top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

When Feminists are Left : เมื่อเฟมินิสต์ถูกปัดซ้าย


Marx defined the origin of man's exploitation of man as man's exploitation of women and asserted that the most basic human exploitation lies in the division of labor between man and woman. Why didn't he devote his life to solving the problem of this exploitation?

He perceived the root of all evil but he did not treat it as such. Why not?

––Luce Irigaray, I Love to You



When the Lefts are (not) Right

ข้อเขียน หรือบทสนทนาที่จะเกิดต่อไป คงไม่ได้มาตอบคำถามที่อรัมภบทที่ยกมาตั้งขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุด

มันคงแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม หรือ การไม่สามารถระลึกถึงความแตกต่างหลากหลายระหว่างบุคคล ของนักวิชาการที่จัดว่าเป็นเสรีนิยม เกิดมาอย่างยาวนาน พวกเขา––อย่างที่ Irigaray ว่าไว้ในหนังสือก่อนหน้า เช่น Speculum of the Other Woman––ทำให้ผู้หญิงเป็นฐานราก เป็นพื้นเพื่อให้พวกเขาไต่ขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป และลืมความแตกต่างสำคัญที่เป็นรากฐานที่พวกเขาปีนป่ายขึ้นไป, ผู้หญิงถูกทำให้เงียบ เรียบเชียบ ไร้สิ้นเสียง และถูกใช้เป็นผลประโยชน์ต่าง ๆ นานา จนกระทั่งพวกเธอเริ่มส่งเสียงและหาที่ทางของตนเอง ผู้ชายบางส่วน ถึงกับไม่ยอมเลยทีเดียว


ว่าอย่างไรดี ไม่คิดว่ามันน่าโมโหหรือที่ผู้ชายจะเอาแต่พูดถึงเรื่องของตัวเอง ความปรารถนา ราคะ หรืออำนาจที่ปฏิเสธเสียงบอกห้าม บอกปฏิเสธเสียงของคนที่อยู่ตรงหน้า พวกเขาทำราวกับพูดอยู่หน้ากระจกที่สะท้อนเพียงแต่รูปของเขาเองแล้วฆ่าทิ้งภาพความทรมาน ความเหนื่อยหน่าย ความเจ็บปวด และอารมณ์มากมายสารพัดของผู้ถูกกดขี่––ในที่นี้คือ ผู้หญิง––ออก การสนทนาไม่เคยเกิดขึ้น หรืออย่างน้อย พวกเขาก็ไม่เคยได้ฟัง ได้ยินเสียงของคู่สนทนาเลยแม้แต่น้อย

เช่นนั้นข้อเขียนนี้กำลังจะมาทำอะไร? สิ่งที่ทำได้ในบทพูด บทเขียน บทจรจารตัวอักษรเหล่านี้ ก็คงเป็นเพียงการเปล่งสำเนียงเสียงประหลาด––ที่เริ่มจะมีผู้ร่วมสนทนาและเริ่มพูดกันแพร่หลายขึ้น แต่น่าเสียดาย เพราะเสียงที่คล้ายกันเหล่านี้เป็นเสียง––ที่ไม่เคยได้รับการฟังจากนักวิชาการชายหลายคน หรืออย่างน้อย การฟังของพวกเขาก็ไม่นำไปสู่การขบคิดพิจารณา หรือนำไปไตร่ตรองเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นเสียงที่ถูกเบียดขับ เป็นเสียงที่ถูกดูดออกจากวงสนทนา เป็นการขยับปากที่ไร้การสั่นสะเทือนไปยังคู่สนทนา––การสั่นสะเทือนที่สั่นอยู่ได้แต่ภายใน แต่ไม่เคยสะเทือนใจของพวกเขา––


มันคือเสียงของนักสตรีนิยม เสียงของความ “ประสาทแดก” ที่พวกเขาปิดหูไม่รับฟัง ราวกับกลัวว่าพวกเราเป็น ไซเรนในปกรณัมกรีกโรมัน ที่เมื่อไหร่ที่พวกเขาเปิดกรรณออกมาจะพบความโหยหวน ความทรมานเจ็บปวด และยั่วยวนจนพวกเขาทนไม่ได้ที่จะรู้สึกเห็นอกเห็นใจ พวกเขาหยิบขี้ผึ้งขึ้นมาใส่รูข้างศีรษะทั้งสองของเขา ก่อนจะขับเรือผ่านไป ผ่านไป ทิ้งให้มหาสมุทร มวลคลื่น และเสียงครวญครางราวใกล้จะมรณา ยังคงดังต่อไป ต่อไป เมื่อมันส่งไปไม่ถึง เราจึงต้องกู่ร้องกันต่อไป ต่อไป


นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้น นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เป็นกึ่งกลางของการโหยหวน เป็นอีกหนึ่งจุดวกวนไม่จบไม่สิ้นของความอัปยศอัปมงคลของการกดขี่


You say we’ re––what?


มี “ความเบื่อประการหนึ่ง” หลุดออกมาจากปากของนักเขียนคนหนึ่ง มันคือ “ความเบื่อ” ของเขาที่ต้อง “เถียงกับสาย “เพศ” ทั้งหลาย” ไม่ว่าจะเป็น “feminist, gender, ยัน queer” ซึ่ง “มักทำตัวแบบวีแกน [my emphasis] มากเกินไป” วีแกน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ผู้รับประทานมังสวิรัติ แต่หมายถึงอย่างอื่น นักเขียนคนนี้คงตั้งใจจะให้หมายถึงว่า ข้อคิดข้อเขียนของคนกลุ่มนี้ออกจะ “ยัดเยียด” เกินไป “คือ ต้องคิดอย่างกู [ตามคำพูดต้นฉบับ] เท่านั้น จึงจะนับว่า “ถูก” นอกนั้น มึงล้าหลัง มึงกดขี่หมด” นักเขียนคนนี้ยังพูดต่ออีกว่า “เวลาเขียนเรื่องพวกนี้ […ต้อง] เข้าข้างเพศ/sexuality […] อย่างเต็มตีนพอ” เพราะฉะนั้นจึงทำให้นักเขียนคนนี้ที่อ้างตนว่าอยู่ฝั่ง “liberalism” หรือเป็นเสรีนิยม “โดนชี้หน้าด่าไว้ก่อน” เสมอ (โดยที่ฝ่ายนักเขียนคนนี้อ้างว่าตน “อ่านเรื่องพวกนี้มากกว่าส่วนใหญ่ที่มาเงาะแงะจิกกลับแน่ ๆ”) ทั้งยังเชื่อว่าตนเอง “Liberal จ๋ากว่าพวกมึงอีกไม่รู้เท่าไหร่ด้วยซ้ำ”


ดูราวกับเป็นฉากที่ผู้ช่วยกัปตัน––แน่นอนว่าคงไม่ใช่กะลาสี––เกาะเสากระโดงเรือ หวีดร้องโหยหวน ตะโกนกลับไปหาไซเรนทั้งหลายให้หยุดและเงียบ


เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พวกเขาไม่เคยคิดจะฟังเสียงร้องอันไพเราะของพวกเรา และยังกล่าวหาว่าพวกเราก้าวร้าวและรู้น้อยกว่าเขา รู้น้อยเกินกว่าจะโต้เถียงและสื่อสำเนียงเสียงใดให้ทัดเทียมต่อตัวเขาที่ “อ่านเรื่องพวกนี้มากกว่า”

แต่แม้เขาจะอ่านมามากกว่า แต่กลับไม่สามารถขยายมุมมอง กรอบคิด วิธีคิด หรือการรับรู้ไปสู่ “ทั้งหมดอันส่งผลอย่างครอบคลุมสากล”––ตามคำของเขา––หรือเสมอเหมือน คนชายขอบ ในคำของเรา


การอ่านมาเยอะของเขากลับไปโอบรับเสรีนิยมอันหอมหวาน และปฏิเสธหมดสิ้นซึ่งการถูกกดขี่กดทับอย่างยาวนานของคนชายขอบ ซึ่งในที่นี้คือ บุคคลชายขอบทางเพศ––ผู้หญิง เด็ก เกย์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ––การพูดของเขาทำให้ความรู้สึก ที่ไม่ใช่ความรู้ที่เขาอ่านมา ไร้ความหมาย ไร้คุณค่า ด้วยราคาของมันเปรียบไม่ได้กับความรู้อันสูงส่งที่เขาร่ำเรียนมา แต่กลับหาความเห็นอกเห็นใจ หรือความสามารถในการฟังความเงียบ หรือเสียงไซเรน ที่เปล่งประดังประเดออกมาที่โขดหินไม่ได้


ความน่ากลัวที่มากที่สุดคือการที่มีผู้เข้าไปสนับสนุนเขามากมาย หลายคนเข้าไปให้กำลังใจ บอกให้เขายึดมั่นถือมั่นในความคิด ชัดเจนในความรู้ที่ตนเองต้องการจะนำเสนอ โดยที่เผอเรอมองข้ามไปว่า “ความรู้” ที่พวกเขามั่นอกมั่นใจว่าให้นำเสนอมันออกมานั้น กำลังทำอะไรกับคนชายขอบอยู่บ้าง ทำอะไรกับ––หากจะลองสมมติยกตัวอย่าง–

–เด็กหรือเยาวชนที่กำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำอะไรกับผู้หญิงที่หวาดสะพรึงกับความกักขฬะของผู้ชายที่เข้ามาหาทำอนาจารจากร่างกายของพวกเธอ โดยที่พวกเธอไม่ยินยอม และกล่าวปัดปฏิเสธมาตลอด และสุดท้าย เขาก็ดูเลือกที่จะเชื่อว่าความรู้ของตนถูกต้อง และกลายเป็นพวกเราที่ผิดไป ที่ไปเสนอให้เห็นถึงความเจ็บปวดและประสบการณ์ชีวิตจริงของคนชายขอบที่ไม่ได้อยู่ในตำราเรียน หรือไม่เคยอยู่ในสารบบความคิด หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้อยู่ในข้อเขียน ของเขาให้เห็นปรากฏ


––โปรดร่วมกันสงบนิ่งให้แก่ความตายด้านทางความเห็นอกเห็นใจที่จะมีให้แก่ผู้เป็นชายขอบของสังคม

Are We a Joke for you?

“To bring Vashti the queen before the king with the crown royal, to shew the people and the princes her beauty: for she was fair to look on. But the queen Vashti refused to come at the king's commandment by his chamberlains: therefore was the king very wroth, and his anger burned in him. Then the king said to the wise men, which knew the times, (for so was the king's manner toward all that knew law and judgment: What shall we do unto the queen Vashti according to law because she hath not performed the commandment of the king Ahasuerus by the chamberlains?”

––Esther 1:11-13, 15 KJV


So, what shall he do? And, what shall we do?

เป็นเรื่องน่าสลดท่ามกลางเสียงหัวเราะสังสรรค์ของผู้ชายบางกลุ่มต่อข้อความของเพจ “พระเยซูเป็นคนคิด” ซึ่งออกมาแสดงมุกเสียดสี “เฟมินิสต์” ที่พระเยซู (ไม่ได้)เป็นคนคิด โดยกล่าวถึงหญิงสาวที่ไม่ยอมข้ามทะเลแดงไปอีกฝั่งเพราะอีกฝั่งนั้นเป็น ชาย หาด––ซึ่งถ้าหากจะมองดี ๆ อย่างพินิจพิจารณา มุกตลกนี้ไม่ได้ตลก เพราะมันไร้เนื้อหาสาระ และเป็นการเสียดสีอันไร้สีสันสิ้นดี เป็นมุกที่สรรหาความตลกจากสิ่งนี้ไม่ได้เลยแม้แต่น้อย


แต่ก็ยังมีผู้ที่พร้อมใจจะหัวเราะให้กับมัน หัวเราะไปกับมัน และหัวเราะใส่ผู้ที่มันกำลังทำร้าย เสียงหัวเราะไม่ได้ประกอบไปด้วยเสียงสั่นไหวน่ารำคาญและน่าเจ็บปวดสำหรับนักสตรีนิยมหลายคนเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยการถ่มถุย และการแสดงออกถึงความคิดเห็นอันน่ากลัว และเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมนักสตรีนิยมถึงจะต้องออกมาเคลื่อนไหว และอะไรทำให้มุกตลกเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะตลกเลยแม้แต่น้อย


แต่ความน่าเศร้าไม่ได้จบลงที่ตรงนั้น เมื่อมีคนพยายามจะเปล่งเสียงของตนเพื่อบอกเล่าถึงความน่ารังเกียจของโพสต์นั้น กลับมีชายหนุ่มบางกลุ่มออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงปฏิเสธ––การปฏิเสธเหล่านั้นไม่ได้ผิดในตัวมันที่ออกมาโต้เถียงกลับต่อความคิดเห็นใดความคิดเห็นหนึ่ง แต่มันน่ากลัวในแง่ที่ความคิดเห็นตั้งต้นมันเป็นข้อเรียกร้องทางจริยธรรมที่ออกมาประกาศให้เห็นถึงความทรมานของการเป็นผู้หญิง ในสังคมชายเป็นใหญ่นี้ การจะเป็นผู้หญิง ที่สังคมพร้อมใจชี้หน้าประณามแม้ไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนไม่เข้าใจ พร้อมใจจะปฏิเสธ และบอกว่าการเรียกร้องอัน “ประสาทแดก” เหล่านี้ก็เป็นแค่ผลพวงบางประการของการเรียกร้องก่อนหน้าที่เคยมีเท่านั้น


เรากำลังพูดถึงโพสต์ของพี่มุก Mookdapa Yangyuenpradorn [1] ซึ่งโพสต์ไว้ใน Facebook ส่วนตัว (แชร์เป็นสาธารณะให้ผู้อื่นเข้าถึงได้) ในเวลา 14:56 ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

“จริงๆ พ้อยท์ที่เป็นต้นตอของสเตตัสนี้ทั้งหมดคือคำถามว่า ทำไมมันถึงยากนักที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ/เฟมินิสม์ในหมู่ผู้ชาย”


“หาก [ผู้ชายเหล่านั้น] คิดว่าเข้าใจเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศดี คุณฟังอย่างเห็นอกเห็นใจมันยากไปเหรอ แล้วมันตลกขนาดไหนถึงได้เอาเรื่องพวกนี้มาล้อเลียนเป็นมุกได้โดยไม่รู้สึกอะไร […] มันไม่น่ายากเกินไปที่จะมี empathy ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่ก็สามารถตระหนักถึงอภิสิทธิ์ (privilege) ของความเป็นชายที่ตนมีได้โดยไม่ทำให้ใครรู้สึกแย่หรือเดือดร้อนเพิ่ม”

ขณะเดียวกันก็มีความคิดเห็นที่เข้ามาแลกเปลี่ยน กับเจ้าของโพสต์ที่กล่าวว่า “เฟมินิสต์ออกมาดิ้นโวยวายว่าเอาเฟมินิสต์มาเล่นมุกขำขันได้ยังไง” นั่นเพราะมุกที่ฝ่ายเจ้าของเพจพยายามเสียดสี เป็นการเสียดสีกับ “พวกประสาทแดก” เช่น พวก “ที่นั่งพล่ามประมาณว่า คำว่า female และ human มันแสดงลัทธิชายเป็นใหญ่ อะไรงั้น มันประสาทแดกใช่มั้ยล่ะ” และดูเหมือนเฟมินิสต์หลายคนจะพยายาม “เรียกร้องให้ทุกคนต้องสละเวลามาศึกษากรอบความคิดของคุณ [เฟมินิสต์] ที่เป็นกรอบความคิดใหม่ ทุกคนต้องเข้าใจ ใครไม่เข้าใจก็แหกปากด่า [?] ไอ้พฤติกรรมแบบเนี้ย [แหกปากด่า?] ถึงได้โดนล้ออะ”


แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดูจะต้องทำความเข้าใจหลายอย่าง และอย่างน้อยเจ้าของโพสต์ก็ได้ “สละเวลา” มา “อธิบาย” และ “สื่อสาร” ให้แก่ “ฝ่ายตรงข้าม” อย่างเขา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ชีวิตที่เจอมา กับความคิด และเหตุผล ทุกอย่างที่เขาพยายามจะสื่อ––


ตามความเห็นของเรา ผู้เขียนข้อเขียนนี้ อยากจะเสนอให้เห็นถึงความแปลกประหลาดทางความคิด ทั้งยังเป็นความคิดที่น่าตั้งคำถาม อย่างเช่นคำว่า “ประสาทแดก” ที่ปรากฏขึ้นมาในบทความ ใครหรืออะไรกันแน่ที่เป็นผู้กำหนดความหมายของคำว่า “ประสาทแดก” นี้ ถึงแม้เจ้าของโพสต์จะพูดถึงคนที่ “ประสาทแดก” ในกลุ่มก้อนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้น แต่หากอ่านดี ๆ มันเป็นคนละความคิดกับความ “ประสาทแดก” ที่ตัวผู้แสดงความคิดเห็นนี้พยายามจะเสนอ

กล่าวคือ “ประสาทแดก” คำหลังมุ่งเน้นจะสื่อถึงการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์และความคิดที่ขัดกับอภิสิทธิ์––ถ้าจะใช้คำตามเจ้าของโพสต์––เป็นการท้าทายบรรทัดฐานหรือความปกติที่เคยเป็นมา ความปกติที่ยึดถือเอาความเป็นชายมาเป็นศูนย์กลาง ความปกติที่ยึดเอาผู้ชายมาเป็นศูนย์กลางทางสัญญะเพื่อสื่อถึงความเป็นมนุษย์ปกติ การเรียกร้องทางอุดมการณ์เหล่านี้ไม่ได้อยู่บนพื้นผิวของคำว่า woman และ human หรือ spokesman กับ spokesperson เท่านั้น หากจะยกตัวอย่าง แต่มันลึกไปถึงระดับอุดมการณ์และความเป็นปกติที่ยกให้เพศชายเป็นรากฐานและความสากลของการทำงานและวัฒนธรรม––


แต่น่าเศร้าที่ความพยายามในการแก้ไข อันเนื่องมาจากความเจ็บปวดและประสบการณ์ของการถูกกดขี่เหล่านี้จะถูกปัดปฏิเสธไปเป็นเพียง “ความประสาทแดก” ที่ทำให้ภาพของผู้หญิงหรือเฟมินิสต์ (หรือขบวนการทางสังคมใดก็ตาม) ดูเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องขบขันของกลุ่มผู้มีอำนาจ(ทางสังคมวัฒนธรรม)

เช่น ผู้ชายที่ชอบเพศตรงข้าม ([middle-class] cis-hetero men) ผู้ชายกลุ่มนี้––ในเชิงเพศ––อยู่บนอภิสิทธิ์ที่ไม่จำเป็นต้องมาเป็นกุลสตรี ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่และเป็นเมีย ที่ถูกโขกสับในบ้าน ไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ไม่เก่งเกินใคร มีโอกาสไต่เต้าทางการงาน และมีโอกาสน้อยกว่า––ไม่ได้ปฏิเสธถึงการไม่มี––ที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานการณ์ต่าง ๆ (หรือแม้แต่การถูกปฏิเสธที่จะรับฟังเรื่องราวและอาชญากรรมการล่วงละเมิดทางเพศของผู้ชาย ก็เกิดจากอภิสิทธิ์ที่ติดตัวผู้ชายมาเช่นกัน––ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องภายในขบวนการเฟมินิสต์ [ที่คนบางกลุ่มก็ยังมองว่า “ประสาทแดก”] เช่นกัน)


บางคน––คน ที่ไม่ระบุเพศ ที่ส่วนใหญ่จะหมายถึงผู้ชาย––ไม่เข้าใจในขบวนการทางสังคมของสตรีนิยม ที่ไม่ได้ทำงานอยู่บนพื้นฐานด้านสังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย เท่านั้น แต่สตรีนิยมทำงานถึงระดับรากฐานทางความคิด ความเข้าใจของสังคม ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเป็นภาพแทนทางวัฒนธรรมที่ผู้หญิงถูกฉายและจัดฉากให้เกิดก่อขึ้น ความพยายามเหล่านี้มีมากมาย และแน่นอนว่ามันมีพลวัตและการเคลื่อนไหว การแลกเปลี่ยนภายในขบวนการ แต่บางคน กลับเลือกที่จะหยิบการต่อสู้ และการเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยหงาดเหงื่อ หยาดน้ำตา และหยดเลือด ออกมาเล่นตลกให้คน ขำเล่น พอมีคนไม่ตลกด้วยก็หาว่าพวกเรา “ฝ่ายเดียวกัน” ประสาทแดก…


และแน่นอนว่าถ้าคุณคิดว่าการเคลื่อนไหวนี้มัน “ประสาทแดก” เพราะมันไปแดกดันหรือทำให้กรอบความคิดของคุณสั่นไหว เต็มไปด้วยความสงสัยปนไม่เข้าใจ คลับคล้ายว่าสุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนที่ระลึกถึงอภิสิทธิ์ของตนจนต้องมาร่วมขบวนการเดียวกัน หรือในอีกทางคือมันดู “ก้าวร้าว” และดูไม่เป็นมิตร เพราะมันเป็นเสียงความโกรธเกรี้ยวของผู้ถูกกดขี่ กดทับราวกับแรงบีบอัดที่มีพลังงาน––เราบอกได้เลยว่ามันจะ “ประสาทแดก” ได้มากกว่านี้ เพราะยิ่งคุณบีบอัด กล่าวว่า บอกให้เราอ่อนน้อม “อธิบาย” และ “สื่อสาร” ออกมาเท่าไหร่ มันยิ่งแสดงให้คุณเห็นว่าแท้จริงแล้ว คุณเลือกเรื่องราวที่คุณจะ “อิน” ที่คุณจะยอมเสียน้ำตาให้ ที่คุณจะรับรู้และรู้สึกว่ามันน่าเสียใจ เพราะมันไปสัมผัสถึงตัวคุณ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่คุณจะยอมรับ––แน่นอนก็เพราะคุณเป็นผู้มีอำนาจในทางสังคม อย่างน้อยคุณก็เป็นผู้ชายที่ไม่ต้องมาเจอเรื่องราวแสนสาหัสในการจะเป็นผู้หญิงหลายคน––


คุณจะเลือกว่าการเรียกร้องแบบไหน “ดี” และการเรียกร้องแบบไหน “ประสาทแดก” การเรียกร้องแบบไหนที่รับได้ และการเรียกร้องแบบไหนที่ควรจะเน้นให้ “เป็นเรื่องจริง [ทั้งที่ประสบการณ์ชีวิตเหล่านั้นก็จริงยิ่งกว่าจริงเสียแล้ว]”

และ “มีหลักการ” มากกว่านี้ คุณต้องการการเคลื่อนไหวที่ “อธิบายให้คนอื่นเข้าใจ” ในเชิงเนื้อหาและเหตุผล มากกว่าความอัดอั้นทางอารมณ์ที่พร้อมจะปะทุทุกเมื่อของผู้ถูกกระทำในสังคม ผู้ที่ถูกกดขี่จนเขาแทบจะพูดไม่ได้ ผู้ที่สั่นเทาด้วยความกลัวเนื่องจากอีกฝ่ายกำลังประทุษร้ายอย่างไม่หยุดหย่อน คำพูดของคนที่แทบจะไม่มีใครเชื่อ จนในท้ายที่สุดเขาพูดออกมาด้วยความโกรธและกลัว ด้วยความเหนื่อยหน่ายและรำคาญ ผลตอบรับคือคน บางคน บอกว่ามัน “ประสาทแดก”


(ให้เราภาวนา)

––“สดับฟัง” เถิด…ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย


Neither Humanist Nor (mere) Equalist––We are Feminists

เป็นอีกครั้งที่พวกเรา––เฟมินิสต์––ถูกเชื้อเชิญโดยกลุ่มผู้ชายให้กลายเป็น humanist หรือ equalist พวกเขาบอกให้เรา "เลิกเป็นเฟมินิสต์ซะเถอะ” โดยพยายามจะยั่วหลอกให้เราเข้าไปสู่กลุ่มผู้เรียกร้องความเท่าเทียม อย่างเช่นพวกเขา เพราะมองว่าพวกเราบางคนก็ไม่ได้ “ประสาทแดก”––คิดว่ามันไม่น่าขำขันกว่ามุกที่ถูกยกขึ้นมาด้านบนหรือ?


เป้าหมายปัจจัยแรกเริ่มที่เฟมินิสต์ในฝั่งยุโรปถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างเกิดจากการไม่เห็นถึง ความเป็นมนุษย์ ที่ฝ่ายชายฉกชิงเอาไปใช้แล้ว หรืออย่างน้อยความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองก็ไม่ได้ปรากฏในร่างของผู้หญิง เลยเป็นเรื่องน่าตลกที่ผู้หญิงจะถูกเชื้อเชิญให้มาเรียกร้องอย่างมนุษยนิยม ในเมื่อเป็นผู้ชายที่ฉกฉวยเอาคำว่า “มนุษย์” ไปใช้ก่อนหน้าแล้ว


และเป็นเรื่องที่น่าขำซ้ำซ้อนที่ผู้ชายจะเชิญให้เฟมินิสต์มาเป็น humanist พร้อมลืมเลือนไปว่าความเจ็บปวดที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ต่อให้อุดมการณ์จะเหมือนเดิม ต่อให้การเรียกร้องของเฟมินิสต์ (ที่กลายไปเป็น humanist อย่างที่ใครต่อใครว่า) จะเหมือนเก่า แต่มันคือการบังคับลืมความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นมาเนื่องจาก “เพศ” เป็นเหตุให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น


เราขอยกข้อความบางส่วนของบทความ Dear ‘Equalists’ & ‘Humanists’, We Need to Have A Conversation About Feminism ของเว็บไซต์ Feminisminindia.com ที่กล่าวว่า

‘First of all, undermining womxn’s [sic] struggle throughout history [my emphasis] by erasing their narratives and renaming Feminism as Humanism is confounding. It is a very privileged statement to consider Feminism as a term and debunk its definition.’ [2]

สตรีนิยม (Feminism) ไม่ใช่คำที่เกิดมาเฉย ๆ แต่เป็นศัพท์คำที่มีความหมายและ ที่สำคัญคือ มีประวัติศาสตร์รากฐานมาอย่างยาวนาน มันไม่ใช่คำที่จะถูกลบล้างไปเพียงเพราะดูไม่จำเป็นแล้ว หรือเพราะมันมีคำอื่นที่แสดงถึงความเท่าเทียม เหมือนกัน แต่เพราะความเจ็บปวดรวดราวเหล่านี้มันปฏิเสธออกไปจากประวัติศาสตร์ความทรงจำของนักกิจกรรม ของผู้เคลื่อนไหว และเหนือกว่าใคร ความทรงจำของผู้เป็นชายขอบออกไปไม่ได้ เป็นบาดแผลที่ยังต้องระลึกถึง เป็นความขื่นขมที่ยังต้องรู้สึกและพูดถึงซ้ำไปซ้ำมา


และนั่นไม่ได้แปลว่าเฟมินิสต์จะลืม มุมมองและประเด็นอื่น ๆ ไป ไม่ใช่ว่าเป็นเฟมินิสต์จะทำให้ต่อต้านหรือคัดง้างกับทุนนิยม หรือลำดับศักดิ์ ชนชั้นทางสังคมไม่ได้ เฟมินิสต์พูดได้ ทำได้ และพวกเธอ/เขาจะเข้าไปพูดในประเด็นที่ผู้ชายหลายคนที่พูดถึงความเท่าเทียมประเด็นอื่น ๆ มักจะหลงลืมไป––เพศ ร่างกาย ร่างกายที่มีชีวิตและจิตใจ ร่างกายที่ถูกกดกระทำจริง ทั้งทางอุดมการณ์ จิตใจ และทางกายภาพ


What’s Left to be done

เพศ ร่างกาย ร่างกายที่มีชีวิตและจิตใจ ร่างกายที่ถูกกดกระทำจริงทั้งทางอุดมการณ์ จิตใจและทางกายภาพ


จริยศาสตร์ของสตรีนิยมจึงมักและควรเริ่มต้นที่ร่างกายและวัตถุสภาพ สองสิ่งที่ถูกมองข้ามมากที่สุดเมื่อพวกเขาไม่ใช่เหยื่อที่ถูกกระทำ เวลาความเจ็บปวดกระทบกระทั่งปรากฏบนร่างกาย สิ่งเหล่านี้มักเลือนหายออกจากปากและความคะนึงถึงของเหล่าผู้เรียกร้องเสรีภาพสำหรับการกระทำทำร้ายคนอื่น


เสรีนิยมสุดโต่งและจริยศาสตร์แบบสัมพัทธนิยมบริสุทธิ์สร้างสภาพแวดล้อม ชุมชน และสังคมที่ดีไม่ได้ เพราะมันไม่เคยฟังรอยแผลฟกช้ำและภาพการกระทำที่ทำให้คนเจ็บตัว ทั้งทางอุดมการณ์ จิตใจ และกายภาพ


Susan Hekman เสนอทางออกสำหรับการเอาชนะข้อจำกัดการสร้างจริยศาสตร์ด้วยการเสริมวัตถุสภาพลงในตัวแปรการวิจารณ์จริยศาสตร์และการกระทำภายในชุมชน [3]


แต่น่าเสียดาย น่าเสียใจ น่าเศร้า น่าสลด แม้แต่เรื่องราว ประวัติศาสตร์ ความเข้าใจ ความเจ็บปวด วงศาวิทยาความคิดและรอยฟกช้ำไม่เคยอยู่ในคำบอกเล่าของวงวิชาการ ไม่เคยอยู่ยามพวกเขาเรียกร้อง ปรากฏชัดเพียงเสียงตะโกนจนแสบคอของกลุ่มคนที่พวกเขาร้องเรียกและก่นด่าว่าไร้สติ ไร้วัฒนธรรม พูดดีไม่เป็น และใช้แต่ความรุนแรง ไร้มารยาทในการเรียกร้อง ไม่มีศิลปะในการเชื้อเชิญคนเข้าพวก น่าเสียดาย น่าเสียใจ น่าเศร้า น่าสลด


Donna Haraway เคยให้สัมภาษณ์เล่าเกร็ดวงศาวิทยาการผุดเกิดมาและวงวิชาการที่เธอร่วมสนทนา โคจรวนหาและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจให้แก่กัน เธอเล่าว่า:

“…[Other male authors], [who] figure prominently in the canonized version of the history of STS, were not the origin in my story; they came after other events. And they do not get this—that there is a whole other serious genealogy of technoscience studies! So I remain irritated …. Because we do know their genealogies, very well. And they do not know ours, …” [4]

พวกเขาไม่รู้เรื่องของเรา และมันมักเป็นเช่นนี้เสมอ แม้ชื่อและขบวนการพวกเราจะติดแขวนอยู่บนหน้ากระดาษของพวกเขาก็ตาม หรือถ้าโชคร้าย มันอาจไม่มีอยู่เลยก็ได้


ชีวิตจิตใจที่มีเนื้อหนัง ความรู้สึก และความเจ็บปวด คือชีวิต และพวกเธอ/เขามักจะถูกหลงลืมไปเสมอ มักจะถูกกลืนกลายหายไปกับภาพใหญ่ทางสังคมอื่น ๆ ภาพใหญ่ในสังคมที่หลายครั้งเหลือเศษส่วนพื้นที่อย่างน้อยนิดจนบีบให้เล็กให้พวกเธอ/เขาเลือกจะไม่เล่าในสิ่งที่พวกเขาต้องเผขิญ เพราะบางครั้งมันอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่ บางครั้งมันอาจดูไม่น่าจดจำ


แต่โปรดอย่าลืมเลย––และโปรดต่อสู้กันต่อไป ไม่ว่าหนทางมันจะห่างไกล หรือไม่ว่ามันจะดูเหมือนไม่มีหนทางใดให้เดินต่อไปเลยก็ตาม

Note

[3] Susan Hekman, ‘Constructing the Ballast: An Ontology for Feminism,’ in Susan Hekman and Stacy Alaimo (eds.) Material Feminisms. Indiana University Press. 2008.

[4] Nina Lykke, Randi Markussen, and Finn Olesen. ‘“There Are Always More Things Going on Than You Thought!”: Methodologies as Thinking Technology: Interview with Donna Haraway,” in Anneke Smelik and Nina Lykke (eds.) Bits of Life: Feminism at the Intersection of Media, Bioscience, and Technology. University of Washington Press. 2008.


*ภาพประกอบ: การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์







ดู 2,253 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page