แนะนำหนังสือ "Mother of Manipur" twelve women who made history เขียนโดย Teresa Rehman
*เผยแพร่ครั้งแรกบนเฟซบุคเพจ เรียนเจนเดอร์ ที่อินเดีย
“ทหารอินเดียข่มขืนพวกชั้น” “พวกชั้นคือแม่ของมาโนรามา มาข่มขืนพวกชั้นสิ" รุ่งเช้าของเดือนกรกฎาปี 2004 หน้าสำนักงานใหญ่ของทหารอินเดียในรัฐอัสสัม ผู้หญิงจำนวนสิบสองคน เปลื้องผ้าของพวกเธอออกและยืนเปลือยอยู่ด้านหน้า โดยมีผ้าไวนิลสีขาวผืนใหญ่ พิมพ์ข้อความสีแดงว่า “Indian Army Rape us” “Take our Flesh” ปิดส่วนที่เปลือยของพวกเธอ
หนึ่งในนั้นตะโกนว่า “พวกชั้นคือแม่ของมาโนรามา มาข่มขืนพวกชั้นเสียสิ!”
ไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าผู้หญิงทั้งสิบสองคนจะมาประท้วงโดยการเปลื้องผ้าในที่สาธารณะต่อหน้าทหารและประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น การประท้วงกินเวลาไม่นานนัก แต่กลับกลายเป็นการประท้วงที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในสื่อต่างๆ ทั้งในอินเดียและสื่อต่างประเทศ ผู้คนเริ่มพูดถึงการประท้วงนี้กันปากต่อปาก การประท้วงนี้ทำให้คนจำนวนมากได้รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมานิปูร์ รัฐที่อยู่ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารอินเดีย โดยมีกฎหมายพิเศษที่เอื้อให้ทหารที่กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ
โดยเหตุการณ์ที่เป็นชนวนเหตุของการประท้วง คือการลักพาตัว ข่มขืนและฆ่า หญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อ ธังจัม มาโนรามา โดยเธอถูกทหารอินเดียจับไปด้วยกฎหมายพิเศษ หลังจากนั้นมีผู้พบศพของเธอในป่า ถูกยิงและฆ่าข่มขืนอย่างทารุณ ทำให้กลุ่มผู้หญิงในมานิปูร์ ลุกขึ้นมาทวงความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงที่ถูกข่มขืนและฆ่า โดยทหารอินเดียที่มีกฎหมายพิเศษปกป้องจากการกระทำความผิด Teresa Rahman ลงพื้นที่สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เปลือยประท้วงครั้งนั้น และกลายมาเป็นหนังสือที่รวมบทสัมภาษณ์และเรื่องเล่าของกลุ่มผู้หญิงแห่งมานิปูร์ ในชื่อหนังสือ "Mother of Manipur" twelve women who made history
หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปรู้จักกับกลุ่มผู้หญิงทั้งสิบสองคนที่เข้าร่วมการเปลือยประท้วงในครั้งนั้น โดยผ่านบทสัมภาษณ์ของกลุ่มแม่ทั้งสิบสองคน รวมไปถึงคนในครอบครัวและชุมชน หนังสือจะบอกเล่าถึงชีวิตก่อนหน้าที่จะรวมตัวกันประท้วงและภายหลังจากวันที่ทำการประท้วงว่าเปลี่ยนไปแค่ไหน ได้รับผลกระทบอย่างไร การวางแผนการประท้วง ความรู้สึกกลัว ไม่แน่ใจและความสับสน นอกจากนี้หนังสือยังใช้เรื่องเล่าของคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประท้วงโดยตรง แต่มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้หญิงทั้งสิบสองคนในทางใดทางหนึ่ง เพื่อปูเรื่องไปสู่ชีวิตของกลุ่มผู้หญิงทั้งสิบสองคน ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรี นักเขียนกวี หรือคนทำงานกิจกรรมด้านเอชไอวี ทำให้คนอ่านได้มุมมองที่หลากหลายนอกจากเรื่องเล่าของผู้หญิงทั้งสิบสองคน เราได้อ่านเรื่องนี้ตอนเรียนวิชาขบวนการเคลื่อนไหวทางเพศในอินเดีย ซึ่งตอนที่เลือกเรื่องนี้มาเขียนรีวิวส่งอาจารย์
ก็เพราะอ่านแล้วรู้สึกทึ่งในความกล้าหาญของผู้หญิงกลุ่มนี้ เพราะการจะประท้วงทหารในวิธีทั่วๆไปในเขตพื้นที่ที่ถูกควบคุมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วเป็นผู้หญิงชาวบ้านที่มีอายุแล้วด้วย การประท้วงก็ไม่ใช่แค่การประท้วงธรรมดา แต่เป็นการเปลือยประท้วง ทำให้เราสนใจว่ากระบวนการในการวางแผน การจัดการ การแบ่งหน้าที่กัน การรวมตัวกัน มันมีที่มาที่ไปยังไง
พออ่านจบก็รู้สึกว่า ที่ไหนก็ตามที่มีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการลุกฮือ ต่อให้ผู้หญิงโดนกดไว้ในสังคมชายเป็นใหญ่แค่ไหน ถ้ามันมีพลังภายในมากพอ บวกกับสถานการณ์ที่มันทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ผู้หญิงก็จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะด้วยความรู้สึกของความเป็นแม่หรือเป็นผู้หญิง ด้วยวิธีใดๆก็แต่ เราคิดว่ามันน่าทึ่งทุกครั้ง ที่จะมีคนลุกมาส่งเสียงกันแบบนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะภายใต้การควบคุมของทหารและกฎหมายพิเศษที่สกัดกั้นไม่ให้คนลุกขึ้นมาส่งเสียง
ถ้าใครที่สนใจขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอินเดีย ที่เกี่ยวพันกับกลุ่มผู้หญิงชายขอบ พื้นที่ความขัดแย้ง และการทหารในรัฐมานิปูร์ ประเทศอินเดีย อยากแนะนำให้อ่านกันดูค่ะ ยังไม่มีใครแปลไทย มีแต่ฉบับภาษาอังกฤษ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในอินเดีย ชื่อ Zubaan Publishing ในอเมซอนน่าจะมีขาย หนังสือเล่มนี้ อ่านง่าย แล้วก็สนุก แต่ถ้าใครไม่สามารถไปหาหนังสือมาอ่านได้ ลองไปเสิร์ชดูในกูเกิ้ล จะพบวีดีโอการประท้วงและภาพข่าวในวันนั้นเต็มไปหมดเลยค่ะ
Comments