top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

Feminsita Review: เรียนเจนเดอร์ที่อินเดีย สาขานี้เค้าเรียนอะไรกันบ้าง


ในรูปคือตึกสำนักงานและห้องประชุมของศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่



จากเรื่องการขอทุนที่เคยเขียนไว้ที่นี่ http://www.feminista.in.th/post/india-s-daughter-gender-studies-in-india เราอยากชวนมาอ่านเรื่องการเรียนในสาขา Gender, Culture and development studies หรือแปลไทย คือสาขาที่เรียนเกี่ยวกับความเป็นเพศ วัฒนธรรมและการพัฒนา กันบ้างค่ะ


การเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและการพัฒนาในสาขานี้ จะเน้นไปที่การวิเคราะห์ผ่าน Gender Lens หรือมุมมองเรื่องเพศที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและการพัฒนาเป็นหลัก ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ ก็อาจจะวิเคราะห์การพัฒนาผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ หรือคนที่เรียนมานุษยวิทยา อาจจะวิเคราะห์เรื่องการพัฒนาผ่านมุมมองทางมานุษยวิทยา แต่สิ่งที่เราเรียนคือการวิเคราะห์การพัฒนาผ่านมุมมองทางเพศ เช่น ในประเทศกำลังพัฒนา การควบคุมปริมาณของประชากรในประเทศที่ออกมาเป็นนโยบายลูกคนเดียวของจีน หรือ จำนวนบุตรในอินเดีย ส่งผลอย่างไรต่อ ผู้หญิง เช่น ในอินเดีย เด็กผู้หญิงจะมีอัตราการเกิดต่ำ เพราะครอบครัวเลือกที่จะทำแท้งตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ หรือ การคุมกำเนิด ภาระจะตกอยู่ที่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายไม่จำเป็นต้องทำหมันหรือใช้ถุงยาง การที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ต้องเป็นคนคุมกำเนิด ส่งผลกระทบ เช่น การใช้ยาคุม เกิดผลข้างเคียงจากยา หรือการทำแท้ง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงอย่างไร


หรือการวิเคราะห์เรื่องวัฒนธรรมผ่านมุมองทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์บอลลีวู้ดนำเสนอภาพของครอบครัวรักต่างเพศอย่างไร หรือนำเสนอภาพผู้หญิงที่ดีและผู้หญิงที่ถูกมองว่าไม่ดีอย่างไร รวมไปถึงการวิเคราะห์วัฒนธรรมอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมอาหาร ทำไมวัวถึงถูกห้ามไม่ให้มีการซื้อขายและบริโภค คนที่กินอาหารมังสวิรัตกับคนที่กินเนื้อสัตว์ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร เป็นต้น


เนื้อหาที่เรียน มีทั้งเรื่องในและนอกประเทศอินเดีย เทอมแรกๆ เราเรียนเรื่องเพศกับการพัฒนา โดยรวมๆก็จะมีทั้งหัวข้อการพัฒนาประชากรในอินเดีย เช่น การควบคุมประชากร นโยบายต่างๆของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง สิ่งแวดล้อมกับภาระของผู้หญิง นโยบายเศรษฐกิจในครัวเรือนที่ส่งผลต่อผู้หญิงและเด็ก


วิชาที่จะเน้นทางอินเดียเยอะหน่อยในเทอมแรก คือวิชา เพศกับประวัติศาสตร์ วิชานี้เน้นเรื่องการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องเล่า นวนิยาย แบบเรียน ตำรา ภาพยนตร์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อการประกอบสร้างเรื่องเพศในอินเดีย


ส่วนอีกวิชาในเทอมแรกที่สำคัญมากๆกับพื้นฐานเรื่องเพศ คือการศึกษาแนวคิดเฟมินิสต์ในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ อย่างเช่น เฟมินิสต์คลื่นลูกที่หนึ่งสองสามนี่คือต้องเรียนหมด รวมไปถึงขบวนการเฟมินิสต์ผิวดำและละตินเฟมินิสต์ เฟมินิสต์ในฝั่งเอเชีย เป็นต้น


เทอมที่สอง เราขยับมาเรียนเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะมากขึ้น เช่น วิชาที่ว่าด้วยการวิเคราะห์วัฒนธรรมด้วยมุมมองทางเพศ โดยจะเน้นเป็น pop culture หรือวัฒนธรรมสมัยนิยม พวกวัฒนธรรมการดื่มชากาแฟ ภาพยนตร์ เพลง หนังสือโป๊ หนังสือพิมพ์ วิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่ การใช้สบู่ ไปจนถึงการพักผ่อนหย่อนใจในบ้านของผู้หญิง


อีกวิชาก็เน้นเรื่อง การพัฒนาโดยเฉพาะเลย และเน้นไปที่นโยบายรัฐในอินเดียเป็นหลัก และวิชาที่สำคัญมากๆ ก็คือวิชาที่ว่าด้วยแนวคิดเฟมินิสต์จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในอินเดีย ในยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา เอเชียใต้ วิชานี้เราจะได้เห็นว่าแต่ละประเทศมีแนวคิดเฟมินิสต์แบบไหน ใครเน้นเรื่องความรุนแรง เรื่องสิทธิทางเพศ เรื่องความเป็นแม่เป็นเมีย เรื่องการแต่งงาน การศึกษา ทำให้เห็นภาพกว้างของการต่อสู้ทางความคิดเรื่องเพศตั้งแต่ในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน


ส่วนอีกวิชาที่เราชอบ คือวิชาที่ว่าด้วย ที่ดิน ความเป็นอยู่ และทรัพยากร วิชานี้ศึกษาเรื่องการถูกแย่งยึดที่ดินในอินเดียและเอเชียใต้ การไม่มีที่ดินทำกิน การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนที่อยู่ในวรรณะล่างหรือชนเผ่าพืันเมือง และส่งผลอย่างไรต่อผู้หญิงและเด็ก


นอกจากนี้ ยังมีวิชาว่าด้วยเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในอินเดีย วิชานี้คือศึกษาการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในอินเดีย ทั้งขบวนการเคลื่อนไหวเอกราชของคานธี ที่มีผู้หญิงเข้าร่วม ขบวนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงการจัดตั้งองค์กร การวิพากษ์ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงในอินเดียยุคปัจุบัน


อีกวิชาที่สำคัญมากๆกับการทำวิทยานิพนธ์ คือวิชาระเบียบวิธีวิจัยแบบเฟมินิสต์ คือเป็นวิชาที่ว่าด้วยวิธีการวิจัยในรูปแบบต่างๆ แต่ใช้มุมมองแบบเฟมินิสต์ในการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบวิธีการ ไปจนถึงการตั้งคำถามและข้อสรุปซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานวิธีคิดแบบเฟมินิสต์ วิชานี้อาจจะยากสำหรับคนไม่คุ้นกับวิชา epistemology หรือ ญาณวิทยา เพราะหลายๆคำอธิบายมันดูเป็นนามธรรมมาก แต่ถ้าเข้าใจคอนเซปต์พื้นฐานได้ดี ก็จะต่อยอดไปสู่การทำวิจัยได้ชัดเจนขึ้นมาก


นอกจากนี้ยังมีวิชาว่าด้วยทฤษฎีเรื่องเพศในอินเดีย วิชานี้คือเรียนเกี่ยวกับวิธีคิดเรื่องเพศในอินเดียโดยเฉพาะ เช่น นักคิดชาวอินเดียมองเรื่องเฟมินิสต์ในประเทศตะวันตกยังไง มีการอธิบายเรื่องเพศในอินเดียต่างไปจากเฟมินิสต์ทางตะวันตกอย่างไร มีความพยายามจะสร้างคำอธิบายที่เป็นของตัวเองโดยเฉพาะ ไม่อิงกับวิธีคิดแบบเฟมินิสต์ในโลกตะวันตกอย่างไร เป็นต้น


ส่วนวิชาเลือกที่ได้เรียนอีกวิชา คือวิชาว่าด้วยการถูกกีดกันทางสังคม ภาษาไทยใช้คำว่าอะไรไม่แน่ใจ ภาษาอังกฤษคือ Social Exclusion วิชานี้เรียนเรื่องกลุ่มคนต่างๆที่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆทางสังคม เช่น กลุ่มคนวรรณะล่าง คนพิการ คนรักเพศเดียวกัน คนที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด คนชนเผ่า ผู้หญิง วิชานี้เน้นว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม และรัฐมีนโยบายอย่างไรบ้างในการแก้ปัญหาเรื่องนี้


สิ่งที่คิดว่าได้เรียนรู้จากการเรียนสาขานี้ที่คิดว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนที่อื่น เช่นเรื่อง วรรณะ ที่คนไทยมักรู้แบบผิวเผิน จากการเรียนการสอนในไทย ที่สอนแค่ว่ามีสี่วรรณะ แล้วจบเลย ไม่ได้อธิบายต่อว่ามันส่งผลยังไงอะไร Dalit หรือคนดาลิต คืออะไร เราไม่เคยได้ยินจนกระทั่งมาเรียนที่อินเดีย เรื่องวัฒนธรรมความเชื่อต่างๆที่ส่งผลสาหัสกับผู้หญิงอินเดีย เช่น การบังคับแต่งงาน การฆ่าตัวตายของแม่ม่าย การฆ่าเพื่อปกป้องเกียรติของครอบครัว เพราะการแต่งงานข้ามวรรณะหรือศาสนา เรื่องเลือดประจำเดือนที่ทำให้ผู้หญิงต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในกระท่อม หรือ การที่ผู้หญิงดาลิตถูกข่มขืนแล้วฆ่าจากผู้ชายวรรณะสูง แล้วไม่มีใครเอาผิดได้ เป็นต้น


การมาเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียทำให้เรารู้ว่า ความเชื่อจากการตีความทางศาสนาและเรื่องวรรณะมันยังส่งผลกระทบกับผู้หญิงหนักมาก จากที่รู้สึกว่าการทำงานในสามจังหวัดนั้นยากแล้ว ทำงานในอินเดียยากกว่าไม่รู้กี่เท่า และอันตรายถึงชีวิตแบบโดนฆ่าทิ้งได้ง่ายๆ การได้ใช้ชีวิตที่นี่ในระยะเวลาสองปี ทำให้เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องผู้หญิง เรื่องเพศที่นี่ก้าวหน้ามากๆ ไม่แพ้กับที่อื่นๆในโลกตะวันตก


อย่างล่าสุดการต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกระบุว่าผิดธรรมชาติ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่แค่ถูกใช้กับคนรักเพศเดียวกัน แต่คำอธิบายรวมถึงคนรักต่างเพศที่มีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือการใช้ปาก เป็นต้น แต่หลักๆกฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อข่มขู่และเอาผิดคนรักเพศเดียวกัน แล้วในที่สุดศาลสูงที่อินเดียก็ตัดสินให้มีการยกเลิกกฎหมายนี้ หลังจากใช้มานานตั้งแต่อังกฤษเข้ามาปกครอง โดยที่กลุ่มศาสนาอย่าง อิสลามและคริสต์ก็ประท้วงคำตัดสิน แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะศาลสูงของอินเดียตัดสินมาแล้ว หลังจากสู้กันมาหลายรอบ


นอกจากเรียนในชั้นเรียนแล้ว เรามีโอกาสเข้าร่วมกับการประท้วงในหลายๆครั้ง เช่น คดีการข่มขืนเด็กอายุแปดขวบ หรือการจับกุมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน การประชุมครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้หญิงดาลิตทั่วอินเดีย และมีโอกาสได้ฝึกงานกับองค์กรที่ทำเรื่องผู้ให้บริการทางเพศและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเมืองบังกาลอร์ รวมถึงการฝึกงานกับสื่อออนไลน์ที่ทำเรื่องความหลากหลายทางเพศในอินเดียก่อนจะเรียนจบกลับประเทศไทยด้วย


สำหรับคนที่สนใจเรียนด้าน Gender Studies เราคิดว่าตัวเลือกการมาเรียนที่อินเดีย ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากตัวเลือกอื่นๆ ด้วยความที่มีบริบทเฉพาะของฝั่งเอเชียใต้เยอะ ถ้าหากทำงานที่ใกล้เคียงหรือสนใจบริบททางฝั่งนี้อยู่แล้ว การเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะตอบโจทย์คนที่สนใจด้านนี้ได้ดีเลยค่ะ






ดู 206 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page