top of page
  • รูปภาพนักเขียนFeminista

คุยกับ ปีใหม่ วรรณิดา กสิวงศ์ จาก Wonders&Weddings บริการจัดงานแต่งงานที่คำนึงถึงความเท่าเทียม




เมื่อหลายเดือนก่อน เฟมินิสต้าได้ยินชื่อของ Wonders &Weddings Bangkok Humanist Wedding Planner บริการรับจัดงานแต่งงานที่พูดถึงแนวคิด Humanism ในการจัดงานแต่งงานจากปีใหม่ วรรณิดา กสิวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง เราจึงชวนเธอมาพูดคุยว่า ทำไมจึงอยากจัดงานแต่งงานที่ใช้แนวคิด Humanism และการจัดงานแต่งงานแบบนี้มีลักษณะสำคัญอย่างไร อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เธอ และการจัดงานที่เคารพความเป็นมนุษย์นั้นส่งผลอย่างไรต่อชีวิตคู่ รวมไปถึงเธอมีความคิดเห็นอย่างไรกับการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยค่ะ


รูปจากวันจดทะเบียนสมรสของปีใหม่กับสามี ที่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับการใช้แนวคิด Humanism ในการจัดงานทั้งหมด



ก่อนอื่นเลย อยากทราบว่า ปีใหม่รู้จักแนวคิดเรื่อง Humanist Wedding มาจากไหนคะ


เคยได้ยินมาช่วงปีที่แล้วเองค่ะ คือช่วงนั้นปีใหม่ก็เริ่มแพลนงานแต่งงานของตัวเองแล้ว โดยที่เรารู้ว่าเราจะไม่เอางานแต่งงานแบบทั่วไป ที่จัดกันที่โรงแรม มีคนหลายร้อย มีแบ็คดร็อปที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีท่านประธานที่เป็นใครก็ไม่รู้มาพูดในงานเรา แล้วมองไปทางไหนก็สงสัยว่าคนนี้แขกใคร คนนี้คือใครไม่รู้จัก คือจะไม่เอาแบบนี้เด็ดขาด อย่างแรกคือรู้ว่างานของตัวเองเป็นงานเล็กๆแน่นอน เพราะว่าปีใหม่กับแฟนก็ค่อนข้างเป็น introvert ทั้งคู่ ฝั่งแฟนก็เป็นคนเยอรมัน เพื่อนเค้าก็ต้องบินมาอยู่แล้วด้วย ก็จะไม่เยอะ


อย่างที่สองคือ คิดว่าจะไม่เอาพิธีศาสนาต่างๆ พิธีไทยที่แบบแห่ขันหมาก มีสินสอด มีกราบตัก คือไม่เอาแน่นอน แฟนก็ไม่อิน ปีใหม่ก็ไม่อิน


ทำไมถึงไม่อินกับประเพณีพวกนี้ล่ะคะ


เพราะว่ามันเป็นคำถามที่เรามีในใจอยู่แล้วว่า ถ้าสมมติว่ามีค่าน้ำนมของฝั่งผู้หญิง แล้วฝั่งผู้ชายล่ะโตมายังไง หรือว่าเรื่องกราบตัก เราเห็นรูปเยอะมากๆ ผู้ชายจะทำท่าแบบว่า เย้ ดีใจ แล้วเรารู้สึกว่าทำไมถึงให้ความสนใจกับตรงนั้นเยอะขนาดนั้น เพราะว่าถ้าสมมติเราเคารพกันทุกวัน มันไม่จำเป็นต้องดีใจกันวันนั้นวันเดียวมั้ย คือเรารู้กันสองคนอยู่แล้วว่าเราเคารพกันและกันนะ ซึ่งเรื่องสินสอดก็โชคดีที่ที่บ้านเค้าชัดเจนว่าเค้าไม่เอา ก็จะมีเรื่องของประเพณีที่คุณพ่อคุณแม่เค้าเคยแต่งงานแบบใหญ่ๆที่แต่งงานในโรงแรม เลี้ยงโต๊ะจีน คือเราก็ต้องคุยกันกับที่บ้านหลายรอบเหมือนกันว่างานที่เราจัดมันไม่ใช่แบบนั้นนะ มันเป็นแบบเล็กๆนะ ตอนนั้นเราก็บอกเค้าไม่ได้ หารูปมาให้เค้าดูไม่ได้ว่ามันเป็นยังไง เพราะงานที่เราทำเราก็ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเหมือนกัน


แต่ก็มีเรื่องจุกจิกเล็กน้อย ด้วยความเคยชินของผู้ใหญ่ว่า เอ้ย งานแต่งมันต้องมีแบบนี้นะ มีพรีเซนเทชั่นสิ มีอะไรสิ เราก็ตัดสินใจแล้วว่าไม่เอาเลย เพราะมันไม่ใช่เรา แล้วพอคุยกับแฟน เราก็ตกลงกันว่าเราจะเอาแต่เฉพาะของที่เราชอบ และเราสองคนเจอกันที่คลาสเรียนเต้น เราก็รู้แล้วว่าในงานเราต้องมีเต้น เพราะมันเป็นกิมมิคของคู่เรา พอแพลนงานไปสักพักนึง ก็มาเจอบทความเกี่ยวกับ Humanist Wedding แล้วก็เลยไปอ่านต่อว่ามันคืออะไร คือป้ายแรกที่เค้าเขียนก็คือ non religious คืองานที่ไม่มีพิธีศาสนา แต่พอเราไปอ่านต่อแล้วเราก็รู้สึกว่า เออ มันคือคุณค่าที่เราเชื่อว่างานแต่งงานคือการโฟกัสที่คุณค่าของคนสองคน ทุกอย่างคือปรับได้เองหมด ซึ่งมันก็เป็นคำนิยามของเค้านะคะว่า การจัดงานแบบนี้คือยึดถือความต้องการของคู่รักเป็นหลัก


แล้วก็มันเป็นแนวคิดเรื่อง Humanism ซึ่งก็พูดเรื่องความเท่าเทียมอยู่แล้วด้วย ดังนั้นเราก็เลยรู้สึกว่ามันตอบโจทย์ เพราะเราก็เชื่อเหมือนกันว่า พิธีอะไรที่มันไม่เท่าเทียม เราก็ไม่เอา เอาออกหมด




แล้วยากมั้ยกับการต้องอธิบายญาติผู้ใหญ่ สมมติว่าพ่อแม่เราเข้าใจ แล้วแขกงงมั้ย


จริงๆญาติไม่ค่อยเท่าไหร่ เพราะปีใหม่มีแค่คุณปู่กับคุณย่า แล้วก็มีป้าลุงของฝั่งคุณแม่ จริงๆที่อธิบายยากที่สุดคือคุณแม่ เพราะว่าเค้าไปงานแต่งงานมาเยอะ แล้วทุกงานมันก็เหมือนกัน คือมีพิธีเช้า มีเลี้ยงตอนบ่าย แล้วช่วงหลังคุณพ่อมักจะโดนเชิญไปเป็นท่านประธานในงานให้กับพนักงานที่ทำงาน ซึ่งเราก็เก็ทว่าเป็นพนักงานที่ทำงานที่รู้จักกัน แต่ว่าในความรู้สึกของเรา เคยไปงานแต่งงานนึงมาที่ท่านประธานเค้าไม่ได้รู้จักคู่แต่งงานจริงๆ แล้วทั้งสองคนเค้าก็ตกลงกันว่าจะไม่มีลูก เค้าพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยมากเลยนะคะ แล้วท่านประธานก็อวยพรว่า ขอให้มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง แล้วเราจำได้เลยว่ามีฉากที่เจ้าสาวหน้าตึงว่าฉันไม่ได้อยากมีลูก เราก็ไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้น


ก็พยายามถามเค้าไปเรื่อยๆ ตอนที่คุยกับคุณแม่ว่าทำไมถึงอยากเชิญเพื่อนมา ทำไมถึงอยากเชิญญาติมา เราก็เลยเสนอไปว่า ถ้างั้นก็จัดรวมญาติสิ เพราะไม่เคยเห็นคุณแม่จัด ถ้าอยากเจอกันก็ไม่เห็นต้องเป็นงานแต่งงานเราเลย จัดรวมญาติต่างหากก็ได้ ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องเครียดด้วย สุดท้ายเค้าก็จัดทานอาหารกับญาติ แยกต่างหาก โดยที่ปีใหม่กับแฟนก็ไปนั่งทานข้าวด้วย ซึ่งก็ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ทั้งคู่ ก็กลายเป็นว่าเค้าชอบงานแต่งงานปีใหม่มาก จนไปขายเพื่อนเค้า ไปเล่าให้เพื่อนเค้าฟัง เพื่อนเค้าก็มีลูกสาววัยเท่าปีใหม่ เค้าก็บอกว่าถ้าวันไหนลูกสาวแต่งงานก็ให้ปีใหม่จัดให้ เพราะเค้าเองก็ไม่ชอบงานแต่งงานในโรงแรมเหมือนกัน มันก็ยากตอนที่เราสื่อสาร เพราะเราก็ไม่มีตัวอย่างให้ดูเหมือนกัน แต่พอเค้าเห็นงานจริงๆเค้าก็ชอบมากค่ะ


แล้วการที่เราจัดงานแต่งงานที่ฉีกไปจากเดิม คิดว่าถ้าเราเปลี่ยนจากที่เราเคยทำกันมา มาจัดแบบนี้ มันตอบโจทย์อะไรบ้างในสังคมไทย แตกต่างจากเดิมยังไง


อย่างแรกเลยคือคนจำงานได้ อันนี้ที่รู้สึกได้ คือหลายคนบอกว่ามันคือหนึ่งในงานแต่งที่ดีที่สุดที่เค้าเคยไปมา เพื่อนแฟนเค้าเป็นคนทำพิธีแต่งงานในซิติฮอลล์ เค้าจัดมาเป็นร้อยคู่แล้ว แต่เค้าก็ยังบอกว่านี่คืองานที่ดีที่สุดที่เค้าเคยไป เราเลยรู้สึกว่า พอมันเป็นตัวเอง เรารู้สึกได้ว่ามันเป็นงานที่ดีที่สุดเพราะมันเป็นงานเรา ถ้าเราไปงานเพื่อนที่มันอาจจะเป็นคนละสไตล์กับเราเลย เราก็ไม่รู้สึกว่าต้องเปรียบเทียบกันเพราะเรารู้สึกว่าทุกคนมีงานแต่งงานที่ดีเป็นของตัวเอง และจริงๆแล้วเรื่องแนวคิดเรื่อง Humanist Wedding คือคุณสามารถจัดเป็นขนาดเล็กได้ ใหญ่ก็ได้ แต่สำหรับช่วงนี้เป็นต้น ก็สามารถจัดงานที่มีขนาดเล็กลง เพราะเรื่องความปลอดภัยต่างๆ แต่เราก็สามารถใส่กิจกรรมที่เป็นตัวเรา และยังสามารถทำให้มันเป็นความทรงจำที่ดีได้โดยไม่ต้องเป็นปาร์ตี้ใหญ่ๆ ต้องมีอะไรหรูหราหรือมีอะไรเยอะๆมาเท่านั้น


แล้วอีกเรื่องคือ เรื่องความยั่งยืน ตั้งแต่เรื่อง Budget ของเรา ทรัพยากรที่ใช้ในการจัดงานคุณสามารถเลือกได้หมด มันไม่ต้องซื้อแบบเป็นแพ็คเกจว่าเค้ามีอะไรมาให้อยู่แล้วและเราต้องใช้ สำหรับเราถ้าไม่อยากได้อะไรก็ตัดออก แต่ถ้าอยากเอาไปจ่ายบางอย่างที่สำคัญและะแพงกว่าปกติ เราก็เอาตรงนี้มาใส่ใน Budget ได้ คือมันเป็นการใช้เงินจัดงานให้มันออกมาเป็นสิ่งที่เราอยากได้จริงๆ แล้วปีใหม่ก็เห็นหลายๆคนพยายามทำงานเก็บเงิน เพื่อที่สุดท้ายพอถึงวันงานแล้วเออมันเหนื่อยหรือว่าทำไมมันมีอะไรเยอะแยะไปหมด ทำไมต้องทำแบบนี้ ทำไมต้องมีหนึ่งสองสามสี่ แล้วหลายคนก็ไม่ได้สนใจตรงนี้ แต่หลายคนที่รู้สึกว่าเค้าอยากให้ความสำคัญกับตรงนี้จริงๆเค้าก็เป็นทุกข์ เพราะมันเป็นวันที่เค้าต้องฉีกยิ้มหรือต้องทนคุยกับใครก็ไม่รู้นานๆ แล้วก็เสียเงินไปเยอะ แต่ไม่มีอะไรที่ทำให้เค้ามีความสุุขเหมือนที่คิดไว้


แล้วถ้าสมมติว่าเราจะจัดงานแบบนี้ แต่เราอยากได้พิธีกรรมด้วย สมมติพ่อแม่ยังอยากให้มีพิธีกรรมอยู่ เช่น มีรดน้ำ มีแห่ขันหมาก มันจะไปด้วยกันได้มั้ยกับ Humanist Wedding หรือมันไม่สามารถไปด้วยกันได้


ถ้ามีพิธีทางศาสนาก็คือจะไม่ใช่ Humanist Wedding เลย แต่เรื่องพิธีกรรมทางวัฒนธรรม อันนี้เอามาผสมได้ ถือเป็นแนวคิดอีกแบบนึง เช่น งานของปีใหม่มีรดน้ำ แต่ก็ไม่ใช่สังข์ ไม่ได้มีมาลัย มีแค่โถ กับ เป็นที่ใส่น้ำเล็กๆ เราก็เอามาทำให้มันง่ายขึ้น แล้วพิธีนี้มันเป็นพิธีที่เราชอบ ไม่ได้มีการเจิมหน้าผากอะไรด้วย แต่ตรงนี้เราเอามาใส่ในงาน เพราะเราชอบตรงที่แขกทุกคนได้คุยกัน แล้วเค้าก็ได้คุยกับเราโดยตรง แล้วฝั่งเพื่อนแฟนก็ได้เห็นว่ามันคือหนึ่งในพิธีแต่งงานของไทยด้วย หรืออย่างบางคนทำเป็นยกน้ำชาอะไรอย่างนี้ค่ะ คือมันมีวิธีที่จะดึงพิธีกรรม ประเพณี มาปรับให้มันเข้ากับงานเราได้



สมมติว่าเราอยากให้มีแห่ขันหมาก ประตูเงินประตูทอง ทำได้มั้ย


น่าจะต้องคิดอีกทีค่ะ ว่ามันจะสามารถเอามาทำให้เท่าเทียมยังไงได้บ้าง เพราะว่าส่วนใหญ่คนที่จะเลือกงานแบบนี้ก็จะมีภาพในใจอยู่แล้วว่าไม่เอาขันหมาก อันนี้จากการที่สัมภาษณ์หรือลองคุยกับคนที่เห็นงานแต่งงานของเราแล้วชอบแบบนี้ อยากเอาแบบนี้ ก็เลยติดต่อไปสัมภาษณ์ว่าเพราะอะไรถึงอยากได้แบบนี้


แล้วถ้าเสนอแบบนี้ได้มั้ย แบบว่าอยากให้มีความรื่นเริงในงาน อยากได้ขันหมาก

เจ้าบ่าวมาหาเจ้าสาวอะไรแบบนี้ แล้วถ้าเราเปลี่ยนจากเอาเงินมาให้เจ้าสาวเพื่อจะผ่านประตู เราเปลี่ยนเป็นให้ของเพื่อที่จะเอาไปบริจาคให้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับมนุษยธรรมได้มั้ยคะ


ได้นะคะ มันปรับได้เยอะมากๆเลยค่ะ หรือว่าทำเป็นขันหมากมา แล้วมีอีกเซ็ทนึงเป็นขันหมากรับก็ได้ มันเล่นได้เยอะมากจริงๆ นิยามมันคือยังไงก็ได้แล้วแต่คนสองคนเห็นเป็นคุณค่าที่ตรงกัน เช่น เดือนที่แล้วมีถ่าย styled shoot โดยที่เอาพิธีขันหมากจีนมาผสม แต่ของในขันหมากเราเลือกเฉพาะของที่มีความหมายดี ๆ (เช่น ส้มแปลว่าความโชคดี หรือหมี่เตี๊ยว แปลว่าให้ครองรักกันยืนยาวเหมือนเส้นหมี่) ตัวพานปกติผู้ชายมีของแบบหนึ่ง ผู้หญิงมีของแบบหนึ่ง แต่งานนี้เราเลือกจัดมาเป็นเซ็ตคู่ทั้งหมด ทั้งสองฝั่งมีของเท่ากัน คู่รักที่เป็นแบบถ่ายงานก็เป็นเจ้าสาว 2 คนที่เป็นคู่รัก LGBTQ+ ในชีวิตจริงด้วยค่ะ



แต่มันก็จะมีคนที่แย้งว่า การแต่งงานมันเป็นเรื่องของคนสองคน มันไม่ใช่เรื่องของพิธีกรรมที่ไม่เกี่ยวกับคนอื่น แล้วทำไมเราจะต้องจัดงานแต่งงาน ทำไมจะต้องไปให้ความหมายหรือคุณค่ากับการแต่งงาน ไม่อยู่ไปเฉยๆก็พอ มันจะไปเข้ากรอบของอนุรักษ์นิยมมั้ย ที่ว่าการแต่งงานคือการจำกัดกรอบคู่รัก ต้องประกาศให้คนรู้ว่าอยู่ด้วยกัน เรามองเรื่องนี้ยังไงคะ


ปีใหม่มองว่ามันเป็นเรื่องของทางเลือกนะคะ เรารู้สึกว่าทุกอย่าง โลกมันเลยเรื่องการเลือกตัดสินใจอะไรเพราะเราถูกตีกรอบมาสักพักแล้ว แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองคุณค่าในความสัมพันธ์ยังไง หรือมองเรื่องคุณค่าในการแต่งงานยังไง สำหรับปีใหม่ มันคือสิ่งที่เป็นความทรงจำ อันนี้เป็นเรื่องที่ปีใหม่ให้คุณค่าส่วนตัวคือเรื่องความทรงจำ มันมีเหตุการณ์หลายอย่างประกอบกันด้วย คือปีใหม่กำลังจะย้ายมาอยู่ที่เยอรมนี ก็เลยอยากจัดงานนี้เพราะจะได้เจอเพื่อนๆทุกคนด้วย แล้วก็อยากให้วันนี้เป็นวันที่เราจำได้ เรานึกถึง คือชีวิตคู่มันก็มีปัญหาบ้างอะไรบ้างแต่เราย้อนไปแล้วเรานึกได้ว่าเราแต่งงานกันเพราะอย่างนี้ ณ วันนั้นเราเคารพกันว่าเราเป็นแบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่ามันสำคัญสำหรับปีใหม่ตรงที่มันเป็นจุดที่เรามองย้อนไปได้เสมอ


ยิ่งพอมันเป็นงานที่เป็นเรามากๆ แค่นึกมันก็จำได้จริงๆ จำได้แล้วก็รู้สึกว่ามันช่วยในแง่ของเรื่องความสัมพันธ์


แล้วพอเราได้แต่งงานแบบนี้แล้ว มันส่งผลยังไงกับชีวิตคู่ของเรามั้ยคะ


มันทำให้เราจำได้ว่าเพราะอะไรเราถึงแต่งงานกับคนๆนี้ คือปีใหม่กับแฟนก็มีหลายเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่สิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุด แล้วก็เป็นเหตุผลนึงที่ทำให้ทำ Wedding Planning ที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมด้วยก็เพราะว่าปีใหม่ก็เป็นผู้หญิงในสังคมไทยที่ก็โตมาแล้วก็โดนคนบอกว่าทำไมชอบเถียง ทำไมคิดเยอะ ทำไมเรื่องเยอะไปทุกอย่าง แล้วเราก็เคยได้ยินใช่มั้ยคะ ว่าถ้าผู้หญิงเก่งเกินไป ผู้ชายจะไม่ชอบ แล้วถ้าพูดมากหรือชอบเถียงหรือมีความคิดเห็นของตัวเองมากไปเดี๋ยวไม่มีใครเอา เป็นผู้หญิง แกล้งโง่บ้างก็ได้ แล้วเราก็รู้สึกว่า ทำไมต้องแกล้งโง่ด้วยวะ เราก็เคยมีประสบการณ์ที่โอเค ทำเป็นแกล้งโง่บ้างก็ได้หรือว่า อย่าให้เกินหน้าเกินตาใคร แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้แฮปปี้ แต่พอเรามาเจอแฟน เราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนที่อยากเป็นได้ เราคิดอะไร เราทำอะไร หรือมีอะไรที่เค้าเก่งกว่าแล้วเราเก่งกว่า เราสามารถเอาตรงนี้มาเติมเต็มให้กันได้ โดยที่ไม่ได้มีใครบอกว่า ไม่ เธอเป็นผู้ชายเธอต้องเป็นอย่างนี้สิ หรือ ไม่ เธอเป็นผู้หญิง เธอต้องเป็นแบบนี้สิ แทบจะไม่มีเรื่องบทบาททางเพศหรืออะไรเลย อย่างงานบ้าน แฟนปีใหม่ชอบทำมากๆ เค้าชอบไปซื้อของ ในขณะที่ปีใหม่ชอบทำงานมากกว่า นี่คือความฝันที่แบบอยากให้แฟนเป็น Houseman เพราะเค้าก็น่าจะแฮปปี้มากๆ เค้าก็บอกว่าเค้าชอบเป็น Houseman นะ ตอนนี้ปีใหม่ทำงานเป็น minijob แล้วแฟนก็ทำงานประจำอยู่ แต่แพลนเราคือค่อย ๆ transit มาสลับหน้าที่กันค่ะ


พอจัดงานแบบนี้ มันไม่ได้การรันตีว่าเราจะอยู่ด้วยกันไปตลอด เพราะว่าเรื่องชีวิตคู่กับงานแต่งงาน เป็นสิ่งที่แยกกัน งานแต่งงานมันเหมือนเป็นวันแรกของอีกไม่รู้กี่พันกี่หมื่นวันที่เหลือ แต่ว่า ณ ตอนนี้ มันทำให้เราสามารถคุยกันได้ เวลามีปัญหา หรือเราย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องดีๆ แล้วเรามาคุยกันได้ว่า ถ้ามีอะไรเปลี่ยนไปหรือมีอะไรที่ไม่โอเค เราสามารถมาหาทางออกด้วยกันได้


ทีนี้ถ้าพูดถึง Humanist Wedding เราก็ต้องพูดถึงกลุ่มที่ยังไม่ได้ถูกยอมรับให้แต่งงานกันได้ แล้วเค้าก็พยายามผลักดันกันอยู่ให้มีการสมรสของกลุ่มเพศหลากหลาย ในฐานะของคนที่จัดงาน Humanist Wedding ปีใหม่มองเรื่องนี้ยังไงบ้าง


ปีใหม่มองว่ามันควรเป็นสิทธิที่ได้มาตั้งแต่แรกแล้ว มันไม่ควรต้องมีการเรียกร้องอะไรอีกแล้ว มันปี 2020 แล้ว คือเราเข้าใจนะว่าในบางประเทศเค้ามีกฎหมายเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้ เค้าก็เริ่มต้นด้วยกฎหมาย Civil Partnership ซึ่งอาจจะเทียบเท่ากับหรือใกล้เคียงกับพรบ คู่ชีวิต แต่ ณ ตอนนี้ มันมีทรัพยากร มีความรู้ มีข้อมูลทุกอย่างที่รัฐบางสามารถศึกษา แล้วเอามาทำกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้อยู่แล้ว มันไม่ควรจะต้องไต่ลำดับแล้ว แล้วอย่างที่ยุโรปเค้าก็แยกชัดเจนนะคะว่า Civil Partnership เค้าเอาไว้สำหรับคนที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้แต่งงานจดทะเบียน เค้าก็จะมีสิทธิแบบนี้ แต่อันนี้มันใช้ได้กับทุกเพศ แล้วสมรสเท่าเทียม ก็คือสมรสที่เท่าเทียมกันทุกเพศเหมือนกัน



ภาพงานไพรด์ของกลุ่ม LGBT ที่ปีใหม่ได้ไปร่วมเดินขบวนด้วยที่ NYC Pride March 2017



ทำไมเค้าถึงแยกแบบนั้น พอจะทราบมั้ยคะ


ก็คิดว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้อยากแต่งงานจดทะเบียนกัน คือปีใหม่คิดว่ากฎหมายของที่นี่เค้าพัฒนาไปตามวิถีชีวิตของคนหรือว่ารูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมที่หลายคู่อาจจะมีความสุขในการอยู่ด้วยกันที่ไม่ต้องจดทะเบียนอะไร แต่ว่าคนเราอยู่ด้วยกันมันก็ต้องมีสิทธิบางอย่างที่ควรได้ร่วมกันด้วย ก็จะมีสิทธิเหล่านี้ให้


ก็คือ Civil Partnership มันไม่ถึงกับขนาดว่าเป็นคนที่อยากจดทะเบียนอยู่ด้วยกันแบบคู่ชีวิตแต่งงาน แต่อยู่ร่วมกันแล้วก็มีสิทธิบางอย่างร่วมกัน มันก็จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ใช่มั้ยคะ


ใช่ค่ะ แล้วปีใหม่ก็มองว่ามันเป็นเรื่องของทางเลือก ว่าก็มีให้ ให้ตัดสินใจเลือกได้ว่าอยากทำแบบไหน


สมมติว่าของไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ปีใหม่ก็รับจัดงานให้กับคู่รักเพศหลากหลายด้วยใช่มั้ยคะ


ใช่ค่ะ คืออันนี้เป็นเรื่องที่ศึกษาอยู่เหมือนกัน เพราะว่าในไทยแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรเลย คือเห็นเป็นรูปงานแต่งงาน แต่ไม่มีข้อมูลในเรื่องของการให้บริการที่เป็นคู่รักLGBT โดยเฉพาะ อย่างเช่น เรื่องการใช้คำ หรือการปรับพิธีการแต่งงาน อะไรอย่างนี้ค่ะ เพราะทุกวันนี้ปีใหม่จะพยายามใช้คำว่า คู่แต่งงาน ยกเว้นตอนที่อธิบายตัวอย่าง ถ้าเป็นคู่ชายหญิงก็จะใช้คู่บ่าวสาว แต่ว่าถ้าพูดในธุรกิจโดยทั่วไปหรือบนเว็บไซต์หรือสื่อที่ปีใหม่ใช้ จะใช้ว่าคู่แต่งงานตลอด เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ผู้ชายผู้หญิง มันคือทุกเพศ แล้วเราก็พยายามหาคำภาษาไทยเหมือนกัน ที่เป็นกลางทางเพศมาใช้ ซึ่งปีใหม่ไม่แน่ใจว่าในไทยมันมีข้อมูลเรื่องนี้แค่ไหน เพราะตอนนี้ก็พยายามศึกษาฝั่งยุโรปหรือเมริกา อย่างอเมริกาเค้าจะมีเว็บชื่อ Equally Wed แล้วก็มีหนังสือ ก็คือเค้าจะมีพวกคำศัพท์ที่เป็นกลางทางเพศ (Gender Neutral Term) แล้วก็จะมีวิธีคุยด้วยว่า คือการจัดงานให้คู่รักที่เป็น LGBT มันมีความละเอียดอ่อนหลายอย่างตรงที่ บางคนเค้าก็ไม่ได้เต็มใจที่จะให้บริการ ก็จะมีเซ็ทคำถามว่าควรคุยกับเค้ายังไง เพราะสิ่งนึงที่เราต้องทำให้มั่นใจก็คือคนรับจัดงานที่เราทำด้วยเค้าต้องแฮปปี้ที่จะให้บริการคู่รัก LGBT ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่คุยงานเสร็จเรียบร้อยแล้วมาบอกทีหลังว่า อ้าว ไม่ใช่ผู้ชายผู้หญิงหรอ อะไรแบบนี้


คือเราเข้าใจแต่ว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเค้าอาจจะไม่เข้าใจ อันนี้ในกระบวนการทำงานของเรา เราต้องทำความเข้าใจกับคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานก่อนมั้ยคะ


ของปีใหม่จะมีเซ็ทคำถามที่เอาไว้สัมภาษณ์ ว่าเค้าคิดยังไงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยหรือคิดยังไงกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม สิ่งหนึ่งที่ปีใหม่ตั้งใจมากๆคืออยากให้เป็น Wedding with values ก็คืออยากให้เป็นการแต่งงานที่มีคุณค่า อยากให้มันไปไกลมากกว่าเรื่องสวยๆงามๆ ก็เลยจะใช้คำถามสองคำถามนี้ถามด้วยทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีแต่คนเห็นด้วย ด้วยข้อความที่เราสื่อสารไปด้วยแต่แรกด้วยมั้ง มันก็ช่วยกรองคนที่เหมือนเรามีฏิสัมพันธ์ด้วยในระดับนึง พอสอบถามคนก็จะตอบว่ามันควรมีได้แล้วนะ ถ้ามันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าเป็นเรื่องการแต่งงานจริงๆต้องไปดูหน้างานอีกที มันก็ต้องมีความชัดเจน เพราะว่าในวันนั้นปีใหม่อาจจะไม่ได้ใช้ทีมงานที่สัมภาษณ์ ณ ตอนนี้ก็ได้ แต่ก็คือมีเซ็ทคำถามตรงนี้เตรียมไว้



คิดว่าถ้ามีกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน อัตราการใช้บริการจะเพิ่มขึ้นมั้ยคะ


ถ้าเป็นแบบนั้นจะดีมาก เพราะปีใหม่อยากให้มันเกิดขึ้น คือปีใหม่เป็น Cisgender (ผู้หญิงตรงเพศ) และเป็น Hetero (รักต่างเพศ) ปีใหม่ตระหนักในอภิสิทธิ์ของตัวเองในระดับนึง แล้วเราก็รู้ว่ามันอาจจะมีช่องว่างบางอย่างที่เราก็ไม่เข้าใจคู่รัก LGBT เต็มที่ แต่ก็พยายามศึกษาข้อมูลเรื่อยๆนะคะ เพราะว่าในต่างประเทศก็มีแหล่งข้อมูลเยอะเลยล่ะ เพียงแต่เราต้องดูบริบทของสังคมไทยอีกที แล้วเราก็พยายามส่งข้อความไปถามบ้างอะไรบ้าง เราอยากเอาตรงนี้มาทำในประเทศไทย เพราะว่าเหมือนมันคือการแชร์คุณค่าที่มีร่วมกัน คิดว่าเป็นสิ่งที่เค้าน่าจะแฮปปี้ที่จะช่วยหรือให้ข้อมูล


ปีใหม่เคยทำบทความที่เกี่ยวกับไพรด์มาร์ชที่ปีใหม่ได้ไปร่วมปีที่แล้วที่นิวยอร์ก แล้วก็เห็นคุณตาสองคน คือมีขบวนรถมีป้าย แล้วเราเห็นคุณตาสองคนนี้เดินกันเองสองคน แล้วตอนที่เดินอยู่เราก็ถ่ายรูปไว้ พอเราเอามาดู เราก็รู้สึกจุกอะ ตอนนั้นปีใหม่กับแฟนก็คบกันมาแล้วสองปี ถ้าเราจะพูดเรื่องแต่งงานมันก็ง่ายมากเลยนะ คือเราไปที่อำเภอแล้วเราก็จดเลย แต่คู่คุณตาคู่นั้นเค้ารอมายี่สิบเจ็ดปี แต่เราไม่เคยได้ยินเลยว่ามีคู่รักต่างเพศคนไหนที่ต้องรอนานขนาดนี้กว่าจะได้แต่งงาน อย่าว่าแต่ 27 ปีที่รอคอย แต่แค่วันเดียวที่รอ มันมีอะไรบ้างที่เกิดขึ้น เค้าต้องเจออะไรบ้าง อาจจะมีครอบครัว มีเพื่อนที่ไม่ยอมรับ มีอุปสรรคอื่นหลายอย่าง พอแพลนว่าจะทำงานนี้ ก็เลยนึกถึงเหตุการณ์นี้ รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แล้วประโยคนึงที่ได้จากงานนี้สำหรับคู่รักต่างเพศนะคะ เค้าใช้คำว่า It’s not our right but it’s our fight คือมันไม่ใช่สิทธิของเราเพราะเรามีอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นการต่อสู้ของเรา เพราะในฐานะผู้หญิง มันก็มีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศอยู่ แต่ระยะห่างมันเยอะมากซะจน เราจินตนาการไม่ได้เลย แล้วยิ่งมาอยู่ที่นี่ เราเห็นครอบครัว LGBTQ ที่พาลูกออกมาเดินเล่น ซื้อของ คือทุกคนแฮปปี้ หรืออย่างกรณี พ่อเกย์สองคน จากเพจ Two Gay Papas คุณกอร์ดอนและคุณมานูเอล พ่อของน้องอัลบาโร่และน้องคาร์เมน เราก็รู้สึกว่าเค้าเป็นครอบครัวที่ดี แล้วเราก็เชื่อว่าสถาบันครอบครัวที่ดีมันทำให้สังคมดี


ภาพบรรยากาศงาน NYC Pride March 2017



ปีใหม่ส่งท้ายบทสัมภาษณ์เอาไว้ว่า


ถ้าเทียบตัวเองกับนักเคลื่อนไหวหลายคนหรือองค์กรที่ทำงานกับคนชายขอบ เรื่องงานแต่งงานถือเป็นอภิสิทธิ์แบบหนึ่ง ความท้าทายที่ปีใหม่เจออาจจะไม่เท่ากับคนอื่น แต่ความเท่าเทียมเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้อีกนาน เลยเชื่อว่าต้องมีคนสานต่อในทุกจุดค่ะ


ติดตามข่าวสาร บทความ และติดต่อ Wonders&Weddings ได้ที่












ดู 547 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page