top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

เหรียญทองของสุนิสา ลี จะเขย่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศของสังคมม้งได้หรือไม่



“สุนิสา ลี” เป็นลูกสาวในครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่เป็นคนม้ง เธอได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ให้ทำในสิ่งที่ชอบตั้งแต่เด็ก คือ กีฬายิมนาสติก เธอใช้ความพยายามและอดทนฝึกฝนอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และมีทัศนคติที่ดีเสมอ ทำให้เธอชนะการแข่งขันระดับต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นตัวความหวังของประเทศสหรัฐอเมริกา กระทั่งเธอสามารถคว้าเหรียญรางวัล 3 เหรียญ ในกีฬาโอลิมปิก 2020 เมื่อเร็วๆ นี้ สร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเธอเอง ครอบครัว ชนเผ่าม้ง และประเทศสหรัฐอเมริกา


เป็นที่น่าสนใจ ที่ลูกสาวในครอบครัวคนม้ง สามารถประสบความสำเร็จในระดับสูงสุด ซึ่งผู้ชายม้งไม่เคยทำได้มาก่อน ในขณะที่สังคมม้งเป็นสังคมที่มี “วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่”


มุมมองต่อโลกและชีวิตของคนม้ง เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ทำให้บทบาทของผู้หญิงในสังคมม้งต่ำเตี้ยมาก วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ แทรกซึมทั่วไปหมด ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ดังนั้น ในชุมชนม้งโดยทั่วไป เราจึงเห็นเฉพาะผู้ชายที่มีบทบาทนำในทุกๆ ด้าน ส่วนผู้หญิงม้งจะถูกมองเป็นคนที่มีสถานะต่ำกว่า หรือเป็นเพียงช้างเท้าหลัง

ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศของสังคมม้ง ฝังอยู่อยู่ในความรู้สึกนึกคิด และชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย กล่าวคือ

นับตั้งแต่คู่สามีภรรยา เมื่อแต่งงานสร้างครอบครัว ก็อยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว ไม่ใช่เพียงแค่พ่อแม่อยากได้ แต่ถูกสังคมรอบข้างกดดันด้วย หรือคำกล่าวที่ถูกต้องกว่า คือ สามีภรรยาคู่หนึ่งจะต้องมีลูกชาย ทำให้หลายครอบครัวที่มีแต่ลูกสาว ต้องไปหาทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อให้มีลูกชาย บางคนต้องมีภรรยาน้อยโดยที่ภรรยาหลวงยินยอม เพื่อจะได้มีลูกชาย


เมื่อมีลูก พ่อแม่และปู่ย่า ก็จะให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว รวมทั้งจะคาดหวังและเตรียมการสำหรับอนาคตให้ลูกชายมากกว่า สำหรับลูกสาวนั้นก็รอเวลาแต่งงานออกจากบ้านไป แล้วค่อยช่วยเหลือดูแลตามอัตภาพ เมื่อคนเติบโตและแต่งงาน ลูกชายจะแต่งงานโดยพาลูกสะใภ้เข้าบ้านมาเป็นคนในตระกุล สำหรับลูกสาวก็จะต้องออกจากบ้านไปอยู่ในตระกูลของสามี และถูกตัดขาดจากตระกูลของพ่อแม่จริงๆ ไป

การตัดขาดนี้ มีอิทธิพลในทางความเชื่อเป็นอย่างมาก มีเรื่องเล่าสะเทือนอารมในสังคมม้งเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ ลูกสาวม้งคนหนึ่ง เธอเป็นพยาบาล ทำงานส่งเงินมาสร้างบ้านให้พ่อแม่อยู่ แต่โชคร้ายที่เธอเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต เมื่อนำศพกลับมาทำบุญ ปรากฏว่าพ่อแม่และญาติของพ่อแม่ ไม่ยอมให้เอาศพของเธอเข้าไปทำบุญในบ้านหลังที่สร้างจากเงินของเธอเอง เพราะเชื่อว่าเธอไม่ใช่คนของตระกูลเดียวกัน จึงพาศพของเธอเข้าบ้านไม่ได้


นอกจากนี้ ผู้ชายยังสามารถมีภรรยาได้หลายคน แม้ว่าฝ่ายผู้หญิงมีสิทธิห้ามได้ แต่ก็เป็นแค่เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัว หรือผู้หญิงอ้างเป็นเหตุขอหย่าได้ แต่ผู้หญิงก็จะต้องออกจากบ้านไปแบบตัวเปล่า โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไรเลย ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า วัฒนธรรมมีเมียน้อยมีรากฐานมาจากสภาพสังคมในอดีต ที่ม้งอยู่ในสังคมบ้านป่าเมืองเถื่อน และอยู่กับสงครามมาอย่างยาวนาน ลูกสาวของชาวบ้านทั่วๆ ไป หรือผู้หญิงที่อยู่ลำพัง มักจะไม่ปลอดภัย บางทีพ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกสาวได้ตลอด จึงอยากให้ลูกสาวไปอยู่กับคนที่มีอำนาจ อย่างน้อยก็ช่วยปกป้องชีวิตให้ปลอดภัยได้ โดยที่ตัวผู้หญิงเองก็เห็นด้วย ส่วนการจะเป็นเมียคนที่เท่าไหร่นั้น อาจสำคัญน้อยกว่าการมีอยู่มีกินและมีชีวิตปลอดภัยในสภาพสังคมแบบนั้น


ถึงที่สุด เมื่อพ่อแม่ตายลง สิทธิในการรับมรดก จะตกเป็นของฝ่ายลูกชายเท่านั้น โดยที่ฝ่ายลูกสาวจะไม่ได้อะไรเลย

จารีตและความเชื่อเหล่านี้ถูกสืบทอดและฝังอยู่ในสำนึกของคนม้งมาอย่างยาวนาน แม้แต่ตัวของผู้หญิงเอง ต่างก็ยอมรับในวัฒนธรรมความเชื่อเหล่านี้ และที่สำคัญคือ ผู้หญิงก็มักจะอ้างวัฒนธรรมเหล่านี้มากดขี่ผู้หญิงด้วยกันเองบ่อยๆ ทำให้เป็นการยากแก่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ไปสู่สังคมที่คนเท่าเทียมกันทางเพศ ส่งผลให้ผู้หญิงม้งที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สามารถอยู่ในระบบที่สังคมม้งยอมรับ เลือกที่จะไม่กลับมาอยู่ในชุมชนม้ง แต่ออกไปเติบโตข้างนอก และหันหลังให้กับชุมชนม้ง

ปรมาจารย์เหลาจื่อ ผู้เป็นต้นกำเนิดปรัชญาเต๋า เปรยให้ขงจื๊อฟังว่า “ที่ใดมีจารีต ที่นั่นมีการกดขี่” เมื่อหันมามองสังคมม้ง ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่ปรมาจารย์เหลาจื่อพูดนั้น เป็นความจริงอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจารีตม้งหลายๆ อย่างเป็นสิ่งที่ดี และทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างมีหลักเกณฑ์ แต่จารีตหลายๆ อย่าง นั้นมีปัญหา เนื่องจากจารีตบางอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการตีความ การฉกฉวยโอกาส การใช้คำพูด และอิทธิพลของคนหรือกลุ่มคนนั้นๆ ซึ่งทำให้คนบางคนเสียเปรียบหรือถูกกดทับ โดยเฉพาะผู้หญิงในสังคมม้ง ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของจารีตที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้


สังคมที่เจริญแล้ว ช่องว่างความแตกต่างทางเพศระหว่างหญิงกับชายจะหดแคบลง บทบาทของผู้หญิงจะได้รับการยอมรับในทางสาธารณะอย่างทัดเทียมกับผู้ชาย ยิ่งในทางสากล ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ ไม่ได้รับการยอมรับแล้ว ถึงขั้นมีการออกกฎหมายระหว่างประเทศ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) เพื่อเป็นกลไกการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

คนม้งรุ่นใหม่โดยเฉพาะผู้หญิงในสังคมไทย จะก้าวข้ามวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ยังท้ายทายอยู่มาก แต่ผู้เขียนเห็นว่าสังคมปัจจุบันก็เปิดพื้นที่ให้อยู่ โดยเฉพาะอิทธิพลของวัฒนธรรมแบบสากล และการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถห้ามได้ ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เช่น


ตัวอย่างแรก สัดส่วนนักศึกษาม้งผู้ชาย – ผู้หญิง ที่สามารถสอบเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในภาคเหนือได้ สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงปี พ.ศ. 2545 -2549 มีนักศึกษาม้งเข้าใหม่ ปีละประมาณ 10 - 15 คน เป็นผู้ชายประมาณ 60% ผู้หญิงประมาณ 40% แต่หลังปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาม้งเข้าใหม่ประมาณปีละ 20 คน ซึ่งมีสัดส่วนเป็นผู้ชายเพียง 40% แต่เป็นผู้หญิงมากถึง 60% แสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวม้งนปัจจุบัน ผู้หญิงมีความสามารถและมีโอกาสในด้านการศึกษามากกว่าผู้ชาย


ซึ่งกรณีนี้ ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมนักศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความเห็นว่า นี่เป็นผลสะท้อนกลับของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่พ่อแม่รักและเอาใจลูกชายมาก มักจะตามใจให้เที่ยวเตร่ ไม่ต้องรับผิดชอบการงานในครอบครัว ไม่ต้องทำงานหนัก ในขณะที่จะเคี่ยวเข็ญ บังคับ ให้ลูกสาวต้องขยันทำงาน ห้ามเที่ยวเตร่ ไม่ซื้อข้าวของราคาแพงให้ รวมทั้งเมื่อส่งไปเรียนก็บังคับให้ต้องขยันเรียน ห้ามออกนอกลู่นอกทาง ผลก็คือ ลูกชายจำนวนมากมักจะออกเรียนกลางคัน หรือเมื่อเรียนจบก็ไม่สามารถสอบแข่งขันได้ ในขณะที่ลูกสาวที่จะขยันและสามารถสอบแข่งขันได้มากกว่า


ตัวอย่างที่สอง สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ความคิดชายเป็นใหญ่จะถูกด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ แม้แต่ในสังคมม้งก็เช่นเดียวกัน เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้วว่าผู้หญิงม้งเริ่มขัดขืนมากขึ้น และมีพื้นที่ในทางสาธารณะมากขึ้น เช่น เกิดกรณีสามีตาย ญาติฝ่ายสามีก็ยึดทรัพย์สินไปหมด ภรรยาจึงฟ้องญาติขอแบ่งมรดกตามกฎหมาย, ผู้หญิงม้งลงสมัครเป็นนักการเมืองท้อง (รองนายก อบจ.), ผู้หญิงเป็นผู้ใหญ่บ้าน, ผู้หญิงนำทำพิธีกรรมสำคัญๆ ในงานแต่งหรืองานศพ เป็นต้น


จากความสำเร็จของสุนิสา ลี ผู้เขียนอยากชวนให้สังคมม้งได้ทำความเข้าใจต่อความจริงของ โลกและชีวิต และความเปลี่ยนแปลงที่คืบคลานเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ดังนี้


ประการแรก ผู้หญิงก็เป็นเพศที่มีความรู้สามารถไม่แตกต่างจากผู้ชาย (ยกเว้นเฉพาะการเปรียบเทียบพละกำลัง) และสังคมสมัยใหม่เปิดโอกาสทั้งผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมกัน ขอเพียงมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และแสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็ย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตได้


ประการที่สอง คนที่เป็นพ่อแม่ ต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง ทั้งลูกสาวและลูกชาย สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาได้ ลูกสาวสามารถเป็นที่เชิดหน้าชูตาของตระกูลได้ และสามารถเป็นที่พึ่งดูแลพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่าได้ หรือบางคนอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป


ประการที่สาม สังคมม้ง ต้องพยายามช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่บทบาทหญิงชายมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันให้มากที่สุด และละทิ้งวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ลดทอนสิทธิและศักดิ์ศรีความความเป็นคนของผู้หญิง ผู้หญิงคนไหนมีศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน ก็จะต้องช่วยกันส่งเสริม ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียกร้องให้คนๆ นั้น แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย


ในโลกนี้เราได้เห็นผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างนิวซีแลนด์ คือ จาซินดรา อาเดิร์น, ประเทศที่มีชนชั้นวรรณะอย่างอินเดีย คือ อินทิรา คานธี, ประเทศที่ต่อสู้กับระบบเผด็จการทหารอย่างพม่า คือ อองซาน ซูจี, สำหรับประเทศไทย คือ ยิ่งลักษ์ ชินวัตร แล้วผู้หญิงในสังคมม้งจะก้าวข้ามวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ได้ไหม


สุดท้าย ผู้เขียนอยากรู้ว่าคนม้ง โดยเฉพาะผู้หญิงม้งรุ่นใหม่ คิดอย่างไรก็กับประเด็นที่ผู้เขียนเสนอมานี้ หากใครอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ช่วยกรุณาเขียนแสดงความเห็นให้ผู้เขียนและคนอื่นๆ ทราบ หรือแชร์ต่อ เพื่อช่วยกันเขย่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศของสังคมม้ง




ดู 207 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


bottom of page