เราต้องหันมาสำรวจองค์กรที่ทำงานของตัวเองด้วยและเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร โดยเฉพาะเรื่องการบุลลี่เรื่องรูปร่างหน้าตา การละเมิดทางเพศ



  • เสียงจากผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน


นิตยา ม่วงกลาง เล่าถึงสภาพปัญหาในฐานะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินถูกจับกุมดำเนินคดี 9 ใน 14 คน คือผู้หญิง ผู้หญิงถูกข่มขู่ให้เซ็นเอกสาร ให้ยอมคืนพื้นที่ ทำให้ผู้หญิงถูกดำเนินคดี เพราะผู้หญิงไม่กล้าขัดขืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดคือผู้ชาย ปัญหาหนึ่งที่เผชิญคือ การไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย การเป็นผู้หญิงที่อยู่ในชนบททำให้เข้าไม่ถึงโอกาสในการเรียนรู้ ข้อจำกัดของผู้หญิงคือเวลาที่ออกไปต่อสู้เรียกร้องสิทธิใดๆก็ตาม สังคมและครอบครัวไม่ได้ให้การยอมรับ เวลาที่ไปเรียกร้องกับหน่วยงานรัฐ สิ่งที่เผชิญคือ รัฐไม่ยอมรับในสิทธิที่ดินทำกิน และยิ่งเป็นผู้หญิงที่ออกไปเรียกร้องสิทธิ ก็จะถูกใช้อำนาจทั้งทางวาจาทางกาย เจ้าหน้าที่รัฐที่ไปติดต่อพูดคุยด้วยก็มีแต่เจ้าหน้าที่ผู้ชาย ถูกเหยียดหยามเรื่องการศึกษา มองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ไม่มีการศึกษา ผู้หญิงควรจะมีสิทธิครอบครองที่ดินทำกิน แต่สุดท้ายแล้วเวลาลงชื่อในการครอบครองที่ดิน ผู้หญิงกลับถูกดำเนินคดี


นอกจากนี้ ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงโอกาสในการออกไปเรียนรู้ เพราะมีข้อจำกัดในการเดินทาง ผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วถ้าออกไปข้างนอกก็จะถูกมองเป็นผู้หญิงไม่ดี ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิง แต่เราไม่ยอมแพ้ เราต่อสู้กับคดีความและสิทธิที่ดินมาหลายปี สิ่งที่เราต่อสู้เกี่ยวข้องกับรัฐที่เป็นราชการและเกี่ยวข้องกับกฎหมาย


ในช่วงสถานการณ์โควิด ข้อท้าท้ายคือ ศาลตัดสินให้เราออกจากที่ดินทำกิน แต่เราก็ต้องต่อสู้ต่อเพื่อยืนยันในสิทธิที่ดินทำกิน สภาพปัญหาก็คือราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น น้ำมันแพง ค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้น การต่อสู้ส่วนหนึ่งคือต้องใช้เวลาผลักดันทำงานกับเจ้าหน้าที่ อีกส่วนหนึ่งต้องเอาเวลาไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ข้อท้าทายคือเราจะผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจนี้ด้วยการทำอะไรเพื่ออยู่รอด เราพยายามหาความรู้เรื่องการเกษตร ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อที่จะทำเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย ให้ขายได้ทั้งปี


จากสถานการณ์ปัญหาทั้งหมด ทำให้ตัวเองเกิดการเรียนรู้ทบทวนการทำงาน วิเคราะห์ปัญหาและหาความรู้ให้ตัวเอง พยายามผลักดันการทำงาน เข้าไปใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่คือกองทุนยุติธรรม พยายามทำให้คนเข้าถึงการช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรม ไม่ใช่แค่คดีป่าไม้แต่รวมถึงคดีทั่วไปด้วย ทุกวันนี้ชาวบ้านหลายคนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง สามารถขอค่าเดินทางไปต่อสู้คดีในคดีที่เราถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมได้ รวมไปถึงการหาหนทางในการใช้ชีวิตหลังออกจากเรือนจำมาแล้วว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร มีเงินสนับสนุนเรื่องอาชีพหรือสงเคราะห์อะไรบ้าง เราพยายามหาความรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง พยายามยืนยันสิทธิที่ตัวเองสมควรได้รับ เพราะสิ่งที่เราทุกคนถูกกระทำ รัฐต้องสนับสนุนคุ้มครอง กฎหมายที่คุ้มครองประชาชนต้องมีสิทธิใช้ อยากให้ทุกคนรู้กฎหมายและสามารถเข้าถึงได้ เราพยายามเรียนรู้กระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐว่าหน่วยงานไหนสามารถแก้ปัญหาได้ สามารถเข้ารับการช่วยเหลือได้ เช่น การเรียกร้องให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาดูแลครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดี ต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนเพื่อเข้าใจกลไกกระบวนการเหล่านี้ได้โดยด้วยตนเอง

นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจ มีการวางแผนการปลูกพืชผลเพื่อให้เข้ากับช่วงฤดู พยายามหาข้อมูลเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเดิมๆ ทำยังไงที่จะอยู่ได้ในสภาวะที่ไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน และต้องต่อสู้ต่อไปในเรื่องความยั่งยืนในที่ดินทำกิน

ข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลคือ สัดส่วนของผู้หญิงในองค์กรต่างๆแทบไม่มีหรือมีน้อย ขอเรียกร้องให้ผู้หญิงมีบทบาทในหน่วยงานรัฐมากขึ้น และข้อเสนอต่อชุมชนคือ อยากให้ชุมชนลุกขึ้นมาใช้กลไกของรัฐ ให้ตระหนักถึงสิทธิที่จะต่อรองหรือเรียกร้องให้รัฐรับรู้ถึงความต้องการ และมีสิทธิใช้สิทธิและเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลง รวมไปถึง กฎหมายที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว เพราะรัฐบาลออกกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน รัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง


  • เสียงจากผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชมและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม


ไศลทิพย์ ศุภางค์ เล่าประสบการณ์การทำงานในประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ว่า ในการทำงานที่ผ่านมาแปดปี ความท้าทายในฐานะนักปกป้องสิทธิผู้หญิง คือการถูกเหยียดด้วยเหตุแห่งเพศ อายุ ถิ่นที่อยู่ เวลาเสนอความเป็นในที่ประชุมมักจะไม่ได้รับการรับฟัง และถูกคาดหวังให้จัดการงานหลังบ้านให้ดี เช่น การจัดการโครงการ เอกสาร บัญชี แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกคาดหวังให้สื่อสารสาธารณะกับชุมชนได้ดี แต่ผู้ชายจะไม่ถูกคาดหวังให้จัดการงานหลังบ้าน การเคลื่อนไหวในการทำงาน มักจะมองว่างานประสานงานกับชุมชน เคลื่อนไหวกับชุมชนเป็นงานที่เสียสละและมีความสำคัญมากกว่างานจัดการเอกสาร บางครั้งมีการให้เงินเดือนกับผู้ชายเท่านั้น แต่ไม่มีการจ่ายเงินให้ผู้หญิงที่ต้องทำงานมากขึ้น แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนการทำงาน หลายครั้งที่ผู้หญิงต้องจัดการงานส่วนอื่นๆคนเดียว เช่น ล้างจาน ให้กับคนทั้งหมดที่มาประชุม ซึ่งเรามองว่าเป็นความไม่เท่าเทียมที่หลายคนมองไม่เห็น


นอกจากนี้ ยังถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศจากทั้งคนที่ทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้านหรือนักวิชาการ นักกิจกรรม โดยที่เคยขอความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือหลายครั้งกลับถูกบอกให้วางตัวดีๆ หรือแก้ต่างว่าผู้กระทำแค่เมา หรือมองว่าเราไปยั่วอีกฝ่ายเองหรือเปล่า ซึ่งมันส่งผลให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง โทษตัวเองว่าเราระวังตัวไม่ดีเองหรือเปล่า พยายามจะแก้ปัญหาที่ตัวเอง และเราก็ถูกคาดหวังให้ต้องทำงานได้ดีทั้งกับชุมชนและงานจัดการเอกสาร ทั้งๆที่เราถูกคุกคามทางเพศและไม่มีใครมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข


ในช่วงสถานการณ์โควิด นักปกป้องสิทธิผู้หญิงหลายคนมีลูก ลูกต้องเรียนออนไลน์ ก็ต้องมีการจัดการพื้นที่หรืออุปกรณ์ มีบางช่วงที่นักกิจกรรมต้องให้อุปกรณ์การทำงานของตัวเองกับลูกเพื่อเรียนออนไลน์ แล้วถึงจะใช้ทำงานได้ การติดตามข่าวหรือตัดสินใจให้ลูกฉีดวัคซีน ภาระการตัดสินใจก็มักจะเป็นแม่ รวมถึงการจัดการหาชุดตรวจโควิด ภาระมักจะต้องเป็นของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่


จากสภาพปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมา จึงตัดสินใจพูดถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงปัญหา โดยเสนอให้มีการทำนโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยได้รับความสนใจในการเข้าร่วมการทำนโยบาย โดยมีแผนคือการจัดทำวงคุย และจากการพูดคุยทำให้ได้ทราบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบในอดีต แต่ปัญหาไม่เคยได้รับการแก้ไขและถูกผลักให้เป็นเรื่องส่วนตัว ผู้ถูกกระทำต้องแบกรับปัญหาด้วยตัวเอง แต่จากการพูดถึงปัญหา ก็ทำให้เกิดการเข้ามาโจมตีจากบุคคลที่ไม่เห็นด้วย เช่น การลดทอนปัญหา หรือการเบี่ยงประเด็น หรือมองว่าสิทธิผู้หญิงมีมากอยู่แล้วในการออกมาทำงานนอกบ้าน เพราะบางพื้นที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิออกมานอกบ้านด้วยซ้ำไป หรือมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว ความยากคือหลายคนไม่ได้รับผลกระทบจึงไม่เปิดใจรับฟัง สิ่งที่ต้องการก็คือเวลาและทุนในการทำงาน ข้อเรียกร้องก็คือจะต้องมีนโยบาย Anti Harassment ในที่ทำงาน รวมถึงเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน และอยากเห็นนโยบายนี้ในโรงเรียนและสถานศึกษา อยากเห็นหลักสูตรเพศศึกษารอบด้านทั้งในผู้ปกครองและบุคลากรในโรงเรียนด้วย และรัฐบาลควรจะลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองในที่ทำงานด้วย และสัดส่วนการให้ทุนทำงานต่อองค์กรผู้หญิงควรจะมีมากขึ้นกว่านี้ ส่วนองค์กรที่ไม่ได้ทำงานเรื่องเพศ ควรจะมีมิติทางเพศเพิ่มขึ้นโดยมีการอบรมความรู้เรื่องเพศกับเจ้าหน้าที่ทุกคน และควรจะเป็นหน้าที่ของแหล่งทุนที่ให้ทุนไปเรียนรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ ภาคประชาสังคมควรกลับมาทบทวนภายในองค์กรของตัวเองด้วยว่ามีการละเมิดสิทธิหรือไม่ อยากเรียกร้องให้ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบเปิดใจและรับฟังผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากกว่านี้ และความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบผ่านวัฒนธรรมความเชื่อผ่านสถาบันต่างๆ ปัญหาความรุนแรงทางเพศก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกัน การแก้ไขปัญหาไม่อาจขับเคลื่อนได้เพียงหน่วยงานเดียวแต่จะต้องรวมทุกส่วนแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เรียกร้องให้เกิดการใช้อำนาจร่วมเพื่อปกป้องผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าโดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อนำไปสู่ Generation ที่เท่าเทียม


  • เสียงจากนักวิชาการที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเพศในระบบการศึกษา


มลิวัลย์ เสนาวงศ์ ได้เล่าประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่การศึกษา ด้านความเป็นธรรมทางเพศและความเสมอภาคทางเพศภาวะเอาไว้ว่า ส่วนตัวมีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การได้มาทำงานที่ศูนย์สตรีศึกษา ทำให้มีความรู้เรื่องเพศภาวะ ว่าด้วยความเป็นเพศหญิงทำให้ถูกผู้ชายหรือแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่อนุญาตให้มาล่วงละเมิดเรา โดยคนที่ถูกกระทำกลับถูกตำหนิแทนที่จะเป็นผู้กระทำ และเราก็ยังรู้สึกผิดกับการถูกตั้งคำถามว่าเราปฏิบัติตัวอย่างไร จากครอบครัวและคนที่ไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจและเสริมพลังให้ตัวเองได้คือกลุ่มเพื่อนเฟมินิสต์ที่ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เราเจอมาคือความรุนแรงทางเพศภาวะและมันไม่ใช่ความผิดของเรา และทำให้คิดว่าความรู้ด้านสตรีศึกษาและกลุ่มคนทำงานเคลื่อนไหวบนฐานคิดเฟมินิสต์มีความสำคัญ และพบว่าในมหาวิทยาลัยเอง นักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศก็มีประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศเช่นเดียวกัน และตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมถึงเปิดเผยตัวเองกับครอบครัวไม่ได้ และบางคนก็ด้อยค่าตัวเอง มองว่าตัวเองผิดปกติ แต่เมื่อได้เรียนสตรีศึกษาแล้ว ทำให้เค้าเข้าใจว่าคุณค่าของตัวเองที่ถูกกำหนดโดยระบบสังคมที่ตัดสินคนด้วยระบบสองเพศต่างหากที่เป็นปัญหา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเค้า แต่ระบบสังคมทำให้เกิดปัญหา ระบบการศึกษาที่ไม่มีการสนับสนุนทำความเข้าใจเรื่องเพศภาวะหรือแนวคิดสตรีนิยมคือระบบการศึกษาที่ละเลยความเป็นมนุษย์และละเลยความเป็นธรรมทางเพศ ระบบการศึกษาบ้านเราตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม การให้ความสำคัญกับประเด็นการสอนเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องเจนเดอร์ เรื่องความเป็นธรรมทางเพศยังไม่ได้รับการสนับสนุน ถึงแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะผลักดันให้มีหลักสูตรเพศวิถีศึกษา แต่ก็พบว่าคนที่ไปสอนยังไม่มีความเข้าใจหรือไม่มีมุมมองด้านเพศภาวะหรือไม่มีมุมมองที่เคารพความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นการสอนก็เป็นการสอนแบบท่องจำ หรือเป็นการสอนที่ไปผลิตซ้ำความรุนแรงต่อนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือว่านักเรียนหญิงนักเรียนชายที่ไม่ตรงตามกรอบเพศ


หรือในระดับมหาวิทยาลัยเองจะเห็นว่าวิชาเพศภาวะหรือวิชาสตรีศึกษาหรือเฟมินิสม์ก็ยังไม่ใช่วิชาที่กำหนดให้นักศึกษาทุกคณะได้เรียน ยกตัวอย่าง ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิชาเพศภาวะกับสังคม ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องการให้นักศึกษามีมุมมองด้านเพศภาวะ แต่ก็ไม่ใช่วิชาที่กำหนดให้นักศึกษาทุกคนได้เรียน แต่เป็นวิชาเลือก ในระบบไม่ได้มองว่าวิชานี้มีความสำคัญกับชีวิตของนักศึกษาทั้งๆที่จริงๆแล้ว ความเป็นเพศภาวะ เป็นประสบการณ์จากตัวนักศึกษาเอง ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเข้าใจประสบการณ์ของตัวเอง เข้าใจความเป็นมนุษย์ ของตัวเองและของคนอื่น เข้าใจความหลากหลาย และนำไปสู่การเคารพในสิทธิ การเคารพในความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่น ซึ่งนี่เป็นข้อจำกัดที่อยู่ในระบบการศึกษา

และแม้ว่าศูนย์สตรีศึกษาจะพยายามต่อสู้ให้มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องเพศภาวะ สตรีศึกษา เองก็ตาม แต่เราก็เผชิญกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เพราะว่าการเกิดขึ้นของศูนย์สตรีศึกษาและภาควิชาสตรีศึกษาตั้งแต่พศ 2536 ซึ่งเป็นการก่อตั้งเป็นทางการ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย เพราะมองว่าเราเป็นหลักสูตรหรือสาขาที่ไม่ได้ทำเงินหรือไม่ได้อยู่ในแผนของการพัฒนาการทำงานด้านวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่งบประมาณจะอยู่กับสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ เราในฐานะที่เป็นสาขาวิชาในสังคมศาสตร์ถือว่าเป็นชายขอบของชายขอบ สาขาอื่นๆที่อยู่ภายใต้สาขาสังคมศาสตร์ก็ได้รับการสนับสนุนในเรื่องของอัตรากำลังอาจารย์ที่เพียงพอ แต่สาขาวิชาสตรีศึกษาที่ถูกกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันว่าต้องมีจำนวนนักศึกษาที่กำหนด แต่เมื่อเราไม่ได้รับการสนับสนุนอัตราอาจารย์ที่เพียงพอกับหลักสูตร มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรับนักศึกษาได้ สิ่งที่เราทำได้คือเราสอนเฉพาะวิชาโทสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี สำหรับวิชาสำหรับนักศึกษาปริญญาโทและเอก เราจะต้องปิดไป เพียงเพราะจำนวนอาจารย์ไม่พอ เราก็พยายามต่อสู็เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเพิ่มอัตราอาจารย์ให้เพื่อที่จะเปิดสอนในระดับปริญญาโทและเอกได้ แต่สุดท้ายเราก็ถูกตั้งคำถามว่าเราไม่มีนักศึกษาแล้วเราจะมีอาจารย์ไปทำไม ทั้งๆที่จริงแล้วเราควรจะถามกลับไปที่มหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารว่า จะทำอย่างไรให้เรารับนักศึกษาได้ คำตอบก็ขัดเจนว่าผู้บริหารจะต้องสนับสนุนอัตราอาจารย์ของเราก่อน เราถึงจะสามารถเปิดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เราอยู๋บนระบบหรือบรรยากาศที่ถูกตั้งคำถามตลอดว่าจะไปรอดหรือไม่ ถูกยื่นข้อเสนอที่มีทางเลือกที่จำกัดคือจะยุบภาควิชาหรือจะรักษาความเป็นสาขาวิชา แต่ไปอยู่ภายใต้ภาควิชาอื่น เพื่อให้สาขาเราสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่จริงๆแล้วถ้ามองถึงธรรมชาติของสตรีศึกษา เป็นสาขาที่ต้องมีทั้งภาคปฏิบัติการทางสังคมและภาคที่เป็นทฤษฎี ถ้าหากว่าเราสลายตัวเองจากความเป็นภาคหรือศูนย์ เราก็จะเหลือแค่ความเป็นทฤษฏีหรือความเป็นวิชาการอย่างเดียว ภาคการปฏิบัติการหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมก็จะหายไปด้วย เท่ากับว่าตัวตนของความเป็นเฟมินิสต์ก็จะหายไป เพราะพันธกิจแรกของการก่อตั้งศูนย์สตรีศึกษา คือต้องการให้ความรู้สตรีนิยมและความเข้าใจเรื่องเพศภาวะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และอีกด้านคือสร้างความเข้าใจหรือองค์ความรู้ทางด้านสตรีศึกษาและเพศภาวะให้กับสังคมไทย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ายังขาดอยู่มาก


จากสภาพปัญหาที่กล่าวมา ศูนย์สตรีและภาควิชาสตรีศึกษา พยายามใช้ความรู้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม งานที่ทำอยู่คือการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เราพยายามสร้างกลุ่มคนที่มีแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและมีมุมมองเรื่องเพศภาวะไปขับเคลื่อนในชุมชนของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เรามีการเสริมศํกยภาพให้ผู้นำผู้หญิงที่อยู่ในชนบทภาคเหนือ ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองให้มีความรู้ทางกฎหมายและเพศภาวะเพื่อที่จะนำไปปกป้องคนในชุมชน รวมถึงความรุนแรงทางเพศ เพราะหลายคนเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังสนับสนุนการทำงานขององค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางเพศในระดับประเทศและนานาชาติ และอีกด้านคือการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างองค์ความรู้ เช่น การเปิดหลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษา ผลสำเร็จคือนักศึกษาได้นำมุมมองสตรีนิยมไปใช้ในชุมชนและการทำงานของตัวเอง เช่น เรามีพนักงานสอบสวนหญิงที่ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงในคดีความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวหรือการค้ามนุษย์ หรือศิษย์เก่าชาวลาวที่ได้ไปเปิดหลักสูตร gender Studies ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว นอกจากนี้ยังมีวิชาโท สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี และนักศึกษาเหล่านี้ก็เข้าไปเรียกร้องความเป็นธรรมทางเพศมากขึ้น เช่น การผลักดันเรื่องผ้าอนามัย และนอกจากนี้ยังมีหลักสูตรปริญญาเอกที่กำลังปรับปรุงอยู่ นอกจากนี้เราต้องการที่จะขยายแนวคิดสตรีศึกษาให้เข้าไปถึงกับบุคคลทั่วไปด้วย เช่น การเข้าไปร่วมทำงานกับ School of feminists ด้วย

สิ่งที่เรียกร้องคือ อยากให้การศึกษาด้านเพศภาวะศึกษาและสตรีศึกษาเป็นความรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย เด็กและครูที่สอนต้องเข้าใจเรื่องเพศภาวะ เราเรียกร้องให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของสาขาวิชานี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สนับสนุนอย่างจริงจัง หลักสูตรสตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษาก็ยากที่จะยั่งยืน จึงเรียกร้องไปที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ตระหนักถึงความสำคัญของภาควิชาและศูนย์สตรีศึกษา และต้องสนับสนุนอย่างจริงจังไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะถ้าหากไม่สนับสนุนสาขาวิขานี้แล้ว การไปถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็เป็นไปได้ยาก


มัจฉา พรอินทร์ ได้สรุปจากผู้เข้าร่วมทุกประเด็น โดยชี้ให้เห็นว่า รูปแบบที่ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญ เป็นข้อท้าทายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะไม่ถูกยอมรับจากรัฐ แต่ผู้หญิงเผชิญกับปัญหาเฉพาะที่เป็นภาวะทับซ้อนหลายด้าน โดยเฉพาะวิธีเรื่องเพศที่ส่งผลเฉพาะเจาะจงต่อเด็กและผู้หญิงตั้งแต่เกิดไปจนถึงเติบโต และถูกคาดหวังให้ต้องแต่งงาน และเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าการแต่งงานจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้การศึกษาไม่ได้ฟรีสำหรับทุกคน ส่งผลให้เด็กผู้หญิงต้องไปทำงานใช้แรงงานเพื่อที่จะหาเงินมาเรียนหนังสือ และโดยเฉพาะถ้าเกิดกับคนที่ไร้สัญชาติ ก็เสี่ยงต่อการเข้าสู่ระบบแรงงานทาส ถูกขูดรีดแรงงานและเข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ


ระบบสองเพศส่งผลต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การผูกเพศกำเนิดกับเพศวิถี การจับยัดลงกล่อง ส่งผลให้เราเข้าไม่ถึงสิทธิและโอกาสบริการทางสาธารณะสุขได้อย่างเป็นธรรม


นอกจากนี้สถานการณ์โควิด สภาพเศรษฐกิจ ทำให้หลายๆคนตกงานและกลายเป็นคนไร้บ้าน คนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนมากๆ ต้องการความรู้ความเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการทำงานแบบบนลงล่างจึงไม่สำเร็จ เราต้องการความเข้าใจความซับซ้อนและพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของเจ้าของปัญหา ต้องได้รับการเอ็มพาวเวอร์เพื่อวันหนึ่งจะลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาของตัวเอง


ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ข้อท้ายทายคือ เมื่อผู้หญิงลุกมาต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดิน ต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมาย และเมื่อคดีความสิ้นสุดลงก็ไม่ได้การันตีการเป็นเจ้าของที่ดิน พี่น้องภาคเกษตรกรตอนนี้เผชิญกับวิกฤตราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ


นอกจากนี้นักปกป้องสิทธิที่ดินผู้หญิงยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามทางเพศ องค์กรไม่มีนโยบายการต่อต้าน sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศ ไม่ทำงานกับวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่มีลักษณะแบบสามเหลี่ยมและมีผู้ชายเป็นผู้ครอบครองทรัพยากร อำนาจในการตัดสินใจ ภาระหน้าที่ที่เป็น Care Work หรืองานดูแลตกอยู่ที่ผู้หญิงทั้งหมดทั้งในบ้านและในการทำงานเคลื่อนไหว ผู้หญิงต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทั้งในที่ทำงานและในขบวนการเคลื่อนไหว ความไม่เป็นธรรมทางเพศส่งผลโดยตรงต่อทุกคน แต่จะเห็นว่า การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหว ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องเพศก็มีความซับซ้อนมาก นอกจากนี้ เรื่องทรัพยากรการทำงาน ผู้หญิงไม่ได้รับค่าตอบแทนการทำงาน หรือรับภาระในการดูแลครอบครัว จะต้องมีการรณรงค์เรื่องค่าแรงที่เป็นธรรม และต้องมีทรัพยากรที่มาดูแลคนทำงาน จะต้องรณรงค์กับแหล่งทุนเพื่อให้มีทรัพยากรมาดูแลเรื่องความเป็นอยู่ ช่องว่างทางเพศที่ผู้หญิงเผชิญ ถ้าผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศและยังต้องทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกับผู้คุกคาม ก็จะทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ซึ่งจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายขององค์กรและการทำงานไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้เรื่องการโทษเหยื่อยังคงเกิดขึ้นทั้งกับผู้หญิงหรือผู้หญิงข้ามเพศที่ถูกทำร้าย ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีความรู้เรื่องเพศและกฎหมายไม่คุ้มครองเรื่องความรุนแรงทางเพศเลย


ในส่วนของวงการศึกษา ในขณะที่สังคมเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมทางเพศ แต่สังคมก็ไม่ได้เข้าใจช่องว่างที่กีดกันผู้หญิง องค์ความรู้ของผู้หญิงออกไป ในงานวิจัยก็พบว่างบประมาณสนับสนุนการทำงานองค์กรผู้หญิงทีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็น ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า หนึ่งเปอร์เซ็นนั้นอาจตกอยู่ในงานอื่นๆไม่ใช่งานเรื่องความรุนแรงทางเพศด้วยซ้ำไป และผู้หญิงที่นำองค์กรเรื่องความหลากหลายทางเพศอาจเข้าไม่ถึงงบประมาณเหล่านี้ การไม่ได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างอำนาจชายเป็นใหญ่ ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับการทำงานเรื่องการศึกษาสตรีนิยมและเพศภาวะ ในสถาบันการศึกษา นักเรียนแทบไม่เคยได้ยินคำว่า เพศภาวะ ความยินยอม เพราะไม่มีการเรียนการสอน ไม่เพียงแต่เราต้องการให้ศูนย์สตรีศึกษายังคงอยู่ แต่เราต้องการการเรียนการสอนสตรีศึกษาในทุกระดับ


จากประเด็นปัญหาการทำงานทั้งหมดที่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จะเห็นว่ามีการทำงานที่มีลักษณะ Intersectioality แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐหน่วยงาน แหล่งทุน หรือกระทั่งขบวนการเคลื่อนไหวด้วยกันเอง สิ่งที่ทั้งหมดกำลังทำงานอยู่คือการ Empower หรือการเสริมพลังทั้งตัวเองและกลุ่มเป้าหมาย และประเด็นที่สอง เราสร้างเครื่องมือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ คู่มือสื่อ ศูนย์สตรีมีงานวิจัย มีโครงการผ้าทอสีรุ้ง มีโครงการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน สิ่งที่พูดกันทั้งหมดในวันนี้คือการปักหมุดหมายในการทำงานและการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเนื่องในวันสตรีสากล เราจะต้องต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และสิ่งที่สำคัญคือการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่และเป็นการจับมือกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ วันสตรีสากลจะไม่มีความหมายอะไรถ้าหากไม่ฟังเสียงของผู้หญิง เริ่มจากการฟังเสียงของผู้หญิงในบ้าน งานในบ้านเป็นงานของทุกคน ผู้หญิงควรมีสิทธิได้พักผ่อน มีเวลาออกกำลังกายดูแลตัวเอง และควรจะได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี


ฟังงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/102088898021829/videos/988160778741107






ดู 250 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page