เนื่องในวันสตรีสากล โรงเรียนเฟมินิสต์ หรือ School of feminists รุ่นที่ 2 ร่วมกับองค์กรร่วมจัดจากหลากหลายองค์กร ได้จัดเวทีเสวนาขึ้นก่อนวันสตรีสากล วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ในหัวข้อ "ลุกขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม" โดยเซสชั่นที่สอง เป็นหัวข้อย่อย ว่าด้วย ขบวนการเคลื่อนไหว LGBTIQNA เพื่อความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม โดยมีตัวแทนจากกลุ่ม Young Pride Club, เครือข่ายนอกกล่องเพศ กลุ่มนอนไบนารี่ประเทศไทย เพจ AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist, สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคก้าวไกล และมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมเสวนา
โดยตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ได้บอกเล่าบริบทปัญหา การทำงานและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
มณฑิรา คำสอน จากกลุ่ม Young Pride Club
บริบทปัญหาของกลุ่มที่ผลักดันให้ทำงานเคลื่อนไหวคือเริ่มจากการเห็นปัญหาจากเพื่อนรอบๆตัวและมีโอกาสได้เป็นอาสาสมัครในการทำงานในงานเชียงใหม่ไพรด์ ทำให้เราได้เห็นปัญหามากขึ้น เช่น ปัญหาการจ้างงาน การถูกเลือกปฏิบัติ จากการเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หลังจากนั้นมีโอกาสได้เข้าร่วมเรียนรู้ในโครงการ School of feminist รุ่นที่ 1 จึงเห็นปัญหาในภาพที่ใหญ่ขึ้นในระดับโครงสร้าง
ในส่วนของกลุ่ม Young Pride จะเน้นไปที่การจัดกิจกรรม งานใหญ่ๆที่ผ่านมา เช่น เชียงใหม่ไพรด์ที่จัดมาสามปีแล้ว รวมถึงการฉายหนังและเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการแนะนำธุรกิจที่เป็นมิตรกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
ข้อท้าทายในการทำงาน เป็นเรื่องของคนและทรัพยากรในการทำงาน เรื่องเงินทุนในการทำงานที่จำกัด ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะทำงานกิจกรรมต่างๆ หรือจัดเวิร์คช็อป และช่วงนี้หลักๆจะทำเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีการแปลเนื้อหาจากต่างประเทศและเผยแพร่เนื้อหาข่าวในไทยที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศต่างๆ เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม โดยจะมีเนื้อหาเผยแพร่ทั้งในเฟซบุค อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ และในเว็บไซต์
ส่วนความคาดหวังในการทำงาน อยากเห็นความเข้าใจของคนในสังคมจากการทำงานของ ปกติทางกลุ่มจะทำงานกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศหรือพนักงานบริการทางเพศอยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากร่วมงานกับองค์กรอื่นๆที่หลากหลายกว่านี้ เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มแรงงานข้ามชาติ อยากทำงานที่มากกว่าการจัดกิจกรรม ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำงานลงพื้นที่มากกว่านี้
ข้อเสนอแนะก็คืออยากให้ทุกคนเปิดใจ ทำความเข้าใจ รับฟังคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่อยากให้มีอคติหรือเกลียดชังกันด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
ปาร์คเกอร์ ภารวี อากาศน่วม เครือข่าย นอกกล่องเพศ Non-Binary ผู้ก่อตั้งเพจ AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist
ตอนแรกที่เริ่มเคลื่อนไหวคือเป็นแค่กลุ่มในเฟซบุคเพื่อพูดคุยเรื่องนอนไบนารี่ เริ่มต้นประมาณปี 2017 และต่อมาในปี 2018 เราก็เปิดเพจนอกกล่องเพศขึ้นมา การเป็นนอนไบนารี่เป็นเรื่องที่ใหม่มาก คนในสังคมยังไม่รู้จักว่าคืออะไร รวมถึงคนที่เป็น Asexual/Aromatic ด้วย ที่คนก็จะคิดว่ามันเป็นความผิดปกติทางร่างกายหรือฮอร์โมน เราก็เลยเปิดเพจขึ้นมาเพื่อบอกว่ามันคือเรื่องปกตินะ เพราะในไทยมันไม่มีคนทำเพจเลย เราก็เลยทำเพจขึ้นมากับเพื่อนอีกคนนึง
ปัญหาในการทำงานก็น่าจะคล้ายๆกลุ่มองค์กรเล็กๆอื่นๆคือเรื่องของเงินทุน ซึ่งก็ไม่ได้มีทุนในการทำงาน มีเงินบริจาคเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เยอะ ส่วนเพจ Aroฤce คือไม่มีเงินทุนเลย ส่วนงานที่ทำอยู่ของกลุ่มนอกกล่องเพศ ก็มีคนรู้จักกลุ่มนอนไบนารี่มากขึ้น เวลาเราเห็นข้อโต้แย้งออนไลน์ทางโซเชียลมีเดีย เราพบว่ามีคนพูดถึงกลุ่มนอนไบนารี่เยอะขึ้น ทุกวันนี้ความเข้าใจของสังคมก็เปลี่ยนไปมาก มีคนออกมาบอกเปิดเผยตัวว่าเป็นนอนไบนารี่เยอะขึ้น เช่นเดียวกันกับการเป็น Asexual ตั้งแต่เปิดเพจมา ก็มีคนเข้าใจมากขึ้น อย่างที่บอกว่ามันมีความเข้าใจผิดมากเกี่ยวกับการเป็น Asexual ว่าเป็นความผิดปกติทางร่างกาย มันมีคนที่เข้ามาเจอเพจเรา และเจอข้อมูลที่เราลงในเพจ ทำให้คนเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เราก็จะลงเนื้อหาในเพจ ทวิตเตอร์ เพจนอนไบนารี่เองก็ทำเนื้อหาผ่านออนไลน์ เพราะคนจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า
เราก็คาดหวังว่าอยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับนอนไบนารี่เข้าถึงคนมากขึ้น เพราะตอนนี้เราสามารถทำได้แค่ในออนไลน์ ในอนาคตเราก็อยากเห็นข้อมูลมันอยู่ในตำราเรียน อยากให้เข้าถึงนักเรียนมากขึ้น เพราะเราอยากให้คนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น อยากให้เข้าถึงครูในโรงเรียน เด็กนักเรียนมากกว่านี้
เราอยากให้มีข้อกฎหมายที่มารองรับหรือคุ้มครองเรามากกว่านี้ด้วย เช่น ตัวเราที่เป็นคนข้ามเพศและมีการใช้ฮอร์โมน หรือเรื่องของคำนำหน้านาม การยอมรับเพศสภาพ เพราะทุกวันนี้เราไปไหนมาไหนลำบากมาก เพราะชื่อกับเพศสภาพไม่ตรงกัน ถ้าเปลี่ยนคำนำหน้านามก็อาจจะสับสนน้อยลงและใช้ชีวิตได้ดีขึ้น
ข้อเสนอแนะของเราคือ เรามักจะได้รับคำถามว่าทำไมนอนไบนารี่มันแยกย่อยเยอะจัง เราอยากบอกว่ามันไม่จำเป็นต้องท่องได้หมดว่ามันคืออะไรแบบไหนบ้าง ขอแค่ยอมรับความหลากหลายของแต่ละคน ยอมรับในความแตกต่าง เพราะมนุษย์ทุกคนไม่มีใครเหมือนกันอยู่แล้ว ก็เหมือนความชอบในสีของแต่ะคนที่ไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องมานั่งจำว่าใครชอบสีอะไร ขอแค่ยอมรับ เคารพ เข้าใจกันก็พอแล้ว
ณชเล บุญญาภิสมภาร เครือข่ายมูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
สิทธิของคนข้ามเพศมักจะถูกลืม เมื่อสามปีที่แล้ว กรมอนามัยโรคได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าคนข้ามเพศไม่ใช่คนโรคจิต การทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของคนข้ามเพศมีมาอย่างยาวนาน เราเคยเป็นอาสาสมัครให้สมาคมฟ้าสีรุ้งและทำงานเรื่อง HIV แต่ทุนที่ลงมาให้คนทำงาน เน้นทำงานกับกลุ่มชายรักชาย ไม่มีทุนที่ให้คนข้ามเพศได้มาทำงาน แม้จะมีงานวิจัยที่ว่าคนข้ามเพศมีสิทธิติดเชื้อ HIV พอๆกับกลุ่มชายรักชาย หลังจากนั้นเราไปทำงานที่มูลนิธิซิสเตอร์ที่พัทยา ซึ่งเป็นองค์แรกในประเทศไทยที่ทำงานเรื่องการรณรงค์เรื่องการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ
สถานการณ์ของคนข้ามเพศที่ถูกลืมคือ ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ออกมาเยอะมาก แต่มักจะไม่ค่อยมีงานวิจัยเรื่องผู้ชายข้ามเพศ แต่มักจะเป็นงานวิจัยที่พูดถึงผู้หญิงข้ามเพศมากกว่า งานวิจัยของธนาคารโลกพบว่าคนข้ามเพศเป็นกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุดในบรรดากลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกเลือกปฏิบัติ การเข้าไม่ถึงการจ้างงาน นอกจากนี้คนข้ามเพศยังไม่ได้รับความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด คนข้ามเพศต้องออกมาช่วยเหลือกันเอง ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องวิพากษ์รัฐบาล เพราะรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือคนทุกกลุ่มเสมอภาคกัน คนข้ามเพศเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากรัฐเลย
เราคิดว่าคนทำงานเรื่องสุขภาพมีเยอะมากถ้าเทียบกับคนทำงานเรื่องสิทธิ เราก็เลยก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยขึ้นมาเพื่อทำงานเรื่องสิทธิ เราใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีทุนมาทำงาน แล้วจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ก็อยากให้กำลังใจกลุ่มน้องๆที่กำลังสร้างกลุ่มขึ้นมา
ในส่วนงานของมูลนิธิที่เราทำงานอยู่ คือการเข้าไปท้าทายสถาบันสังคมหลายๆสถาบันด้วยกัน จากหลายๆโครงการที่เราทำอยู่ ทำไมเราถึงคิดว่าการท้าทายสถาบันสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเราคิดว่าถ้าเราอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเข้าไปทำงานกับสถาบันทางความคิดที่เป็นสถาบันหลักต่างๆ เช่น สถาบันทางสังคมเป็นต้น เราได้ยินมาตลอดว่าคนข้ามเพศไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว เราก็เลยเข้าไปทำงานเครือข่ายพ่อแม่ที่มีลูกเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทำมาได้สักระยะนึงแล้ว สิ่งที่หวังคือเราจะได้สร้างเครือข่ายที่ช่วยหนุนเสริมกัน บางทีพ่อแม่ที่มีลูกที่เป็นคนหลากหลายทางเพศไม่ได้มีเพื่อนที่มีลูกเป็นLGBT เค้าก็จะอายและเค้าก็ไม่กล้าที่จะพูดเรื่องความสำเร็จ ความท้าทายในการเลี้ยงลูก เราจึงพยายามสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มพ่อแม่ เพื่อที่เวลามีปัญหา เค้าจะได้ช่วยเหลือกัน พูดคุยให้กำลังใจกัน อันนี้เป็นสิ่งที่เครือข่ายพยายามทำอยู่
อีกงานนึงคืองานที่เราท้าทายสถาบันกฎหมาย คือโครงการสนับสนุน พ.ร.บ รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ กฎหมายตัวนี้มีคนที่ทำร่างในหลายองค์กรด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาลหรือพรรคการเมือง หรือองค์กรอื่น กระบวนการนี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะเราอาจต้องเอาร่างของทุกๆกลุ่มมาคุยกันว่าเราจะมีแนวทางการทำงานต่อไปอย่างไร ทางมูลนิธิก็กำลังทำงานอยู่ แต่ยังมีความคืบหน้าไม่มากเพราะสถานการณ์โควิด เราเชื่อว่า Self Determination คือแนวคิดหลักในการทำงาน คือการทำให้คนรับรู้ในความเป็นเพศของตัวเอง โดยรัฐไม่ควรมาควบคุมเรื่องความเป็นเพศของเค้า รัฐไม่จำเป็นต้องให้หมอมารับรองความเป็นเพศของคน เราคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำคือการทำให้คนมีพลังอำนาจภายในให้คนสามารถภาคภูมิใจกับความเป็นเพศของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิพยายามทำอยู่
นอกจากนี้ยังมีอีกสองโครงการ คือการทำสื่อที่ร่วมกับสถาบันสื่อในการสร้างให้สื่อตระหนักรู้ความหลากหลายทางเพศ และโครงการสุดท้ายคือ การทำให้คนทำงานเรื่องสุขภาพเห็นว่า การทำงานเรื่องสุขภาพคือการทำงานเรื่องสิทธิ เราพยายามจะทำให้คนข้ามเพศที่เป็นชายขอบเข้าถึงการบริการสุขภาพ สุขภาพของคนข้ามเพศที่ผ่านมาเรามองในมุมของชนชั้นกลาง เช่น การใช้ฮอร์โมน การผ่าตัดศัลยกรรม เท่านั้น แต่เราไม่ได้มองว่ามีกลุ่มคนข้ามเพศอื่นๆที่ถูกละเลย เช่น คนข้ามเพศพิการ คนข้ามเพศสูงอายุ หรือคนข้ามเพศชายวัยรุ่น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ถูกมองเห็น เราคิดว่าต้องมีคนเข้าไปช่วยสนับสนุนให้พวกเขามีปากมีเสียง ได้พูดถึงปัญหาของพวกเค้าเอง ว่าอะไรคือเรื่องสุขภาพที่พวกเค้าต้องการ
เราคิดว่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาตลอดชีวิตคือ การพยายามหาคำตอบว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน เป็นการทำกิจกรรมหรือเป็นการทำ Activism หรือการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราอยากชวนคนรุ่นใหม่มาคุยกันว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่เป็นแค่การทำกิจกรรมหรือเป็นการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เราต้องวิพากษ์กระบวนการทำงานของตัวเอง ถ้าหากเราไม่วิพากษ์ เราก็จะไม่สำเร็จในการเปลี่ยนแปลง เราอยากชวนให้ทุกคนมานั่งคุยกันว่าจะทำยังไงที่เราจะไม่หยุดแค่งานทำกิจกรรม แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคม
ข้อเสนอแนะเราคือ หนึ่ง เรื่องการเก็บข้อมูลจำนวนประชากร เราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ เวลารัฐบาลจะให้ทุนอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น มีเงินก้อนนึงจะให้ทุนสำหรับการทำงานเรื่องคนข้ามเพศ แต่เราไม่มีข้อมูลจำนวนประชากรที่เป็นคนข้ามเพศ ซึ่งเราคิดว่ามันคือความมท้าทายที่เราจะต้องทำงานเรื่องจำนวนประชากรของคนข้ามเพศ
สอง เวลาเราทำงานเรื่องสิทธิและสุขภาพ เรายังใช้มุมมองของความเป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษา ความเป็นคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ มองสถานการณ์หรือเข้าไปจัดการสถานการณ์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราคิดว่าต้องวิพากษ์มากขึ้น เพื่อทำให้ทุกกลุ่มอยู่ในการทำงานเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างกรทำงานเรื่องสุขภาพของคนข้ามเพศ ที่มักจะมองแค่ว่าคนข้ามเพศต้องใช้ฮอร์โมนหรือศัลยกรรม แต่เราไม่ได้มองคนข้ามเพศที่อยู่ชายขอบ
สาม คิดว่าเรา้ตองทำงานร่วมกันเพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า การทำงานเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่การทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิพิเศษ ที่เรามักจะถูกตั้งคำถามบ่อยๆว่าเราทำงานเพื่อสิทธิพิเศษหรือเปล่า เราต้องทำงานเพื่อสื่อสารว่าสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่สิทธิพิิเศษแต่เป็นสิทธิของคนทุกคน
สี่ หลายท่านได้พูดแล้วว่าการทำงานเคลื่อนไหวของผู้หญิงหรือคนหลากหลายทางเพศ เราต้องมีพันธมิตรที่มากไปกว่าคนในชุมชน คนในกลุ่มอื่นๆต้องเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหว เรามีคำว่า อัลไล หรือพันธมิตร แต่เรายังไม่ได้มีพันธมิตรและคิดว่าเป็นสิ่งที่เรายังขาดและคิดว่าเป็นข้อท้าทาย
และประการสุดท้าย อยากฝากเรื่องของเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ที่เรามีพี่น้องจากหลากหลายองค์กรเข้ามาร่วมขับเคลื่อน เราอยากเห็นภาพแบบนั้นอีก เราคิดว่ามันขาดการเคลื่อนไหวของเครือข่ายไป เราคิดว่าควรจะต้องมาร่วมกันขับเคลื่อนด้วยกัน ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราอยากจะฝากไว้
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล
ปัญหาคือเรื่องของการสื่อสารต่อสังคมในสองประเด็น คือการพูดถึงความเท่าเทียม ซึ่งการพูดคำว่าเท่าเทียมในเชิงการให้คุณค่า คนจะคิดว่ามันเพียงพอแล้ว แต่จริงๆมันไม่ได้เพียงพอ ในฐานะคนทำนโยบายและกฎหมาย เราต้องมองเห็นว่าคนยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ ดังนั้นเราต้องทำให้คนเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคมันไม่ได้มาจากสิทธิที่ไม่จำกัด เวลาเราต่อสู้กันเราพูดถึงเสรีภาพ แต่จริงๆมันต้องมีความเสมอภาคและมีสิทธิที่ถูกจำกัด คือถ้าเราใช้แนวคิดแบบให้เสรีภาพทุกคนเท่าๆกัน มันก็จะไปเหมือนความคิดแบบขวาสุดคือมือใครยาวสาวได้สาวเอา หมายถึงกฎหมายใดๆที่พูดถึงความเสมอภาคนั้น ถ้าให้สิทธิแบบไม่จำกัด มันจะกลับไปแบบขวาสุด แต่ถ้าเราพูดถึงความเสมอภาค ตัวเราต้องมองเห็นความไม่เท่ากันของเค้าก่อน เพราะเราจะได้เห็นว่าคนไหนที่ควรจะได้เข้าถึงความยุติธรรม เช่น โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ดังนั้นกฎหมายที่จะเข้าถึงความเสมอภาค จะต้องมองเห็นว่าคนกลุ่มไหนที่ไม่มีโอกาสและจะต้องให้สิทธิคนกลุ่มนั้นได้เข้าถึงโอกาส
ดังนั้นมันจึงเป็นปัญหาใหญ่เวลาที่เราต้องคุยกับคนทุกกลุ่มเพื่อเอาข้อเสนอของเค้าเข้ามาและแน่นอนว่าเมื่อเอาข้อเสนอเข้ามารวมทั้งหมด เราพยายามที่จะให้ทุกอย่างเสมอภาค แต่ทุกอย่างมันไม่สามารถเต็ม100% ได้อย่างที่ทุกคนต้องการ ซึ่งมันเป็นปัญหาที่เราต้องพยายามให้ทุกคนเข้าใจ เราพยายามจะพูดคุยกับทุกฝ่าย ดังนั้นเราต้องมาคุยร่วมกันว่าอะไรคือความเสมอภาค และเป็นสิ่งที่ยากในการผลักดันกฎหมาย ทำยังไงให้มวลชนเห็นร่วมกัน เช่น กฎหมายสมรสของพรรคก้าวไกล ทำไมไม่แก้คำว่าบุพการี ก็เพราะว่าถ้าแก้แล้วมันไม่เสมอภาค เพราะมันจะไปกระเทือนกับกฎหมายอื่นๆ
ความคืบหน้าของกฎหมายสมรสเท่าเทียมตอนนี้ ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่สภาไปแล้ว และได้ขอรับความเห็นประชาชน ซึ่งร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นจากประชาชนจำนวนมาก และหน่วยงานกระทรวงต่างๆก็ให้ความเห็น ณ วันนี้อยู่ที่เรื่องค้างการพิจารณาอยู่ที่วาระการประชุม ตอนนี้เกิดอุปสรรคอะไร แน่นอนว่ากฎหมายที่ยื่นจากฝ่ายค้านที่มีที่นั่งน้อยกว่า ทำให้ทำงานได้ยากลำบาก แต่ต่อจากนี้คณะทำงานจะพยายามเข้าพบทุกฝ่ายเพื่อพูดคุย แม้ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองจะแตกต่างกัน แต่เรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกพรรค เชื่อว่า LGBTQ ก็มีอยู่ในทุกพรรค เราจะต้องมีการอธิบายสาระสำคัญให้กับทุกพรรค แต่สิ่งที่จะออกไปสู่สังคมคือคำถามที่ว่าทำไมไปเข้าพบพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจริงๆเราเข้าพบทุกพรรค ได้คุยกับวิปฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เราคุยกับทุกฝ่ายเพื่อที่จะผลักดันกฎหมายเข้าไปในสภา เราอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของพรรคก้าวไกล แต่เป็นเรื่องของทุกคน เราจะต้องพูดคุยกันเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคน
อยากฝากสองประเด็น คือเราต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญในการรับรองเพศและการออกกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศกำเนิด อัตลักษณ์ทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องต้นทุนเพศ คือคนทุกคนมีต้นทุนทางเพศของตัวเอง เช่นเรื่องของคนข้ามเพศจะต้องได้รับการสนับสนุนเรื่องฮอร์โมน หรือหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานที่คนในกลุ่มพฤติกรรมทางเพศต่างๆจะต้องได้รับและเข้าถึง เรื่องของการมีคลีนิค LGBT เป็นต้น
ศิริวรรณ พรอินทร์ ครอบครัวสีรุ้ง อาสาสมัคร องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและ V day Thailand
เราเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่สองคน แต่กฎหมายไม่ได้ยอมรับ และตัวของลูกเอง ถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็จะไม่สามารถเซ็นเอกสารได้ และเรื่องการรับบุตรบุญธรรม อย่างตอนนี้ถ้ารับบุตรบุญธรรมได้ แม่ก็จะรับเป็นบุตรบุญธรรมได้ แต่แฟนของแม่ก็จะรับเป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้ และสังคมก็จะมีอคติว่า เราเป็นลูกของคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะเลี้ยงดูได้หรือเปล่า หรือเวลาไปโรงเรียนก็จะถูกกลั่นแกล้ง ตัวครูเองก็ไม่ได้เข้าใจและมีการคุกคามเรา หรือหลักสูตรการเรียนก็ไม่ได้สอนให้เรามีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและเพศศึกษา และยังสร้างภาพเหมารวมว่า LGBT เป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งเราก็พยายามออกมารณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศและเรื่องครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็อยากให้โรงเรียนมีการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและเคารพความแตกต่างทางเพศ โรงเรียนจึงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ซึ่งเราก็มีข้อเสนอดังต่อไปนี้
-แก้ไข ปพพ1448 หรือสมรสเท่าเทียม ให้มีการรับบุตรบุญธรรมและเข้าถึงเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ได้โดยถูกกฎหมาย
-ต้องไม่มีการคุกคามทางเพศทั้งกาย วาจาและใจต่อเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา
-เมื่อเด็กถูกคุกคาม จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเยียวยาทางกฎหมายและในทางปฏิบัติด้วย
-ต้องให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำนโยบายทุกระดับ
-บ้าน โรงเรียน สังคม ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงและ LGBTQ
Comentarios