top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

ดูหนังแบบเฟมินิสต์ : สารคดี Bachelor Girls และประสบการณ์ในการหาบ้านที่เมืองมุมไบ


* เผยแพร่ครั้งแรกบนเฟซบุคเพจ เรียนเจนเดอร์ ที่อินเดีย



สารคดีบน Netflix เรื่องนี้มีชื่อว่า “Bachelor Girls” หรือแปลไทยได้ว่า สาวโสด แต่คำว่าสาวโสดในสารคดีเรื่องนี้ ไม่ได้หมายถึงผู้หญิงที่ยังไม่มีแฟนหรือยังไม่แต่งงานเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้หญิงที่เคยแต่งงานแล้วหย่า หรือผู้หญิงที่มีแฟน แต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน . . หนังใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้หญิงจากหลากหลายแบ็คกราวด์ เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัย นักแสดง พนักงานออฟฟิศ ผู้หญิงม่าย ผู้หญิงที่มาจากต่างรัฐ แต่โดยรวมแล้วเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา หรือมีอาชีพค่อนข้างมั่นคง น่าสนใจว่าผู้กำกับไม่ได้นำเสนอภาพผู้หญิงจากชนชั้นล่างหรือวรรณะล่าง หรือผู้หญิงที่มาจากชนบท แต่นั่นเป็นเพราะผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากหนังเรื่องนี้สร้างมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเธอเอง ทำให้เธอพยายามเชื่อมโยงสารคดีเข้ากับประสบการณ์ที่เธอได้รับมา . . ผู้หญิงในสารคดีให้สัมภาษณ์ถึงความยากลำบากของการหาที่อยู่ในเมืองที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหากรรมภาพยนตร์อย่างเมืองมุมไบ ผู้หญิงบางคนต้องเข้าไปดูแฟลตมากกว่ายี่สิบหรือสามสิบที่ กว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของแฟลตให้เช่า และบางคนก็ถูกไล่ออกจากแฟลต เพียงเพราะมีญาติมาหา แล้วโดนเพื่อนบ้านกล่าวหาว่าพาผู้ชายเข้ามานอนที่ห้อง . . หนังพาเราไปฟังเรื่องเล่าของผู้หญิงตั้งแต่ การเริ่มหาที่อยู่ ซึ่งขั้นตอนนี้มีทั้งการหาบ้านเองโดยตรงหรือการต้องหาผ่านนายหน้า ที่ในอินเดียจะเรียกกันว่า โบร้กเกอร์ โดยตัวโบร้กเกอร์จะทำหน้าที่ในการติดต่อเจ้าของบ้านและเมื่อตกลงให้เช่า โบรกเกอร์จะได้ค่านายหน้ารายเดือนทุกเดือนจากผู้เช่า ซึ่งระบบโบรกเกอร์ที่ว่านี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อคนที่ไม่มีเงินจ้างโบรกเกอร์ เพราะการผูกขาดของโบรกเกอร์นี้เอง ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถหาที่อยู่ในราคาที่เหมาะสมได้ . . นอกจากนี้ หลายๆที่ยังมีกฎเกณฑ์การรับผู้เช่าที่เข้มงวด เช่น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามกินเหล้า ห้ามพาคนมาที่บ้าน ห้ามกลับเกินเวลาที่กำหนด ห้ามไม่ให้ทำอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ห้ามผู้หญิงโสด ห้ามนักศึกษา ห้ามมุสลิม ห้ามคนจากวรรณะล่าง กฎเกณฑ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มิใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ยังรวมไปถึงคนที่มีความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม และชนชั้นวรรณะ . . แต่ทำไมถึงโฟกัสที่ผู้หญิงล่ะ? . . ก็เพราะว่าหากคุณเป็นผู้ชาย ต่อให้มีปัญหาเรื่องศาสนา วรรณะ วัฒนธรรม แต่หอพักหรืออพาร์ตเม้นส่วนใหญ่ไม่ได้ติดป้ายห้าม “ผู้ชายโสด” การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งศาสนาและวรรณะในอินเดียเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ในการหาบ้านก็เช่นเดียวกัน . . แต่สำหรับผู้หญิงโสดแล้ว การถูกเลือกปฏิบัติในการหาบ้าน จะลำบากขึ้นเป็นสองเท่า ด้วยเหตุจากความเป็นเพศหญิง ซึ่งในสังคมอินเดียยังมีแนวคิดเรื่องผู้หญิงที่ดีไม่ควรออกจากบ้าน ผู้หญิงที่ดีควรแต่งงานมีสามีดูแล และอยู่บ้านเลี้ยงลูกดูแลสามี ถ้าผู้หญิงคนไหนอยู่คนเดียว จะถูกตีตราว่า เป็นผู้หญิงกร้านโลก มีแนวโน้มจะเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี รวมไปถึงอาจมีเพศวิถีแบบรักเพศเดียวกัน ซึ่งกรณีการถูกบอกว่าเป็นหญิงรักหญิง หรือ (Lesbian) เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ และเป็นสาเหตุให้เจ้าของบ้านไล่ผู้เช่าออก โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกัน มาตรา 377 เมื่อปี 2018 . . นอกจากจะต้องเผชิญความยากลำบากในการเฟ้นหาบ้านเช่าแล้ว ในกรณีที่ได้บ้านที่อนุญาตให้ผู้หญิงโสดเช่า ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเงินจ่ายค่าเช่า แล้วจะได้ทำสัญญา เพราะกว่าจะผ่านด่านนี้ ผู้หญิงจำนวนมากต้องถูกซักถามจากเจ้าของบ้านเช่า ราวกับว่าพวกเธอคืออาชญากรที่ไปทำความผิดอะไรมาสักอย่าง และถ้าตอบคำถามไม่ถูกใจ เจ้าของบ้านอาจเปลี่ยนใจไม่ให้เช่าได้ทุกเมื่อ ดังนั้นผู้หญิงหลายคนจำเป็นต้องโกหกเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของพวกเธอ เพื่อให้เจ้าของบ้านยอมให้เช่า . . ในสารคดี นักแสดงลูกครึ่งสาวชาวอินเดีย-ฝรั่งเศส Kalki Koechlin ให้สัมภาษณ์ว่าการเป็นผู้หญิงม่ายที่หย่าสามี และอาศัยอยู่คนเดียว มีความยากลำบากในการหาบ้านอย่างไร ตอนหนึ่งเธอพูดถึง การที่คนในอพาร์ตเม้นของเธออยากได้ลายเซ็นต์ของเธอในฐานะนักแสดง แต่ก็ปฏิบัติกับเธอราวกับเธอเป็นเชื้อโรค มีการค้นข้าวของๆเธอก่อนเข้าที่พัก เพราะกลัวว่าเธอจะนำเหล้าหรือบุหรี่เข้ามา เธอกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างเจ็บปวด . . ในขณะที่ผู้หญิงบางคนโชคร้ายกว่านั้น เพราะการหาที่อยู่ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยมากพอ แปลว่าค่าเช่าก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย ผู้หญิงหลายคนจึงจำใจอาศัยอยู่ในที่ๆไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยเพียงพอ จนมีกรณีที่น่าเศร้า ผู้หญิงคนหนึ่งถูกบุกเข้าไปข่มขืนในห้องและถูกฆาตกรรม ซึ่งนี่ไม่ใช่รายเดียวที่เกิดขึ้น . . ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่หนังสารคดีถ่ายทอดออกมาผ่านบทสัมภาษณ์ นอกจากความลำบากทางกายแล้ว อุปสรรคในการหาบ้านของผู้หญิงส่งผลอย่างไรต่อภาวะจิตใจ ความเห็นของเจ้าของบ้านที่มีต่อผู้เช่าผู้หญิงทั้งในแง่บวกและลบ ความเห็นของโบรกเกอร์ที่หาบ้านให้กับผู้หญิง เป็นต้น ลองเข้าไปหาคำตอบได้จากหนังเรื่องนี้ค่ะ . . ทำไมถึงอยากให้ดูหนังเรื่องนี้? . . เนื่องจากเราเองมีประสบการณ์ส่วนตัวกับการหาบ้านที่มุมไบเหมือนกัน เพราะหลังเรียนจบ เราต้องฝึกงานกับองค์กรในประเทศอินเดียเป็นเวลาสองเดือนที่มุมไบ และเพื่อนร่วมชั้นอีกคนก็ได้ที่ฝึกงานในเมืองมุมไบ เราสองคนตัดสินใจว่าจะไปหาห้องเช่าอยู่ด้วยกันระหว่างฝึกงาน โดยในตอนนั้นไม่เคยรู้มาก่อนว่ากำลังจะเจอกับอะไร เพราะเราเองเข้าใจว่า ถ้ามีเงินจ่าย หอพักว่าง จ่ายเงินทำสัญญาก็เข้าอยู่ได้เลย และค่าเช่าอย่างมากคงไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นรูปี หรืออาจจะเกินมานิดหน่อย เราสองคนไม่ได้เอะใจอะไรเลย จนกระทั่งถึงวันที่ต้องไปเดินหาบ้านเช่า . . เรามีเวลาแค่สองวันในการตามหาบ้านเช่า เนื่องจากงบประมาณอันจำกัด เราติดต่อผ่านโบรกเกอร์ที่มีผู้ใหญ่แนะนำให้ พอไปถึง โบรกเกอร์พาไปดูที่แรก เป็นแฟลตอยู่ติดถนน มีคนเช่าอยู่ก่อนแล้วในแฟลตนั้น และถ้าตัดสินใจเช่าที่นี่ เราจะต้องอยู่ร่วมกับผู้หญิงอีกสี่ถึงห้าคนในแฟลตนั้น . . เจ้าของแบ่งห้องออกเป็นสามห้อง แล้วใส่เตียงเข้าไปหลายๆเตียงเพื่อให้ได้จำนวนผู้เช่ามากที่สุด ห้องน้ำรวมและห้องครัวหนึ่งห้องที่ต้องใช้ร่วมกันหมด และพื้นที่ที่ให้เช่าก็มีแค่เตียงสองชั้นที่เหลือเท่านั้น ตกราคาคนละ 9000 รูปี ไม่รวมค่าโบรกเกอร์ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เดือนละ 7000 รูปี เราสองคนตัดสินใจไม่เลือกที่นี่ และไปดูที่อื่นต่อจากนายหน้าอีกคน . . ที่น่าสนใจคือ โบรกเกอร์ถามเพื่อนว่านับถือศาสนาอะไร พอรู้ว่านับถือศาสนาเจน (Jain) ก็เสนอให้ไปดูแฟลตที่คนนับถือศาสนาเจนอยู่ด้วยกัน แต่เพื่อนรีบปฏิเสธ เพราะนั่นหมายความว่า เธอต้องอยู่ในสังคมที่มีการจับจ้องทางศีลธรรมและจะไม่มีอิสรภาพเป็นของตัวเอง . . หลังจากปฏิเสธที่แรก โบรกเกอร์คนใหม่พาไปดูแฟลตอีกที่ ไม่ไกลจากถนนใหญ่มากนัก แต่ทางเข้าก็ดูไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ แฟลตนี้มีคนเช่าอยู่แล้วแค่หนึ่งคน และเจ้าของแฟลตต้องการคนเช่าเพิ่มอีกสองคน เจ้าของแฟลตเป็นชายสูงอายุและพักอยู่ห้องข้างๆ เขาพาเรากับเพื่อนเดินสำรวจห้อง ซึ่งกว้างขวาง มีห้องครัว ห้องน้ำ และห้องนอนสำหรับสองคน ที่เขาสัญญาว่าจะยกให้เรากับเพื่อนนอนในนั้น แล้วหากมีคนอื่นมาเช่าอีก จะให้นอนที่ห้องโถง ซึ่งมีเตียงวางอยู่อีกสามเตียง แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องค่าเช่า . . เนื่องจากแฟลตนี้น่าจะอยู่ไกลจากสถานศึกษาและศูนย์การค้า ทำให้หาผู้เช่ายาก เจ้าของแฟลตต้องการค่าเช่าจากเราเดือนละ 15000 รูปีสำหรับสองคน ซึ่งเราก็ลังเลว่าสำหรับราคานี้ อาจพอจ่ายไหว แต่แล้วก็ต้องตัดใจ เพราะเขาบอกว่า หากเดือนหน้าไม่มีคนมาเช่า พวกเราต้องจ่ายในส่วนของผู้เช่ารายอื่น คือรวมทั้งหมด 25000 รูปี ไม่ร่วมค่าโบรกเกอร์อีกเดือนละ 7500 รูปี แต่ถ้าเราหาคนมาเช่าเพิ่มได้ ก็จ่ายเดือนละ 15000 เป็นเวลาสองเดือน . . เรากับเพื่อนตัดสินใจปฏิเสธ และพยายามกลับมาเปิดเว็บไซต์หาบ้านเช่าเอง โดยที่ไม่ผ่านนายหน้า แต่เวลาผ่านไปหลายวัน ก็ยังไม่เจอบ้านเช่าที่เหมาะสม และเราพบว่า หลายที่ระบุว่า ไม่อนุญาตนักศึกษาหรือคนโสด หลายที่ระบุว่ารับแต่นักศึกษาชายหรือผู้ชายเท่านั้น และอีกหลายที่ระบุว่าไม่อนุญาตให้คนที่ไม่ใช่มังสวิรัตเช่า . . สิ่งที่น่าสนใจคือ แฟลตหลายที่ที่เราเจอในเว็บไซต์ต่างๆ สถานที่ดูสะอาด ใหม่ และราคาไม่แพง แต่ทั้งหมดที่เจอนั้นรับแต่ผู้เช่าที่เป็นผู้ชายเท่านั้น หอพักสำหรับนักศึกษาหญิงน้อยกว่าหอพักชายและส่วนใหญ่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดเรื่องเวลาเข้าออก ไม่ต่างอะไรกับการอาศัยอยู่ในเรือนจำ . . สุดท้ายเราสองคนยอมแพ้ ตัดสินใจบอกกับองค์กรที่ฝึกงานทั้งสองที่ว่าเราขอทำงานออนไลน์ และใช้ชีวิตอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยที่เมืองปูเน่เหมือนเดิม ซึ่งสภาพก็อาจไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะมีเวลาเคอร์ฟิว มีระบบตรวจค้นสิ่งของต้องห้าม มีการจับจ้องจ้องมองจากผู้รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชม ราวกับเราเป็นนักโทษหญิง แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าในราคาสูงลิ่ว เราอดทนอยู่ในหอพักมหาวิทยาลัยสองเดือนเต็ม จนกระทั่งจบการฝึกงาน . . ประสบการณ์การหาบ้านในครั้งนั้น ถูกรีเพลย์อีกครั้ง ตอนที่เรานั่งดูหนังสารคดีเรื่องนี้กับเพื่อนที่บ้านของเพื่อนในเมืองเดลี ก่อนเรากลับประเทศไทย ทุกอย่างในหนังสารคดีทำให้เราเข้าใจว่าทำไม การหาบ้านเช่าในครั้งนั้นถึงยากลำบากและไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อยพวกเรายังมีทางเลือกอื่น เพราะในความเป็นจริง ผู้หญิงอีกจำนวนมากยังต้องต่อสู้ในการหาบ้านเช่า เพราะต้องย้ายไปทำงานหรือเรียนต่อในเมืองอื่นๆ และปัญหานี้ไม่ใช่แค่ในเมืองมุมไบ แต่เกิดขึ้นกับทุกเมืองในอินเดีย และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ตราบใดที่วิธีคิดเรื่องเพศยังไม่เปลี่ยนแปลง . . ถ้าใครอยากรู้เรื่องนี้อย่างละเอียด ลองชมหนังสารคดีนี้ได้ค่ะ

Bachelor Girl (2016) กำกับโดย Shikha Makan ดูตัวอย่างหนังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=MlhOsdKUQd4 รีวิวต่างประเทศ https://www.thenewsminute.com/article/bachelor-girls-telling-documentary-what-it-means-be-single-woman-search-house-53790 เครดิตรูป http://www.bollywoodirect.com/shikha-makan/




ดู 135 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page