สรุปเสวนาออนไลน์ “ความเป็นธรรมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 – เสียงสะท้อนจากเฟมินิสต์ที่ขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม”
หลังการสะท้อนเสียงของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ “การเข้าถึงวัคซีน COVID-19 สำหรับทุกคน” ในวันแรงงานที่ผ่านมา องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนและ V-Day Thailand ร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ มูลนิธิแอพคอม มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ - SWING บางกอกเรนโบว์ มูลนิธิเดอะพอส โฮมเซ็นเตอร์ เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) และอีกหลายองค์กรในเครือข่าย จึงได้จัดเสวนาออนไลน์ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ
“ความเป็นธรรมในการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 - เสียงสะท้อนจากเฟมินิสต์ที่ขับเคลื่อนเรื่องความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม” ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่่ผ่านมา เพื่อสะท้อนเรื่องราวและมุมมองจากการทำงานของเฟมินิสต์ที่ขับเคลื่อนประเด็นความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม
ผู้ร่วมเสวนาเป็นตัวแทนจากเครือข่ายเฟมินิสต์ ซึ่งทำงานในประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองไร้สัญชาติ ประเด็นเด็กและเยาวชน สิทธิในการเข้าถึงการทำแท้งและชุมชนผู้หญิงที่อยู่กับ HIV ประเด็นความรุนแรงทางเพศ รวมถึงทำงานทางความคิดบนฐานของเฟมินิสต์ในพื้นที่ออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ ในการ
สร้างพื้นที่พูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา มีสิ่งใดบ้างที่รัฐและสังคมควรทำความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประเด็นที่สำคัญที่สุดซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของงานนี้คือ การเข้าถึงวัคซีนที่เป็นธรรม มีหน้าตาอย่างไร ในสายตาของคนทำงานในประเด็นที่หลายคนในสังคมมองข้าม
การระบาดของโควิด 19 ในภาวะสงครามความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า-กระเหรี่ยง
น้องแอร์ สายรุ้งยามเย็น เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ เจ้าหน้าที่องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน เล่าถึงบริบทในชุมชน แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ว่าชุมชนในเขตชายแดนไทย-พม่า-กะเหรี่ยงของเธอได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างทหารพม่ากับทหารกะเหรี่ยงมาอย่างยาวนาน และประสบปัญหาการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานจากการไม่มีสัญชาติอยู่เป็นทุนเดิม เมื่อเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนต้องเผชิญกับวิฤตด้านอาหาร คนในชุมชนที่เคยเข้าไปทำงานในเมืองตกงาน ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านโดยไม่มีอาชีพรองรับ ด้วยความที่พื้นที่ชุมชนถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยาน มีกฎหมายอุทยานควบคุม จึงเข้าไม่ถึงทรัพยากรอาหารทั้งในป่าและทางน้ำ
กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าวคือกลุ่มผู้หญิง เด็ก และเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งความเครียดจากเรื่องปากท้องส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงภายในครอบครัว จนผู้หญิงบางคนเคยคิดฆ่าตัวตาย เด็กๆ ที่ต้องเรียนที่บ้านเกิดภาวะขาดสารอาหาร ขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับการเรียนทางอินเทอร์เน็ต และยังได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว ส่วนเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องกลับมาอยู่ที่บ้านก็เกิดความกดดัน และเสี่ยงที่จะถูกบังคับแต่งงานเพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา เกิดการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารกะเหรี่ยงทางฝั่งพม่าตรงข้ามหมู่บ้านแม่สามแลบ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บเป็นหญิงหนึ่งราย ขณะที่คนในชุมชน 450 คนต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่รัฐบาลจัดให้ ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์จะสงบลงแล้ว แต่ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีการสู้รบกันอีก ทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างหวาดกลัว นอกจากนี้รัฐยังประกาศห้ามนักข่าวและเอ็นจีโอเข้าไปในพื้นที่ ทั้งที่องค์กรสร้างสรรค์ฯ ทำงานกับชุมชนมายาวนานกว่า 15 ปี แต่กลับไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้
จากสถานการณ์ทั้งหมด น้องแอร์ในฐานะเยาวชนในพื้นที่ร่วมกับองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชนได้ทำงานวิจัยและนำข้อมูลไปรณรงค์ในระดับชุมชน ระดับสังคม และระดับนานาชาติ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งลงพื้นที่ร่วมกับเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 เป็นภาษากะเหรี่ยงและภาษาพม่าให้แก่กลุ่มเด็กและผู้หญิง อีกทั้งยังระดมทุนช่วยเหลือเรื่องอาหาร ยารักษาโรค ผ้าอนามัย และทุนการศึกษาเป็นระยะ
“ทุกครั้งที่เราไปจัดกิจกรรมคุยกับผู้หญิง ผู้หญิงจะบอกเราตลอดว่าอยากมีธุรกิจ อยากมีอาชีพเพื่อออกจากปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้อยากได้ความช่วยเหลือจากความสงสาร หลังจากที่เราทำธุรกิจ (โครงการผ้าทอกะเหรี่ยงร่วมสมัยสีรุ้ง) ก็พบว่าความสำเร็จของเราคือผู้หญิงได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมการทอผ้า ผู้หญิงเริ่มมีรายได้ สามีให้การยอมรับมากขึ้นเมื่อมีรายได้ และรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง แต่พอเกิดสถานการณ์โควิดและสงครามก็ทำให้ความหวังของผู้หญิงเริ่มหายไป จึงอยากให้วัคซีนเข้าถึงคนในชุมชนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะคนชายขอบและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เข้าไปทำงานในพื้นที่”
น้องแอร์เสนอความต้องการจากชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองว่า
ชุมชนต้องการเงินเยียวยาเร่งด่วนที่เข้าถึงทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องสัญชาติหรือต้องลงทะเบียน
รัฐควรจัดสรรทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนชนเพื่อให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองให้ได้รับสัญชาติไทย จะได้เข้าถึงสิทธิบนที่ดิน สิทธิชุมชน โดยที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง
แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างเร่งด่วนโดยให้เจ้าของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วม
และเรียกร้องให้รัฐเปิดพื้นที่ให้องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งนักข่าวเข้าไปทำงานในพื้นที่ได้เหมือนเดิม
ข้อเสนอจากชุมชนเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองและคนไร้สัญชาติ คือ
ทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งคนไร้สัญชาติ เด็กตัว G แรงงานข้ามชาติ
ทุกคนต้องเข้าถึงข้อมูลโควิด-19 อย่างรอบด้าน โดยต้องแปลเป็นภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง
ความรุนแรงทางเพศกับความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมในช่วงโควิด-19
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มตระหนักรู้ถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศ และมีหลายคนออกมาส่งเสียงบอกเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว และขอความช่วยเหลือผ่านทางช่องทางต่างๆ มากขึ้น จอมเทียน จันสมรัก ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Speaking Out TH ก่อตั้ง support group สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ และ CM (Case Manager) ทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงทางเพศ เผยจากประสบการณ์ที่ต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหาว่า
โควิด-19 เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระบวนการเกิดความล่าช้าและหย่อนประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม
นอกเหนือจากอคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เข้าใจประเด็นเพศและความรุนแรงในครอบครัว ภาระงานที่หนักและความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ยังกลายเป็นข้ออ้างในการไม่ช่วยเหลือเคส หรือกีดกันไม่ให้คนทำงานภาคประชาสังคมได้เข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งหน่วยงานรัฐยังขาดความพร้อมเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 ในบ้านพักฉุกเฉิน ดังนั้นภาระหน้าที่ในการดูแลเคสให้ปลอดภัยทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวและเรื่องสุขภาพจึงตกอยู่ที่องค์กรภาคประชาสังคม
ในด้านนโยบาย เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐออกนโยบายให้ทำงานอยู่ที่บ้าน โดยไม่คำนึงถึงปัญหาความรุนแรงภายในบ้าน และไม่มีมาตรการรองรับ บางคนต้องกลับไปอยู่ในบ้านกับคนที่ละเมิด อาจจะมีโอกาสถูกกระทำซ้ำหรือได้รับผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่ต้องกลับไปอยู่ในสถานที่เดิมๆ ที่ถูกกระทำ
ดังนั้นจึงอยากเสนอให้รัฐ พัฒนาระบบราชการออนไลน์ที่ใช้งานได้จริงและปลอดภัย รักษาความลับ นอกจากจะช่วยให้เคสที่ฉุกเฉินและอยู่ห่างไกลไม่ต้องเดินทางเสี่ยงโรคมาแจ้งความแล้ว ยังเป็นผลดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องพบเจอคนจำนวนมาก ควรปรับรูปแบบการจ่ายเงินชดเชยที่รัฐบังคับให้ใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น ให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกใช้จ่าย เคสจะได้ใช้ในการเดินทางไปศาล จ่ายค่าธรรมเนียมศาลหรืออื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐเพิ่มสวัสดิการตรวจโควิดฟรีแก่ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และต้องการบ้านพักฉุกเฉินที่ปลอดภัย มีมาตรการ social distancing ที่ดีจริงๆ
สุดท้ายคือเสนอให้ รัฐลงทุนในการวิจัยและเก็บข้อมูลผลกระทบของสถานการณ์โควิดต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพื่อเตรียมแนวทางรับมือหากมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะอยู่ในสังคมต่อไปอีกนาน หรือมีภัยพิบัติลักษณะคล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นอีก โดยออกแบบตามความต้องการของผู้เสียหายเป็นหลัก และควรจัดสรรงบอย่างถูกต้องเพื่อสนับสนุนคนทำงาน
ข้อเสนอเรื่องวัคซีนที่เป็นธรรมจากมุมมองของคนทำงานประเด็นความรุนแรงทางเพศ
ภาคประชาชนที่เข้าไปทำงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น คลองเตย กลุ่มสลัม หรือกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัด ควรมีสิทธิได้รับวัคซีน อีกกลุ่มก็คือข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินของประชาชน อย่างน้อยจะได้ลดความเครียดให้เจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ยังอยากให้มีตัวเลือกวัคซีนมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น
เด็กคือผู้ที่ถูกทิ้งในกระบวนการจัดการปัญหาโควิด-19
แม้เด็กคืออนาคตของชาติ แต่จากการทำงานของ รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อย สร้างสื่อสำหรับเด็กในประเด็นที่สังคมไม่พูดให้เด็กฟัง ดูเหมือนว่าเด็กมักจะเป็นกลุ่มที่ถูกรัฐละเลยในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ รวมถึงไม่มีมาตรการรับมือเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 เด็กที่ต้องแยกจากพ่อแม่ที่ติดเชื้อ รวมถึงสิทธิด้านอื่นๆ ที่ควรได้รับการเอาใจใส่ในช่วงเวลาวิกฤต
เด็กเป็นกลุ่มที่เสี่ยงน้อยที่สุดในโควิดระลอกแรก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกรัฐจัดการให้เรียนอยู่ที่บ้าน โดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมของเด็กที่พ่อแม่ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์มาให้ใช้เรียนได้ และเมื่อเด็กๆ เริ่มไม่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ อีกทั้งหิ่งห้อยน้อยประสบปัญหาถูกปิดกั้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กบนพื้นที่ออนไลน์ จึงหันมาทำงานในพื้นที่ชุมชนร่วมกับเครือข่ายเฟมินิสต์ โครงการหนึ่งของหิ่งห้อยน้อยคือแจกผ้าอนามัยไปพร้อมกับสื่อสารว่า ทำไมต้องหันมาพูดถึงรัฐสวัสดิการที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางเพศมากขึ้น และทำให้เห็นว่าเรื่องปากท้องกับความเป็นธรรมทางเพศนั้นเกี่ยวข้องกัน รวมทั้งได้ทำงานกับกลุ่มชาวไต ชาวกะเหรี่ยง แรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็คือแม่ของเด็ก สื่อที่ผลิตออกมาในช่วงหลังจึงต้องเผื่อไปถึงการแปลเป็นภาษาต่างๆ พยายามทำให้สื่อไม่มีตัวหนังสือ เน้นเป็นงานภาพถ่ายเพื่อให้คนเข้าใจได้ทันที
การระบาดระลอกล่าสุดเด็กกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงพอๆ กับกลุ่มอื่น แต่ยังไม่มีการผลิตสื่อเพื่อสื่อสารกับเด็กเลย กฎหมายที่บังคับใช้ก็ไม่ละเอียดอ่อนกับเด็ก บางครั้งพ่อแม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกอยู่ที่ไหน และสร้างความเจ็บปวดทางใจให้เด็กในระยะเวลาที่ป่วยเพราะไม่รู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับเค้า
“โรคนี้เป็นโรคที่เราสร้างความกลัวให้กับประชาชนมาตลอด สร้างความรับผิดชอบให้ประชาชนสูงมากว่าคนที่ติดโรคเป็นคนผิด ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และเด็กก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ซึ่งน่าจะกลายเป็น trauma ของเด็กด้วยซ้ำในช่วงที่ถูกกักตัว”
จากประสบการณ์การรับบริการตรวจโควิด ยังทำให้พบว่ารัฐไม่ได้ออกแบบระบบในการตรวจคัดกรองสำหรับกลุ่มที่เปราะบางอย่างเช่นเด็กและผู้สูงอายุเลย จึงอยากเสนอให้ออกแบบให้ครอบคลุมและละเอียดสำหรับแต่ละกลุ่ม ให้ครอบคลุมกลุ่มที่เข้าไม่ถึงภาษาไทยหรือกลุ่มคนไร้บ้าน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงข้อมูลของวัคซีนสำหรับคนแต่ละกลุ่มที่มีความเปราะบางไม่เหมือนกัน ซึ่งควรพัฒนาร่วมกับนักออกแบบสื่อ โดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็กมีความซับซ้อนและรัฐต้องให้ความใส่ใจ
วัคซีนที่เป็นธรรมต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเกิดจากรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย
ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรสื่อออนไลน์ Feminista และผู้อำนวยการหลักสูตรโรงเรียนเฟมินิสต์ (School of Feminists) เล่าถึงภาพรวมสถานการณ์ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนมากตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงล่าสุด ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เดิมในสังคมทวีความรุนแรงขึ้น กลุ่มผู้มีความเปราะบางคือคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับปัญหาโดยไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม
กลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือได้แก่ คนไร้บ้านหรือเพิ่งถูกเลิกจ้างและมาอาศัยอยู่ตามที่สาธารณะ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือลงทะเบียนรับความช่วยเหลือได้ ผู้หญิงที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน แรงงานข้ามชาติ คนที่ย้ายถิ่นฐานหนีสงคราม ในช่วงที่เกิดโรคระบาดเช่นนี้ รัฐไทยยังมีความระแวงเป็นอย่างมาก พยายามผลักดันผู้อพยพหนีสงครามกลับประเทศ จึงส่งผลให้ชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงที่หนีภัยมาพึ่งพาทางมนุษยธรรมถูกผลักดันกลับไปทั้งที่ควรได้รับความช่วยเหลือ
กลุ่มที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงคือผู้สูงอายุในชุมชนที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐไม่ได้ทำงานเชิงรุก ต้องรอให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นจนเป็นข่าวถึงจะเข้าไปช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแม่ที่มีลูกเล็ก เด็กอ่อนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดจากแม่ตั้งแต่อายุไม่กี่วัน ส่วนเด็กที่ถูกแยกจากพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อเกิดการติดเชื้อ รัฐก็ขาดการสื่อสารกับเด็กให้เข้าใจว่าทำไมถึงถูกแยกจากครอบครัว นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการรับมือที่ชัดเจนในกรณีที่เด็กไม่สามารถแยกออกมาจากครอบครัวได้
บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องพบปะกับคนไข้จำนวนมาก และทำงานตลอดจนแทบไม่มีเวลาพัก ก็เป็นอีกกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทำงานหนักอยู่หน้างานจนมีข่าวว่าพยาบาลซึ่งตั้งท้องเจ็ดเดือนเสียชีวิตภายในห้องพัก หรือเจ้าหน้าที่ถูกบังคับให้ฉีดวัคซีน หลายคนได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน ถึงรัฐจะเร่งออกมาตรการเยียวยา แต่เหตุใดต้องให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เสี่ยงกับวัคซีนที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงแค่ไหน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะปล่อยจะให้ประชาชนแบกรับความเสี่ยงเอาเอง
อีกกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจคือกลุ่มผู้ต้องหาทางทางเมืองและนักโทษในเรือนจำท้ังหมด ที่นอกจากจะถูกใช้ข้ออ้างเรื่องการป้องกันการระบาดของโควิดทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี คนที่ไม่ได้รับการประกันตัวต้องอยู่ในเรือนจำต่อไป ซึ่งภายในนั้นมีการระบาดของโควิดอย่างรุนแรง และไม่สามารถจัดการอะไรได้เพราะนักโทษต้องนอนรวมกันในห้องเดียว ใช้ชีวิตร่วมกันเกือบทั้งหมด จึงเกิดการติดเชื้อในวงกว้างโดยที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย
ข้อเสนอเรื่องวัคซีนเป็นธรรมที่เรียกร้องต่อรัฐ
ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำนอกเหนือจากการให้ข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับวัคซีนที่จัดหามาให้ประชาชนก็คือ ต้องกระจายข้อมูลให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่มให้เข้าใจและไม่เกิดความกลัว ชนเผ่าและแรงงานข้ามชาติหลายคนไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจในหลายภาษา ทั้งนี้รัฐต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาวะเปราะบาง และเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่นโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงชายขอบ รัฐควรจัดคณะทำงานเชิงรุกเข้าถึงประชาชน เพราะรัฐมีข้อมูลอยู่แล้วในระบบ ไม่ต้องรอให้ประชาชนลงทะเบียน
นอกจากข้อเสนอแนะต่อรัฐแล้ว ดาราณียังมีข้อเรียกร้องที่อยากฝากถึงส่งถึงคนทำงานภาคประชาสังคมและประชาชนที่มองเห็นปัญหาจากระบบบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐภายใต้ระบอบเผด็จการว่า
“ไม่ว่าเอกชนจะช่วยกันขนาดไหน ทรัพยากรและอำนาจก็ยังอยู่ในมือของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่เราทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเรื่องโรคระบาดก็คือการเรียกร้องให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และนำไปสู่การมีสวัสดิการของรัฐ ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องใช้คำว่า "เริ่มที่ตัวเอง" หรือต้องช่วยเหลือกันเองโดยไร้ความหวังจากรัฐแบบนี้”
สะท้อนปัญหาการจัดการโรคระบาดในไทยจากการจัดการ HIV และประเด็นทำแท้ง
“ประเทศไทยก็เหมือนป้ายรถเมล์ที่สวยงามมาก แต่กันแดดกันฝนอะไรไม่ได้ เรามีแต่คำพูดสวยหรูหรือนโยบายที่ดี แต่ไม่สอดคล้องกับชีวิตและการปฏิบัติ”
สุไลพร ชลวิไล อาสาสมัครกลุ่มทำทางและนักวิจัยอิสระ เปรียบเทียบให้เห็นภาพของปัญหาการจัดการโควิดของรัฐ ที่ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้แก่คนทำงานในประเด็นการทำแท้งและประเด็นผู้หญิงกับ HIV เท่าใดนัก เมื่อบทเรียนจากทำงานทำให้เห็นว่า แม้โครงสร้างทางสาธารณสุขในไทยจะดีกว่าหลายประเทศ มีหน่วยงานให้บริการสาธารณสุขลงไปถึงระดับชุมชน แต่ก็ถูกบดบังด้วยระบบราชการและการบริหารที่มีปัญหา เช่น การจำกัดกลุ่มเสี่ยงในการลงไปทำงานโดยไม่ได้พิจารณากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดนอกกลุ่มเสี่ยงจึงไม่สามารถรับมือได้ทัน ส่วนหนึ่งคือเพราะคนทำงานมีไม่เพียงพอจนไม่สามารถทำงานเชิงรุกได้ และผู้ออกนโยบายกับคนปฏิบัติต้องเผชิญปัญหาที่แตกต่างกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่คล้ายคลึงกับประสบการณ์จากการทำงานเรื่องทำแท้งของสุไลพร คือผู้มีอำนาจเลือกที่จะพูดข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งคล้ายกับการให้ข้อมูลวัคซีนโควิด ผู้บริหารประเทศบอกว่าอย่างไรก็ขอให้เชื่อฟังตามนั้น โดยที่การจัดการปัญหาไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ อำนาจ เรื่องบริษัทยา การจัดซื้อวัคซีน
ในประเด็นสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบต่อผู้ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์นั้น การใช้ telemedicine เป็นทางออกของการทำแท้งปลอดภัยในช่วงโควิด การเดินทางไปรับบริการมีทั้งค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงติดเชื้อทั้งคนให้และคนรับบริการ ยกตัวอย่างที่อังกฤษสามารถทำ telemedicine ได้ตั้งแต่กลางปีที่แล้วโดยแก้กฎหมายชั่วคราวให้บ้านเป็นสถานที่ใช้ยาทำแท้งได้เสมือนเป็นสถานบริการ ซึ่งในไทยก็เกิดการเรียกร้อง telemedicine ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปัญหาคือยังไม่มีกฎหมายลูกที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการ ส่วนข้อบังคับแพทยสภาก็มีรายละเอียดที่คลุมเครือจนอาจตีความได้ว่าไม่สามารถส่งยาไปให้ผู้รับบริการใช้ที่บ้านได้ ดังนั้นกลุ่มทำทางจึงให้ความสนใจกับการออกกฎหมายลูกและข้อบังคับแพทยสภาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งมาตรการรองรับหากแพทย์ปฏิเสธการให้บริการทั้งที่การทำแท้งปลอดภัยเป็นสิทธิตามกฎหมายและเป็นบริการที่จำเป็น
ข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐจากมุมมองของคนทำงานเรื่อง HIV และการทำแท้ง
สิ่งที่ต้องการจากภาครัฐคือ ต้องออกระเบียบให้ชัดเจนที่สุด เป็นไปได้ในการปฏิบัติ และประชาชนเข้าถึงได้จริง ในขณะเดียวกันประชาชนก็ควรช่วยกันตั้งคำถามกับรัฐให้มากกว่านี้เพราะเท่าที่เป็นอยู่ยังไม่มากพอ ล่าสุดมีเสียงจากภาคประชาสังคมกดดันให้กระทรวงพาณิชย์งดออกสิทธิบัตรให้บริษัทยา เพื่อให้สามารถผลิตยาที่ใช้ในการรักษาอาการจากโควิดได้เอง ขณะที่ในระดับเอเชียมีภาคประชาสังคมรวมกลุ่มกันในชื่อ People’s Vaccine Asian Movement เพื่อเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตยาเลิกผูกขาดเทคโนโลยี คล้ายกับกรณี CL ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรม
ข้อเสนอสุดท้ายที่สุไลพรอยากฝากถึงรัฐคือ
อย่าผูกขาดอำนาจ ความรู้ และการให้ข้อมูลประชาชน
จากภาวะที่มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก รัฐควรสร้างงานให้คนได้เข้าไปช่วยในส่วนที่สามารถช่วยได้ ยกตัวอย่างเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV ที่เข้าไปทำงานอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ขอให้เลิกมองเอ็นจีโอเป็นศัตรู ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมมีบทบาทชัดเจนมากในหลายประเด็น ดังนั้นทั้งเอ็นจีโอและคนที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคมก็ควรได้รับการยอมรับ เปิดรับ และรับฟัง
การเข้าถึงวัคซีนที่เป็นธรรมจากมุมมองของเฟมินิสต์
หนึ่ง ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน โปร่งใส เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริง และไม่มีช่องว่างทางภาษา ครอบคลุมผู้พิการทั้งพิการทางหู พิการทางสายตา รวมถึงแรงงานข้ามชาติหรือคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก
สอง การเข้าถึงวัคซีนเป็นธรรมหมายถึงเป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่มโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องสัญชาติหรือการเข้าถึงเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ เด็กตัว G กลุ่มที่อยู่กันอย่างแออัดทั้งในชุมชนเมืองและเรือนจำ รวมทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน และ sex worker ที่กลายเป็นคนเร่ร่อนเพราะไม่มีงานทำ
สาม การบริหารจัดการวัคซีน การตรวจ การจัดการปัญหา การแก้ไขผลกระทบ ต้องไม่รวมศูนย์อยู่ในส่วนกลางเท่านั้น ต้องทำให้เกิดการกระจายอำนาจให้คนในสังคมได้มีส่วนช่วยกันจัดการปัญหาด้านนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้ไม่เป็นเผด็จการ จะได้ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการเมืองต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้
สี่ การทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชนที่มีความเปราะบางมักถูกละทิ้ง การส่งเสียงพูดถึงประเด็นชายขอบให้รัฐและสังคมเข้าใจ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำให้เราจัดการปัญหาวิกฤตทางมนุษยธรรมแบบมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนไปด้วย ให้ทุกคนได้รู้สึกว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า
ห้า ประชาชนต้องออกไปร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายยาและทรัพยากร ชีวิตคนไม่ควรถูกใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยเฉพาะในวิกฤตนี้ จึงต้องทำลายโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเชิงการเมืองและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม
หก แม้ไทยจะมีระบบสาธารณสุขที่ดี แต่การเกิดโควิดระลอกที่ 3 ทำให้เห็นแล้วว่าระบบแทบรับมือไม่ไหว ดังนั้นจึงควรยอมรับความจริง และจะยินดีมากถ้ารัฐบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นประชาธิปไตยจะใช้เงินส่งเสริมด้านสาธารณสุขและการศึกษามากขึ้น
เจ็ด โควิดทำให้เกิดภาวะว่างงาน อดอยาก แต่รัฐยังไม่มีมาตรการในเรื่องนี้เลย จึงขอเสนอข้อเสนอเชิงรุกให้เกิดจากจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนของบริการสาธารณสุขหรือการช่วยเหลือคนที่ยากลำบากยังต้องการกำลังคน ดังนั้นควรมีการจ้างงาน เด็กจบใหม่จะได้มีอาชีพ มีรายได้ และควรคำนึงถึงผู้หญิงที่ตกงานและมีภาระเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัวเสียที
ผู้สนใจรับฟังการเสวนา สามารถติดตามชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่
댓글